นับเป็นเวลาสองเดือนแล้ว หลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหารนอทร์ดามแห่งปารีสในวันที่ 15 เมษายน เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจแก่ทุกคนทั่วโลก หน่วยงานภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อให้มหาวิหารนอทร์ดามกลับมาเป็นสถานที่ที่บอกเล่าความทรงจำและประวัติศาสตร์ และกลับมาเป็นสถานที่ที่ต้อนรับเหล่าผู้เยี่ยมชมและผู้ศรัทธาจากทั่วทุกมุมโลกดังเดิม

การบูรณะซ่อมแซมมหาวิหารได้เริ่มต้นขึ้นหลังจากได้รับการยืนยันว่าไฟได้ดับสนิทและไม่มีหินก้อนใดที่อาจจะตกลงมาทำอันตราย ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้สาเหตุของอัคคีภัยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน พร้อมกับวิศวกรจากสำนักงานตำรวจนครบาลพุ่งประเด็นไปที่สายไฟที่ติดตั้งขึ้นมาเพื่อการบูรณะยอดแหลมของมหาวิหาร (Spire / Flèche) ซึ่งก็เป็นเวลากว่าหกสัปดาห์แล้วที่เจ้าหน้าที่ยังคงค้นหาสายไฟในซากเพลิงไหม้

เมื่อ 4 ปีก่อน พนักงานสองคนจากบริษัท เอลิทิส (Elytis) ซึ่งดูแลเรื่องความปลอดภัยได้แจ้งแก่ทางบริษัทรวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมว่า มีความผิดปกติในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ของมหาวิหาร โดยรายงานในปี 2015 เปิดเผยว่า ระบบแจ้งเตือนอัคคีภัยของอาคารระบุถึงเครื่องตรวจจับบริเวณ “พื้นที่ที่ขายของ” ในขณะที่เครื่องตรวจจับที่ส่งสัญญาณที่แท้จริงนั้น ตั้งอยู่ที่ “หอคอย”

ถึงกระนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์เลวร้ายนี้จะเกิดขึ้น ฟิลิปส์ วิลล์เนอฟ (Philippe Villeneuve) หนึ่งในสี่นักสถาปนิกผู้รับผิดชอบการบูรณะมหาวิหารกล่าวต่อหน้าวุฒิสภาว่า “วันที่เกิดเหตุ ผมยืนยันได้ว่าไม่มีงานจุดไหนเลยที่ทำให้เกิดความร้อน พวกเราอยู่ที่นั่งร้านซึ่งกำลังถูกประกอบ และถ้าหากต้องมีการตัดท่อก็จะตัดแบบเย็น ทั้งนี้ ไม่มีการใช้เครื่องพ่นไฟเพื่อเชื่อมเหล็กแต่อย่างใด”

อังตวน มารี เพรโอท์ (Antoine-Marie Préaut) หัวหน้างานอนุรักษ์โบราณสถาน ภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรม ประจำแคว้น Ile-de-France (อีล-เดอ-ฟรองซ์) กล่าวเสริมว่า “แต่ละวัน เขา (ฟิลิปส์) จะกลับมาที่บริษัท เลอ บราส์ แฟรส์ (Le Bras Frères) เพื่อตรวจสอบงานบูรณะก่อนที่จะปิดสถานที่ทุกครั้ง”

เร่งบูรณะจะให้ทันโอลิมปิก จึงยอมละเว้นกฎจำนวนมาก

ความต้องการของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ที่อยากให้การบูรณะซ่อมแซมมหาวิหารเสร็จ “ภายในห้าปี” ส่งผลให้รัฐบาลพยายามผลักดันร่างกฎหมายที่เพิ่มอำนาจและอนุญาตให้รัฐบาลหลบหลีกกฎต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารทางประวัติศาสตร์ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก มันยังสร้างความกังวลให้กับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก โดยผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,170 คน ทั้งในฝรั่งเศสและต่างประเทศต่างรวมตัวส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังประธานาธิบดีมาครง เรียกร้องให้หลีกเลี่ยงการบูรณะที่หวังจะเร่งให้เสร็จโดยเร็ว พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญของขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์ก่อนที่จะเข้าสู่ระยะของการซ่อมแซม

แต่สภาผู้แทนราษฎรต่างโหวตผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการบูรณะซ่อมแซมมหาวิหารนอทร์ดามแห่งปารีส ในวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสาเหตุที่ประธานาธิบดีมาครงต้องการให้การบูรณะซ่อมแซมเสร็จโดยเร็ว ก็ดูเหมือนจะมาจากการที่ปารีสจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2024 ซึ่งมหาวิหารนอทร์ดามจัดว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองปารีสและฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นมหาวิหารที่มีผู้เยี่ยมชมมากที่สุดในยุโรป

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม วุฒิสภาฝรั่งเศสได้แก้ร่างกฎหมายดังกล่าวในหลายมาตรา เช่น มาตรา 9 ซึ่งเป็นมาตราที่สร้างข้อโต้แย้งมากที่สุด เพราะเป็นข้อที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลหลีกเลี่ยงกฎหมายหลายข้อ (เช่น ด้านผังเมือง การก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม การรักษามรดกทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น) ทั้งนี้ วุฒิสภาฝรั่งเศสยังแก้ไขเพิ่มเติมลงในร่างกฎหมายว่า การซ่อมแซมที่จะมีขึ้น จะต้องทำให้มหาวิหารนอทร์ดามกลับมาเหมือนเดิม โดยให้เหมือน “สภาพที่เห็นครั้งล่าสุด” ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งรวมไปถึงยอดแหลมของมหาวิหาร

นอกจากนี้ วุฒิสภายังระบุอีกว่า “หากมีการนำวัสดุอื่นที่แตกต่างจากวัสดุดั้งเดิมมาใช้ในการบูรณะ จำเป็นจะต้องชี้แจงเหตุผล” โดยวุฒิสภาฝรั่งเศสเห็นว่า แนวทางการบูรณะซ่อมแซมมหาวิหารนอทร์ดามจะต้องเป็นไปตามกฎบัตรเวนิชว่าด้วยการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถาน (1964) ซึ่งใช้เป็นกรอบในการปฏิสังขรณ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ

เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่เห็นด้วยในหลายมาตรา ร่างกฎหมายจะถูกโหวตอีกครั้งโดยคณะกรรมาธิการร่วมซึ่งประกอบด้วยวุฒิสมาชิก 7 คน และผู้แทนราษฎรอีก 7 คน แต่หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ ก็จะนำร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรมาใช้แทน ด้านประธานาธิบดีมาครงยังไม่ได้ออกมากล่าวความคิดเห็นใดๆ

ภาพภายในมหาวิหาร จาก Diocèse de Paris

ความยากของการบูรณะ

แม้ว่าทันทีที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้มหาวิหาร จะมีบริษัทชั้นนำในฝรั่งเศสมากมายให้คำสัญญาว่าจะบริจาคเงินช่วยเหลือเพื่อการซ่อมแซ่มบูรณะ ที่รวมจำนวนได้ถึง 850 ล้านยูโร แต่ตอนนี้กลับมีเงินบริจาคเพียง 9%

รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ฟรองก์ ริสเตอร์ (Frank Riester) กล่าวว่า เจ้าของบริษัทและผู้บริหารบริษัทรายใหญ่ต่างๆ ที่สัญญาว่าจะบริจาคเงิน อย่าง ฟรองซัวส์ ปีโนลด์ ( François Pinault ) และ แบร์นาร์ อาร์โนล์ (Bernard Arnault) ต่างก็สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้เงินที่พวกเขาจะบริจาค เช่น จะใช้เงินไปสำหรับงานซ่อมแซมส่วนใดบ้าง ตารางการทำงานเป็นอย่างไร

ขณะนี้ มหาวิหารนอทร์ดามยังคงถือว่าอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานว่า ตัวโครงสร้างนั้นมั่นคง ฟิลิปส์ วิลล์เนอฟ กล่าวถึงโครงสร้างมหาวิหารว่า “นอทร์ดามยังคงเป็นหญิงที่ป่วยหนัก และยังไม่สามารถลุกขึ้นยืนเองได้” โดยสภาพของหลังคาโค้ง (Vault / Voûte) ที่สูงกว่า 33 เมตรยังคงเป็นปริศนา อย่างไรก็ดี ทีมงานบูรณะกว่า 150 คน ต่างเข้ามาปฏิบัติงานเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างมหาวิหาร รวมทั้งวิเคราะห์เศษซากของยอดแหลมและหลังคาโค้ง ซึ่งเก็บโดยหุ่นยนต์บังคับระยะไกล เพราะทีมงานไม่สามารถเข้าไปสำรวจบริเวณหลังคาโค้งได้ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ในส่วนของหอคอยทางด้านเหนือ ซึ่งเหมือนจะเสียหายจากเพลิงไหม้ ได้รับการยืนยันแล้วว่าโครงสร้างของหอคอยดังกล่าวนั้นมั่นคง และจะเข้าสู่ขั้นตอนการบูรณะในระยะต่อไป สำหรับหน้าต่างกุหลาบ (Rose windows / Les grandes roses) ที่ตั้งอยู่ทางปีกทั้งสองข้างของมหาวิหาร (Transept) และสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 8 โดยรวมแล้วอยู่ในสภาพดี มีเพียงแค่รอยเขม่าและคราบสกปรกเท่านั้น ส่วนด้านในของมหาวิหารไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กับทีมงานบูรณะมากที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องของการนำนั่งร้านที่อยู่บนบริเวณหลังคาออก ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนจนไปถึงกันยายน ทั้งนี้ การนำนั่งร้านออกนั้น จะต้องไม่ทำให้ส่วนอื่นๆ ขยับ (คล้ายกับเกมไม้จังก้า – Jenga) นอกจากนี้ ฝนที่ตกลงมา แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับโครงสร้างของหลังคาโค้ง โดยทางทีมงานคาดว่า “ร่มขนาดใหญ่” จะติดตั้งเสร็จในปลายเดือนกันยายน

นอกจากนี้ หน่วยงานสาธารณะสุขประจำแคว้น Ile-de-France ออกมาแจ้งเตือนเกี่ยวกับมลพิษของตะกั่วที่ปะปนอยู่ในอากาศ รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงของมหาวิหาร ซึ่งมีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน โดยตะกั่วไม่ต่ำกว่า 300 ตัน จากกระจกสี หลังคา และยอดแหลมของมหาวิหาร ได้หลอมละลายในระหว่างวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา พิษของสารตะกั่วนี้ทำให้ทีมงานบูรณะจำเป็นต้องวางแผนการทำงานที่ครอบคลุมถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

บทเรียนจากความเสียหาย: มหาวิหารนอทร์ดาม ไม่ใช่เครื่องผลิตรายได้ แต่คือสถานที่สำคัญทางจิตวิญญาณ

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา อาร์คบิชอปแห่งปารีส พระคุณเจ้ามิเชล โอเปอตีต์ (Mgr. Michel Aupetit) แอบติงประธานาธิบดีมาครงที่เห็นมหาวิหารนอทร์ดามเป็นเพียงแค่สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมและเครื่องผลิตรายได้ให้กับประเทศ โดยประธานาธิบดีมาครงไม่มองเลยว่า มหาวิหารนอทร์ดามยังเป็นสถานที่สำคัญทางจิตวิญญาณของผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง

โดย Karine Perret via REUTERS

ระหว่างที่การบูรณะซ่อมแซมมหาวิหารดำเนินไปอย่างช้าๆ พระคุณเจ้าพาทริก โชเว่ท์ (Mgr. Patrick Chauvet) อธิการมหาวิหารนอทร์ดามแห่งปารีส ได้ประกาศเกี่ยวกับการจัดพิธีเฉลิมฉลองทางศาสนาคริสต์ (พิธีมิสซา) ในวันที่ 15 มิถุนายน เพื่อรำลึกถึงนอทร์ดาม ซึ่งนับว่าเป็นการจัดพิธีทางศาสนาครั้งแรกหลังจากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ โดยพระคุณเจ้าฯ กล่าวว่า “นอทร์ดามแห่งปารีสยังคงเป็นมหาวิหาร”

“มันเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้โลกรับรู้ว่า บทบาทของมหาวิหารคือการแสดงให้เห็นถึงความศิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า”

สอดคล้องกับจุดยืนของนายพล ชอง-หลุยส์ จอร์จแลง (Jean-Louis Georgelin) ผู้แทนจากรัฐบาลที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจดูความคืบหน้าของงานบูรณะซ่อมแซม ซึ่งเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “เป้าหมาย (ของการบูรณะ) คือ การกลับเข้าไปในมหาวิหารให้เร็วที่สุด เพื่อที่การประกอบพิธีทางศาสนาสามารถกลับมาดำเนินต่อได้อีกครั้ง และนี่ก็เป็นวัตุถุประสงค์ของมหาวิหาร ซึ่งมีขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรม”

Fact Box

ในบทเทศน์ระหว่างพิธีรำลึกมหาวิหารนอทร์ดาม อาร์คบิชอปแห่งปารีสเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ของผู้สร้างมหาวิหารนอทร์ดามว่า “เธอกำเนิดจากความเชื่อของเหล่าบรรพบุรุษ [...] เธอกำเนิดจากความหวัง [...] ที่จะช่วยเหลือคนอื่น [...] เธอกำเนิดจากความเมตตา [...] เป็นที่หลบภัยของคนยากจน” อีกทั้งยังกล่าวว่า “วัฒนธรรม (Culture) ที่ปราศจากความเลื่อมใสศรัทธา (Cult / Culte) มันก็คือ ไร้วัฒนธรรม (Unculture / Inculture)”

ทั้งนี้ คำว่า Culture และ Cult มีรากศัพท์ ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยคำว่า Culture มาจากคำลาติน “Cultura” (หมายถึง เก็บเกี่ยว เกษตรกรรม เคารพบูชา) ในขณะที่คำว่า Cult มาจาก คำว่า “Cultus” (หมายถึง เก็บเกี่ยว เลื่อมใส ลัทธิความเชื่อ)

ซึ่งทั้งรากศัพท์ของ Culture และ Cult ต่างมีต้นตอเดียวกันคือคำว่า “Colere” ในภาษาลาตินนี้หมายถึง เพาะปลูก เก็บเกี่ยว และเฉลิมฉลอง

Tags: , ,