สองวันที่ผ่านมา กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย กำลังอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกได้ว่า ‘วิกฤตมลพิษทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในรอบปี’ และได้รับการประเมินจากเจ้าหน้าที่อินเดียว่า สภาพอากาศขณะนี้อยู่ในระดับ ‘รุนแรงถึงฉุกเฉิน’  ซึ่งระดับที่ว่านี้ไม่ได้เพียงแต่เป็นอันตรายต่อผู้มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผู้ที่มีสุขภาพปกติทั่วไปอีกด้วย

ข้อมูลจากคณะกรรมการควบคุมมลพิษกลางของรัฐบาลอินเดีย (CPCB) ระบุว่า ดัชนีคุณภาพอากาศจากการวัดสารพิษและความเข้มข้นของ PM 2.5 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 450 ในวันอาทิตย์และมีค่าเฉลี่ย 449 ในวันจันทร์ซึ่งถือว่าเป็นดัชนีที่สูงที่สุดในรอบปี

ยิ่งไปกว่านั้น บางส่วนของเมืองมีดัชนีความเข้มข้นของ PM 2.5 อยู่ที่ 654 และทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลงเหลือเพียง 200 เมตรเท่านั้น พร้อมทั้งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นในวันคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึงซึ่งค่าดัชนีเฉลี่ยอาจสูงกว่า 400 และอาจจะสูงถึง 534 ในบางสถานที่ อย่างไรก็ตาม เพียงค่าดัชนีที่สูงกว่า 100 ก็ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่งแล้ว

สาเหตุหลักในการเพิ่มขึ้นของหมอกควันในอินเดียคืออากาศที่เย็นผิดปกติ หมอก และสภาวะขาดลม ซึ่งก่อให้เกิดภาวะที่มีการดักควันยานพาหนะและมลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินอุตสาหกรรมเอาไว้ในเมือง

คณะกรรมการควบคุมมลพิษกลางของรัฐบาลอินเดีย (CPCB) ได้ประกาศมาตรการต่างๆ อาทิ การปิดโรงงานและสถานที่ก่อสร้างในพื้นที่ที่มีมลพิษอย่างหนัก พร้อมแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์พลังงานจากดีเซล

แต่สุดท้ายขั้นตอนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอินเดียในปีนี้ถูกมองว่า ไม่สามารถสร้างความแตกต่างใดๆ ในการแก้ไขปัญหาและยังขาดการประสานงานระหว่างรัฐบาลของเมืองและหน่วยงานของรัฐรอบเมืองหลวง ซึ่งส่วนหนึ่งของความล้มเหลวนี้เกิดจากประชาชนขาดความสนใจในเรื่องคุณภาพอากาศ ทำให้นักการเมืองในระดับรัฐบาลกลางและระดับท้องถิ่นเลือกจะละเลยเรื่องดังกล่าว

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอินเดีย เปิดเผยว่า ความนิ่งเฉยของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ไม่สามารถอภัยได้ และทุกฝ่ายจะต้องมีความพยายามร่วมกันในการลดมลพิษจากยานพาหนะและอุตสาหกรรม เพราะ “ถ้านี่ไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน แล้วอะไรล่ะถึงจะฉุกเฉิน?”

ทั้งนี้ จากการศึกษาใน Lancet Planetary Health ระบุว่า อากาศพิษของอินเดียคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 1.24 ล้านคนในปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ในไทย อากาศที่กำลังเป็นพิษจะยังไม่คร่าชีวิตผู้คน แต่จากระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ มีค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

รวมถึงมีพื้นที่กว่า 10 จุดในกรุงเทพฯ ที่มีค่ามาตรฐานมากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และกลายเป็นโซนสีแดงที่สภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยโดยตรง ซึ่งปรากฎความเคลื่อนไหวของหน่วยงานในการแก้ไขปัญหามีเพียงกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษซึ่งออกมารายงานสถานการณ์และเจ้าหน้าที่ กทม.ออกมาพ่นน้ำเพื่อลดการฟุ้งของฝุ่นขนาดใหญ่บนถนน

ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจว่าอากาศมืดครึ้มเกิดจากหมอกและอากาศที่หนาวเย็น จนกระทั่งมีการแชร์ในโซเชียลมีเดียถึงสภาพอากาศที่เข้าขั้นส่งผลต่อสุขภาพ

ที่มา

https://www.theguardian.com/world/2018/dec/24/delhis-worst-air-pollution-this-year-raises-fear-of-public-health-crisis

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/95320

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/95319

Tags: , ,