เราพูดว่าสปป.ลาวเป็นประเทศบ้านพี่เมืองน้องกับไทยมาช้านาน แม้ขนาดเศรษฐกิจจะยังไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็ถือเป็นประเทศที่อัตราการขยายของเศรษฐกิจสูงอันดับต้นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากข้อมูลของธนาคารโลก รายงานว่าปี 2561 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของลาวเท่ากับ 1.81 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 5.52 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน และคาดว่าปี 2562 นี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของลาวจะแตะ 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 6.16 แสนล้านบาท ขยายตัว 6.5%

ถึงเล็กแต่ก็เติบโตเร็ว

ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าสนใจของลาว และประกาศเดินหน้าความร่วมมือการพัฒนาระบบชำระเงินและบริการโอนเงินระหว่างประเทศ โอกาสและอุปสรรคของการทำธุรกิจในลาวที่ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณามีอะไรบ้าง ทีมงาน The Momentum ได้ไปเยี่ยมเยือนหลวงพระบางและขอเล่าเรื่องระบบการเงินและเศรษฐกิจของลาวผ่านบทความนี้

เราเห็นโอกาสอะไรในลาว? ทุนไทยพุ่งเป้าลงทุนโรงไฟฟ้า-ประกันภัยต่อเนื่อง

ข้อจำกัดที่สำคัญของลาวคือภูมิประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ทิศเหนือติดกับประเทศจีน ภาคใต้ติดกับประเทศไทย ภาคตะวันตกติดกับประเทศไทยและเมียนมาร์ ส่วนภาคตะวันออกติดกับประเทศเวียดนาม การค้าชายแดนจึงเป็นหัวใจสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของลาวมาโดยตลอดและมูลค่าการค้าเติบโตต่อเนื่อง ในปี 2561 ทั้งสองชาติค้าขายกัน 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2 แสนล้านบาท ไทยส่งออกไปราว 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 1.25 แสนล้านบาท ขณะที่ลาวส่งสินค้าเข้ามาขายในไทย 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 7.93 หมื่นล้านบาท 

กลุ่มสินค้าที่ลาวนำเข้าจากไทยมากที่สุดคือ น้ำมันปิโตรเลียม 34% ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของด่านศุลกากรหนองคายที่ระบุว่า สินค้าส่งออกผ่านด่านดังกล่าวมูลค่าสูงสุดในช่วง ก.ย. 2561 – ต.ค. 2562 คือน้ำมัน ด้วยมูลค่า 9.45 พันล้านบาท ซึ่งจะมีรถบรรทุกขนน้ำมันวิ่งข้ามแดนผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวมากกว่า 100 คันต่อวัน ที่ผ่านมาเราจึงได้ข่าวเป็นระยะเรื่องการตรวจเข้มของกรมศุลกากรและกรมสรรพามิต กรณีลักลอบน้ำมันผิดประเภท ขณะเดียวกัน ความท้าทายของสินค้ากลุ่มนี้คือ การรุกตลาดพลังงานของจีนที่เริ่มส่งน้ำมันมาขายในลาวอย่างเต็มตัวเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา จึงต้องจับตากันต่อว่าจะกระทบกับยอดขายของน้ำมันจากฝั่งไทยมากน้อยเพียงไร

รองลงมาคืออุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือ คิดเป็นสัดส่วน 16% รถยนต์และส่วนประกอบ 13% และเครื่องจักรกล 9% ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในลาวทั้งถนน ระบบไฟฟ้าและชลประทาน จึงมีความต้องการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวในระดับที่สูง ส่วนกลุ่มสินค้าที่แข่งขันกันรุนแรงในลาวได้แก่ เหล็ก เครื่องมือช่าง เครื่องมือการเกษตร พลาสติก และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมักจะนำเข้าจากจีนหรือเวียดนามเนื่องจากทำราคาได้ต่ำกว่าสินค้าจากไทยอย่างมีนัยสำคัญ 

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากลาวมากที่สุดคือ พลังงานไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 54% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคืออุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องมือ 18% และโลหะพื้นฐาน 14% ซึ่งไทยและลาวมีความสัมพันธ์ด้านพลังงานกันมาตั้งแต่ปลายปี 2511 โดยเชื่อมระบบไฟฟ้าระหว่างกัน เดิมซื้อขายไฟฟ้ากันได้ 1,500 เมกะวัตต์ ต่อมาในปี 2536 จึงขยายไปเป็น 9,000 เมกะวัตต์ ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และนอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นจุดเชื่อมต่อการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าลาวเพื่อส่งต่อไปให้กับทางมาเลเซียอีกด้วย โดยขยายกรอบของการซื้อขายไฟฟ้าของสามประเทศจาก 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์

สำหรับการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV นั้น กลุ่มทุนไทยเข้าลงทุนในลาวสูงกว่ากัมพูชา แต่ก็ยังน้อยกว่าเวียดนามและเมียนมาร์ มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงไปไปที่ลาวเติบโตขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งปี 2561 มีมูลค่าเกือบ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.16 แสนล้านบาท โดย 54% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดเป็นธุรกิจการเงินและประกันภัย มูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 6.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธุรกิจการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีเงินลงทุน 580 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.77 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15% และธุรกิจค้าปลีกมีมูลค่า 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 1.1 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1%

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทพลังงานของไทยเข้าไปปักธงในลาวมากขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับการประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียที่ดึงดูดเงินลงทุนจำนวนมหาศาล อย่างเช่นบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ก็เพิ่งจะเข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท Nam San 3A Power Sole Co., Ltd. ด้วยมูลค่าราว 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 5.3 พันล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ในเมืองเชียงขวาง ขณะที่บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เองก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลวงพระบาง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เวียงจันท์ ไซยะบุรีและจำปาศักดิ์ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไซยะบุรีเช่นกันและเตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม ส่วนบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ก็กำลังเจรจากับพันธมิตรจากจีนที่ได้สิทธิการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจำนวน 3 โครงการ ด้วยกำลังการผลิตถึง 2,500 เมกะวัตต์

เป็นแบตเตอรี่ก้อนใหญ่ที่ทุกคนต่างแสวงหาโอกาสในขณะนี้

อีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตในลาวคือ ธุรกิจประกันภัย ซึ่งขยายตัวแบบก้าวกระโดดเนื่องจากประชาชนลาวมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประกันภัยมากขึ้น โดยบริษัทของไทยหลายแบรนด์ได้ร่วมลงทุนกับภาคการเงินของลาวและมีบทบาทในการถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและช่วยยกมาตรฐานการดำเนินธุรกิจประกันภัยในลาวด้วย เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งการแยกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยออกจากกันรวมทั้งการพัฒนาบุคลากรด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อรองรับกับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต 

เมื่อต้นปี 2560 เมืองไทยประกันชีวิตและเมืองไทยประกันภัย ได้จับมือกับ ST Bank ของลาว ร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจรับประกันชีวิตและประกันวินาศภัย เดิมการขายประกันภัยจะเน้นขายผ่านช่องทางธนาคารหรือ Bancassurance เป็นหลัก โดยจะผลักดันการขายผ่านตัวแทนประกันภัยให้มากขึ้น ก่อนหน้านั้นทางวิริยะประกันภัย กรุงเทพประกันภัยและทิพยประกันภัยก็ได้เข้าไปทำการตลาดในลาวล่วงหน้าแล้ว แม้ปัจจุบันมูลค่าเบี้ยประกันภัยในลาวจะยังไม่สูงมากนักด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องความรู้ความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่เท่ากับประเทศอื่นๆ กฏหมายและข้อระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรค ระดับรายได้ของคนลาวรวมทั้งการเข้าถึงระบบธนาคารที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก 

ด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศที่มีมากกว่าเดิมและแนวโน้มการขยายตัวที่เพิ่มมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินกับธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อช่วยพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงินและการชำระเงินแบบเรียลไทม์ รวมทั้งสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นด้วย 

ล่าสุด แบงก์ชาติประกาศความร่วมมือกับลาวเป็นชาติแรกในอาเซียนสำหรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Payment) ซึ่งมีธนาคารธนชาตเป็นตัวแทนชำระเงิน (Sponsoring Bank) ร่วมกับทางธนาคารการค้าต่างประเทศของลาว ( BCEL) โดยลูกค้าชาวไทยสามารถชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านที่รองรับระบบของ BCEL ใน 2 พื้นที่สำคัญอย่างเวียงจันท์และหลวงพระบาง ผ่านโมบายแบงกิ้งของธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยจะตัดยอดเงินในบัญชีได้ทันที ส่วนลูกค้าชาวลาวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็จะสามารถชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดได้เช่นเดียวกัน  ซึ่งธนาคารธนชาตเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายของชาวลาวผ่านคิวอาร์โค้ดของ BCEL ตั้งแต่เดือนก.พ. – ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา พบว่ามีมากกว่า 3.2 หมื่นรายการมูลค่าธุรกรรมราว 157 ล้านบาท คิดเป็นการใช้จ่ายเฉลี่ย 6,000 – 8,000 รายการต่อเดือน และมีมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย 4,000-5,000 บาทต่อรายการ ซึ่งรายการส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ห้างค้าปลีกและร้านค้าตามแนวจังหวัดชายแดนอย่างเช่น อุดรธานี เป็นต้น

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลกับ The Momentum เพิ่มเติมว่าการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศนั้นสามารถทำได้ในรูปแบบที่มีธนาคารพาณิชย์เป็นตัวแทนรับชำระเงินเช่นเดียวกับกรณีของลาว เนื่องจากยังมีข้อจำกัดของระบบกลางที่ยังมีขีดความสามารถในการทำธุรกรรมที่แตกต่างกัน และจะใช้แนวทางดังกล่าวกับชาติอื่นๆในอาเซียนด้วย ส่วนอีกรูปแบบคือการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างระบบกลางของสองประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานพร้อมแล้ว ทำให้สามารถทำธุรกรรมได้กับทุกธนาคารของทั้งสองฝั่ง ซึ่งประเทศไทยกำลังร่วมพัฒนากับประเทศสิงคโปร์ในการเชื่อมต่อระบบพร้อมเพย์เข้ากับระบบ PayNow โดยตรง คาดว่าจะเปิดตัวได้อีกไม่นานจากนี้

นอกจากนี้ยังมีบริการโอนเงินข้ามแดนระหว่างไทยและลาวด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินจากค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายรวมทั้งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการจัดเก็บเงินสดซึ่งจะต้องนำไปแลกกับธนาคารและอาจได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้ การโอนเงินในรูปแบบใหม่นี้ยังช่วยลดภาระให้กับแรงงานชาวลาวที่มาทำงานในไทย ซึ่งจะรวบรวมเงินและโอนกลับไปให้ครอบครัวทุกเดือน ขณะที่ผู้ประกอบการหรือคนไทยที่ทำธุรกิจในลาวก็สามารถโอนเงินกลับประเทศโดยได้รับประโยชน์จากบริการนี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ช่องว่างสำคัญของเรื่องนี้คือจำนวนผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร (Unbanked) ที่ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนของลาวนั้นยังไม่เอื้อกับการบันทึกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดปัญหาการยืนยันตัวตน ( Know your customer : KYC) อยู่เสมอ บริการที่ทันสมัยบนระบบธนาคารจึงยังถือเป็นเรื่องใหม่อยู่พอสมควร และยังต้องให้เวลากับธนาคารพาณิชย์ลาวพอสมควรในช่วงที่เทคโนโลยีและกระบวนการยังห่างกันหลายช่วงตัวนี้

ฟังธนาคารกลางพูดแล้วมาดูภาพธุรกิจจากผู้ประกอบการไทยกันบ้าง

ลาวคือเวียงจันท์และความท้าทายของธุรกิจไทยที่ต้องรู้

ดร. ณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารของกลุ่มตนานุวัฒน์และผู้อำนวยการของห้างสรรพสินค้า View Mallในเมืองเวียงจันทร์ให้ข้อมูลกับทาง The Momentum โดยระบุว่าปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบกับธุรกิจของผู้ประกอบการไทยอย่างชัดเจน เนื่องจากลาวนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก คาดว่าสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศถึง 90% มาจากการนำเข้า และสินค้าไทยครองสัดส่วน 70% ของจำนวนสินค้านำเข้าทั้งหมด แต่ช่วงที่ผ่านมาเมื่อระดับราคาโดยเปรียบเทียบของสินค้าไทยสูงขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีนและเวียดนามแทน นอกจากนี้รัฐบาลของลาวยังส่งเสริมการผลิตในประเทศให้มากขึ้นด้วย จึงเริ่มเกิดสินค้าทดแทนภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าตอนนี้ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 60% แล้ว 

ที่ผ่านมามีกลุ่มทุนไทยหลายกลุ่มเข้ามาทำธุรกิจในลาวทั้งการเกษตรซึ่งยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ธุรกิจร้านอาหาร ค้าปลีก แต่ก็เหลือไม่กี่กลุ่มที่ยืนหยัดและเติบโตในลาวได้ ปัจจุบันธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Mini Big C ภายใต้กลุ่มของ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ กำลังขยายธุรกิจอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มเติบโตดี ยังไม่นับรวมโรงแรมอีกหลายแห่งที่เจ้าสัวเจริญเข้าซื้อกิจการในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ขณะที่ธุรกิจธนาคารมีเพียงธนาคารกสิกรไทยที่เข้ามาประกอบธุรกิจในลักษณะธนาคารท้องถิ่นที่ทำธุรกรรมได้เต็มรูปแบบ ขณะที่ธนาคารอื่นๆจะเข้ามาในลักษณะสาขาของธนาคารต่างประเทศในลาว

“ประเทศลาวก็คือเวียงจันท์นั่นล่ะ”

ดร. ณรงค์เล่าถึงข้อจำกัดสำคัญของการทำธุรกิจในลาวคือขนาดตลาดที่ค่อนข้างเล็กและกำลังซื้ออาจจะน้อยกว่าประเทศอื่นที่มีประชากรมากและชนชั้นกลางขยายตัว ประชากรในพื้นที่ของเวียงจันท์ซึ่งถือเป็นพื้นที่ 3,650 ตารางกิโลเมตรที่เจริญที่สุดมีจำนวนราว 5 แสนคน ขณะที่ประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานมีประมาณ 4-5 แสนคน ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคในเมืองหลวงแห่งนี้จะมีราว 1 ล้านคนเท่านั้น ถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับกรุงเทพมหานครที่ประชากรกว่า 10 ล้านคนหรือฮานอยของเวียดนามที่มีประชากรเกือบ 8 ล้านคน ดังนั้นศักยภาพของการใช้จ่ายจะมีอยู่ในระดับหนึ่งเท่านั้นในตอนนี้

แม้ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลของลาวพยายามปรับปรุงข้อกฏหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปลงทุนแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงด้านกฏเกณฑ์ (Regulatory Risk) ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการค้าขายที่นี่ เนื่องจากเปลี่ยนแปลงกฏหมายอยู่บ่อยครั้งและผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการไปรุกธุรกิจในลาว ยังเริ่มต้นด้วยเรื่อง ‘Know Who’ ก่อนเสมอเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายแห่งที่ยังมีอุปสรรคในการเข้าทำธุรกิจ (Barrier to entry) ซึ่งจะต้องรู้จักและรู้วิธีการในการติดต่อกับส่วนงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายและภาษีเป็นสิ่งที่ต้องทำการบ้านให้ดีเสมอ เนื่องจากอาจปรับเปลี่ยนได้ตลอด แต่สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญคือการเข้าถึงเครือข่ายของผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในลาวก่อนหน้านี้และมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายกันอยู่แล้ว หากสามารถจับมือเป็นหุ้นส่วนหรือร่วมมือกันทำธุรกิจได้ก็จะเพิ่มโอกาสได้มากกว่าการเข้าไป ‘ลุยเดี่ยว’ ได้หลายเท่าตัว

เศรษฐกิจของลาวนั้นใกล้ชิดกับจีนอย่างมาก ไม่เพียงแต่มีชายแดนที่ติดกัน แต่ลาวยังพึ่งพาเม็ดเงินมหาศาลจากจีนที่เข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำธุรกิจ และเป็น ‘พี่ใหญ่’ ให้กับลาวอยู่เสมอ จึงไม่แปลกที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงของจีนเชื่อมโยงมาที่เวียงจันท์จึงเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วราวกับเนรมิต ดร. ณรงค์เล่าเรื่องนี้ได้น่าสนใจทีเดียว

“เวลาจีนเขาคุยกับลาว เขาคุยระดับรัฐบาล ( G to G) เลย ถ้าโอเคก็ส่งรัฐวิสาหกิจของจีนมาเป็นทัพหน้าเข้ามาลุยก่อน จากนั้นทำโครงการอะไรเขาก็เอาคนจีนเข้าตามมา มีตัวกลางคอยจัดการงานเอกสาร เตรียมเรื่องกฏหมาย ภาษีและรายละเอียดอื่นๆให้พร้อม แล้วเอกชนเขาก็เดินหน้าต่อได้เลย แต่ของไทยเรา เราต้องเข้ามาลองผิดลองถูกกันเอง ตลาดนี้ไม่ได้ง่ายแต่ก็ยังไปได้เรื่อยๆ”

เหมือนกับจุดอื่นๆ ที่มีการแข่งขันทางการค้า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เรื่องคนลาวนิยมสินค้าไทยนี่ใครก็ทราบ คำถามที่สำคัญคือเราจะยังครองส่วนแบ่งตลาดในลาวได้อย่างแข็งแกร่งไปอีกนานเพียงไร ในเมื่อวันนี้เราไม่สามารถผลิตสินค้าราคาถูกได้ถูกว่าของจีนและเวียดนาม รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวพันทั้งมิติทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มิอาจแยกจากกันได้ของลาวด้วย

โอกาสทางธุรกิจก็เหมือนขบวนรถไฟที่ผ่านมาตรงหน้าโดยไม่จอดรอ 

ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีขึ้นให้ถูก ก็คงต้องเปลี่ยนขบวนในที่สุด 

ที่มา :

https://countryeconomy.com/gdp/laos

https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2861:20181213-pre01&catid=31&Itemid=208

https://www.greennetworkthailand.com/some-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2-3-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/

Tags: , , ,