สุเทพ เทือกสุบรรณ พรรครวมพลังประชาชาติไทย

สุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันนี้มาพร้อมความมั่นใจเต็มร้อย เขาเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช.ช่วยแก้ปัญหาการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี พรรครวมพลังประชาชาติไทยเชื่อมั่นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือคำตอบของปัญหาปากท้องคนจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องหามาตรการช่วยเหลือ เช่น ต้องตั้ง ‘ราคาเป้าหมาย’ ของผลผลิตทางการเกษตร

Political Standpoint:

“เราตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริง เนื่องจากว่ายังไม่เคยมีพรรคการเมืองของประชาชนที่แท้จริงเลยในประเทศไทย นับตั้งแต่เราเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 เป็นต้นมา เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองเหล่านี้มีเจ้าของพรรค คนเหล่านั้นเป็นเจ้าของพรรค ก็กวาดต้อนเอาบรรดานักการเมืองเข้ามาอยู่ในพรรคของตัวเอง แล้วก็ทำงานการเมืองตามคำสั่งของเจ้าของพรรค หรือกลุ่มหุ้นส่วนของเจ้าของพรรคเป็นคนบงการชี้นำ แล้วเรามีประสบการณ์ที่ชัดเจนว่า พรรคการเมืองที่รับใช้หัวหน้าพรรค เจ้าของพรรค ไม่ค่อยฟังเสียงประชาชน พรรคการเมืองเหล่านั้น ความที่เขาไม่ใช่พรรคการเมืองของประชาชน เขามุ่งที่จะไปรับใช้เจ้าของพรรคมากกว่ารับใช้ประชาชน

“ผมและพี่น้องในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ร่วมมือกับใครก็ได้ ที่จะทำงานให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือที่มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ตามเจตนารมณ์ของประชาชน และมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาชาวบ้าน แต่จะไม่รวมกับพรรคเพื่อไทยและพรรคในตระกูล ‘เพื่อ’ ทั้งหลาย หรือพรรคในเครือของระบอบทักษิณ เพราะผมบอกตั้งแต่แรก ผมเป็นคนที่บอกเองนะว่า พี่น้องทั้งหลายระวังนะครับ เขาจะใช้ยุทธวิธีแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยนะ แล้วก็เป็นจริง แล้วความเป็นจริงนี้ไม่ใช่คนอื่นไปรับรองนะ ทักษิณรับรองมาเองว่านั่นพรรคของเขา เพราะฉะนั้นเราไม่ร่วมมือกับคนเหล่านี้ เพราะความจริงทางประวัติศาสตร์ได้บอกเขาแล้วว่า คนพวกนี้เป็นพิษภัยต่อประเทศไทย เป็นพิษภัยต่อประชาชน”

Policy Statement:

“ผมเป็นคนแรกที่ออกมาพูดว่า เศรษฐกิจของชาวบ้านไม่ดี เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมวันนี้ต้องมาให้ความสนใจ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน ผมก็มารายงานกรรมการบริหารพรรค ทีมวิชาการของพรรค พรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงได้กำหนดเป็นนโยบายว่า เราจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาวบ้านที่ตรงไปตรงมาชัดเจนที่สุด ทีนี้ ถามว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาวบ้านอย่างไร ก็ต้องทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น มีเงินเหลือที่จะจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงครอบครัวได้ นโยบายของพรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงได้กำหนดว่า เราจะต้องให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนาทั้งหลายขายผลผลิตของเขาแล้วได้กำไร มีเงินเหลือกลับบ้าน แต่ว่าการที่จะทำอย่างนี้ ต้องทำกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่เอากิเลสของประชาชนมาเป็นของเล่นในทางการเมือง ไม่ได้หลอกล่อด้วยกิเลส

“สิ่งที่เราจะทำก็คือ อันแรก วางแผนการผลิต การแปรรูป การตลาด เท่ากับเรารู้เป้าหมายว่าจะต้องผลิตอะไร เอาไปเข้าโรงงานอุตสาหกรรมกันอย่างไร มีตลาดไหนรองรับ สามารถจะให้ข้อมูลกับเกษตรกรได้ว่า ควรเพิ่มลดกำลังผลิตส่วนไหนก่อนที่เขาจะลงทุนไป อันที่สองที่ต้องทำก็คือ ต้องคำนวนต้นทุนพืชผลทางการเกษตรกันอย่างจริงจัง ข้าวนาปีต้นทุนเกวียนละเท่าไร ยางพาราที่เป็นยางแผ่น ยางแผ่นดิบ ต้นทุนเท่าไร ปาล์มน้ำมันต้นทุนเท่าไร มันสำปะหลังต้นทุนกิโลฯ ละเท่าไร วันนี้มันคำนวณได้แล้ว ตัวเลขอย่างนี้มันเป็นคณิตศาสตร์ เป็นวิทยาศาสตร์ ทีนี้พอคุณประกาศราคาได้แล้ว คุณก็ต้องประกาศ ‘ราคาเป้าหมาย’ รัฐบาลต้องกล้าหาญที่จะประกาศว่า รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ราคาพืชผลการเกษตรไปถึงเท่าไร พอเรากำหนดราคาเป้าหมายเสร็จ รัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการนะครับว่าจะทำอย่างไร ทีนี้ถ้าสมมติว่ารัฐบาลทำทุกอย่างแล้วไม่ได้ รัฐบาลก็แสดงความรับผิดชอบได้นะครับว่าเมื่อเกษตรกรผลิตได้เท่านี้ด้วยต้นทุนเท่านี้ รัฐบาลพยายามให้ขายได้เท่านี้ แต่ปรากฏว่าทำแล้วมันไม่ได้ รัฐบาลก็เติมส่วนที่ขาดให้เกษตรกร ไม่ใช่ประกันรายได้นะ เติมส่วนที่ขาดให้เขา

“ตอนที่ผมทำให้ยางพาราขายได้กิโลฯ ละ 170-180 นี่ ชาวสวนยางเปลี่ยนจากหลังคาสังกะสีเป็นหลังคากระเบื้อง ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ซื้อทีวีใหม่ บางคนก็ซื้อรถปิ๊กอัปใหม่ การค้าการขายดี เศรษฐกิจข้างหน้าจะดีเลย พรรครวมพลังประชาชาติไทยกำหนดว่า เราจะต้องนำเอาศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงกันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้เขามีชีวิตที่พอเพียงได้ ถึงวันนี้ผมคิดว่า เราต้องมาพูดความจริงกันแล้วว่า คนครอบครัวหนึ่งควรจะมีรายได้เท่าไร เขาถึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี พอเพียงที่เป็นมนุษย์

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: ลุงกำนัน ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ มั่นใจ ชนะเกมเลือกตั้ง’ 62
เรื่องและภาพ: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา / สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พรรคเพื่อไทย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับสมญานามว่า เป็นรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ตอนนี้ตอบรับมาเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้

Political Standpoint:

ในหนังสือ How Democracy Dies เขาบอกว่าประชาธิปไตยในโลกเสื่อมลง เพราะมีคนที่ไม่ได้เลื่อมใสประชาธิปไตย แต่ใช้ประชาธิปไตยเป็นทางเข้ามาสู่อำนาจ เช่น ฮิตเลอร์ หรือที่เกิดกับประเทศเปรู เวเนซูเอลา ประชาธิปไตยตายได้ 2 แบบ คือ ตายด้วยปืนแบบที่บ้านเราเพิ่งตายไป และด้วย autocrats หรือเผด็จการที่แอบเข้ามา ต้องพยายามระวังตรงนี้ การดูเผด็จการก็มีเช็กลิสต์อยู่สัก 3-4 ข้อ เช่น สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้อำนาจ คล้ายการปฏิวัติ รัฐประหาร การใช้กฎหมายรังแกผู้อื่น การด่าคนอื่นว่าเป็นคนชั่ว การไม่รับฟังความเห็น ปิดกั้นเสรีภาพการทำสื่อ พวกนี้เป็นบันทึกของคนที่ไม่ได้มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย

ประชาชนควรต้องให้ความรู้เขา แต่สุดท้ายก็พูดยาก ระบบประชาธิปไตยไม่สามารถห้ามไม่ให้ใครมาสมัครได้ ถึงแม้เขาจะเป็นเผด็จการ เพราะทุกคนมีสิทธิ์เท่ากัน เป็นหน้าที่ของผู้ลงคะแนนเสียงที่ต้องศึกษาประวัติให้ดี และทำให้ดีที่สุด ใครที่ไม่ได้เลื่อมใสในประชาธิปไตยก็จะเห็นบันทึกที่ผ่านมาอยู่ หมายถึงว่าคนที่เข้ามาสู่ประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งไม่ได้ยืนยันว่าคุณเป็นนักประชาธิปไตย เพราะการเลือกตั้งเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมด

มีคนถามผมว่าสิ่งที่พรรคเคยทำมันเป็นเผด็จการหรือเปล่า แต่ผมคิดว่าสิ่งที่พรรคทำมาตลอดคือกระบวนการทางประชาธิปไตย เราไม่เคยเอาอาวุธออกไปยึดอำนาจ เอากฎหมายไปเข็ญฆ่าใคร หรือเซ็นเซอร์ใครด้วยการจับติดคุก

Policy Statement:

ประชาธิปไตยอาจจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุด มันช่วยบาลานซ์กับระบบทุนนิยมได้บ้าง ก็คือคนไหนมีทุนเยอะก็จะมีพลังที่เข้มแข็ง อย่าง พ.ศ. 2561 กำไรตลาดหลักทรัพย์คือ 1 ล้านล้านบาท แต่ทำไมมันไม่ได้กระจายลงไปสู่ตลาด ผมว่าพอเรามีตัวแทนของแต่ละกลุ่มเข้าไปอยู่ในรัฐบาลจะดูแลคนได้ทั่วถึงขึ้น ถ้าไม่ดูแลเขา ในอนาคตเขาก็เลือกคนอื่นมาดูแลแทน มันก็เป็นตัวที่อาจจะบาลานซ์ อาจจะไม่ขนาดทำให้ประเทศร่ำรวยขึ้น แต่ทำให้มีความยุติธรรมมากขึ้น แต่มันคงไม่เกิดขึ้นในพริบตาหรอกนะ มันต้องใช้เวลาเหมือนกัน

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผมว่าเรามีระบบราชการที่ใหญ่โตและรวมศูนย์มายาวนาน ซึ่งระบบนี้อาจจะเหมาะกับสมัยก่อนที่การตัดสินใจมาจากผู้มีความรู้จากส่วนกลาง มีขั้นตอนในการสั่งงาน การทำตามคำสั่ง ระเบียบอย่างเคร่งครัด ยิ่งทางการเมืองไม่มีเสถียรภาพ มีการปฏิวัติรัฐประหารบ่อยครั้ง ยิ่งทำให้ระบบราชการเข้มแข็งขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ฝ่ายการเมืองเปลี่ยนบ่อยและต้องพึ่งราชการ ต่อไประบบราชการต้องปรับตัวให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากขึ้น

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มันอาจจะมาเร่งในช่วงนี้เพราะเมื่อก่อนความเหลื่อมล้ำอาจจะเกิดจากว่า ใครมีที่ดิน แรงงาน ทรัพย์สมบัติเยอะกว่า แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ใครเข้าถึงเทคโนโลยีจะสามารถมีสินทรัพย์เยอะ เราต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือให้ความรู้คนว่า จริงๆ แล้วมันมีเทคโนโลยีที่คุณหาเงินได้ถ้าคุณรู้ขั้นตอน คุณสามารถจะสร้างรายได้ได้ ก็เป็นตัวหนึ่งที่ต้องเอามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ หัวใจของอนาคตคือ คุณต้องอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีให้ได้ หัวใจของประเทศไทยคือ SME มากกว่า คือส่งเสริม SME ที่มีอยู่ 3 ล้านรายให้เข้มแข็งขึ้น

ปัญหาเรื่องกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญ มรดกจาก คสช. ที่ต้องแก้ไข สิ่งแรกไม่ใช่เรื่องของทางสภา แต่ต้องให้ประชาชนมาเป็นแนวร่วมกับเราก่อน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้มันยากมาก ไม่มีทางเลยที่เราจะขับเคลื่อนเองได้ ต้องขับเคลื่อนจากประชาชนเป็นหลัก ตรงนี้ต้องเอาภาคประชาชนเข้ามาร่วม ชี้ให้เห็นปัญหา ผมว่ามันจะเดินไปได้ดีขึ้น แต่ถ้าทำให้เป็นเรื่องการเมืองจะลำบาก

ปัญหาการศึกษา ที่ผ่านมาเราสอนให้เด็กท่องจำกันมากเกินไป ซึ่งคงตอบโจทย์กับเศรษฐกิจแบบเก่า คือให้เด็กไปเป็นคนงานในโรงงาน หรือทำงานราชการที่มีกฎระเบียบชัดเจน ซึ่งการศึกษาแบบนี้ทำให้ไม่มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ดังนั้น เราจึงอยู่ในโลกของเศรษฐกิจใหม่ไม่ได้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะอยู่ด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ การศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา สมมติเราให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์นอกเหนือจากการเรียนวิชา เขาก็จะสามารถสร้างคุณค่า มีอิสระในการพูดในการคิดได้ ต้องลดขั้นตอน กฎระเบียบ และกระจายอำนาจให้มากขึ้น

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ | ความทะเยอทะยาน การจัดลำดับความสำคัญที่จะทำให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น
เรื่องและภาพ: ฆนาธร ขาวสนิท / ภาสกร ธวัชธาตรี

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ อาจเป็นแค่นักธุรกิจหนุ่มผู้ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความที่เขาสนใจเรื่องการเมืองเป็นทุนเดิมตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ประกอบกับสภาวะอึดอัดคับข้องในสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา นั่นก็มากพอที่จะทำให้เขาตัดสินใจเริ่มต้นทำพรรคการเมืองอย่างจริงจัง โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศ

Political Standpoint:

ผมอยากจะให้การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นก้าวแรกของการยุติวงจรอุบาทว์แห่งการทำรัฐประหารในประเทศให้ได้ เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ไม่ได้บอกว่าจะทำสำเร็จ เพราะต้องต่อสู้ทางความคิดอีกหลายยก แต่ผมคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเปิดประตูให้กับความเป็นไปได้ ภารกิจอันดับแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่จะทำให้ความฝันสำเร็จ คือ การหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.  หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของทหาร ถ้าเขาสืบทอดอำนาจได้ คุณจะต้องอยู่กับเขาไปอีก 8 ปี…5 ปียังขนาดนี้ ถ้าอยู่อีก 8 ปี เจ๊งทั้งประเทศแน่ๆ แต่ถ้าเราหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ ของ คสช. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ นี่คือประตูหรือบันไดก้าวแรกที่มีความสำคัญ

มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามพูดเสมอว่า คนไทยไม่เหมาะกับประชาธิปไตย ไม่พร้อมกับประชาธิปไตย หรือไม่ก็คนไทยโง่ทำให้ประชาธิปไตยที่ดีเกิดขึ้นไม่ได้ วาทกรรมพวกนี้ คำหลอกลวงต่างๆ เหล่านี้ ทำให้คนไม่อยากยุ่งกับอำนาจ เมื่อคนไม่อยากยุ่งกับอำนาจ อำนาจก็ไปอยู่ในมือคนส่วนน้อยของสังคมที่ได้ประโยชน์จากการใช้อำนาจนั้น และเขาก็พูดกับคนส่วนใหญ่เพื่อที่คนส่วนใหญ่ จะได้ไม่ไปยุ่งกับอำนาจ เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ยุ่งกับอำนาจเมื่อไร ก็คือการเอาอำนาจจากคนส่วนน้อยลงมา แล้วทำให้สถานะเขาสั่นคลอน

ดังนั้น คนส่วนน้อยที่ถืออำนาจอยู่ต้องใช้คำพูดแบบนี้ ต้องใช้นิทานหลอกลวงเราแบบนี้ เจอนิทานแบบนี้ตั้งแต่ในหนังสือเรียนนะครับ โตขึ้นมาในสังคมก็เจอเรื่อยๆ นี่คือนิทานที่หลอกลวงคนส่วนใหญ่ให้เกลียดกลัวการเมือง ไม่กล้าเข้าไปยุ่งกับการเมือง เมื่อเป็นแบบนั้น อำนาจก็อยู่ที่เขา เพราะเราไม่เข้าไปแย่งชิงอำนาจที่เป็นของเรามา นี่คือภาวะการณ์ที่ผมเรียกว่า การยอมจำนน แต่ถ้าคนไทยทุกคนเชื่อว่าเรามีอำนาจเท่ากัน มีศักดิ์ สิทธิ์ และศรี เท่ากัน เรามีความชอบธรรมเต็มที่ที่จะเอาอำนาจที่เขาถืออยู่กลับคืนมาเป็นของพวกเราทุกคนได้

Policy Statement:

เราเห็นการเมืองในรอบ 13 ปี ที่ผ่านมา เกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง นายกรัฐมนตรี 7 คน รัฐธรรมนูญอีก 5 ฉบับ การชุมนุมที่นำมาซึ่งความบาดเจ็บล้มตายของผู้คนที่เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอีกหลายครั้ง นี่คือสังคมที่เราบอกว่า “พอได้แล้ว…มันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง” เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าเราอยู่อย่างนี้ต่อไป ลูกหลานเราจะลำบาก เพราะ เราต้องไม่ลืมว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ความขัดแย้งในสังคมของเราดำรงอยู่สูงมาก ประเทศเราเจริญเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน ครั้งหนึ่งเราเคยแข่งขันกับเกาหลีใต้ ครั้งหนึ่งเราเคยแข่งขันกับไต้หวัน ครั้งหนึ่งเราเคยแข่งขันกับมาเลเซีย วันนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าเกาหลีใต้แซงหน้าเราไปไกลแล้ว รายได้ต่อหัวต่อปีของเกาหลีใต้มากกว่าเรา 5 เท่า ไต้หวันและมาเลเซียก็แซงหน้าเราไปแล้ว ถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป แม้แต่เวียดนามหรืออินโดนีเซีย เราก็แพ้เขา

การแก้โครงสร้างเชิงอำนาจ โครงสร้างที่ผมพูดคือทุนผูกขาด ระบบราชการรวมศูนย์ วังวนของการทำรัฐประหารที่ซ้ำซาก ถ้าคุณไม่จัดการโครงสร้างนี้ อย่าไปพูดถึงเลยครับ การแก้ไขปัญหาเชิงประเด็น เพราะมันแก้ไม่ได้ ถ้าเกิดมันแก้ได้ประเทศของเราพัฒนาไปนานแล้ว ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างที่สำคัญ ถ้าคุณละเลยเรื่องพวกนี้ และคิดแต่จะแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาการคมนาคม มันไม่สามารถทำได้ เราเห็นได้ชัดเจนว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปีที่แล้วกับปีนี้ เติบโต 13 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าคุณไปดูชาวบ้าน พ่อค้า-แม่ค้าในตลาด ผมเดินทางไป 70 จังหวัดทั่วประเทศไทยไปคุยกับพวกเขา ทุกจังหวัดพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า “ยอดขายลดลง 50 เปอร์เซนต์ รายได้ลดลง 50 เปอร์เซนต์” บางร้านลดลงถึง 60-70 เปอร์เซนต์ จากเดิมอาจจะ ขายได้ 100 บาท วันนี้ลดลงเหลือวันละ 20-40 บาท ขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศร่ำรวยขึ้น กำไรมากขึ้น 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ อำนาจที่รวมศูนย์ย่อมทำให้การกระจายทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมศูนย์ไปด้วย

ถามว่าทำไมพรรคอนาคตใหม่จะทำสิ่งเหล่านี้สำเร็จ (1) เราเป็นพวกคุณไม่ใช่พวกเขา เราไม่เคยอยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบนี้ เราถึงกล้าทำ เพราะเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มผลประโยชน์แบบนี้ ถ้าเราเป็นหนึ่งในพวกเขา เราจะทุบหม้อข้าวตัวเองทำไม แต่เราไม่ใช่ ผู้สมัคร สส. ทั้ง 350 เขต เป็นคนใหม่ทั้งหมด ไม่มีใครเป็นหนึ่งในพวกเขา เพราะเราเป็นพวกเราเราจึงกล้าทำ (2) เราตั้งใจมากกว่า เรามีเจตจำนงทางการเมืองที่มากกว่า ในหลายเรื่อง ทำไมธนาคารทุกธนาคารในประเทศไทยต้องมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ? ทำไมเราไม่มีธนาคารเชียงใหม่ ไม่มีธนาคารอุดรธานี ไม่มีธนาคารที่ตรัง การออกใบอนุญาตธนาคาร  ใบใหม่ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย แต่ไม่มีคนทำ ไม่มีคนที่กระจายอำนาจ กระจายโอกาส ให้กับแหล่งทุนที่ต่างจังหวัด

 

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ | ถ้าคุณไม่กล้าเสี่ยง คุณจะไม่เคยได้รับรางวัลอะไรเลยในชีวิต
เรื่องและภาพ: ปริญญา ก้อนรัมย์ / กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาคือหนึ่งในตัวละครสำคัญที่โลดแล่นอยู่ในภูมิทัศน์การเมืองมาตั้งแต่ปี 2535 —จากหนุ่มน้อยนักการเมืองรุ่นใหม่ กลายเป็นนักการเมืองหน้าเก่ามากประสบการณ์ และ 5 ปีที่ผ่านมา เขาก็ยืนยันว่ายังคงทำงาน และประสบการณ์ก็มากขึ้นในการหวนกลับมาสู่การเลือกตั้งครั้งนี้

Political Standpoint:

หนึ่ง เผด็จการ สอง โกง และสาม อุดมการณ์ในการบริหารประเทศไม่สอดคล้องกับความเชื่อเรา

ประชาธิปัตย์อยู่มา 70 กว่าปี เพราะหลายๆ สถานการณ์ เราตัดสินใจชัดเจนว่าไม่เหมาะสมที่จะเป็นรัฐบาล ประชาธิปัตย์ก็เคยเป็นรัฐบาล และได้ตัดสินใจถอนตัวสมัยรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ถามว่าอยากเป็นรัฐบาลไหม อยากเป็นเพื่อผลักดันนโยบายแนวคิดเรา แต่ถ้าเป็นแล้วทำไม่ได้ก็ไม่ควรเป็น ไม่ได้ดิ้นรนว่าจะต้องมีตำแหน่งในรัฐบาล

มีการวิเคราะห์กันว่าระบบการเลือกตั้งนี้ออกแบบมาเพื่อให้มีพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ก็ถ้าประชาชนเลือกให้เด็ดขาดมันก็จะมีพรรคใหญ่ เพราะฉะนั้น อย่าไปมองว่ากติกาถูกออกแบบมาเพื่อพยายามบังคับให้เดินไปทางไหนแล้วต้องไปจำนนกับมัน แม้กระทั่งการที่วุฒิสภา 250 คนจะมีสิทธิ์มาเลือกนายก ผมก็ยืนยันว่าถ้าประชาชนแสดงเจตนาของตัวเองชัด ถ้าจะฝืนความต้องการของประชาชน วุฒิสมาชิกก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน

อำนาจของประชาชนมีมากนะครับ อย่าไปประมาท เราก็เห็นว่าบางทีแม้แต่ผู้มีอำนาจในทางการเมืองอยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวลาเจอเสียงดังๆ เขาก็ต้องหยุดชะงักอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะบอกว่ามีเต็มที่ก็คงไม่ได้เพราะกติกา แต่ถามว่าถ้าใช้เต็มที่แล้วมีผลไหม ผมว่ามีผล ถ้าเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตแล้วประชาชนเลือกฝ่ายเผด็จการเข้ามา เราก็ยอมรับผลครับ ไม่มีปัญหา เพราะว่าที่ผ่านมาในการเลือกตั้งหลายครั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็แพ้บ้าง ชนะบ้าง เราก็ยอมรับผลการเลือกตั้งเสมอ เราต้องกำหนดบทบาทตัวเอง ซึ่งประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ไม่เคยมีปัญหากับการเป็นฝ่ายค้าน

Policy Statement:

ปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะหน้าที่เราต้องพูดกัน วันนี้ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ สังคมสูงวัย เหมือนกับประเทศอื่นที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผมถึงบอกว่าเราอย่าคิดว่ามันมีแค่ประเด็นใดประเด็นเดียว เราอยากให้ 24 มีนาคมเป็นโอกาสของคนไทยและประเทศไทย ไม่ใช่แค่เพื่อก้าวพ้นจากสภาพปัจจุบัน แต่สามารถวางรากฐานสำหรับอนาคตได้ด้วย

เรื่องปากท้องนี่ชัดเจน เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้ดีขึ้น คนจำนวนมากแย่ลงด้วยซ้ำ ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะว่าเศรษฐกิจในภาคเกษตรและชนบทได้รับผลกระทบมากใน 5 ปีที่ผ่านมา เราจะฟื้นกำลังซื้อทันที เพราะมันคือสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน และต้องเพิ่มกำลังซื้อในลักษณะที่จะทำให้มันหมุนเวียนอยู่ในชุมชนและท้องถิ่นได้ด้วย เราประสบความสำเร็จกับการใช้นโยบายประกันรายได้พืชผลทางการเกษตรมาแล้ว ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทำแล้วรัฐบาลก็ไม่ได้มีหนี้สินเยอะ ไม่มีทุจริต ตลาดการค้าขายสินค้าพวกนี้ไม่ได้พังลง ขีดความสามารถการแข่งขันของสินค้าไม่ได้ตกลง เพราะฉะนั้น ตัวนี้กลับมาได้ทันที เป็นระบบที่เราริเริ่มไว้ เคยทำแล้ว และจะนำกลับมาปรับปรุงได้ทันที ขยายไปสู่พืชผลตัวอื่นๆ ด้วย

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน เราว่ามันถึงเวลาที่ต้องปล่อยให้เขาใช้จ่ายได้อย่างเสรี การบังคับให้คนต้องรูดบัตรในร้านค้าทำให้เงินไปกระจุกอยู่ในร้านค้าแทนที่จะกระจายรายได้ไปยังแม่ค้าในตลาดสด เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยว ข้าวแกง ร้านชำเล็กๆ ซึ่งคนเหล่านั้นก็ไม่ใช่คนรวย

เรื่องกระจายอำนาจ เราก็เป็นคนทำ อบต. ขึ้นมา เราเป็นคนให้เลือกผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง เราผลักดันกฎหมายเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร วันนี้เราก็บอกว่าถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด เราไปดูเมืองภาคธุรกิจ ภาคประชาชนอย่างขอนแก่น เขาอยากทำอะไรเยอะแยะที่บริหารตัวเอง เช่น ขนส่งมวลชน เราก็บอกว่าควรทำรูปแบบการบริหารเมืองแบบพิเศษขึ้นมาได้แล้วสำหรับจังหวัดแบบนี้ แล้วเราก็พูดไปถึงว่าต่อไปนี้การกระจายอำนาจมันไม่ใช่แค่เรื่องท้องถิ่น ในความหมายของ อบต. อบจ. เทศบาล อย่างเดียว กระทรวงศึกษาธิการก็ควรจะให้อำนาจไปอยู่ที่โรงเรียนได้แล้ว ความหมายของการกระจายอำนาจ คือการทำให้การตัดสินใจในการกำหนดทิศทางและการบริหารไปอยู่ในระดับใกล้ชิดกับประชาชนหรือองค์กรนั้นให้มากที่สุด อย่างเทียบเคียงก็คือเรื่องของโรงเรียนก็ให้โรงเรียนตัดสินใจ ไม่ใช่ให้คนที่กระทรวงศึกษาธิการในกรุงเทพฯ ตัดสินใจให้เขา

 

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: เลือกตั้ง 2562: อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ | ประชาชนยังมีสิทธิ์ในการเขียนบทให้ประเทศ
เรื่องและภาพ: ปริญญา ก้อนรัมย์ / กฤตธกร สุทธิกิตติบุตร

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน เขาเป็นนักกิจกรรมทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พรรคสามัญชนเกิดจากการรวบรวมนักกิจกรรมทางการเมือง เอ็นจีโอ และเยาวชน ผู้ต่อสู้และเคลื่อนไหวด้านความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้านในต่างจังหวัดมาอย่างยาวนาน พวกเขาเจอปัญหาคล้ายๆ กัน คือเมื่อเรียกร้องให้มีการเสนอแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนในพื้นที่ เสียงของพวกเขาก็กลับโดนปัดตกหรือโดนแก้เนื้อหาสาระจนผิดความตั้งใจเดิม เลิศศักดิ์และสมาชิกพรรค จึงเข้าสู่สนามทางการเมืองที่ดุดัน เพื่ออย่างน้อยคนสามัญธรรมดาจะได้มีพื้นที่ทางการเมืองกับเขาบ้างสักที

Political Standpoint:

ถ้าย้อนไปถึงช่วงรัฐประหารปี 49 คนทำงานในภาคประชาชนมีความขัดแย้งกันสูงมาก เพราะมีกลุ่มคนในพวกเราเข้าไปสนับสนุนรัฐประหาร ปัญหาคือ สิ่งที่เอ็นจีโอทำเพื่อสนับสนุนรัฐประหาร โดยเฉพาะในปี ‘57 มันไม่ได้เป็นการล้มประชาธิปไตยในรัฐสภาอย่างเดียว แต่มันล้มประชาธิปไตยที่อยู่นอกสภาด้วย เพราะ คสช. ออกกฎหมายและคำสั่งมากมายที่ทำให้อำนาจประชาธิปไตยบนท้องถนนอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป ลิดรอนช่องทางของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การยื่นหนังสือ ยื่นจดหมาย การร้องเรียน

นี่คือความเสียหายและความอดสูอย่างยิ่งที่เกิดจากการคิดไม่ครบถ้วน คิดอย่างมักง่าย การสนใจแต่การต่อท่ออำนาจ ไม่สนใจในแง่ของการสร้างพลังประชาชนให้เข้มแข็ง แต่ไปล็อบบี้และสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ และหวังว่าเขาจะช่วยเราได้ มันนำมาซึ่งความอ่อนแอของภาคประชาชน อาวุธของประชาชนไม่ใช่ปืนหรือรถถัง แต่เป็นสองมือสองเท้าของเราที่จะต้องกู่ร้อง กดดัน เรียกร้อง นี่คือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญก็รับรอง เราเป็นคนสามัญธรรมดา จะมีอำนาจต่อรองกับรัฐได้ก็ด้วยสิ่งนี้ แต่สิ่งที่ คสช.ทำคือเขาทำลายสิทธินี้ไปหมด มันน่าเจ็บปวดและรุนแรงมาก เราโดนยึดอาวุธที่สำคัญที่สุดไป

อย่างน้อยเราก็พยายามจะบอกว่า อย่าทำลายการเลือกตั้งนี้ ประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งมีความสำคัญมาก ถึงแม้เราจะเห็นว่าตัวเองมีความเสียเปรียบอยู่ก็ตาม อย่างพรรคสามัญชนเอง อาจจะได้ ส.ส. สัก 1-2 คน แต่มันจะไปเทียบกับคน 400 คนได้อย่างไร การเข้าไปในสภาของเราแค่ 1-2 คนอาจจะไม่มีความหมายเลยก็ได้ แต่เราอยากจะบอกว่า อย่างน้อยการเลือกตั้งนี้ ถ้าคุณคิดว่าอยากแชร์อำนาจกับรัฐก็มาตั้งพรรคการเมือง เพราะมันทำให้คนไทย 70 ล้านคนเขาสามารถเข้าถึงการเมืองมากกว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ด้วยการมาตั้งพรรคของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

Policy Statement:

เราจะมีประชาธิปไตยทั้งสองส่วน คือประชาธิปไตยที่อยู่ในสภา และประชาธิปไตยข้างนอกที่ทำอยู่แล้ว เพื่อมีช่องทางต่อรองได้มากขึ้น และหวังให้อำนาจทางการเมืองที่มันวนเวียนอยู่ในคนกลุ่มเดิมๆ เช่น ชนชั้นนำ ได้แบ่งปันและมีพื้นที่ให้คนอย่างพวกเราบ้าง เพื่อทำให้ประชาชนได้มีช่องทางในการรับประโยชน์มากขึ้น มันก็คล้ายๆ กับวรรคทองที่เขาพูดกันว่า ‘ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ก็แน่ไซร้เพื่อชนชั้นนั้น’ ซึ่งเรารู้สึกว่าชนชั้นสามัญชนอย่างพวกเราก็น่าจะทดลองและเข้าไปมีส่วนร่วมในอำนาจนั้นมากขึ้น เพื่อหวังให้การเขียนกฎหมายมันรับใช้คนชั้นสามัญชนมากขึ้น

นโยบายของพรรคสามัญชนทำหน้าที่ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือพยายามผลักดันให้มี ส.ส. เข้าไปในสภาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อีกส่วนหนึ่ง คือทำหน้าที่กรอบคิดของคน เข้าไปแทรกแซงความคิดของคน ผมคิดว่า ถึงแม้ว่าจะไม่มี ส.ส. เข้าไปในสภาก็ตาม แต่พรรคสามัญชนก็ยังทำหน้าที่ส่วนที่สองได้อยู่ เราเชื่อว่านโยบายของเราสร้างผลประโยชน์ระยะยาวให้กับประเทศ ถ้าประชาชนตอบรับความคิดของเรา ก็จะทำให้เขาตั้งคำถามต่อโครงสร้างของการเมืองและสังคมมากกว่านี้

ผมว่าชาวบ้านตื่นตัวกับการเมืองมากกว่าพวกเอ็นจีโออย่างผมอีก ยกตัวอย่าง เหมืองทอง ที่จังหวัดเลย หรือเหมืองอื่นๆ ที่ผมเข้าไปทำงาน ชาวบ้านรู้ว่าอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ในการทำเหมือง มันมีทั้งส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง เขาจึงเข้าไปเป็นสมาชิกอบต. เพื่อที่จะได้อำนาจทางการเมืองมา เข้าไปยกมือขัดแย้ง เห็นต่าง ผมว่าเขาเข้าใจการเมืองมากกว่าเอ็นจีโอ แต่ที่ผ่านมาเอ็นจีโอเองนี่แหละที่เข้าไปกีดกันชาวบ้านไม่ใช่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งอาจเป็นการคิดวิเคราะห์ของเอ็นจีโอที่ยังไม่ครบถ้วนกระบวนการ

พรรคสามัญชนไม่ได้มุ่งนโยบายเรื่องการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เราพยายามมุ่งนโยบายไปที่ การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งมันยาก และเห็นผลช้า ประชาชนอยากเห็นอะไรที่มันง่ายกว่านั้น อย่างพรรคนี้ให้เบี้ยยังชีพ 600 แล้วพรรคนี้ล่ะให้เท่าไหร่ จะให้ 1,500 1,800 2,500 หรือ 3,000 เขาสนใจตัวเลขแบบนี้ แต่เขาไม่ได้สนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ แม้กระทั่งรู้ว่าตัวเองโดนกระทำขนาดไหน โดนฉกชิงเอาความมั่งคั่งของสังคมไปขนาดไหนก็ตาม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก ปัจจุบัน ถ้ามองในสเกลของทั้งโลก คน 1% ถือครองทรัพย์สินมหาศาล มากกว่าคนอีก 99% ที่เหลือรวมกันอีก เรารู้สึกว่านี่เป็นปัญหาที่รุนแรงของสังคม เราไม่ได้มองว่า พรรคสามัญชนต้องการเป็นฐานเสียงของคนชนบทโดยไม่สนใจคนเมือง แต่เราคิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำของคน 1% เป็นปัญหาที่สำคัญเกินกว่าที่คนเมืองจะตระหนัก

เรื่องและภาพ: พัทรมน วงศ์รัตนะ / ธนดิษฐ์ ศรียานงค์

ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป

ไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป มีนโยบายน้อมนำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อการทำงานด้านการเมือง เขาบอกกับเราอย่างภูมิใจว่าเขาคือคนที่ล้มนางสาวยิ่งลักษณ์ และเป็นคนที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ ได้เป็นหัวหน้า คสช. ในที่สุด รวมไปถึงได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่มีบทบาทสำคัญทั้งสิ้น เขายืนยันอีกครั้งว่า “ทุกอย่างผมจะต้องเป็นผู้นำ เพราะผมเป็นตัวของตัวเองสูง”

Political Standpoint:

การสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นความเห็นส่วนตัวของผม เราเห็นแล้วว่าเขาเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริตมากกว่าคนอื่น ดังนั้น หากต้องเลือกใครสักคนมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราต้องเลือกคนที่เราคิดว่ามีความเหมาะสมที่สุด แต่ถ้าหากสิ่งที่เลือกทำให้คนไม่ชอบเรา มันจะเป็นธรรมไหม เราก็มีสิทธิจะชอบพลเอกประยุทธ์ การไม่ชอบกันด้วยเหตุผลว่าคนหนึ่งไปสนับสนุนสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบถือเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะมันเป็นสิทธิ์ของเขา เราว่าไม่ได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องปล่อยไปตามวิถีของเขา ไม่ว่าใครได้เป็นนายกผมก็ไม่มีปัญหา ส่วนพลเอกประยุทธ์ที่เราสนับสนุน ถ้าได้เป็นนายกก็ดี หรือไม่ได้เป็นก็ดี

ในการทำงานแต่ละขั้น ทุกอย่าง ผมจะต้องเป็นผู้นำ เพราะผมเป็นตัวของตัวเองสูง กลุ่ม 40 ส.ว. นี้ ผมเป็นคนรวบรวมเพื่อนและขับเคลื่อนมันไปตามอุดมการณ์ของเรา ดังนั้น เราก็ทำหน้าที่ของเราตามมุมมองที่เห็นว่ามันถูกต้อง การไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ผมไม่ได้ไปร่วมเฉยๆ ผมเป็นคนไปช่วยให้ประชาชนกลับบ้าน เพราะผมเป็นคนไปล้มรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ผมเป็นตัวหลักสำคัญที่ทำให้พลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. คือถ้าเราไม่ล้มรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ พลเอกประยุทธ์ก็เข้ามายึดอำนาจไม่ได้

ดังนั้น ผมไม่ได้ไปติดค้างบุญคุณพลเอกประยุทธ์ แต่พลเอกประยุทธ์ติดค้างผม แต่ในขณะที่ทำ ผมมีความรู้สึกเกลียดคุณยิ่งลักษณ์ไหม ไม่มีเลย ไม่เกลียด ไม่โกรธ เราทำแค่พอหยุดเขา เพื่อให้ประชาชนกลับบ้านได้ สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองในการทำงานทุกครั้ง ครั้งล่าสุด กรณีพรรคไทยรักษาชาติ เป็นประเด็นที่ผมต้องไปยื่นเรื่องในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้และไม่มีใครทำได้ ฉะนั้นเป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำ

Policy Statement:

พรรคประชาชนปฏิรูป คำแรกคือ ประชาชน ก็ชัดเจนว่าพรรคมีเจตจำนงที่จะเป็นพรรคของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน ส่วนคำว่า ปฏิรูป คือประชาชนเป็นผู้ปฏิรูป ไม่ใช่การปฏิรูปประชาชน ไม่ใช่ให้ข้าราชการมาปฏิรูปต้องเป็นประชาชนเท่านั้น เรื่องที่เราจะปฏิรูปมีหลักใหญ่ 3 เรื่อง คือ (1) ปฏิรูปเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนด้วยการให้มีสภาประชาชนปฏิรูปทุกจังหวัด มีสิทธิ์มีเสียงในการตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลอำนาจรัฐ (2) ปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ปฏิรูปการจัดการทรัพย์สินวัด ส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ (3) ปฏิรูปให้มีการนำบุคคลหรือแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ โดยระบบคุณธรรมไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์

ดังนั้น เรียกง่ายๆ ว่า เราเป็นพรรคฝ่ายคุณธรรม ยึดในความถูกต้อง เปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมา ถือเป็นการปฏิรูปพรรค ปฏิรูปการเมือง ส่วนกรณีพลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นเรื่องของรัฐสภา อยู่ที่จำนวนมือ ส.ส. และ ส.ว. จะยกมือให้ มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับนโยบายการปฏิรูปของพรรคเรา ดังนั้น มันเป็นคนละเรื่องกัน

บทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: ไพบูลย์ นิติตะวัน | อุดมการณ์อันแรงกล้า และหลักศรัทธาที่ถูกสังคมตั้งคำถาม
เรื่องและภาพ: ตนุภัทร โลหะพงศธร / วงศกร ยี่ดวง

พอลลีน งามพริ้ง พรรคมหาชน

พอลลีน งามพริ้ง หนึ่งในสมาชิกของพรรคมหาชน ที่ชูนโยบายเรื่องของสิทธิเท่าเทียมกันของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะสิทธิของชาว LGBT เธอจะเป็นตัวกลางที่สามารถเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่ของคนรุ่นเก่าให้เข้าใจกันได้ดีขึ้น ทั้งในเรื่องของความเข้าใจคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการสร้างความเท่าเทียมให้กับคนในประเทศ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ต่อจากพวกเรา มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเหมือนกับประเทศที่เขาให้การยอมรับในเรื่องของสิทธิมนุษยชน และเจริญก้าวหน้าได้ไม่แพ้พวกเขา

Political Standpoint:

ถ้าไม่เริ่มวันนี้ คนรุ่นใหม่หลังจากเราก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ แล้วก็ต้องต่อสู้กับความคิดเก่าตลอดเวลา ความคิดเก่าไม่ใช่ไม่ดี เราต้องใส่ใจพวกเขาด้วย แต่ถามจริงๆ ว่าเราทำเรื่องการเมืองนี้เพื่อคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่กันแน่

เรามองว่าการเมืองสำหรับคนรุ่นเก่าคือ การผลักดันให้มีรัฐสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ ทำให้เขามีความสะดวกสบายหลังจากที่ทำงานหนักมาเป็นเวลาหลายปี เป็นเรื่องที่ต้องดูแลเขา แต่สังคมก็ต้องขับเคลื่อนไปสู่อนาคต ต้องตอบสนองโลกให้ทัน เพราะคนรุ่นใหม่คือคนที่จะมาแทนพวกเรา แล้วทีนี้จะเป็นการต่อสู้แบบที่รุนแรงเลยไหม ไม่เลย เป็นแค่การปรับตัวเข้าหากัน เราต้องพยายามอธิบายกับคนรุ่นเก่าเหมือนกับที่พ่อแม่ของเราพยายามจะอธิบายกับเราให้เป็นแบบเขา แต่โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราก็ต้องเป็นฝ่ายอธิบายกับพ่อแม่เราว่า ทำไมถึงต้องทำแบบนี้ ก็เพราะสังคมมันเปลี่ยนไป ทำไมถึงจะต้องปรับตัวให้ทัน ถ้าพูดคุยกันแบบนี้โดยที่ไม่ไปขัดแย้งกับความคิดเก่าๆ  การดูถูกเหยียดหยามก็ไม่น่าจะมี ถ้าเราซื่อสัตย์ และเคารพตัวเองมากพอ เราจะเคารพคนอื่นด้วย

Policy Statement:

ปัญหาปากท้องมันก็คือเรื่องของความเท่าเทียมไง ทุกวันนี้ปัญหาปากท้องเกิดเพราะคนไม่เท่ากัน มีคนที่ได้เยอะกว่ามีคนที่ได้น้อยกว่า คนที่ยึดครองเศรษฐกิจบางอย่างอยู่ มีการผูกขาด มีการใช้กลไกต่างๆ ที่ทำให้เกิดการผูกขาด คนรวยมีแต้มต่อที่ไม่เท่ากัน ถึงเวลาที่จะหาเสียงก็โยนเศษเงินไปให้ เพื่อให้เขาเลือก และสุดท้ายเราก็ถูกกดถูกเหยียบย่ำเหมือนเดิม นี่คือความไม่เท่ากันจริงๆ เมืองไทยเป็นประเทศที่ร่ำรวย เราอาจจะไม่ได้มีทรัพย์ใต้ดินเยอะ แต่เรามีทรัพย์บนดินเยอะ หยอดอะไรลงไปมันก็ขึ้น จริงๆ คนไทยไม่ต้องกลัวอดตายเลย เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เรามีครบ แล้วเราจนไหม เราไม่ได้จน แต่ที่เราจนเพราะมันไม่เท่ากัน เราถูกใส่ความคิดเรื่องความฟุ้งเฟ้อ เรื่องแบรนด์เนมเข้าไป แล้วก็สร้างความต้องการให้กับคนที่เขาไม่มี เกษตรกรขายข้าวไปหนึ่งเกวียนยังซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อที่มาแข่งกับคนในเมืองยังไม่ได้เลย แต่เราไปสร้างค่านิยมแบบนี้ เราไปสร้างความต้องการแบบนี้ นี่คือสิ่งที่ทำให้คนไทยจน แต่จริงๆ คนไทยไม่เคยจนเลย

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ GDP 6% หรือ 10% มันไม่มีความหมายเลยถ้าโอกาสทางเศรษฐกิจมันไม่เท่ากัน เรื่องของสังคม เรื่องต้นทุนมนุษย์ก็เช่นกัน เยาวชนที่เกิดมา ถ้ามีต้นทุนที่ต่างกัน รัฐบาลมีโอกาสให้พวกเขาน้อยกว่าคนที่อยู่ในสังคมเมือง ถ้าสังคมมันแตกต่างกันแล้วเราทำให้มันใกล้เคียงกับความเท่าเทียมมากที่สุด ความเท่าเทียมเป็นคำที่อุดมคติก็จริง แต่ถ้าเราลดช่องว่างทำให้ทุกคนมีความเสมอภาค ทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ก็จะกลายเป็นภาพใหญ่ทันที

ถ้าไม่ไปติดกับกับดักว่าเราเป็น LGBT และเราจะเข้าไปเพื่อทำงานให้กับพวกเราเท่านั้น การคิดแบบนั้นไม่มีประโยชน์เลยที่จะมีคนที่เป็น LGBT อยู่ในสภา ซึ่งก็ไม่ต่างกับการคิดว่าการมีตัวแทนภาคเกษตรกร มีตัวแทนของชาวนาชาวสวนยางเข้าไปอยู่ในนั้นแล้วเขาจะทำงานรับใช้แต่กลุ่มของตัวเอง ก็ไม่มีประโยชน์ที่เขาจะเข้าไปอยู่ในสภา เราอยากเข้าไปเพราะเรารู้ว่าปัญหาของกลุ่มเราคืออะไร แล้วเราสามารถพูดเรื่องนั้นได้อย่างลงลึกและดีที่สุด เราสามารถบอกถึงปัญหาและแก้ในเรื่องที่ตัวเองถนัดได้ แต่เราก็จะทำงานเพื่อรับใช้คนอื่นด้วย

ดังนั้น เรื่องของความเท่าเทียมทางเพศจึงไม่ใช่ประเด็นเล็กๆ ที่หลายคนมอง แต่เรากลับคิดว่าเรื่องนี้เป็นสาระสำคัญเลยของการทำงานในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีความเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก พรรคมหาชนสนใจเรื่องนี้ตลอดเวลา เพราะเรื่องของความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม คุณลองนึกภาพตามนะว่าถ้าทุกคนมีความเท่าเทียม สังคมมีความเท่าเทียมกันแล้ว เมื่อทำอะไรก็ตามเราจะคิดจากพื้นฐานก่อนว่าคนเรามีความหลากหลาย และในความหลากหลายนี้ก็ต้องมีความเท่าเทียม แล้วความคิดนี้ก็จะขยายไปสู่ความคิดทางการเมือง เมื่อมีความเท่าเทียมเราก็จะไม่มีการเหยียดหยาม ไม่ดูถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพียงแค่คิดต่างกันแค่เล็กน้อย

เราสามารถอยู่กับทุนนิยมได้ไหม ถ้าใช้ความคิดว่าเมืองไทยนั้นรวยอยู่แล้ว ทำไมเราไม่เริ่มคิดในเรื่องนวัตกรรมของเราเอง อย่างรถยนต์ ทำไมเราไม่สร้างแบรนด์ของตัวเอง ทำไมเราจะผลิตรถยนต์ของตัวเองไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในเอเชีย เราก็เคยอยู่ในวงการรถยนต์ แต่พอทำเป็นขึ้นมาเป็นแบรนด์ไทยเป็นยี่ห้อไทย คนไทยก็ไม่ใช้ แต่ถ้าเริ่มจากรัฐบาลก่อนละ ให้รถตำรวจทุกคันเป็นแบรนด์ยี่ห้อไทย หน่วยงานราชการต้องซื้อยี่ห้อของไทยเท่านั้น เทคโนโลยีมันไม่ต่างกันแล้ว ชิ้นส่วนต่างๆ ก็ทำในเมืองไทย 80%

เราต้องเท่าเทียมกับเขา เราต้องมีนโยบายเรื่อง SME ออนไลน์ ทำไมคนไทยจะต้องขายของผ่านเว็บท่าต่างประเทศ ทำไมเราไม่มีเว็บท่าของเราเอง ทำไมเราไม่มี e-commerce ของตัวเอง เขามีแอมะซอน เรามีเจ้าพระยาได้ไหม เขามีอาลีบาบา เรามีตลาดไท หรือจะเป็นชื่ออะไรก็แล้วแต่ เป็นเว็บท่าของไทยที่ขายของเกษตรผลิตภัณฑ์โอท็อป คนทุกตำบลสามารถเข้าถึงได้ รัฐบาลเข้าไปฝึกอบรมในการในการที่จะโพสสินค้าไปขายในโลกออนไลน์ ปัจจุบันนี้คนในชนบทใช้อินเทอร์เน็ตแค่ LINE, Facebook ทำไมเราไม่เข้าไปให้ความรู้ให้เขาเข้าถึงการค้าขายออนไลน์ได้ เราจะได้ไม่ต้องตกเป็นทาสของพ่อค้าคนกลางต่างประเทศเพียงอย่างเดียว เมื่อโลกหมุนไปแบบนี้ นโยบายเศรษฐกิจการเมืองและสังคม ก็ต้องหมุนไปตามความเป็นจริงของโลก

เรื่องและภาพ: ทรรศน หาญเรืองเกียรติ / รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ออกมาวิจารณ์และท้าชนกับอำนาจเผด็จการทหารอย่างชัดเจน ลองไปฟังกันว่าอะไรคือเหตุผล ที่ทำให้อดีตนายตำรวจตงฉินวัย 70 ที่มีสถานภาพชีวิตส่วนตัวที่เพียบพร้อมสุขสบายอยู่แล้ว กระโดดมาต่อสู้บนสนามการเมือง และหาญกล้าบอกว่า ตัวเองคือคำตอบเดียวที่จะต่อสู้กับเผด็จการได้

Political Standpoint:

ชื่อพรรคเสรีรวมไทย มาจากสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อบ้านเมืองมีปัญหา เสรีก็อาสารวมไทยเพื่อให้เป็นหนึ่งเดียว ลองไปดูรัฐบาลที่คุณประยุทธ์ไปยึดอำนาจและบริหารมาจะครบ 5 ปี ถามว่ารวมประเทศไทยให้เป็นหนึ่งเดียวได้ไหม ไม่ได้หรอก เพราะว่าคุณประยุทธ์ใจไม่เที่ยง คุณประยุทธ์คิดแต่จะเอาผลประโยชน์ของตัวเอง ผลประโยชน์ของพวกพ้อง ไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชน

ถ้าพี่น้องประชาชนไปเลือกเขาเป็นรัฐบาล ก็โอเค ถึงแม้จะเป็นกติกาเฮงซวย เราก็ต้องยอมรับ ให้เขาจัดตั้งรัฐบาล เขาอยากบริหารประเทศก็ให้บริหารไป แต่พรรคเสรีรวมไทยจะไม่ร่วมกับพรรคที่มีพฤติกรรมแบบนี้เด็ดขาด เราจะร่วมกับฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น คุณอยากปู้ยี่ปู้ยำทำอะไรก็ว่าไป เพราะว่าประชาชนเลือกคุณมานี่ เราก็ถือว่าเป็นฉันทามติของประชาชน และประชาชนก็ต้องรับผิดชอบเองนะ จากการกระทำของคนที่คุณเลือกมา เพราะคุณไม่เลือกผมนี่ ก็ว่ากันไปตามระบบตามกติกา

ถ้าประชาธิปไตยมาจริงนะ ก็หมายความว่าต้องชนะขาด ถ้าชนะไม่ขาด เผด็จการไม่ยอมหรอก เพราะพูดง่ายๆ ว่าตอนนี้เตรียมมาโกงทุกอย่างแล้ว ถ้าเปิดหีบแล้วทุกอย่างขมุกขมัว เผด็จการก็จะโกงแหลกเลยเพื่อที่จะชนะให้ได้ ถ้าชนะกันขาดในแบบที่โกงไม่ได้นะ ไอ้พวกนี้มันหนีก่อน คอยดูสิ

จะมีรัฐประหารซ้อนไหมอย่างนั้นนะเหรอ อันนี้ข้ามไปได้ ถ้ามีก็ว่ากันไป ตอนนี้ผมไม่ได้อยู่ในอำนาจ แต่ผมพูดไว้เลยว่า ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะไม่มีการรัฐประหารอีกต่อไป

Policy Statement:

คนมักจะพูดแบบนี้นะ ว่านโยบายคืออะไร ใครจะเป็นรัฐมนตรีความมั่นคง รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ไหนโชว์ตัวหน่อยสิ แต่ผมอยากจะให้ประชาชนตระหนักถึงข้อเท็จจริง ว่าพรรคต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะเอาลูกเอาหลาน เอาญาติพี่น้องมารับตำแหน่ง สมมติพรรคหนึ่งยึดพื้นที่ได้แล้ว พูดตรงๆ นะ โดยเฉพาะพรรคเก่าแก่ เขาจะส่งเสาไฟฟ้าลงรับตำแหน่งก็ได้ ส่งหมาลงก็ได้ เพราะเขาคิดแต่ได้ และบรรดานักการเมืองพวกนี้ก็ไม่ได้มีความรู้อะไร มีแต่ญาติพี่น้อง สายเลือดต่างๆ พอลงไปปุ๊บสองสมัยสามสมัย ก็เอาไปอ้างว่าเคยเป็นรัฐมนตรีแล้ว ถามว่ามึงเคยทำอะไรประสบความสำเร็จบ้าง ไม่เคยเป็นผู้บริหาร ไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลย แล้วก็เอาแต่ไปพูดๆ

แต่ถามผม ถ้าผมเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคลัง ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคมนาคม ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีกลาโหม ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี่ ผมบอกเลยว่ารัฐมนตรีของผมเยอะแยะ เอามาจากไหนล่ะ ก็คนเก่งๆ ในประเทศไง ถ้าผมเป็นนายกผมบอกเลยว่าพวกที่อยู่กับพรรคผม แต่ไม่มีความรู้ความสามารถจะให้ขึ้นมาป็นรัฐมนตรีทำไม เราต้องเอาคนที่ทำงานได้มาเป็นสิ ไปเชิญเขามา และพอเขาไม่ต้องเสียเงินเสียทองเพื่อให้ได้ตำแหน่งตรงนี้มา ก็จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องไปรับใช้นายทุน ดูแค่ผลประโยชน์ของประชาชนเท่านั้น ประเทศก็จะเจริญ ทำไมเราต้องปิดกั้นคนภายนอกล่ะ

นโยบายที่สำคัญของพรรคเรา มีอยู่ 6 อย่างด้วยกัน 1. หยุดความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ 2. หยุดคอรัปชันเอางบประมาณคืนมา 3. หยุดยาเสพติดปราบผู้มีอิทธิพล 4. หยุดเผด็จการปฎิรูปทหาร 5. หยุดไฟใต้เอาสังคมสันติสุขกลับมา 6. หยุดแยกเสื้อสี เลิกแบ่งพรรคพวกสถาบัน และก้าวสู่อนาคตใหม่

แต่ถ้าจะถามประเด็นย่อยๆ ว่าจะให้เลิกเกณฑ์ทหารหรือเปล่า ก็อยู่ในการปฎิรูปทหาร ถามเรื่องสาธารณะสุขถามเรื่องการหยุดความยากจน ก็อยู่ในนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเราลงพื้นที่เยอะ ได้เห็นพี่น้องประชาชนเดือดร้อนในการทำมาหากิน คำว่าประเทศนี้นั้นประกอบด้วย พื้นที่และประชาชน ถ้าประชาชนอ่อนแอไม่มีคุณภาพ ประเทศก็อยู่ไม่ได้หรอก ดังนั้นประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าประชาชนต้องมีคุณภาพ เขาต้องกินดี อยู่ดี มีความสุข

เรื่องและภาพ: ปริญญา ก้อนรัมย์ / รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ชุมพล ครุฑแก้ว พรรคกลาง

การพยายามเอาชนะตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมายใหม่ๆ ที่ยากกว่าเดิม ดูจะเป็นปรัชญาชีวิตของ ดร.จุ๋ง- ชุมพล ครุฑแก้ว ล่าสุด เป้าหมายของเขาใหญ่โตมากขึ้นกว่าเดิม เขาและเพื่อนหันมาก่อตั้ง ‘พรรคกลาง’ แม้ทุกวันนี้จะยังอยู่ในระยะก่อรูป และจะเป็นงานที่ไม่จบในรายปี ซึ่งเขารู้ตัวดีว่า งานการเมืองที่หวังเห็นทัศนคติใหม่ในสังคมไทย อาจเป็นงานที่ต้องทำทั้งชีวิตด้วยซ้ำ

Political Standpoint:

ส่วนตัวไม่ได้มองใครเป็นศัตรูทางการเมืองเลย ขอแค่เขาหวังดีกับประเทศชาติ เราเคยคิดกำหนดเป็นค่านิยมพรรคขึ้นมาว่า ถ้าเราตั้งขั้วรัฐบาลได้ จะขอหน่วยงานมาบริหารอย่างสร้างสรรค์ ถ้าเป็นฝ่ายค้าน จะเป็นฝ่ายถ่วงดุลอำนาจเพื่อความสมดุล เราพร้อมสนับสนุนรัฐบาลเต็มที่ถ้าเราตรวจสอบแล้วว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่ค้านอย่างเดียว เรื่องที่ดีก็ต้องสนับสนุนด้วย หรือช่วยด้วยซ้ำไป คือเราไม่ได้มองว่าพรรคไหนเป็นศัตรู เรื่องนโยบายก็เหมือนกัน ทำไมต้องคิดว่าเราต้องมาแข่งกัน นโยบายที่ดีของพรรคต่างๆ เราเอามาใช้ก็ได้ ทำไมเราต้องบอกว่ามันเป็นของใครๆ มันเป็นเรื่องเสรีด้านนโยบาย สมมติพรรคกรีนเน้นธรรมชาติ ถ้าเขาไม่ได้เป็นรัฐบาล ทำไมเราจะเอานโยบายที่ดีของเขามาใช้ไม่ได้ เพราะเราก็เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเหมือนกัน บางอย่างเราก็เสนอให้เขา

พรรคกลางเน้นเรื่องการมีส่วนร่วม เราต้องการคนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะๆ ถ้าทัศนคติของสังคมยังปิดกั้นตรงนั้นอยู่ เอาแค่ว่าผมจะไปชวนคนมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เขาจะติดนู่นติดนี่ กลัวว่าสังคมจะมองยังไง ครอบครัวมองยังไง มันไม่เอื้อ ทั้งที่มันควรจะเป็นสิทธิพื้นฐานของคนที่จะแสดงออก ถ้าเราแก้ที่ทัศนคติของคนทั้งชาติได้ เชื่อว่ามีความหวัง อาจเกิดเหตุการณ์อะไรบางอย่างให้คนเห็นและเปลี่ยนอะไรบางอย่างพร้อมกันได้ ก็จะ disrupt ได้ทันที หรือถ้าไม่ใช่ทันที ก็เชื่อว่าเทคโนโลยีนี่แหละที่จะเข้ามาช่วย เพราะเทคโนโลยีมาแล้ว

ผมมองว่า ผู้มีอำนาจอาจกลัวด้วยซ้ำไป พยายามไม่ให้เทคโนโลยีเข้ามา เพราะเดี๋ยวมันจะทำให้เราล่วงรู้อะไรบางอย่าง ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ อีกไม่ช้า มองในแง่ดี ว่ามันน่าจะค่อยๆ เปลี่ยน แต่มันอาจจะช้าเกินไป เราจะเข้ามานำร่อง ให้คนเห็นว่าเทคโนโลยีมันมาแล้ว เราต้องพร้อมจะเปลี่ยนแล้ว

Policy Statement:

‘กลาง’ คือการมารวมกันจากทุกทิศทุกทาง เพราะเราตั้งใจจะเป็นเวทีกลาง รวมคนที่พร้อมจะมาร่วมกันพัฒนา มาก้าวหน้าด้วยกัน เราเคารพในความเป็นปัจเจกบุคคลของแต่ละคน ซึ่งย่อมแตกต่างในความคิด แต่ต้องพร้อม ถ้าจะต้องทำงาน เราสามารถวางความเห็นส่วนตัวมาทำงานเพื่อประเทศได้ เราแตกต่างได้แต่ไม่แตกแยก จุดเด่นของเราตอนนี้ อาจจะเป็นจุดเด่นที่ตัวเองมาจากงานด้านไอที ทำงานด้านเทคโนโลยี กับกระทรวงวิทยาศาสตร์ เลยตั้งแนวทางว่า เราจะเปลี่ยนแปลงการเมือง หรือ ‘disrupt การเมืองด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม’ นี่คือแนวทางสั้นๆ ชัดๆ แต่ว่าเราไม่ได้บอกว่าเรากีดกันคนนอกวงการเทคโนโลยี เพราะในการทำงานจริงๆ เราต้องใช้ศิลปะ คำว่า นวัตกรรม มันก็รวมหลายอย่างมาก ภูมิปัญญาท้องถิ่น อะไรต่างๆ เต็มไปหมด

มีคนพูดว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบที่เลวน้อยที่สุด แย่น้อยที่สุด แม้มีข้อจำกัดในการปฏิบัติ แต่ทุกคนก็ยอมรับประชาธิปไตยเพราะมันฟังความเห็นของทุกคน แต่ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ เพราะอะไร ในสมัยกรีก มีคนอยู่ไม่กี่คน ทุกคนออกความเห็น คุย discuss กันแล้วก็ลงความเห็นเป็นฉันทามติ เรื่องโหวตเป็นเรื่องสุดท้ายด้วยซ้ำไป ผมไม่เห็นด้วยกับการโหวตทั้งหมด ทีนี้ กรีกทำได้ เพราะคนมีจำนวนจำกัด อยากคุยกับทุกคนก็มาคุยกันได้ แต่เมื่อสังคมมันโตขึ้น ตอนนี้ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน จะเรียกคนทั้งหมดมาคุย ให้ความรู้ พร้อมกัน เห็นข้อมูลเดียวกันได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ จึงเกิดประชาธิปไตยตัวแทนขึ้นมา แต่มันเป็นข้อจำกัด พอมีตัวแทน เกิดพรรคการเมือง เกิดผู้แทน เลือกตั้งไปครั้งเดียวแล้วเขาก็ไม่ได้มาสนใจ คือถ้าเขาสนใจจริง ตามอุดมคติมันได้ แต่พอเป็น ส.ส.ปุ๊บ ไม่มีอะไรคอนโทรลเขาได้ เลือกปุ๊บเขาก็ไม่ได้ฟังเสียงประชาชนจริงๆ แล้ว ถ้าพูดตรงๆ มันไม่ใช่ประชาธิปไตย มันคือระบบตัวแทน มันมีข้อจำกัด ทำแบบนี้ต้องมีพรรคการเมือง ต้องมีนายทุนมาหนุนหลัง

สิ่งเหล่านี้สมัยก่อนทำไม่ได้ แต่ตอนนี้เทคโนโลยีมาถึงแล้ว ไม่ต้องพรรคกลางหรอก ทั่วโลกเริ่มเห็นแล้วว่า เทคโนโลยีมันแก้ข้อจำกัดตรงนี้ได้ อย่างเมื่อกี้เราจ่ายตังค์ด้วยมือถือ เขายังเชื่อถือมือถือได้ เรื่องการทำธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ทำไมจะเอาไปโหวตไม่ได้ เรื่องโหวตไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะก่อนจะโหวตจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ให้ความรู้ คำปรึกษา ให้เขามามีส่วนร่วม เสนอความเห็น สุดท้ายมันอาจจะไม่ต้องโหวตก็ได้ เพราะมันเป็นฉันทามติแล้ว เพราะเรารู้ว่าโหวตมันต้องมีคนแพ้นะ คนแพ้เตรียมตัวหรือยัง คนที่จะชนะเตรียมตัวที่จะชดเชยคนแพ้หรือยัง มันต้องคิดก่อนถึงจะไปโหวต กลไกเหล่านี้ต้องสร้างด้วย พรรคกลางชูประเด็นนี้ และเราเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยทางตรง’

ถ้าเราสามารถใช้เทคโนโลยีมาชดเชยได้ จำเป็นต้องมี ส.ส.ไหม ส.ส.ตั้งขึ้นเพื่อแก้ข้อจำกัดนั้น ที่ทุกคนมาประชุมไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถทำให้ทุกคนประชุมได้ รู้ข้อมูลพร้อมๆ กันได้ เพราะเทคโนโลยีมาแล้ว ระบบ ส.ส. ระบบพรรคการเมืองอาจจะไม่จำเป็นด้วยซ้ำไป เราจะเอาเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้เกิดการนำร่องของประชาธิปไตยทางตรง โดยจะทำในพรรคก่อน

อย่างที่บอกไปแล้ว มันไม่ได้จบที่การโหวต เพราะเราโหวตปุ๊บฝ่ายที่แพ้ก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราไม่ได้เตรียมกระบวนการรองรับเอาไว้อย่างที่บอก แล้วบทประยุกต์ที่จะไปเชื่อมต่อกับประชาธิปไตยทางตรงได้ ก็คือสิ่งที่เราเรียกว่า liquid democracy คือ liquid มาจากศัพท์ทางการเงิน คือ สภาพคล่อง ส่วนตัวมองว่ามันเป็นบทประยุกต์อีกขั้นหนึ่งของประชาธิปไตยทางตรงที่ให้คนโหวตได้เพื่อแก้ข้อจำกัดบางอย่าง ที่ให้เทคโนโลยีไปคนอาจจะยังไม่มีเวลา บางคนไม่มีความรู้ ไม่มีเวลาอ่าน เทียบกับบางประเทศมีประชามติ อย่างสวิตเซอร์แลนด์ทำปีละสี่ครั้ง ไม่ต้องมี ส.ส.หรอก ทุกคนลงประชามติได้ แต่ก่อนจะทำ มันต้องมีกระบวนการ อย่างที่เล่าไป ให้ความรู้จนเขาเข้าใจ แต่บางคนถึงให้ความรู้ ให้เปเปอร์ไปเยอะ อ่านไม่เข้าใจ ไม่มีเวลาอ่าน นั่นเป็นข้อจำกัดบางอย่างอีกเหมือนกัน liquid democracy จะมาช่วยตรงนี้อีก

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม: ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว นักวิ่งแห่ง ‘พรรคกลาง’ ผู้เล่นใหม่ในสนามการเมืองไทย
เรื่องและภาพ: จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์ / ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

อนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย

อนุทิน ชาญวีรกูล ผู้สืบทอดบริษัท “ซิโน-ไทย” บริษัทรับเหมาก่อสร้างในลำดับต้นๆ ของประเทศไทย กับการนำทัพให้กับพรรคภูมิใจไทย ที่ถือเป็นการพรรคระดับกลางที่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้

Political Standpoint:

เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว คนที่ไม่ได้มาจากประชาชนจะมีบทบาทอะไรได้อีกล่ะ ขออย่างเดียว คนที่มาจากประชาชนที่ได้รับความไว้วางใจเข้ามาแล้ว ต้องทำหน้าที่ที่ประชาชนอุตส่าห์มอบให้เข้ามาทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ด้วยความตั้งใจ ขยันขันแข็ง แล้วก็ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน เพื่อบ้านเมือง

ไม่มีหรอกครับ ไม่มีใครฝืนเสียงของประชาชนไปได้ ถ้าประชาชนเลือกฝ่ายพรรคการเมืองเข้ามาอย่างเต็มที่ล้นหลาม เสียงอื่นไม่มีความหมาย สำหรับพรรคภูมิใจไทย กลุ่มใดก็ตามที่ไม่ได้มาจากพี่น้องประชาชน ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ไม่มีความหมาย

ผมว่าประชาชนก็อยากจะได้ความเป็นประชาธิปไตยคืนมา เมื่อมีความเป็นประชาธิปไตย มีสภาผู้แทนราษฎร มีการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกตั้ง ให้คนเข้ามาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร มาตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็ทำให้สถานะของประเทศไทยมีความหมายในสายตาประชาคมโลก การไปเจรจาการค้าเรื่องต่างๆ ก็จะพูดอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว ทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ มันก็อยู่บนพื้นฐานของความเท่ากัน ฉะนั้นการเลือกตั้งจะช่วยยกสถานะความเป็นประชาธิปไตยของประเทศนี้ให้เกิดขึ้นทันที แล้วการยอมรับ การให้เกียรติของทั่วโลกมายังประเทศไทยก็จะถูกยกระดับขึ้นไป

Policy Statement:

ผมเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยปีนี้ก็ปีที่ 6 สิ่งที่ผมพูดกับสมาชิกพรรคของผมเสมอก็คือ พรรคภูมิใจไทยจะเน้นแต่เรื่องของปากท้องของประชาชนเป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่าหากประชาชนมีปากท้องที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี มีการงานทำ มีเงินออม มีเงินใช้ สามารถประกอบอาชีพต่างๆ ได้ มีความสามัคคีกัน รัฐคอยดูแลเอาใจใส่ ปัญหาอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาสังคมในทุกวันนี้ เช่น ปัญหาความแตกแยก ปัญหาความขัดแย้งมันจะหมดไปโดยธรรมชาติ

ในแต่ละภูมิภาคก็มีนโยบายที่ต่างกันไป สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนในภูมิภาคนั้น อย่างเช่น ในกรุงเทพมหานคร เราเสนอเรื่อง Grab ที่ทำให้ถูกกฎหมาย เรื่องของการทำงานอยู่ที่บ้านสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อลดปัญหาการจราจร เรื่องของการที่จะจัดให้มีสถานที่ทำงาน co-working space สำหรับนักธุรกิจที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้ามาในเมืองให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียค่าเช่าออฟฟิศ ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการสื่อสารในปัจจุบัน

นโยบายสำหรับภูมิภาค เราจะยกระดับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพิ่มองค์ความรู้ให้เขา มีแอปพลิเคชัน มีอุปกรณ์ทันสมัย เกิดมีคนไข้ เกิดพี่น้องของเขาในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญเกิดป่วยกะทันหันกลางดึก กว่าจะถึงโรงพยาบาล รถราก็ไม่สะดวก ก็ยังสามารถใช้แอปพลิเคชันติดต่อเพื่อรักษาเยียวยาในระดับเบื้องต้นก่อน เราก็จะเพิ่มองค์ความรู้ให้กับพี่น้อง อสม. ให้เขามีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ที่จะปฐมพยาบาลให้มันเหนือกว่าระดับเบื้องต้นได้ ก็เป็นการลดภาระของรัฐ และเป็นโอกาสที่ทำให้ต่อชีวิตของผู้ป่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายต่างๆ ลดลง

นโยบายเรื่องการท่องเที่ยว เราเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวท้องถิ่น ทุกคนมีบ้านที่อยู่อาศัย อยากจะทำให้เป็นโฮมสเตย์ ทุกวันนี้ต้องแอบทำเพราะกฎหมายไม่มีรองรับ วันดีคืนดีเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ไปตรวจ บอกว่ามีใบอนุญาตโรงแรมไหม พอไม่มีก็ไปปรับเขา ดำเนินคดีเขา เรารับฟังความต้องการของชาวบ้าน ในเมื่อเขาสามารถที่จะสร้างรายได้จากทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของอยู่ เราต้องส่งเสริม ไม่ใช่คอยไปกีดกันเขา

เรื่องและภาพ: อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา / ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

Tags: , , ,