ในวันที่ใครคนหนึ่งที่ถือเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ทรงอิทธิพลในสังคมข้อมูลข่าวสาร ขึ้นข้อความในทวิตเตอร์ว่า จะมี ‘ข่าวใหญ่’ ตามมาด้วย ‘ข่าวดี’ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เราต่างจดจ้องคาดเดากันไปต่างๆ นานา ว่าข่าวใหญ่หรือข่าวดีนั้นคืออะไร โลกโซเชียลเองต่างก็พยายามไขปริศนาธรรมนี้ โยนตัวเลือกที่อาจจะเป็นไปได้ต่างๆ ออกมา จนสร้างความสับสนอลหม่านของข้อมูลข่าวสารที่ไม่อาจยืนยันได้ว่า เรื่องไหนจริง เรื่องไหนเท็จ แต่ต่างก็พร้อมที่จะรีทวีตกันไปรัวๆ
เมื่อคลื่นลมสงบ ภาวะฝุ่นตลบจางลง ข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นข่าวใหญ่หรือข่าวดี ได้รับการคลี่คลายระดับหนึ่ง ผู้คนในโลกโซเชียลหันไปสนใจดรามาอื่นๆ กันต่อ เราชวน ‘พรรษาสิริ กุหลาบ’ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมพูดคุยตบฝุ่นให้คลุ้งขึ้นมาอีกครั้ง ว่าเราควรจะมองปรากฏการณ์ข่าวลือที่เกิดขึ้นในสังคมไทยนี้อย่างไร ควรพิจารณามันในแง่มุมไหนบ้าง เพื่อที่ครั้งหน้า หากมีข่าวใหญ่ ข่าวดี ข่าวร้าย หรือข่าวใหญ่มากๆ เกิดขึ้นอีก เราจะได้รู้ว่าปลายนิ้วที่เตรียมกดปุ่มรีทวีตนั้น ควรจะต้องทำงานอย่างไร
ช่วงนี้คนให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ‘เฟคนิวส์’ แต่ขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ข่าวลือ’ ออกมาบ่อยๆ ข่าวลือกับเฟคนิวส์มีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
กลายเป็นว่า คนที่สนใจเรื่องนี้ในเชิงวิชาการ เป็นคนที่ทำเรื่องวิทยาการด้านสารสนเทศ เป็นเรื่องของวิศวะ เรื่องการขุดเหมืองข้อมูล โดยใช้ระบบเชิงคอมพิวเตอร์ทำเครื่องมือตรวจจับว่า ข่าวลือหรือข้อมูลที่เป็นเท็จในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมออนไลน์มันมีมากน้อยแค่ไหน
มันเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่า คนที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีก็มองโลกออนไลน์เป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มันไปได้ไกลขึ้น เป็นปฏิบัติการของข้อมูลที่ไปไกลกว่าการปล่อยข่าวในสมัยก่อน ซึ่งใช้ตามสถานที่เชิงกายภาพ หรือว่าปากต่อปากโดยบุคคล แต่พอมีเครื่องมือตรงนี้ มันก็เลยไปเร็ว
ข่าวลือต่างจากเฟคนิวส์ไหม
บอกยากเหมือนกันค่ะ มีงานศึกษาเรื่อง The Web of False Information: Rumors, Fake News, Hoaxes, Clickbait, and Various Other Shenanigans ที่พยายามจะบอกและจัดประเภทว่า ข้อมูลเท็จ ซึ่งเขาใช้คำว่า false information และ disinformation หรือข้อมูลที่สร้างความสับสน และมีนัยของ ‘ความเป็นเท็จ’ ของข้อมูลเหมือนกัน แต่เราก็อาจจะเคลือบแคลง มีทั้งเท็จครึ่งหนึ่งจริงครึ่งหนึ่งก็ได้ ซึ่งข่าวลือมันอาจจะอยู่ในกลุ่มนี้ การจัดประเภทมันก็เลยยังกว้างๆ กลางๆ อยู่
แต่ความน่าสนใจก็คือ เขาพูดถึงเรื่องของข้อมูลเท็จที่มันเผยแพร่อยู่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งมีการจัดประเภทข้อมูลเท็จเหล่านี้สิบกว่าประเภท ข่าวลือก็อยู่ในนั้นด้วย แต่นิยามข่าวลือของเขาคือ เป็นข้อมูลที่ข้อเท็จจริงยังคลุมเครืออยู่ หรือยังไม่สามารถยืนยันได้ ดังนั้น มันยังฟันธงไม่ได้ในขณะนั้นว่า เป็นเรื่องจริงหรือเท็จ
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ข่าวลือมันอาจจะทำให้เราสับสน โดยเฉพาะในฐานะคนทำงานด้านวารสารศาสตร์ก็คือ หนึ่ง มันกระพือด้วยแรงกระเพื่อมที่เยอะ มีคนพูดเรื่องนี้เยอะ หรือ สอง มันมาจากบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิด หรือคนที่เป็น ‘วงใน’
อย่างข่าวลือเรื่องสถาบันฯ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก่อนหน้านี้ มันถูกปล่อยมาจากนักข่าวที่ถือว่าเป็นคน ‘วงใน’ ถ้าเป็นคนทั่วๆ ไป เราก็อาจจะรู้สึกว่า เดี๋ยวก่อน เดี๋ยวค่อยจัดการกับมัน แต่พอมันถูกปล่อยมาโดยคน ‘วงใน’ เราก็จะรู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว เราต้องตาม ที่จริง-ไม่จริงก็ไม่รู้เหมือนกัน
กับคำถามที่ว่าข่าวลือเป็นเฟคนิวส์ไหม ก็ยากเหมือนกันนะคะ เพราะนิยามของเฟคนิวส์ในโลกวิชาการเองก็ถกเถียงกันเยอะ ว่าตกลงเราจะเรียกสิ่งนี้ว่าอย่างไร แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็นข้อมูลเท็จหรือเป็นข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสน มันอาจจะทำให้ชัดมากกว่า แล้วค่อยมาจัดประเภทกันว่า ข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสนได้แก่อะไรบ้าง มีเจตนาอย่างไร แลtเหตุผลที่ข้อมูลเหล่านั้นถูกปล่อยออกมาคืออะไร
ตอนนี้มีงานวิจัยเรื่องข่าวลือกับโลกออนไลน์แล้วหรือยัง
มีนะคะ งานวิจัยเรื่อง ‘ข่าวลือบนทวิตเตอร์ : การไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารในห้วงของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม-การเมืองในประเทศไทย’ ของอาจารย์พิจิตรา สึคาโมโต้ ก็เป็นการใช้บิ๊กดาต้ามาประกอบ เหมือนเป็นบูรณาการศาสตร์ระหว่างนิเทศศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพราะมันวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ หรือเรื่องการเมือง ในขณะเดียวกันก็เอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ด้วย งานนี้อาจารย์พิจิตราทำกับอาจารย์ที่คณะวิศวะฯ ซึ่งดูเรื่องบิ๊กดาต้าเป็นหลัก
ในงานชิ้นนี้มีการจัดประเภทของข่าวลือสามแบบ หนึ่ง คือ เป็นข้อมูลเท็จไปเลย พิสูจน์ข้อมูลนั้นแล้วว่าเป็นเท็จ สอง เป็นข่าวปล่อย ข่าวหลุด ภาษาอังกฤษอาจารย์พิจิตราใช้คำว่า ลีก (leak) ตอนแรกยังไม่รู้ว่าจริงไม่จริง แต่ตอนหลังได้รับการพิสูจน์ว่าจริง เหมือนกับข่าวลือเรื่องการปลดเจ้าคุณพระสินีนาฏฯ ที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นข่าวปล่อยข่าวหลุด ท้ายที่สุดแล้วก็มีการปลดจริงๆ
สุดท้ายแบบที่สาม ซึ่งน่าสนใจ ก็คือ ‘ข่าวลือที่คงสภาพ’ คือมันไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นจริงหรือเท็จ แต่ว่าพอมันไม่ได้อยู่ในช่วงพีคแล้ว ความสนใจในตัวข่าวของผู้คนก็ลดลง ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ยกตัวอย่างข่าวลือเรื่องครอบครัววัชโรทัยหลังจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีข่าวออกมาว่า ครอบครัววัชโรทัยได้รับผลกระทบอย่างนู้นอย่างนี้ แต่ไม่ได้รับการคอนเฟิร์มว่าจริงหรือไม่จริง มันก็จะคงสภาพความเป็นข่าวลืออยู่อย่างนั้นต่อไป
บางข่าวลือ มันคงสภาพเพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะการพิสูจน์อาจจะมีผลทางกฎหมายหรือทางสังคม เพราะประเด็นล่อแหลมมีความสุ่มเสี่ยง มีกรณีไหนอีกไหม ที่เป็นข่าวลือคงสภาพด้วยปัจจัยอื่น
มีค่ะ เป็นงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของคุณกิ่งอ้อ เล่าฮง ทำวิจัยเรื่องข่าวลือในจังหวัดชายแดนใต้ เรื่อง ‘การปฏิบัติการข่าวสาร ข่าวลือ และแบบแผนพฤติกรรมฝูงชนวุ่นวาย : กรณีศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์โจรนินจา และเหตุการณ์จับนาวิกโยธินในภาคใต้ของประเทศไทย’ ซึ่งมีเรื่องที่นำไปสู่การทำให้ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนใต้รู้สึกไม่ปลอดภัย หวาดระแวงต่อเจ้าพนักงาน
ข่าวลือที่ว่านี้คือเรื่อง ‘โจรนินจา’ มีข่าวลือว่าโจรนินจาระบาดในพื้นที่ เป็นคนที่มีอาวุธ มีอาคม จับตัวไม่ได้ ออกมาฉุดคร่าผู้หญิง จับลูกเด็กเล็กแดง ลักพาตัว ซึ่งเรื่องนี้เกิดก่อนเหตุการณ์ที่เรียกว่าไฟใต้ (เหตุการณ์ตากใบ) ประมาณช่วงปี 2546 ชาวบ้านจึงต้องจัดตั้งกองกำลังเพื่อปกป้องตัวเอง แล้วเผอิญว่ามีนาวิกโยธิน เจ้าหน้าที่ หลงทางเข้าไปในพื้นที่แล้วก็โดนชาวบ้านจับ เนื่องจากชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นโจรนินจา เพราะว่าก่อนหน้านี้มีเหตุร้านน้ำชาโดนกราดยิงแล้วจับตัวคนทำไม่ได้ อยู่ๆ เมื่อเห็นคนแปลกหน้าสองคนนี้หลุดเข้ามา ชาวบ้านก็เลยจับเอาไว้ แล้วก็นำไปสู่การประชาทัณฑ์
เรื่องโจรนินจานี้ท้ายที่สุดมันก็พิสูจน์ไม่ได้ มันอาจจะเป็นข่าวลือคงสภาพก็ได้ เพราะเราไม่สามารถหาต้นตอได้ว่าใครเป็นคนปล่อยข่าว โจรนินจามีจริงไหม เพราะจากข้อมูลที่คุณกิ่งอ้อไปสืบค้นมา ก็พบว่าเป็นการเล่าปากต่อปาก ส่วนหนึ่งมันก็อาจจะมาจากประวัติศาสตร์ของพื้นที่ด้วย
แม้มันพิสูจน์ไม่ได้ แต่ข่าวลือมันดันทำงาน สร้างความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน งานวิจัยเล่มนี้สรุปไว้ว่า หน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้เข้าไปสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านว่า โจรนินจามันมีจริงหรือไม่ ไม่ได้ไปคลี่คลายจุดที่เป็นปมของเรื่องจริงๆ คือเรื่องการที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต่อชาวบ้านไม่เป็นธรรม
แล้วจะทำอย่างไรต่อไป อันนี้สำคัญกว่าเรื่องของโจรนินจาซึ่งเป็นข่าวลืออีก เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านนำมาผูกโยงกับเรื่องข่าวลือ เมื่อไม่ได้เข้าไปอธิบาย มันจึงทำให้ลือไม่หยุด คงสภาพไปเรื่อยๆ แล้วก็อาจจะถูกนำมาใช้งานอีกเรื่อยๆ ก็ได้ อาจจะแปลงไปเป็นเวอร์ชั่นอื่น ไม่ใช่ตัวโจรนินจาแล้ว แต่ก็สร้างความหวาดระแวงระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐได้อีก
หรือตัวอย่างง่ายๆ ศิลปินดาราชายคนนี้เป็นเกย์หรือไม่เป็นเกย์ ดาราหญิงคนนี้ขายตัวหรือไม่ขายตัว
ใช่ค่ะ เรื่องใต้เตียงดาราต่างๆ หรือก่อนหน้านี้ที่เรามีซ้อเจ็ด ในรุ่นพวกเรา (หัวเราะ) (ซ้อเจ็ด คือคอลัมน์ซุบซิบ เผยแพร่ทางผู้จัดการออนไลน์ตั้งแต่ปี 2543-2549 เล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงของคน ‘วงใน’ – กองบรรณาธิการ) แต่ประเด็นการคงสภาพของข่าวลือดารานั้นมันอยู่ที่ว่า นอกจากจะเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว การพิสูจน์มันสร้างประโยชน์สาธารณะหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เราต้องแยก ระหว่างความเป็นประโยชน์สาธารณะกับบุคคลสาธารณะ
สำหรับคนทำงานด้านวารสารศาสตร์หรือการทำงานข่าว เราต้องพิจารณาว่า การพิสูจน์ข่าวลือคงสภาพ มันตอบโจทย์กับประโยชน์สาธารณะหรือไม่ รู้เรื่องนี้แล้วประชาชนจะได้อะไรจากมัน เขาได้รับผลกระทบอย่างไร หรือถ้าไม่ได้รู้เรื่องนี้แล้วจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเขาไหม อย่างเรื่องดาราบางทีมันก็ดีเบตกันได้นะคะ การที่เรารู้ว่าเขามีความสัมพันธ์หรือว่ามีรสนิยมทางเพศแบบไหน มันส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตคนหรือเปล่า โอเค ในแง่หนึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับวิธีคิด จิตใจของคน เราชอบพี่คนนี้มาตลอด แต่อยู่ๆ เราพบว่า อ้าว…เขาไม่ได้ชอบเพศที่เราสังกัด มันก็อาจจะส่งผลต่อจิตใจ แต่ว่ามันมีเรื่องอื่นที่ควรจะต้องพิสูจน์มากกว่าไหม
หรือถ้าเราต้องการจะให้เขา (ดารา) ออกมาคลี่คลายข่าวลือตรงนั้นจริงๆ มันมีวิธีที่สามารถจะโยงไปถึงประโยชน์สาธารณะได้ไหม อย่างเช่น เพศสภาพของดาราเกี่ยวกับการหารายได้ไหม ซึ่งมันไม่ได้สะท้อนแค่ว่า ดาราคนนั้นดีไม่ดี แต่มันสะท้อนว่าวงการนี้มันเป็นอย่างไร เราไม่ได้มองแค่ว่าเราพิสูจน์ข้อเท็จจริงตรงหน้า แต่เราต้องถามต่อว่า แล้วข้อเท็จจริงนั้นมันนำมาสู่ความเข้าใจของสาธารณะอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ มากกว่า
ข่าวลือมันมีโครงสร้างของมันไหมครับ
จะเรียกว่ามีก็ได้นะคะ ตัวงานวิจัยที่ยกตัวอย่างก็บอกว่า ข่าวลือก็เป็นประเภทหนึ่งของข้อมูลเท็จเหมือนกัน เพราะมันไม่สามารถจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงของข้อมูลได้ หรือไม่มีการยืนยันได้ในขณะนั้น อย่างน้อยก็ในขณะที่มันปล่อยข้อมูลออกมา ดังนั้น ณ จุดหนึ่งเราก็ควรจะตั้งข้อสงสัยหรือข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ไว้ก่อน เช่นเดียวกับเวลามีเฟคนิวส์หรือข้อมูลเท็จต่างๆ
ข่าวลือมีทั้งแบบที่ไม่ได้บอกว่าเอามาจากไหน บอกแค่ว่ารู้เรื่องนี้มา หรือบางทีก็อาจจะตั้งคำถามว่าอาจจะไม่จริง เพื่อเป็นการปกป้องตัวคนที่ปล่อยข่าว ให้ข้อมูล มันก็จะมีความคลุมเครือแอบแฝงอยู่ หรือบางทีมีการบอกแหล่งข้อมูลที่มา แต่ก็อาจจะเป็นข้อมูลที่ไม่จริงก็ได้ ซึ่งแบบนี้ยังพอจับต้องข้อเท็จจริงได้ อย่างเช่น มีการอ้างข้อมูลว่ามาจากสำนักข่าวนี้ แต่จากนั้นสำนักข่าวนี้ก็ออกมาบอกทันทีว่า ฉันไม่ได้เป็นคนพูดเรื่องนี้ หรือแหล่งข่าวนั้นไม่ได้เป็นคนพูดเรื่องนี้ มันก็จบ
เช่น เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวลือเรื่อง ‘ข่าวดี’ ในโซเชียลมีเดีย แต่เรื่องมันจบเพราะบุคคลในข่าวหรือบุคคลที่เราเชื่อว่าเป็นบุคคลในข่าว ออกมาโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊กว่าไม่จริง ซึ่งการที่บุคคลในข่าวลือ หรือต้นเรื่องออกมาชี้แจงมันก็จะจบ แน่นอน อาจจะยังมีมุมให้ลือกันต่อไป แต่อย่างน้อยมันจบในวงจร ข่าวลือมันไม่ไปไกลกว่านั้น
งานวิจัยนี้บอกว่า ข่าวลือมันจะจบลงได้ก็ต่อเมื่อสถาบันที่เป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ออกมาบอกว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จริงอย่างไร โดยใช้ภาษาที่เป็นทางการ ขึงขัง จริงจัง แต่ถ้าข้อมูลมันยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และใช้ภาษาเล่นๆ ตั้งข้อสังเกตจริงไม่จริง ข่าวลือก็ยังจะไปต่อเรื่อยๆ
ตัวโครงสร้างของมัน นอกจากสิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริงแล้ว องค์ประกอบด้านอื่นๆ เช่น การปล่อยข่าว สถาบันที่ปล่อย คนที่ปล่อย มันแตกต่างจากเฟคนิวส์หรือไม่ อย่างไร
ยังไม่มีงานการศึกษาที่เจาะได้ขนาดนั้น แต่จากงานของอาจารย์พิจิตราซึ่งศึกษาเรื่องข่าวลือในทวิตเตอร์ จุดเริ่มต้นมักจะเป็นแอคเคาต์คนธรรมดาทั่วไปซึ่งยังไม่ใช่ข้อมูลที่แพร่หลาย อยู่ในวงแคบๆ จนกระทั่งคนที่มีอิทธิพลทางความคิด สังคม หรือสื่อมวลชนไปงับต่อ มันก็จะกระจายทันที
หรืออย่างงานถอดรหัสไฟใต้ของคุณกิ่งอ้อที่พูดถึงเรื่องข่าวลือในชายแดนใต้ คุณกิ่งอ้อตีความว่า ข่าวลือเรื่องโจรนินจาหรือเรื่องอื่นๆ ที่มันสร้างความหวาดระแวงกันระหว่างชาวบ้านกับรัฐ อาจจะเป็นการปล่อย หรือเป็นปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารของกลุ่มที่เป็นขบวนการก่อความไม่สงบก็ได้ เพราะฉะนั้นก็จะพบว่า มันก็มีทั้งคนธรรมดาและกลุ่มองค์กรที่ปล่อยข่าว
ในงานของอาจารย์พิจิตรา ประเด็นหนึ่งที่อาจารย์เลือกมาศึกษาก็คือกรณีสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งก็มีข่าวลือออกมาก่อน ภาษาที่เจอหรือลักษณะข้อความที่เจอต้นๆ เรื่องของข่าวลือนี้ก็จะประมาณว่า มีคนใกล้ชิดบอกมาว่าท่านสิ้นแล้วนะ หรือว่าคิดถึงท่านจังเลย อะไรประมาณนี้ คือมันเป็นคำบอกใบ้ แต่ไม่ได้บอกตรงๆ จับต้นชนปลายไม่ได้
ขณะเดียวกัน ก็มีบางงานที่พบว่า ข่าวลือมันก็อาจจะเป็นปฏิบัติการเชิงข่าวสารของภาครัฐเช่นกัน ฉะนั้นทั้งหมดทั้งปวงก็คือ เอเจนต์หรือคนที่เป็นปล่อยข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้การันตีเลยว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกฝ่ายมีสิทธิปล่อยข่าวได้ ขึ้นอยู่กับว่าปฏิกิริยาของสังคมต่อข่าวสารตัวนั้นเป็นอย่างไรมากกว่า อย่างเรื่องที่ยกตัวอย่างทั้งงานของอาจารย์พิจิตรา หรืองานของคุณกิ่งอ้อ มันเป็นสถานการณ์หรือบริบทที่เราอยากรู้ อยากหาคำตอบ แต่เราก็ไม่รู้ เราก็เลยต้องพูดกันไปเรื่อยๆ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจกับเรื่องนี้มากขึ้น
ข่าวลืออาจจะเป็นปฏิบัติการเชิงข่าวสารของภาครัฐเช่นกัน เอเจนต์หรือคนที่เป็นปล่อยข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้การันตีเลยว่าจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกฝ่ายมีสิทธิปล่อยข่าวได้
ข่าวลือ ข่าวกอสซิป การใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการ มันสร้างอำนาจในเนื้อหา มากกว่าสิ่งที่เป็นทางการไหม
มีงานที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) เคยให้ความเห็นใน ‘เรื่องเล่าข่าวลือในประวัติศาสตร์ชายแดนใต้’ กล่าวถึงผลกระทบของข่าวลือ (ซึ่งเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรือปฏิบัติการข่าวสารของภาครัฐ) ต่อสังคม หากถามว่ามันเป็นอำนาจไหม ตีความแบบคร่าวๆ จากที่อาจารย์ใช้คำว่าคนทั้งหลายในสังคมสวมบทเป็น author (ผู้ประพันธ์) ของข่าวลือได้หมด เข้าใจว่าในสภาพที่สังคมมันยังคลุมเครือกับเรื่องบางเรื่อง และต้องการทำความเข้าใจกับมัน บางทีการที่เราสามารถจะประกาศตนว่า ฉันรู้เรื่องนี้ จริงไม่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ แต่ฉันรู้ มันก็มีอำนาจนะ เราเป็นเจ้าของข้อมูลข่าวสารชุดนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ข้อเท็จจริงก็ตาม
มันก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ข่าวลือมันไปได้ไกล เพราะว่าถ้าสังคมอยากจะรู้เรื่องนี้อยู่แล้วเผอิญเราได้ข้อมูลตรงนี้มา มันก็ไม่แปลกที่เราจะกดรีทวีตหรือกดแชร์ต่อ เพื่อให้เราก็เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูลตรงนั้น และในขณะเดียวกัน มันก็บอกคนรอบข้างเราว่า ฉันรู้เว้ย เรื่องนี้ฉันรู้ก่อนใคร ซึ่งการรู้ก่อนใครมันก็สร้างอำนาจในระดับหนึ่ง ทั้งความเอ็กซ์คลูซีฟ ความใกล้แหล่งข่าว ผลจากตรงนี้ก็เลยทำให้ข่าวลือมันแพร่ไปเร็ว เพราะคนรู้สึกว่าการที่ฉันได้แพร่ข้อมูลตรงนี้ ฉันรู้ดี ฉันเก่ง แล้วฉันสามารถทำให้คนอื่นรู้ต่อจากฉันได้
บางทีการที่เราสามารถจะประกาศตนว่าฉันรู้เรื่องนี้ จริงไม่จริงก็ไม่รู้ มันก็มีอำนาจนะ มันบอกคนรอบข้างเราว่า ฉันรู้เว้ย เรื่องนี้ฉันรู้ก่อนใคร ซึ่งการรู้ก่อนใครมันก็สร้างอำนาจในระดับหนึ่ง ทั้งความเอ็กซ์คลูซีฟ ความใกล้แหล่งข่าว ผลจากตรงนี้ก็เลยทำให้ข่าวลือมันแพร่ไปเร็ว
ฟังก์ชั่นหรือโครงสร้างของข่าวลือในอดีตกับปัจจุบันมันแตกต่างกันไหมครับ เช่น ในอดีต มีการเข้าไปในโรงหนังแล้วก็ประกาศว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ซึ่งบอกข้อมูลตรงไปตรงมา ขณะที่ข่าวลือในปัจจุบัน เป็นการทิ้งความเอาไว้ให้ตามต่อ รูปประโยคหรือข้อมูลที่ไม่มีเจ้าของให้คนไปสวมต่อความเป็นเจ้าของได้
น่าสนใจนะคะ คิดว่ามีสองประเด็นที่ควรพูดถึง อันแรกคือ บริบทสังคมอาจมีผลที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราพูดอะไรได้ไม่เต็มปากเต็มคำ มันจึงต้องบอกใบ้ทีละนิดทีละหน่อยเพื่อให้คนไปพูดกันต่อ ในสภาวะที่องค์กรสื่อหรือสถาบันต่างๆ เองก็ไม่สามารถพูดเรื่องบางเรื่อง หรือรายงานได้ตรงๆ อาจจะรายงานได้อ้อมๆ หรือรายงานได้แค่ข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถจะเชื่อมโยงได้ ดังนั้น รูปแบบของการกระจายข่าวลือมันก็เลยเป็นไปในลักษณะนี้ การซุบซิบนินทากอสซิปแบบไม่เป็นทางการ
สอง ถ้าให้ตีความเอง ก็คือลักษณะธรรมชาติของโซเชียลมีเดีย ภาษาที่เราใช้ในโลกโซเชียลมีเดียก็มักจะเป็นภาษาพูด ภาษาที่เป็นกันเอง ใส่อารมณ์ความรู้สึก แม้กระทั่งถ้าเราเป็นนักวารสารศาสตร์หรือเป็นผู้สื่อข่าวเอง บางทีมันก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นส่วนตัวลงไป เพราะฉะนั้น เมื่อสองสิ่งนี้มาประกอบกัน ก็เลยทำให้รูปแบบของข่าวลือในปัจจุบันมันอาจจะพูดตรงๆ หรือบอกข้อมูลตรงๆ ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไปได้เร็ว เนื่องจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมันเชื่อมต่อกันในหลายชุมชน จากทวิตเตอร์ไปสู่เฟซบุ๊ก จากเฟซบุ๊กไปสู่ไลน์ จึงแพร่กระจายได้ง่ายกว่า
ข่าวบางข่าว หากสถาบันที่เกี่ยวข้องไม่ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการ สื่อมวลชนเองก็ไม่สามารถตั้งคำถาม ตรวจสอบ และทำออกมาเป็นข่าวได้ ยกตัวอย่างกรณี ‘ข่าวดี’ ที่แม้กระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ มันสามารถเรียบเรียงเหตุการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่อาจรายงานออกมาเป็นข่าวได้ มันสะท้อนอะไร
มันสะท้อนความคลุมเครือของสังคมไทย ว่าเราไม่รู้จะรับมืออย่างไรกับความคลุมเครือตรงนี้ อย่างกรณี ‘ข่าวดี’ การที่นักข่าวออกมาให้ข้อมูล มันเหมือนเขาก็ใช้ข้อมูลนี้เป็นสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าของเขา ฉันรู้จริง ฉันเป็นคนวงใน แต่ว่ามันก็ผิดวิสัย ถ้ามันเป็นข่าวเอ็กซ์คลูซีฟจริงๆ แล้วคุณเป็นนักวารสารศาสตร์ คุณต้องให้ข้อเท็จจริงกับสังคม ก็พูดตรงๆ มาสิว่าเกิดอะไรขึ้น ให้ข้อมูลมา อย่าให้แค่การบอกใบ้ เพราะการให้แค่คำใบ้มันก็จะเป็นข่าวลือ นักวารสารศาสตร์มีหน้าที่ทำให้มันกระจ่าง ไม่ใช่ทำให้มันมัวยิ่งกว่าเดิม หรือคุณเป็นแค่อินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งในโลกโซเชียล อย่างนั้นก็ไม่ว่ากัน แต่คุณอย่ามาเคลมว่าคุณเป็นนักข่าว เพราะถ้าเป็นนักข่าว คุณต้องทำหน้าที่ในบทบาทของนักวารสารศาสตร์ ขุดคุ้ยหาข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ถึงเรื่องความไม่ชอบมาพากลของอำนาจต่างๆ ของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
การที่อยู่ๆ วันหนึ่งคุณมาทำอย่างนี้ ในฐานะส่วนบุคคลเราไม่ว่ากันอยู่แล้ว เราไม่ได้ต้องการจะโจมตีว่าใครผิดใครไม่ผิด แต่เราอยากให้สังคมต้องตั้งข้อสังเกตกับข้อมูลเหล่านี้ สถานะของเขาในปัจจุบันที่ไม่เหมือนกับสถานะแต่ก่อน ไม่ว่าจะเป็นด้วยท่าที ด้วยวิธีการสื่อสาร สังคมต้องตั้งข้อสังเกตกับเรื่องเหล่านี้ ข้อมูลที่ปรากฏขึ้นมา ไม่จำเป็นจะต้องรีบรีทวีตหรือแชร์ ฟังแล้วก็หยุดให้มันเคลียร์ก่อน เรารู้ว่าภายใต้การทำงานแบบนี้มันมีผลประโยชน์หรือมีจุดประสงค์บางอย่างในการทำงานของตัวมันเอง
สิ่งที่เราในฐานะสมาชิกในสังคมต้องร่วมกันตระหนักก็คือ ถ้าเราอยู่กันอย่างนี้ต่อไป ทำแบบนี้ต่อไป มันก็จะอยู่บนความคลุมเครือ ไม่ไปไหนสักที เราก็จะทำให้เรื่องที่มันควรจะต้องถกกันในที่เปิดเผย ด้วยข้อเท็จจริง เหตุและผล กลายเป็นเรื่องซุบซิบนินทาไป
อีกสิ่งหนึ่งก็คือ ปรากฏการณ์ข่าวลือ ข้อมูลที่สร้างความสับสน รวมถึงเฟคนิวส์ ยังแสดงให้เห็นการต่อรองและต่อสู้เพื่ออำนาจในการผูกขาดข้อมูลข่าวสาร หรืออำนาจในการสร้างเรื่องเล่า (narrative) ที่จะสนับสนุนชุดความคิด (วาทกรรม) หรือความเชื่อ อุดมการณ์ อำนาจนำ ที่ตนเองยึดถือ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะหรือเพื่อสร้างมติมหาชน (consent)
อำนาจในการผูกขาดข้อมูลข่าวสารในที่นี้ ยังรวมถึงอำนาจในการผูกขาด ‘ข้อเท็จจริง’ หรือการสร้างความชอบธรรมในการชี้ว่าอะไรเป็นจริง อะไรเป็นเท็จ แม้จะมีหลักฐานที่บอกว่า ข้อมูลนั้นอาจจะไม่จริงหรือไม่เท็จตามที่ระบุก็ได้ เมื่อผู้มีอำนาจผูกขาดข้อเท็จจริง ออกมาชี้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ การถกเถียงในสังคมเกี่ยวกับข้อมูลนั้นก็อาจจะยุติ หรืออย่างน้อยก็เงียบลง ไม่มีการพูดถึงหรือถกเถียงกันต่อ
ขณะเดียวกัน คนที่วิพากษ์วิจารณ์หรือบอกในสิ่งที่ตรงกันข้ามก็จะถูกสังคมมองว่า ท้าทายหรือโวยวายไม่เข้าเรื่อง เนื่องจากข้อมูลนั้นถูกตัดสินโดยผู้มีอำนาจไปแล้วว่าเป็นจริงหรือเป็นเท็จ ดังนั้น คนเหล่านี้จะถูกมองว่าไม่น่าเชื่อถือ เป็นภัยต่อสังคม การจัดการบางอย่างเพื่อไม่ให้สิ่งที่ถูกตัดสินว่าเป็นเฟคนิวส์และข่าวลือแพร่กระจาย จึงกลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรม
ว่ากันง่ายๆ คือ ผู้มีอำนาจในการผูกขาดข้อเท็จจริง สามารถกำหนดขอบเขตว่า เรื่องอะไรพูดได้-พูดไม่ได้ หรือพูดได้แบบไหนเท่านั้น สิ่งใดที่ไม่อยู่ในกรอบที่ผู้มีอำนาจผูกขาดข้อเท็จจริงกำหนด ก็ถือว่าเป็นเรื่องเท็จ บิดเบือน สร้างความสับสน และไม่น่าเชื่อถือ
ในเมื่อนี่เป็นสมรภูมิการต่อสู้ทางข้อมูลข่าวสารและความคิด จึงไม่แปลกที่ เอเจนต์ หรือผู้สร้างและแพร่กระจายข่าวลือและข้อมูลที่สร้างความสับสนรูปแบบอื่นๆ จะมีแตกต่างหลากหลาย ทั้งในระดับ ‘ปัจเจก’ ที่อาจจะหวังสร้าง/สะสมต้นทุนทางสังคมและการเมือง เช่น การได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นคนวงใน รู้ก่อนรู้จริง หรือเพื่อสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจ และในระดับ ‘สถาบัน/กลุ่มผลประโยชน์’ เพราะมีเป้าหมายคือการสร้างมติสาธารณะที่สนับสนุนชุดความคิดของตน และหาเสียงสนับสนุนในการเห็นตรงกันข้ามกับกลุ่มที่เห็นต่างจากชุดความคิดของตัวเอง
ฝ่ายใดจะท้าทาย/ต่อรอง/ต่อสู้ในสมรภูมิข่าวสารได้สำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า วาทกรรมและอุดมการณ์แบบไหนที่เป็นอำนาจนำในสังคมอยู่แล้ว ซึ่งท้าทายไม่ได้ ประกอบกับมีวิธีการสื่อสารที่เข้าถึงคนกลุ่มต่างๆ ได้กว้างขวางและแนบเนียนกว่า
อาจารย์มองว่า ข่าวลือสร้างผลกระทบอะไรต่อแวดวงข่าวสารบ้าง
มันทำให้เราอยู่ในความคลุมเครือ แล้วพอคลุมเครือปุ๊บ สังคมก็ตัดสินใจบนความคลุมเครือตรงนั้น ยิ่งเป็น ‘ข่าวลือคงสภาพ’ แล้ว มันไม่มีทางที่จะพิสูจน์ได้ เราไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับเรื่องนั้นอย่างไร ในมุมของคนที่ศึกษาเรื่องงานวารสารศาสตร์ เราก็จะรู้สึกว่า เป็นแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะสังคมประชาธิปไตยเราต้องการพลเมืองที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในการใช้ชีวิตหรือว่ากำหนดนโยบายสาธารณะของเขาได้
ดังนั้นถ้าสังคมมันมีข่าวลือเต็มไปหมด เราก็จะไม่มีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจ และก็จะทำให้เราไม่เชื่ออะไรเลย พอคนไม่เชื่อไปหมดเลย ความไว้วางใจต่อสถาบันที่จะเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้มันก็ไม่มี ทุกอย่างจะอยู่บนความยึดมั่นถือมั่นตามความเชื่อดั้งเดิมของตัวเองหมดเลย แล้วมันก็ไม่นำเราไปสู่สิ่งที่จะทำให้เราตัดสินใจได้ชัดเจนมากขึ้น
ข่าวลือในเมืองไทยส่วนมากจะเป็นข่าวลือทางการเมือง เพราะมันเป็นเหมือนอาวุธทางการเมืองได้ด้วยหรือเปล่า
ในเชิงวารสารศาสตร์ มันก็ย้อนกลับมายังหัวใจหรือว่าเสาหลักของงานวารสารศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง เพื่อที่ประชาชนจะได้นำไปสู่การตัดสินใจในสังคมประชาธิปไตยได้ ดังนั้น ถ้าเราได้ข้อมูลชุดหนึ่งมา มันก็ต้องตรวจสอบก่อนเป็นอันดับแรก แม้ว่าพอมันมีข่าวลือมาแล้ว กว่าเราจะตรวจสอบข้อเท็จจริงใช้เวลานาน หรือว่าบางทีมันก็ยากมากที่จะเข้าถึงข้อเท็จจริง แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ต่างประเทศทำก็คือ ในภาวะที่ฝุ่นตลบ บางทีการที่นักวารสารศาสตร์ออกมายอมรับกับสาธารณะว่า เรื่องนี้ตอนนี้ยังไม่รู้ก็ได้นะคะ ยอมรับว่าไม่รู้บ้างก็ได้ แต่ต้องพยายามหาคำตอบ คืออย่างน้อยต้องตั้งคำถามไว้ก่อนว่า มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหรือมันมีข้อมูลนี้มา แต่เราต้องขอตรวจสอบก่อนนะว่ามันจริงหรือเปล่า เหมือนกฎแรกที่ได้รับการสั่งสอนมาของนักวารสารศาสตร์ก็คือ When in doubt, leave it out. คือถ้าสงสัยก็อย่าเพิ่งใส่ ยังไม่ต้องรายงาน
ซึ่งปัจจุบันนี้เราพบว่า องค์กรสื่อโดยเฉพาะองค์กรสื่อที่เรียกว่า hyper partisan (องค์กรสื่อที่เลือกข้าง) มักจะเอาข้อมูลเหล่านี้มารายงานเสมือนว่าเป็นข้อเท็จจริง แล้วก็บอกว่าจริง ซึ่งจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าตัวเองเอาข่าวลือมารายงานในสื่อ มันผิดกฎหลักของวารสารศาสตร์อยู่แล้วว่า คุณต้องเอาข้อเท็จจริงมา ถ้ายังไม่รู้ยังไม่จริงก็ไม่ต้องมารายงาน ตรวจสอบก่อนแล้วค่อยมารายงาน แต่นี่คือในกรณีที่มันเป็นเรื่องที่ยังไม่ต้องชี้แจงแบบปัจจุบันทันด่วนนะคะ
แต่ถ้ามันเป็นเรื่องวิกฤติ เช่น มีเหตุวินาศภัย มีการก่ออาชญากรรม แล้วสังคมต้องการรู้เดี๋ยวนั้นว่า เรื่องนี้ตกลงมันเหนือมันใต้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก่อนเลยก็คือ นี่คือข้อมูลที่เรารู้ แต่ข้อมูลที่เราไม่รู้ยังมี ก็ต้องบอกว่าตรงนั้นว่ายังไม่รู้ งานวิจัยของต่างประเทศเรื่องข่าวลืออีกอันหนึ่งที่มักจะพูดถึงกันก็คือ ตอนเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่งานบอสตันมาราธอน ปี 2013 กลายเป็นว่าในขณะที่ยังฝุ่นตลบอยู่ สื่อมวลชนยังไม่สามารถจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ในโลกออนไลน์ตามหาผู้ร้ายกันแล้ว แล้วปรากฏว่าก็มั่วกันมากเลย ไปไกลกว่าข้อเท็จจริงที่มี ไม่เพียงแค่นั้นสื่อเองก็ดันเดินตามโลกออนไลน์ วันรุ่งขึ้นก็พาดหัวกันผิดไปหมด
ในกรณีฉุกเฉินอย่างนี้ สามารถออกมาบอกได้ว่าตอนนี้รู้ข้อมูลอะไรบ้าง และยังไม่รู้ข้อมูลอะไรบ้าง แต่จะติดตามต่อไป บอกให้ประชาชนรู้ อย่างน้อยมันจะได้สร้างความน่าเชื่อถือนิดหนึ่งว่า เราไม่ได้อยู่ในความมืดบอด
ในภาวะที่ฝุ่นตลบ บางทีการที่นักวารสารศาสตร์ออกมายอมรับกับสาธารณะว่า เรื่องนี้ตอนนี้ยังไม่รู้ก็ได้นะคะ ยอมรับว่าไม่รู้บ้างก็ได้ แต่ต้องพยายามหาคำตอบ
ท้ายที่สุดทั้งหมดทั้งปวงมันสะท้อนบริบทสังคมว่า การมีข่าวลือมันสะท้อนว่า เราคุยเรื่องอะไรได้ เราคุยเรื่องอะไรไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นมันก็สู้พูดมาตรงๆ ไม่ดีกว่าหรือ ทำไมต้องเป็นข่าวลือ หรือว่าคุณเป็น whistle blower ไม่ดีกว่าหรือ แต่ว่าการที่ปล่อยเป็นข่าวลือออกมาแสดงว่าอยากให้คุย แต่มันคุยตรงๆ ไม่ได้ มันก็เลยต้องอ้อมๆ แทงกั๊กไปอย่างนั้นอย่างนี้
แล้วสื่อเองเราก็จะเจอตัวกั้นเหมือนกันว่า เราก็ไม่สามารถที่จะไปขุดคุ้ยต่อได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่ถกกันไม่ได้ในทางสาธารณะ หรือเป็นทางการ หรือแม้แต่ในกรณี ‘ข่าวดี’ ที่จากการเป็นข่าวลือแล้วจบลงได้ ก็ยังไม่สามารถจะรายงานออกมาเป็นทางการได้ เพราะมันเป็นเรื่องที่เราคุยกันตรงๆ ในสังคมไม่ได้
หากข่าวลือมันเป็นอาวุธทางรัฐศาสตร์ วารสารศาสตร์จะต้องมองมันอย่างไร
ก็ควรจะมองว่าแล้วใครจะได้ประโยชน์ หรือจากข้อมูลเหล่านี้ใครเป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริง หรือว่าปล่อยข่าวนี้ออกมาแล้วมันไปสนับสนุนชุดความคิดหรือวาทกรรมแบบไหน กลุ่มอำนาจนำแบบไหน ไม่ใช่แค่มอง หรือไปโฟกัสแค่ว่ามันจริงไม่จริงอย่างเดียว ไม่ใช่แค่การตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact check) ซึ่งสิ่งนี้ต้องทำเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่จากนั้นต้องดูว่าข้อมูลนี้มันถูกสร้างโดยใคร ถ้าปล่อยข้อมูลนี้สู่สังคม ประชาชนจะเข้าใจเรื่องเรื่องนี้อย่างไร แล้วประโยชน์มันจะตกอยู่กับใคร
อย่างข่าวลือคงสภาพ เรามาวิเคราะห์กันอย่างนี้ก็ได้ บางทีไม่ต้องไปนั่งตรวจสอบก็ได้ว่ามันจริงไม่จริง แต่มานั่งดูว่าปรากฏการณ์เหล่านี้มันสะท้อนสภาพสังคมอย่างไร หรือเราควรจะทำความเข้าใจกับมันอย่างไร แค่นี้มันก็ทำให้ประเด็นค่อยๆ ถูกกะเทาะไปทีละนิดแล้วค่ะ โดยที่เราอาจจะยังไม่ต้องไปทำความกระจ่างกับตัวข้อมูลต้นตอเลยก็ได้ แต่อย่างน้อยมันแสดงให้เห็นปฏิกิริยาของสังคมต่อเรื่องนี้อย่างไร
บางทีไม่ต้องไปนั่งตรวจสอบ ‘ข่าวลือคงสภาพ’ ว่ามันจริงหรือไม่จริง แต่มาดูว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้มันสะท้อนสภาพสังคมอย่างไร หรือควรจะทำความเข้าใจกับมันอย่างไร แค่นี้มันก็ทำให้ประเด็นค่อยๆ ถูกกะเทาะไปทีละนิดแล้ว
แต่บางครั้งเราเองก็พร้อมยอมตกเป็นผู้สนับสนุนข่าวลือ โดยไม่ต้องการจะตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยใช่ไหม
ปัญหาของสิ่งที่เราเรียกว่าเฟคนิวส์ หรือข้อมูลที่สร้างความสับสน บางทีประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ว่า เขารู้ว่ามันเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ปลอม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ามันตอบสนองความเชื่อของฉันด้วยหรือเปล่า
อย่างตอนเลือกตั้งสหรัฐฯ มีผลสำรวจออกมาว่า คนที่ส่งต่อข้อมูลหรือคนที่เชื่อข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับ ฮิลลารี คลินตัน จริงๆ เขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับความไม่สมเหตุสมผลของข้อมูล แต่ในเมื่อไม่ชอบ หรือรู้สึกว่าคนนี้ฉันไม่ไว้วางใจ แล้วพอมันมีข้อมูลที่มันสนับสนุนวิธีคิดอย่างนั้นของเขา เขาก็ส่งต่อไปโดยที่เขาไม่ได้คิดหรอกว่าเขาเป็นเหยื่อ เขากลับคิดว่าข้อมูลอันเป็นเท็จเหล่านั้นมันช่วยสนับสนุนความเชื่อชุดใหญ่ที่เขาเชื่ออยู่มากกว่า
ตอนเลือกตั้งสหรัฐฯ มีผลสำรวจออกมาว่า คนที่ส่งต่อข้อมูลหรือคนที่เชื่อข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับ ฮิลลารี คลินตัน จริงๆ เขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับความไม่สมเหตุสมผลของข้อมูล แต่ในเมื่อไม่ชอบ หรือรู้สึกว่าคนนี้ฉันไม่ไว้วางใจ แล้วพอมันมีข้อมูลที่มันสนับสนุนวิธีคิดอย่างนั้นของเขา เขาก็ส่งต่อไปโดยที่เขาไม่ได้คิดหรอกว่าเขาเป็นเหยื่อ
ปัญหาของข่าวลือในพื้นที่ที่เราไม่สามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมา มันก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้างครับ นอกจากเรื่องการทำความเข้าใจ
ข่าวลือหรือเฟคนิวส์ ตอนนี้ถูกนำมา politicize ทำให้มีนัยทางการเมืองที่แตกต่างไปจากความหมายที่ในโลกวิชาการคุยกัน เพราะฉะนั้น การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ มันต้องมองให้รอบด้าน แต่ถ้าเรามีข้อจำกัดมันก็คุยกันลำบาก เพราะหากเราเลือกที่จะพูดในแง่มุมใด ก็กลายเป็นเราเลือกข้างทางการเมือง ถูกทำให้มันมีนัยยะทางการเมืองไป เช่นเดียวกันกับประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ หากเราเลือกที่จะพูดในมุมอื่นนอกจากเรื่องพระราชกรณียกิจ เราก็จะโดนโจมตีทางการเมืองว่า เรามีแนวคิดทางการเมืองในอีกแบบหนึ่งไป นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดการตีความทางการเมือง
หากพิจารณาในแง่มุมที่ว่า ข่าวลือมักจะมาพร้อมความขัดแย้ง หรือการเปลี่ยนแปลง เราจะมองปรากฏการณ์ข่าวลือที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างไร
สถานการณ์ในตอนนี้ เราอยู่บนความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและแบ่งขั้วอย่างมาก และเราก็อยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ต่อเนื่องมาเป็นสิบปีแล้ว นี่ยังไม่รวมเรื่องภาคใต้ ถ้ารวมก็มากกว่า 15 ปี ทุกอย่างจึงอ่อนไหว และยิ่งมันอ่อนไหวมากๆ เราก็ต้องไหวรู้ ต้อง sensitize กับมันว่า ทุกข้อมูลมันมีความหมายทั้งนั้น เราต้องไหวรู้กับความรู้สึกนึกคิดและความเชื่อของเราเองด้วยว่า ทำไมเราถึงเชื่อข้อมูลนี้ ทำไมเราถึงตัดสินใจที่จะรีทวีตเรื่องนี้
คือฟังดูมันเหมือนเป็นการตัดสินใจเชิงปัจเจก แต่ว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมต้องตระหนักร่วมกันก่อนว่า เราไม่ได้อยู่ในสภาพสังคมที่ปกติแล้ว นี่คือสังคมที่ขัดแย้งแตกแยกรุนแรงมากโดยที่เรายังไม่เห็นผลมันอย่างชัดเจน ผลมันมาประปราย อย่างเช่นการทำรายกัน การ bully กัน การไม่พูดกัน หรือว่าการที่เราไม่สามารถจะถกเรื่องการเมืองบนโต๊ะกินข้าวในครอบครัวเราได้ นี่มันสะท้อนถึงความไม่ปกติ พอมันไม่ปกติเราจึงไม่สามารถจะใช้สื่อและรับข่าวสารอย่างปกติได้ มันดูเหมือนเป็นการโยนภาระให้กับผู้บริโภคหรือกับคนใช้สื่อว่า โอ๊ย…เธอต้องตรวจสอบอะไรหลากหลายจัง แต่ว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ
เพราะเราอยู่ในภาวะอีหลักอีเหลื่ออย่างนี้มาเป็นทศวรรษแล้ว แล้วเราไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจของเราเลย หรือเราจะเชื่อในสิ่งที่มันก็ตอกย้ำกับความเชื่อของเรามาอย่างนั้นได้เรื่อยๆ หรือ
เข้าใจว่าชีวิตเราแค่ทำงานหาเช้ากินค่ำธรรมดามันก็ลำบาก จะต้องมานั่งใคร่ครวญดูเป็นปรัชญาวิชาการอะไรอีกกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตทุกวันนี้ แต่อย่างที่บอก ถ้าตัวเราเองยังไม่สามารถที่จะให้เวลา สะท้อนย้อนคิดกับตัวเองในทุกๆ วันได้ หวังให้สถาบันอื่นๆ ในสังคม เช่น สื่อมวลชน สถาบันทางการเมือง ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่แทนฉัน คิดเอาว่าคุณได้รับอำนาจจากฉันไป ดังนั้นคุณต้องตัดสินใจในเชิงนโยบายต่างๆ แทนฉัน แต่คุณเองก็ต้องไม่เป็นเอเจนต์ในการปล่อยข่าวลือ ข่าวปลอม หรือข่าวมั่ว ไม่ต้องโยนหินถามทาง จะทำอะไรก็บอกมาตรงๆ เพราะไม่อย่างนั้น มันก็จะยิ่งทำให้เกิดสภาวะคลุมเครือ
สิ่งหนึ่งที่เราอาจจะยังไม่ตระหนักก็คือ การสะสมความคลุมเครือเหล่านี้มันนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทางกายภาพได้ เราต้องระมัดระวัง อย่างไร
ก็ย้อนกลับไปว่า เราต้องค่อยๆ คิดกับเรื่องข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับมา อย่าด่วนรีทวีต อย่าด่วนแชร์ คิดกับมันนิดหนึ่งว่า ข้อมูลนี้ตอบโจทย์ใครหรือสนับสนุนใคร หรือถ้าจะรีทวีตด้วยความสะใจ หรือด้วยความต้องการจะเยาะเย้ย ขำขัน เสียดสี ประชดประชัน ก็ได้ แต่ต้องมีข้อมูลที่สามารถตั้งคำถามกับมันต่อได้
ในทวีตภพมีอินฟลูเอนเซอร์หลายท่านที่พยายามทำอย่างนี้ ซึ่งก็คือ อาจจะรีทวีตต้นฉบับ แม้ว่าข้อมูลนั้นอาจจะไม่สมเหตุสมผล แต่พยายามจะใส่ข้อมูลเพิ่มไปว่า แล้วควรจะตั้งคำถามที่จุดไหน ซึ่งในงานวิจัยบอกเหมือนกันนะคะว่า ที่ข่าวลือมันไปไกล ส่วนหนึ่งก็คือคนที่รีทวีต รีทวิตไปทั้งดุ้น เขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น เพราะต้องป้องกันตัวเองไง เราไม่สามารถจะแต่งเสริมเติมแต่งอะไรได้ เรารับมาจากต้นเรื่องอย่างไรเราก็ส่งไปอย่างนั้น ซึ่งกลายเป็นว่า มันก็ทำให้ข่าวลือหรือข้อมูลที่สร้างความสับสนมันแพร่กระจาย
ที่ข่าวลือมันไปไกล ส่วนหนึ่งก็คือคนที่รีทวีต รีทวิตไปทั้งดุ้น เขามาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น เพราะต้องป้องกันตัวเอง ไม่สามารถจะแต่งเสริมเติมแต่งอะไรได้ เรารับมาจากต้นเรื่องอย่างไรเราก็ส่งไปอย่างนั้น ซึ่งกลายเป็นว่า มันก็ทำให้ข่าวลือหรือข้อมูลที่สร้างความสับสนมันแพร่กระจาย
แต่อย่างน้อย ถ้าคุณตั้งคำถามกับมัน มันอาจจะเป็นข่าวที่สังคมอยากรู้หรือต้องการทำความเข้าใจกับมันในตอนนั้น แต่คุณตั้งคำถามกับมันนิดหนึ่ง ตั้งคำถามที่มีเหตุมีผล ไม่ใช่แค่แบบ เฮ้ย จริงดิ จริงหรือเปล่า รู้มาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องไม่ใช่แค่นั้น แต่เป็น…เอ๊ะ แต่ข้อมูลนี้ก่อนหน้านี้เคยมีการพูดว่าอย่างนี้ เอาข้อความที่เคยมีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้มาคานมันนิดหนึ่ง ฯลฯ
มันก็จะข้ามขั้นจากการแค่รีทวีตเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาได้อีกนิดว่า เราต้องจับตามองกันนะ เพราะถ้าเรื่องบางเรื่องเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่สังคมควรจะรู้ และมีโอกาสที่มันจะเป็นข้อเท็จจริงได้ และมันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ก็ต้องตั้งคำถามต่อ ไม่ใช่ บอกว่า เฮ้ย เดี๋ยวจะมีข่าวดี เดี๋ยวจะมีข่าวใหญ่ แบบนั้นไม่โอเค
ดังนั้น แนวทางการจัดการกับข่าวลือและข้อมูลที่สร้างความสับสนรูปแบบอื่นๆ ในระดับปัจเจก จึงไม่ใช่เพียงรู้ว่าอะไรจริง-เท็จ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่า ข้อมูลที่ได้รับมา ไม่ว่าจะเป็นข่าวลือ เฟคนิวส์ ทฤษฎีสมคบคิด ฯลฯ นี้มีนัยยะอย่างไร สนับสนุน/วิพากษ์แนวคิดไหน และจะเกิดผลอย่างไรหากเราเป็นส่วนหนึ่งในการกระจายข้อมูลนี้ การตระหนักรู้เช่นนี้ไม่ใช่แค่รู้เท่าทันเนื้อหาของสื่อ แต่รู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิด จุดยืน ความเชื่อของตัวเองด้วย
ขณะเดียวกัน สถาบันด้านสื่อมวลชนและสื่อวารสารศาสตร์ รวมทั้งสถาบันทางการเมือง ที่สังคมคาดหวังให้สร้างความกระจ่างและให้ข้อเท็จจริงเพื่อให้คนในสังคมมองเห็นการผูกขาดอำนาจและการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ก็ควรอธิบายมากกว่าการบอกว่าเกิดอะไรขึ้น และเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ อย่างไร แต่ต้องอธิบายให้ลึกกว่านั้นว่า กลุ่มต่างๆ ในสังคมกำลังใช้ข้อมูลสู้กันเรื่องอะไรอยู่ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ที่สำคัญ สถาบันเหล่านี้ต้องไม่ไปเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่กระจายข้อมูลที่สร้างความสับสน
สังคมที่อยู่บนความสับสน เชื่ออะไรไม่ได้เลย จนนำไปสู่ความเพิกเฉยและเฉยชา ไม่รู้สึกรู้สา อาจจะแย่กว่าสังคมที่มีประชาชนมีความรู้สึกอย่างเข้มข้นจริงจังกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอีก เพราะสังคมที่สับสน เพิกเฉย และเฉยชา จะเปิดทางให้ความไม่ชอบมาพากลดำเนินไปได้อย่างชอบธรรมโดยไม่รู้สึกว่าต้องแก้ไขหรือป้องกัน แม้ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาก็ตาม
Tags: ข่าวลือ, วารสารศาสตร์, ข่าวดี, ข่าวใหญ่, พรรษาสิริ กุหลาบ