ครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เช้าวันนั้น ที่อำเภอตากใบ ชาวบ้านชุมนุมกันที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับกุมตัว

นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุมแล้ว ก็ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ไปมุงดู รวมแล้วมีคนอยู่ในพื้นที่บริเวณนั้นราวพันคน แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นบาดแผลในประวัติศาสตร์ไทยไปตลอดกาล เมื่อทหารเข้าปิดล้อม ทำให้คนออกจากพื้นที่นั้นไม่ได้ และเริ่มสลายการชุมนุมโดยการยิงแก๊สน้ำตา

ทหารบังคับให้ผู้ชุมนุมทุกคนหมอบลง แยกผู้หญิงออกจากพื้นที่ ส่วนผู้ชุมนุมชาย ถูกสั่งให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง กวาดจับได้กว่า 1,370 คน แล้วโยนขึ้นรถยีเอ็มซี 22 หรือ 24 คัน (ข้อมูลรายงานคณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงกรณีตากใบ) และรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง โดยให้นอนคว่ำซ้อนกันเป็นชั้นๆ เฉลี่ยคันหนึ่งมีคนนอนซ้อนกันคันละ 4-5 ชั้น แล้วเดินทางจากสถานีตำรวจตากใบ ไปไกล 150 กิโลเมตร ไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมง

จากเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิต 85 คน แบ่งเป็นการเสียชีวิตขณะขนส่ง 78 คน และเสียชีวิตในที่ชุมนุมอีก 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน ส่วนที่รอดชีวิต จำนวนหนึ่งก็กลายเป็นคนพิการ เช่น กล้ามเนื้อเปื่อยจากการถูกกดทับเป็นเวลานาน เป็นโรคไตเพราะขาดน้ำนานเกินไป

ผู้ชุนนุม 59 คนยังถูกศาลนราธิวาสฟ้องคดีในฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย แต่ต่อมาในปี 2549 อัยการถอนฟ้อง

จากเหตุการณ์นี้ ในปี 2552 หลังเหตุการณ์ผ่านไป 5 ปี ศาลสงขลามีข้อสรุปในการไต่สวนสาเหตุการตายว่า ผู้ชุมนุม 78 คนเสียชีวิตเพราะ ‘ขาดอากาศหายใจ’ ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่

ในอีกคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บฟ้องร้องรัฐเพื่อให้จ่ายเงินชดเชย คดีจบลงที่การประนีประนอมยอมความ โดยกระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย ต่อมา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาฯ ประกาศจ่ายเงินเยียวยาผู้เสียหายเพิ่มอีกรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บได้ 500,000 บาท

ประทับจิต นีละไพจิตร ซึ่งทำวิจัยหัวข้อ “ความยุติธรรมกับการขับเคลื่อนความขัดแย้ง: ศึกษากรณีเหตุการณ์ความรุนแรงหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส” วิทยาพนธ์ปริญญาเอก รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2555 กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า แม้จะมีการเยียวยา แต่ก็มี ‘ภาวะชะงักงัน’ ที่ติดเพดาน

เช่นแม้คดีต่างๆ จะจบลงด้วยการไกล่เกลี่ยคดี แต่สำหรับญาติผู้เสียหาย ส่วนใหญ่มีอายุมาก ผู้เสียหายก็มีนับร้อยคน ที่ต่างรู้สึกว่าหากต้องไปขึ้นศาล อาจใช้เวลานับสิบปี ซึ่งก่อให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยในกระบวนการยุติธรรม ในที่สุดจึงยอมไกล่เกลี่ยคดีโดยที่ไม่มีการคลี่คลายว่า สาเหตุการตายคืออะไร และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่อยู่ในเหตุการณ์นี้มีใครเกี่ยวข้องบ้าง

ส่วนการเยียวยาที่เกิดขึ้นนั้น ก็ระบุชัดว่าเป็นการทำเพื่อมนุษยธรรม แต่ไม่ใช่การยอมรับผิด แม้หลังเหตุการณ์จะมีคำขอโทษจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่กล่าวขอโทษอิหม่ามในพื้นที่ แต่ในสายตาชาวบ้านก็มองว่าคนที่ขอโทษ ก็ไม่ได้ขอโทษในนามกองทัพบก และคนที่ได้รับฟังก็ไม่ใช่เหยื่อโดยตรง เป็นการขอโทษที่ไม่ได้มีความทันสมัยดังที่ผู้นำประเทศอารยะแสดงความสำนึกอย่างเป็นทางการและสมเกียรติ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานทหารที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรงว่า ไม่สามารถกล่าวขอโทษได้ เพราะจะทำให้กองทัพเสียความชอบธรรมที่จะอยู่ในสามจังหวัดภาคใต้

ประทับจิตกล่าวเพิ่มเติมว่า จวบจนวันนี้ เหตุการณ์ที่เป็นบาดแผลครั้งนี้ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นบทเรียนที่นำไปสู่การปฏิรูปกองทัพที่ทำงานด้านความมั่นคงได้

Tags: