11 September 2001

The Falling Man

9:41 น. คือช่วงเวลาที่ ริชาร์ด ดรูว์ (Richard Drew) ช่างภาพจากสำนักข่าวเอพี บันทึกภาพนี้ไว้ได้ เป็นภาพของชายคนหนึ่ง ที่เคราะห์ร้าย ตกลงมาจาก North Tower หนึ่งในอาคารแฝดเวิลด์เทรดเซนเตอร์ ที่ถูกเครื่องบินลำแรก อเมริกันแอร์ไลนส์ ไฟลท์ 11 พุ่งชน 1 ชั่วโมงก่อนหน้านั้น

ภาพนี้ ถูกตีพิมพ์ในหน้า 7 ของหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2001 ด้วยคำบรรยายใต้รูปว่า “คนๆ หนึ่ง ตกลงจากอาคาร North Tower ของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในลักษณะห้อยหัวลง ช่างเป็นภาพที่น่าสยดสยองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังจากที่เครื่องบินพุ่งชนอาคาร” ขณะที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ทั่วโลก ต่างก็ตีพิมพ์รูปนี้เช่นเดียวกัน

ทันทีที่ภาพนี้ถูกเผยแพร่ หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์ ถูกร้องเรียนจากผู้อื่นอย่างหนักว่า รูปนี้ เป็นรูปอ่อนไหว และสะเทือนจิตใจ ทำให้ภาพดังกล่าว ถูกระงับไม่ให้เผยแพร่ ตลอดหลายวันหลังจากนั้น ต้องรออีกหลายปี ภาพนี้ถึงสามาร์เผยแพร่ได้มากขึ้น และในเวลาต่อมา ก็ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100ภาพ ที่ทรงอิทธิพลสูงสุดตลอดกาล ของนิตยสาร TIME

ดรูว์ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่า เช้าวันนั้น เขาขึ้นรถไฟใต้ดินจากไทมส์สแควร์ ไปยังสถานีแชมเบอร์ส สตรีท 2 สถานี ก่อนถึงตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ก่อนจะหยิบกล้องขึ้นมาถ่าย สิ่งที่เขาเห็นอย่างแรกคือควันที่โหมกระหน่ำอย่างหนัก ทว่าข้างหลังควันนั้น คือผู้คนที่ตกลงจากตึก

“มันเป็นภาพที่เงียบมาก ต่างจากภาพความรุนแรง ในโศกนาฏกรรมอื่นๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือภาพนี้ ไม่มีเลือด ไม่มีใครถูกยิง แต่ผู้คนรู้สึกเกี่ยวข้องกับภาพนี้อย่างประหลาด หลายคน รู้สึกว่าพวกเขาอาจอยู่ภายใต้สถานการณ์เดียวกันกับชายคนนี้ และในที่สุด พวกเขาอาจตัดสินใจแบบเดียวกันกับชายคนนี้

“ผมไม่รู้ว่าได้ถ่ายรูปนี้ไว้ กระทั่งกลับมาถึงที่ออฟฟิศ ผมโทรหาบรรณาธิการภาพถ่ายของผม พร้อมกับอธิบายว่าลักษณะของชายคนดังกล่าว เปรียบเสมือน ลูกศรที่อยู่ระหว่างตึกแฝด 2 ตึก”

วันรุ่งขึ้น ดรูว์พบภาพของเขาในนิวยอร์คไทมส์ และบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ห้าวหาญของกองบรรณาธิการที่ตัดสินใจนำรูปนี้ไปตีพิมพ์ เพราะเป็นรูปเดียว ที่แสดงภาพคน ตกลงมาจากตึก ขณะที่ภาพอื่นๆ สะท้อนภาพเหตุการณ์เครื่องบินชนตึก หรือภาพของซากปรักหักพัง

หนังสือพิมพ์อีกฉบับในฟิลาเดลเฟีย ตีพิมพ์ภาพนี้เป็น ปกหลังและถูกผู้ปกครองจำนวนมากต่อว่า “สิ่งนี่ไม่ใช่สิ่งที่เรา อยากให้ลูกๆ ของพวกเราเห็น” 

“จนถึงวันนี้ ผมไม่เคยเสียใจที่ได้ถ่ายรูปนี้ ภาพนี้ คือสิ่งที่อธิบายว่า วันนั้น เราถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีประเทศของเรา และภาพนี้ เป็นหนึ่งในไม่กี่ภาพ ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีคนเสียชีวิตจริงๆ”

หลายปีถัดมา มีความพยายามระบุตัวตนของ The Falling Man ว่าคือใครความน่าจะเป็นบ่งชี้ไปที่ โจนาธาน ไบรลีย์ (Jonathan Briley) ซาวด์เอนจิเนียร์ วัย 43 ปี ซึ่งทำงานบนภัตตาคาร Windows on the World บนชั้น 106 และ 107 ของ North Tower แต่ถึงวันนี้ ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันตัวตนของ The Falling Man ได้ชัดเจน

ข้อมูลที่เปิดเผยในเวลาต่อมาพบว่าทุกคนที่อยู่เหนือจุดที่เครื่องบินพุ่งชน ระหว่างชั้น 93 – 99 นั้น ไม่มีใครรอดชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว เพราะบันไดหนีไฟในจุดปะทะไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งนั่น หมายรวมถึงพนักงานของ Windows on the World ด้วย

ก่อนที่ตึกแฝดทั้ง 2 ตึกจะถล่มนั้น คาดการณ์ว่ามีผู้ที่เสียชีวิตจากการตกตึกกว่า 200 คน โดยส่วนใหญ่ เป็นผู้เสียชีวิตซึ่งตกจาก North Tower อาคารที่ถูกเครื่องบินชนเป็นอาคารแรก และยังพบนักดับเพลิงรายหนึ่ง ที่เสียชีวิต เนื่องจากถูกผู้ที่ตกลงจากตึก ร่วงลงมาทับ

สำหรับเหตุการณ์ที่อาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์นั้น มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 2,753 คน รวมผู้โดยสารบนเครื่องบินทั้ง 2 ลำ ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมดในวันนั้น รวมเหตุการณ์เครื่องบินชนอาคารเพนตากอน กระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ และเหตุการณ์ยูไนเต็ดแอร์ไลนส์ ไฟลท์ 93 ตกที่รัฐเพนซิลวาเนีย จากการพยายามยึดเครื่องบินคืนจากผู้ก่อการร้าย รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 2,996 ราย

ที่มา 

      https://time.com/4453467/911-september-11-falling-man-photo/

      https://web.archive.org/web/20110912235515/http://www.nation.co.ke/News/Twin%2BTowers%2Bjumpers%2Bthat%2BAmericans%2Bwill%2Bnot%2Btalk%2Babout%2B/-/1056/1234160/-/view/printVersion/-/7j4sru/-/index.html

ภาพ: AP

 

Tags: , , , ,