วันที่ ๒๙ สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันครบรอบการจากไปของคีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน หลังจากเสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๑๕

ชีวิตของเขาเป็นแบบบทของศิลปินที่เคี่ยวกรำหัวใจอยู่ในความเจ็บปวด แล้วบรรลุความรวดร้าวทรมานเป็นผลงานเพลงแสนบรรเจิด

ปลดปล่อยหัวใจตนออกจากกรงขังของความทุกข์อันเนื่องจากโรคร้ายออกสู่โลกกว้าง

สัมผัสทุกข์สุขของผู้คน จนเกิดเป็นผลึกประสบการณ์แน่นหนา ชดเชยความขาดแคลนทางใจด้วยจินตนาการผ่านถ้อยคำ และท่วงทำนองสูงต่ำ ลบปมด้อยทางกายด้วยผลงานสร้างสรรค์จากสมองและหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้…

คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน

วัฒน์ วรรลยางกูล

 

0 0 0

 

วัฒน์ วรรลยางกูร เริ่มเขียนสารคดีชีวิต ‘คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน’ ลงใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ตั้งแต่ปี 2540 ก่อนที่แพรวสำนักพิมพ์จะพิมพ์รวมเล่มในเดือนธันวาคม 2541

ชีวี ชีวา บรรณาธิการที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับวัฒน์ตั้งแต่การจัดพิมพ์ครั้งแรก บอกว่าวัฒน์ทำงานชิ้นนี้หนักมาก นอกจากการฟังเพลงของครูไพบูลย์แบบทะลุปรุโปร่ง เขายังสัมภาษณ์ผู้คนอีกเกือบ 30 ชีวิต และเก็บข้อมูลจากงานเขียนมากมายหลายชิ้น ก่อนจะบรรจงเรียบเรียงชีวิตของครูไพบูลย์เคล้าคลอไปกับเนื้อร้องและทำนองที่ครูไพบูลย์ทิ้งไว้เป็นมรดกของแผ่นดิน

คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน พิมพ์ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 โดยฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ ก่อนที่สำนักพิมพ์ The Writer’s Secret จะนำมาพิมพ์อีกครั้งในปีนี้ ในวาระ 100 ปี ชาตกาล ไพบูลย์ บุตรขัน คีตกวีแห่งท้องทุ่งเชียงราก

10 กรกฎาคม 2561 วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ผู้รักชอบในเสียงดนตรีพอๆ กับจังหวะจะโคนของตัวอักษร ส่งข้อความ “เชิญชวนมางาน 100 ปี ชาตกาล ครูไพบูลย์ บุตรขัน” ที่ร้านเฮมล็อก ถนนพระอาทิตย์ หลังจากบทสนทนากับบินหลา สันกาลาคีรี ในค่ำคืนหนึ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง  

วรพจน์ทิ้งข้อความไว้ตอนหนึ่งว่า

ทั้งที่ไม่พร้อม ไม่แข็งแรง ไม่มีทุนรอน เราคุยกันว่า จัดงานรำลึกถึงครูไพบูลย์กันเถอะ จัดงานเพื่อเป็นเกียรติให้ครู จัดงานเพื่อเป็นกำลังใจแด่วัฒน์

ทำ เท่าที่ทำได้

ทำ ตามกำลังของเรา

เย็นย่ำของวันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม 2561 ก่อนที่ใครบางคนจะแอบย่องไปดูเบลเยียมเชือดเฉือนกับอังกฤษเพื่อแย่งอันดับที่สามของฟุตบอลโลก ที่ร้านเฮมล็อกในวันนั้นจึงอบอวลไปด้วยเรื่องเล่า เสียงเพลง และมิตรภาพ

ประวัติศาสตร์เพลงลูกทุ่ง

“เพลงลูกทุ่งเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป็อป…” สุจิตต์ วงษ์เทศ เอ่ยข้อความแล้วนิ่งไป 5 วินาที ก่อนจะเอ่ยต่อว่า “ที่หยุดนิดหนึ่งเพื่อตั้งสติ… เมื่อ 3-4 ปีมาแล้ว ผมเขียนลงใน มติชน ว่าเพลงลูกทุ่งเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป็อป ปรากฏว่าคนในวงการเพลงลูกทุ่งเขาไปถล่มผมในโซเชียล โชคดีที่ผมใช้ไม่เป็น เลยไม่ได้อ่าน เขาด่าผมฉิบหายวายป่วงไปหมด ก็ไม่เป็นไร เพราะผมก็เขียนย้ำต่อไปหลายครั้งว่า เพลงลูกทุ่งเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป็อป ใครที่ต้องการให้เพลงลูกทุ่งเป็นของวิเศษมหัศจรรย์ ไม่เหมือนใครในโลก ก็ตามใจ ผมไม่ว่าอะไร แต่ควรจะฟังเหตุผลกันก่อน”

เหตุผลคืออะไร

สุจิตต์บอกว่าเพลงไทยสากลสมัยแรกจำแนกแบบกว้างๆ ได้เป็นสองกลุ่ม คือเพลงผู้ดีกับเพลงตลาด เพลงผู้ดีนั้นสะท้อนวิถีโลกสวยของชาวกรุงซึ่งเป็นผู้ได้เปรียบในสังคม คนกลุ่มนี้นิยมลีลาศและการเต้นรำ พร้อมกันนั้นก็ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ส่วนเพลงตลาดสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และความต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสมอภาคเท่าเทียมในระบอบประชาธิปไตยสากล

‘เพลงตลาด’ คือคำเรียกอย่างเหยียดๆ ของกลุ่มชาวเพลงผู้ดี และยังเรียกอีกว่า ‘เพลงชาวบ้าน’ ซึ่งหมายถึงไม่ใช่ผู้ดี

ในเวลาต่อมา เพลงตลาดเริ่มแสดงตัวตนต่อรองอำนาจ และเริ่มมีพื้นที่ของตัวเองหลังการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501 ก่อนจะถูกเรียกชื่อใหม่ว่า ‘เพลงลูกทุ่ง’ ราวปี 2507 แต่สังคมชาวกรุงก็ยังคงกีดกันเพลงลูกทุ่ง จนกระทั่งในปี 2511 เมื่อสุรพล สมบัติเจริญ ถูกยิงเสียชีวิต เพลงลูกทุ่งจึงแพร่กระจายไปทั่ว ด้วยเหตุผลสองข้อ

เหตุผลข้อแรก คือการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้านของเศรษฐกิจการเงิน “ทำให้วัฒนธรรมราษฎร์ของพื้นถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคกลาง รวมตัวแข็งแรงอย่างเป็นธรรมชาติ และแสวงหาพื้นที่ของตนเองเพื่อสื่อสารกับตลาดโดยตรง ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ได้แก่เผด็จการทหารครั้งนั้นพัฒนาประเทศแบบตะวันตก โดยมุ่งสู่ความเป็นอเมริกัน (Americanize)”

การเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต้องการแรงงานจากต่างจังหวัดจำนวนมาก โดยเฉพาะจากชนบทภาคกลาง ซึ่งคนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่เป็นทั้งผู้เสพและผู้สร้างสรรค์เพลงลูกทุ่ง

“นี่คืออิทธิพลของคนชนบทที่เข้ามาขายแรงงานในกรุงเทพฯ แล้วมีโอกาสไปจัดรายการวิทยุ เพราะสถานีวิทยุมีมากขึ้น เขาก็ต้องการหารายการ รายการวิทยุก็ต้องการโฆษณา ก็ได้โฆษณาเพราะขายของให้คนบ้านนอก แล้วก็ต้องเปิดเพลงให้คนบ้านนอกฟัง เพลงลูกทุ่งจึงไปด้วยกันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเงิน มันไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบลอยๆ”

เหตุผลข้อสองคือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สุจิตต์บรรยายภาพในอดีตให้ฟังว่า

“ก่อนที่จะมีทรานซิสเตอร์ วิทยุต้องใช้ถ่านไฟฉาย 24 ก้อน ต้องมีเสาอากาศ หมู่บ้านหนึ่งมีวิทยุเครื่องเดียวก็บุญนักหนาแล้ว และวิทยุแบบนี้ตั้งอยู่กับที่ เคลื่อนย้ายไม่ได้ แต่พอทรานซิสเตอร์เข้ามาทดแทน ใช้ถ่านไฟฉาย 3-4 ก้อน ญี่ปุ่นผลิตออกมา เป็นแบบกระเป๋าหิ้ว เคลื่อนที่ได้ การหิ้วไปไหนก็ได้ทำให้เกิดผู้ฟังล้นหลาม นี่คือตลาดของเพลงลูกทุ่ง”

แม้เพลงลูกทุ่งจะต่อรองสำเร็จจนมีพื้นที่ทางโทรทัศน์ในเวลาต่อมา แต่ชาวกรุงเพลงผู้ดียังเสียดสีเยาะเย้ยถากถาง อย่างไรก็ตาม หลังจากประเทศไทยเข้าสู่สงครามเวียดนาม และยอมเป็นฐานทัพให้กับสหรัฐอเมริกา นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าก็เริ่มต่อต้านอำนาจรัฐ ต่อต้านจารีตของสังคม จากอิทธิพลของขบวนการบุปผาชนในโลกตะวันตก

การต่อต้านทยอยเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และเพลงลูกทุ่งก็เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อต้าน

“พวกนักศึกษากลุ่มก้าวหน้าพากันมีกิจกรรมเล่นเพลงลูกทุ่ง ร้องเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสังคมในยุคนั้น เช่น ต่อต้านสงครามเวียดนาม ต่อต้านทุนนิยม-บริโภคนิยม ต่อต้านเผด็จการทหาร ต่อต้านผมเกรียนแบบทหาร จึงไว้ผมยาวแบบฮิปปี้ นิยมร็อกแอนด์โรล รวมทั้งร้องเล่นเพลงลูกทุ่ง”   

หลังจากนั้น ชาวเพลงผู้ดีส่วนหนึ่งจึงหันมามองเพลงลูกทุ่ง จนกระทั่งสุรพล สมบัติเจริญ ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2511 และกลายเป็นข่าวดังไปทั้งประเทศ เพลงลูกทุ่งก็ได้รับการต้อนรับมากขึ้น มีพัฒนาการ มีการเปิดโอกาสให้ทำการแสดง และได้รับการยกย่องมากกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 เพลงลูกทุ่งก็มีพัฒนาการกว้างไกลไม่เหมือนเดิม ท่ามกลางความขัดแย้งใหญ่หลวงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมตราบจนปัจจุบัน

สุจิตต์กล่าวสรุปปิดท้ายว่า “เพลงลูกทุ่งเป็นงานวรรณกรรมสร้างสรรค์ ด้วยชั้นเชิงคีตกวีที่สะท้อนความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองภายใต้เผด็จการทหาร คำร้องพรรณนาความงามของชนบท สะท้อนความไม่มั่นใจและความไม่มั่นคงต่ออนาคต ตั้งแต่ยุค ‘ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว’ จนกระทั่งถึงยุค ‘คืนความสุข แต่ได้ความทุกข์เป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’”

คุณูปการต่อนักเพลงรุ่นหลัง

“ตอนเด็กๆ บ้านผมเป็นบ้านนอกร้อยเปอร์เซ็นต์ การสัญจรใช้เรือกับการเดินเท้าเป็นหลัก ผมอยู่ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ที่บ้านทำนา ไฟฟ้าเข้าตอนผมเรียนอยู่ ม.3 การฟังเพลงสมัยก่อนก็ฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์ จากลำโพงตามงานวัดและงานต่างๆ ตามบ้าน ผมก็ฟังเพลงลูกทุ่งเป็นหลัก ฟังมาตั้งแต่เด็ก ฟังจนร้องได้” สมพงค์ ศิวิโรจน์ อดีตสมาชิกวงมาลีฮวนน่า เล่าย้อนอดีตเมื่อครั้งเริ่มทำความรู้จักเพลงลูกทุ่ง

เขาบอกว่ามารับรู้ในภายหลังว่าครูไพบูลย์ บุตรขัน คือผู้รังสรรค์บทเพลงเหล่านั้น   

สมพงค์บอกว่า “สายตาของครูไพบูลย์ไม่เหมือนคนทั่วไป เป็นสายตาของคนพิเศษ ครูไพบูลย์มองเห็นอะไรที่คนทั่วไปมองไม่เห็น และไม่ได้เห็นแบบเพ้อพก แต่เห็นแบบสะเทือนใจ เพลงของครูไพบูลย์จะมีดินฟ้าอากาศ ใช้การเปรียบเทียบที่คนอื่นมองไม่เห็น มันมีความพิเศษอยู่เยอะมาก คุณต้องฟัง มันบอกกันไม่ได้”

สำหรับสมพงค์ เพลงของครูไพบูลย์คือบทเรียนชั้นดีของคนเขียนเพลง

“ถ้าคุณฟังเพลงของครูไพบูลย์เยอะๆ คุณจะเป็นนักแต่งเพลงได้ โดยไม่ต้องเข้าโรงเรียน ศึกษาจากเพลงของครูไพบูลย์ ชั้นเชิง การเปรียบเทียบเปรียบเปรย วิธีการต่างๆ ถ้าฟังแล้ว คุณจะรู้จักวิธีเขียนเพลง เพลงของครูไพบูลย์เกือบทุกเพลงจะมีฉาก มีบรรยากาศ มีเวลา มีฝน มีแม่น้ำลำคลอง เพื่อทำให้ไม่กระด้าง ทำให้มีการเคลื่อนไหว และมีรูปรสกลิ่นเสียงอยู่ในนั้น”

นอกจากความแตกฉานในภาษาไทย การใช้ธรรมชาติเป็นตัวแทนของความรู้สึก และเนื้อหาเรื่องราวของบทเพลง อีกสิ่งหนึ่งที่สมพงค์มองเห็นคือความซื่อสัตย์ต่อห้วงอารมณ์ของตัวเอง

เขาบอกว่า สำหรับคนเขียนเพลง สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการพูดคุยกับตัวเองแบบตรงไปตรงมา แล้วถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกออกมาแบบไม่อ้อมค้อม ซึ่งเพลงของครูไพบูลย์คือตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้

“ผมเข้าใจว่าครูไพบูลย์คุยกับตัวเองเยอะมาก พอคุยกับตัวเองเยอะ อย่างซื่อตรงต่ออารมณ์ อย่างซื่อสัตย์ต่ออารมณ์ สิ่งที่เราได้ฟังคือการบอกความในใจของคนที่คุยกับตัวเองเยอะ อยู่กับตัวเองเยอะ ความจริงมันจึงมีเยอะ พอมีความจริงเยอะ เมื่อคนทั่วไปได้ยิน เขาก็ได้พบกับความจริงที่เราไม่จำเป็นต้องกลบเกลื่อน ไม่จำเป็นต้องซิกแซก ไม่จำเป็นต้องอ้อมค้อม พอเราพูดตรงๆ มันก็เลยตรงใจคนฟัง”

ด้วยเหตุผลดังกล่าว “เพลงของครูไพบูลย์จึงตราตรึงใจ จำแล้วไม่ลืม อยู่กับเราตลอดเวลา และอยู่กับเราตลอดไป”

 

0 0 0

 

นับตั้งแต่พิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรกในวัย 20 ปี จนถึงวันนี้ในวัยเลยเกษียณ ชีวิตผมอยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือ ไม่ต้องการเป็นอะไรอื่นมากกว่านี้

นักเขียนต้องอยู่ได้ด้วยการเขียนหนังสือและขายหนังสือ เช่นเดียวกับแม่ค้าข้าวแกง ต้องอยู่ได้ด้วยการขายข้าวแกง ข้าวแกงต้องมีคุณประโยชน์และอร่อย ลูกค้าจึงอุดหนุนต่อเนื่อง

ถ้าสังคมไทยปกติ ไม่วิปริตผิดเพี้ยน ไม่ตรรกะวิบัติ ไม่หลงมายาคติ ไม่บ้าคลั่งงมงาย ไม่ประจบผู้มีอำนาจ ไม่สอพลอผู้ชนะในกระแสเฉพาะหน้า นักเขียนที่สร้างงานด้วยแรงงานสมองอย่างมีมาตรฐานของตัวเอง ย่อมสามารถอยู่ได้อย่างเสรีชน

“จากใจคนจร”

วัฒน์ วรรลยางกูร

11 กรกฎาคม 2018

นอกราชอาณาจักรไทย

 

Fact Box

ไพบูลย์ บุตรขัน (4 กันยายน 2461 - 29 สิงหาคม 2515) เดิมชื่อ ไพบูลย์ ประณีต เป็นชาวเชียงราก จังหวัดปทุมธานี

ตัวอย่างผลงานเพลงเช่น มนต์เพลงเมืองเหนือ คนจนคนจร ดอกไม้หน้าฝน มนต์รักลูกทุ่ง ฝนเดือนหก รวมถึงเพลงที่เด็กๆ ทุกคนต้องร้องได้ อย่างเช่นเพลง ค่าน้ำนม

Tags: ,