สารพัดปรากฏการณ์ปี 2563 ที่ย้อนไปเพียงต้นปีก็เกินคาดว่าจะเกิดขึ้น ตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงที่โคราช, การดำเนินคดีทายาทตระกูลดังที่สั่นคลอนวงการยุติธรรม, การยุบพรรคการเมืองอันค้านสายตาประชาชน, การเปิดโปงโครงการของรัฐบาลมูลค่ามหาศาล, การปิดเมืองขั้นเด็ดขาด และการชุมนุมอย่างต่อเนื่องของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับ ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’

The Momentum รวบรวม 10 ข่าวในประเทศประจำปี 2563 ที่บางเรื่องชวนให้สลดหดหู่ใจ บางเรื่องโหมแรงไฟแห่งความโกรธแค้น บางเรื่องจุดประกายให้เกิดความหวัง ที่ไม่ว่าจะข่าวดีหรือข่าวร้าย ข่าวใหญ่หรือข่าวเล็ก ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิด ‘แรงกระเพื่อม’ ในสังคมเป็นวงกว้าง มีการตั้งคำถาม ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ และจะถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป

หากแม้ในอนาคตข้างหน้าเราจะยังคงได้เห็นเรื่อง ‘ที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น’ ต่อไป แต่อย่างน้อยการบันทึก ทบทวนสิ่งที่เคยเกิดขึ้นก็ช่วยให้เราไม่ลืมถึงสิ่งที่เคยเป็น – และกำหนดสิ่งที่เราอยากจะเห็นได้ในปีหน้าฟ้าใหม่

1.‘การบินไทย’ หนี้สินล้นพ้นตัว แต่ปาท่องโก๋อร่อย

เรื่องราวของการบินไทยในปีนี้ เต็มไปด้วยปัญหาที่องค์กรต้องเผชิญ หนี้สินกว่า 3.5 แสนล้านบาท จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตามคำสั่งศาลล้มละลาย

ข้อมูลจากเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ศาลล้มละลายกลาง ถึงเจ้าหนี้ของการบินไทย ระบุถึงหนี้สินของสายการบินแห่งชาติดังกล่าว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ว่ามีมูลค่าถึง 352,494,285,416 บาท แบ่งเป็นหนี้สินหมุนเวียนมูลค่า 1.04 แสนล้านบาท หนี้สินไม่หมุนเวียนรวม 2.48 แสนล้านบาท และมีหนี้สิ้นเกินกำหนดชำระอีกกว่าหมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า รัฐบาลมีมติอนุมัติให้การบินไทย กู้เงินเพิ่มได้อีก 50,000 ล้านบาท โดยที่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันให้ เพื่อนำไปจ่ายหนี้ระยะสั้น และนำไปสร้างรายได้หลังจบสถานการณ์โควิด-19

การกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีการแสดงความเห็นในหลายด้าน ฝ่ายที่เห็นด้วยให้ความเห็นว่า ภายหลังการฟื้นฟูธุรกิจ ด้วยพื้นฐานที่ดี การบินไทยสามารถกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง นอกจากนี้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถส่งเงินให้รัฐบาลได้ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยมองว่า เป็นการนำภาษีประชาชนไปอุ้มกิจการ ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน และขาดรายได้ที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานในองค์กร เห็นได้จากการบินไทยเปิดธุรกิจบริการใหม่ๆ เช่น การขายปาท่องโก๋ ที่ได้รับความนิยมและขายหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โดยขายในราคาชุดละ 50 บาท มีจำหน่ายใน 7 สาขา ได้แก่ สีลม, ดอนเมือง, วิภาวดีรังสิต, ภูเก็ต, เชียงใหม่, หลานหลวง และตึกเอ็นโก้ ปตท. สำนักงานใหญ่ ปัจจุบันมียอดผลิตที่ 20,000 ตัวต่อวัน ยอดขายเดือนละ 10 ล้านบาท และมีเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 40,000 ตัวต่อวันเพื่อให้พอกับความต้องการ

นอกจากการขายปาท่องโก๋แล้ว การบินไทยยังเปิดครัวการบินไทยที่สำนักงานใหญ่ จำลองบรรยากาศเหมือนนั่งอยู่ในห้องโดยสาร การเปิดห้องจำลองการบินให้คนได้มีประสบการณ์ทดลองขับเครื่องบิน รวมถึงการเปิดให้เช่าเครื่องบิน จัดทัวร์สวดมนต์บนฟ้า บินวนไม่ลงจอด 99 วัด เป็นต้น

แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีสัญญาณบวก ว่าการบินไทยจะสามารถ ‘ฟื้นฟูกิจการ’ ได้หรือไม่ และจะฟื้นได้ในช่วงเวลาใด ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ อนาคตของสายการบินแห่งชาติ จึงยังคลุมเครืออยู่จนถึงทุกวันนี้

2.‘กราดยิงโคราช’ โศกนาฏกรรมสั่นสะเทือนจิตใจคนทั้งประเทศ กับคำถามสำคัญของจรรยาบรรณสื่อ และการทำงานที่หละหลวมของกองทัพบก

8 กุมภาพันธ์ 2563 ประเทศไทยต้องพบเหตุการณ์ใหญ่ที่สะเทือนขวัญผู้คนทั้งประเทศ เมื่อจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา อายุ 32 ปี นายทหารกองพันสรรพาวุธที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ก่อเหตุยิงผู้บังคับบัญชา พันเอกอนันต์ฐโรจน์ กระแส และนางอนงค์ มิตรจันทร์ แม่ภรรยาของพันเอกอนันต์ฐโรจน์ เสียชีวิต

ก่อนจะชิงอาวุธสงครามออกมาจากคลังอาวุธ ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ตำบลไชยมงคล และขับรถทหาร เข้าไปในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา มุ่งไปที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ที่มีผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันตามปกติช่วงวันหยุดยาว โดยหาไม่รู้ว่า วันแสนปกติธรรมดากำลังจะกลายเป็นวันที่ต้องจดจำไปตลอดชีวิต

ในวันนั้นสื่อมวลชนทุกสำนักต่างติดตามรายงานสถานการณ์ตลอดทั้งวัน รวมถึงประชาชนที่อัพเดตเหตุการณ์กันแทบตลอดเวลาในโซเชียลมีเดีย โดยหลังจาก จ่าสิบเอก จักรพันธ์ มาถึงห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ในช่วงเย็น ได้กราดยิงผู้คนตามรายทาง ยิงถังแก๊ส ทำให้เกิดระเบิด และเพลิงลุกไหม้นอกห้างฯ ก่อนจะเข้าไปภายในห้างฯ มีประชาชนบางส่วนสามารถหลบหนีออกมาได้ แต่หลายคนก็ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ภายในห้างฯ แห่งนั้น

ระหว่างที่สถานการณ์ยังคงไม่คลี่คลาย สื่อมวลชนและโลกโซเชียลมีเดียเริ่มมีการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับ จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ที่คาดว่าน่าจะเป็นชนวนที่ทำให้ก่อเหตุสะเทือนขวัญในครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องการทวงเงินค่านายหน้าค่าซื้อขายที่ดินกับผู้บังคับบัญชาแต่ตกลงกันไม่ได้ รวมถึงการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวของจ่าสิบเอก จักรพันธ์ ระหว่างก่อเหตุ เช่น “ร่ำรวยจากการโกง การเอาเปรียบคนอื่น มันคิดว่ามันจะเอาเงินไปใช้ในนรกหรือไง”, “เหนื่อยเหลือเกิน” หรือ “ยังไงก็หนีความตายไม่พ้นทุกคน” ก่อนที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส จะร่วมมือกับเฟซบุ๊ค ปิดกั้นและบล็อกเฟซบุ๊กของจ่าสิบเอก จักรพันธ์

ช่วงค่ำ เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจหลายหน่วย เช่น ผบ.ตร., ผบ.ทบ., ทีมหนุมานกองปราบ, หน่วยคอมมานโดมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 ได้เข้ามาตรึงกำลังหนาแน่นบริเวณห้างเทอร์มินอล 21 โคราช เพื่อวางแผนคลี่คลายสถานการณ์ และทยอยช่วยเหลือตัวประกันออกมาได้ แต่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย มีรายงานว่ามีประชาชนถูกยิงเสียชีวิตภายในห้างฯ

เหตุการณ์ดำเนินไปตลอดทั้งคืนอันแสนยาวนาน ในขณะที่ประชาชนต่างเฝ้ารอให้สถานการณ์คลี่คลาย เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด ในที่สุด ช่วงเช้าของวันถัดมา มีรายงานว่า จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ผู้ก่อเหตุ ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม แล้ว สรุป มีผู้เสียชีวิต 31 คน (รวมผู้ก่อเหตุ) และมีผู้บาดเจ็บ 57 คน กลายเป็นเหตุกราดยิงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ภายหลังเหตุการณ์ ได้มีการตั้งคำถามจากสังคมมากมาย ทั้งการทำงานของสื่อมวลชน ที่มีส่วนการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงความเหมาะสมของเนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ระหว่างเกิดเหตุ หรือฝั่งของกองทัพและรัฐบาล ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยคลังอาวุธของกองทัพที่เกิดความหละหลวม รวมถึงการตรวจสอบธุรกิจในค่ายทหาร อันเป็นสาเหตุหลักในการนำมาซึ่งข้อพิพาทระหว่างผู้ก่อเกิดเหตุกับผู้บังคับบัญชา ก่อนเป็นชนวนสำคัญให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

3.ม็อบ 14 ตุลาฯ และการชู 3 นิ้วใส่ขบวนเสด็จฯ

อีกข่าวที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มราษฎร คือเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมชู 3 นิ้วใส่ขบวนเสด็จพระราชดำเนิน บริเวณถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาล ก่อนข้ามสะพานชมัยมรุเชฐ มุ่งหน้าไปทางแยกนางเลิ้ง และทางด่วนยมราช เหตุการณ์ในครั้งนี้ส่งผลให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เวลา 08.00 น. คณะราษฎรได้ประกาศชุมนุมบริเวณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร ก่อนประกาศเคลื่อนพลไปยังทำเนียบรัฐบาล

เวลาประมาณ 16.50 กลุ่มผู้ชุมนุมถูกสกัดบริเวณแยกนางเลิ้ง และแกนนำอยู่ในระหว่างการขอเจรจาเพื่อให้เจ้าหน้าที่เปิดทางไปยังทำเนียบรัฐบาล ขณะเดียวกันมีกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันบริเวณถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อรอการเคลื่อนขบวน

ต่อมาในเวลาประมาณ 17.00 น. ขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ได้เคลื่อนขบวนผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม กลุ่มผู้ชมนุมคณะราษฎรจึงชูสัญลักษณ์ 3 นิ้ว พร้อมกับส่งเสียงโห่เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับ

หลังจากเหตุการณ์การชู 3 นิ้วใส่ขบวนเสด็จฯ ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ระบุเหตุผลว่า โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ภายหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายจับ ต่อนายเอกชัย หงส์กังวาน, นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนายสุรนาถ แป้นประเสริฐ นักกิจกรรมเพื่อเยาวชน ที่กระทำการไม่เหมาะสมต่อขบวนเสด็จฯ บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ในข้อหา ‘ร่วมกันพยายามกระทำการประทุษร้ายต่อเสรีภาพของพระราชีนี’ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือ เสรีภาพของพระราชินี รัชทายาทหรือต่อร่างกาย หรือเสรีภาพ ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวังโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือ จำคุกตั้งแต่ 16-20 ปี วรรคสองผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

4.‘นักเรียนเลว’ กับการต่อต้านอำนาจเผด็จการในรั้วโรงเรียน

ปี 2563 ถือเป็นปีแห่งการเรียกร้อง ไม่เว้นแม้แต่ในแวดวงของ ‘การศึกษา’ ที่เหล่านักเรียน นักศึกษา ได้ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจเผด็จการในโครงสร้างสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน และครู โดยแกนนำนักเรียนที่จัดตั้งเพื่อนักเรียนในชื่อ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’

กลุ่มนักเรียนเลว ถูกพูดถึงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ผ่านการเรียกร้องทางโซเชียลมีเดีย ด้วยการติดแฮ็ชแท็ก แสดงข้อเรียกร้องของนักเรียนมาเป็นระยะ เช่น #เลิกบังคับหรือจับตัด ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องกฎเกณฑ์การไว้ทรงผม ซึ่งกลุ่มเยาวชน ต่างก็มองว่าการเลือกทรงผมให้กับตัวเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานบนร่างกายของตัวเอง หรือ #เราไม่ใช่ตัวประหลาด แฮชแท็กนี้ได้แสดงถึงข้อเรียกร้องจากกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเรื่องเพศในสถาบันการศึกษา

จากการเรียกร้องของกลุ่มนักเรียน เพื่อนักเรียนสู่การเคลื่อนไหวทางการเมือง กลุ่มนักเรียนเลวได้ออกมาร่วมกิจกรรม ‘วิ่งแฮมทาโร่’ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ระหว่างที่กระแสข้อเรียกร้องของเยาวชนต่อสถาบันการศึกษาระอุขึ้นเป็นระยะ สังคมก็ได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในรั้วโรงเรียนครั้งใหญ่กับคดี ‘โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์’ หรือ ‘คดีครูจุ๋ม’ ที่เด็กนักเรียนอนุบาลหลายรายถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างหนัก แต่ครั้งนี้เด็กนักเรียนกลับไม่สามารถเรียกร้องเองได้ด้วยอายุและวุฒิภาวะ เหตุการณ์นี้ยิ่งย้ำให้เห็นว่า กลุ่มนักเรียนเลวไม่ใช่เพียงการตั้งขึ้นมาด้วยความคะนึกคะนอง เพราะในรั้วโรงเรียนมีการใช้ความรุนแรงอยู่จริง

ไฮไลต์สำคัญของการชุมนุมของกลุ่มนักเรียนเลวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน หน้ากระทรวงศึกษาธิการ กับกิจกรรมการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า ‘หนูรู้หนูมันเลว’ เป็นการยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ต่อ ณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมส่งตัวแทนดีเบทจิกกัดรัฐมนตรีท่านนี้ได้อย่างเจ็บแสบถึงการบริหารงานอันล้มเหลว ปิดท้ายด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการผูกโบว์ขาวบริเวณรั้วกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งภายหลังโบว์ขาวได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องจากกลุ่มเยาวชนไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักเรียนเลว ยังคงจัดการชุมนุมเรียกร้องต่อระบบกฎเกณฑ์โครงสร้างการศึกษาที่กดทับเยาวชนอยู่เป็นระยะ ล่าสุดกับประเด็นถกเถียงเรื่องชุดนักเรียน สิ่งนี้เองเป็นเรื่องที่สังคมต้องให้การจับตามอง พร้อมตั้งคำถามตามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่การศึกษาไทยต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เสียที

 

5.ถอนฟ้อง ‘วรยุทธ อยู่วิทยา’ สาวไส้กระบวนการยุติธรรมไทย

ชื่อของ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทบริษัทเครื่องดื่มกระทิงแดง กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง แม้เจ้าตัวจะเดินทางไปต่างประเทศนานหลายปี เพื่อหลบหนีคดี ไม่ขึ้นศาล ในคดีขับรถเฟอร์รารีชนมอเตอร์ไซค์ของดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้บังคับหมู่งานปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555

18 มิถุนายนที่ผ่านมา ชื่อของวรยุทธกลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้เอกสาร ‘หลุด’ มาว่า อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องวรยุทธ ทุกข้อกล่าวหา โดยพันตำรวจโทธนาวุฒิ สงวนสุข รักษาการผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ระบุว่าตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง และได้ถอนหมายจับ ในคดีขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี จำคุกไม่เกิน 10 ปี เรียบร้อย ส่งผลให้วรยุทธสามารถกลับประเทศไทยได้ตามปกติ

นั่นทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เพราะเหตุใดคดีนี้จึงไม่สามารถไปถึงชั้นศาลได้ ทั้งที่มีหลักฐานมัดตัวว่าวรยุทธเป็นผู้ขับขี่รถเฟอร์รารี และวรยุทธเป็นผู้ขับชนดาบตำรวจวิเชียรด้วยความเร็วสูง พร้อมกับลากรถมอเตอร์ไซค์ไปอีกหลายร้อยเมตร

ทั้งหมดนี้ จึงตามมาด้วยการเปิดหลักฐานที่ทำให้สังคมตกตะลึงว่า มีความพยายาม ‘บิด’ กระบวนการยุติธรรมอยู่หลายขั้น เริ่มตั้งแต่การมี พยานใหม่ 2 ราย ที่หักล้างพยานเดิม โดยระบุว่าความเร็วของรถเฟอร์รารีอยู่ที่ราว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างที่มีการคำนวณก่อนหน้านี้

เรื่องยังไม่ชอบมาพากลเข้าไปอีก เมื่อ จารุชาติ มาดทอง หนึ่งในพยานเสียชีวิตกะทันหัน หลังเป็นข่าวไม่นาน จากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มที่จังหวัดเชียงใหม่ และพยานรายดังกล่าว ก็ทำงานกับเจ้าของทีมฟุตบอล ผู้ใกล้ชิดกับวรยุทธ ขณะเดียวกัน ตำรวจที่ทำคดีก็ให้การอย่างน่าฉงนว่า เหตุที่ไม่บรรจุเรื่องเสพสารเสพติดขณะขับรถในสำนวนของวรยุทธ เป็นเพราะมีหมอฟันให้การว่าโคเคนมาจากการทำทันตกรรม

ในที่สุดก็มีการ ‘รื้อ’ กระบวนการทำคดีทั้งหมด จนพบว่ามีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การส่งเรื่องของวรยุทธเข้าไปในกรรมาธิการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สอบพยานเพิ่ม และส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด จนนำไปสู่การสืบพยานใหม่ กระทั่งนำไปสู่คำสั่ง ‘ไม่ฟ้อง’

13 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่ง วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นประธาน พบข้อบกพร่องอย่างน้อย 4 ประการในสำนวนที่ตำรวจส่งให้อัยการ จึงเสนออัยการให้รื้อคดีใหม่ ในที่สุด ศาลอาญากรุงเทพใต้ อนุมัติออกหมายจับวรยุทธ อยู่วิทยา 3 ข้อหา ได้แก่ ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายหรือแจ้งเจ้าหน้าที่ และเสพยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 โดยมีอายุความ 15 ปี ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม พร้อมๆ กันนี้ วิชา ยังส่งรายงาน ‘ข้อบกพร่อง’ ของทั้งตำรวจ และอัยการตรงถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

หลังจากผ่านมา 4 เดือน แม้สังคมจะรู้ถึงกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า และความพยายามบิดข้อกฎหมาย แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า ‘ใคร’ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความปั่นป่วนเหล่านี้

6.แบน ‘Pornhub’ เมื่อรัฐบาลปิดกั้นเสรีภาพในการเสพสื่อ

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สั่งปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ พอร์นฮับ (Pornhub) เว็บไซต์สำหรับผู้ใหญ่ชื่อดัง พร้อมกับเว็บไซต์ผู้ใหญ่อื่นๆ กว่า 190 URLs ในประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยที่สร้างความงุนงงสงสัยแก่ชาวไทยเป็นอย่างมาก

ตัวเลขทางสถิติเกี่ยวกับพอร์นฮับ ได้บอกเราว่า ในปี 2019 นั้น ชาวไทยเป็นผู้ครองแชมป์ในการเข้าชมเว็บไซต์ผู้ใหญ่จากการเก็บข้อมูลการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ดังกล่าวของคนทั่วโลก เฉลี่ย 11 นาที กับอีก 21 วินาที ต่อการเข้าเว็บไซต์ 1 ครั้ง โดยที่ชาวไทยอายุ 25 – 34 ปี เข้าใช้งานมากที่สุด

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ หญิงไทยติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชียในปี 2020 ในการเยี่ยมชมเว็บไซต์ดังกล่าว เป็นเครื่องบ่งบอกว่า ในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่ผู้ชายเท่านั้นที่ให้ความสนใจกับการรับชม ‘ภาพยนต์สำหรับผู้ใหญ่’ เพียงเท่านั้น ซึ่งอาจเป็นเพราะสภาพสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นทำให้การดูหนังผู้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติสำหรับผู้หญิงอีกต่อไป

จึงเป็นที่น่าแปลกใจกับการแบนเว็บไซต์พอร์นฮับของประเทศไทยในปี 2020 ที่การแสดงออกเรื่องเพศ ไม่ใช่เรื่องแปลก หรือเป็นเรื่องต้องห้ามอีกต่อไป อีกทั้งในปัจจุบันอุตสาหกรรมเกี่ยวกับภาพยนต์ผู้ใหญ่มีแนวโน้มการเติบโตที่สูงมาก จนทำให้เกิดอาชีพที่เรียกว่า Pornhubber หรือผู้ที่ทำคอนเทนต์ลงในเว็บไซต์พอร์นฮับ เพื่อสร้างรายได้อีกด้วย และมีชาวไทยไม่น้อยที่ทำรายได้จากการเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ของเว็บไซต์ผู้ใหญ่ขวัญใจชาวไทย

แต่ภายใต้กระแสการต่อต้านการเซนเซอร์เว็บไซต์ลามกดังกล่าวของรัฐ ก็มีผู้คนที่เห็นด้วยกับการแบน พอร์นฮับ อยู่ด้วย อย่าง โบว์-ณัฏฐา มหัทธนา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ให้เหตุผลว่าเว็บไซต์ผู้ใหญ่ดังกล่าวนั้น เป็นศูนย์รวมของอาชญากรรมทางเพศออนไลน์ ที่ละเมิดทั้งสิทธิมนุษยชน และสิทธิเด็ก และระบบของเว็บไซต์นั้นเอื้อให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลเนื่องจากระบบไม่สามารถตามตัวผู้กระทำตามผิดได้ โบว์ ณัฏฐายังกล่าวเพิ่มเติมว่า เธอเองนั้นก็เป็นเหยื่อของเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐพยายามที่จะปิดกั้นการมองเห็นของเว็บไซต์ดังกล่าวนั้น เป็นการเซ็นเซอร์สื่อในยุคที่อินเตอร์เน็ต และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลนั้นเอื้อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง

ดังนั้น การที่รัฐปิดกั้นตัวเลือกในการเลือกของประชาชนนั้น เป็นตัวเลือกที่ถูกต้องแล้วจริงๆ หรือ ในยุคที่ประชาชนไม่ได้เป็นเพียง ‘ผู้รับ’ เพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นยุคที่พวกเขาเป็น ‘ผู้เลือก’ การแบนพอร์นฮับในประเทศไทยจึงควรเป็นสิทธิของ ‘ผู้เลือก’ ที่เลือกว่าเขาต้องการ หรือไม่ต้องการอะไร ไม่ใช่มีผู้มาเลือกแทนพวกเขา สภาพของสังคมควรจะเป็นตัวบอกว่าอะไรที่ควรทำ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มหนึ่งที่จะมาปิดกั้นช่องทางของประชาชน

7.เปิดเบื้องหลัง ‘มูลนิธิป่ารอยต่อ’ ผูกโยงการเมือง ชาวเน็ตร่วมแบนเครือข่ายทุนที่บริจาคเงินให้มูลนิธิฯ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาของ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ในประเด็น ‘มูลนิธิป่ารอยต่อ’ เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อสังคม ไม่เพียงแค่ทำให้คนทั่วไปรู้ว่ามูลนิธินี้มีอยู่ แต่ยังทำให้เห็น ‘ความเชื่อมโยง’ ทางการเมืองกับกลุ่มทุน จนมีกระแสการแบนสินค้าและบริการของบริษัทที่บริจาคเงินให้มูลนิธิป่ารอยต่อตามมา

มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด หรือมูลนิธิป่ารอยต่อ ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 โดยมีภารกิจหลักเพื่อดูแลผืนป่า แต่รังสิมันต์ตั้งคำถามว่าภารกิจลับของมูลนิธิฯ อาจเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ที่เชื่อมระหว่างกองทัพกับกลุ่มทุนใหญ่ เนื่องจากมีตัวละครสำคัญทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐวิสาหกิจ และนายทุนจำนวนมากเข้ามาเกี่ยวข้อง ภายใต้การนั่งตำแหน่งประธานกรรมการของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายทหารอีก 19 นายร่วมเป็นกรรมการ หนึ่งในนั้นคือ พลโท อนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดรายชื่อรัฐวิสาหกิจและบริษัทที่มีการบริจาคเงินเข้าสู่มูลนิธิ เพื่อชี้ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์บางอย่างที่เกื้อผลประโยชน์ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘ต้าถัง’ รัฐวิสาหกิจด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ถือหุ้นในโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าในประเทศลาว หรือ ‘ไทยเบฟ’ ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบันบริจาคเงินให้กับมูลนิธิรวม 21,500,000 ล้านบาท ซึ่งประธานคณะกรรมการบริหารของไทยเบฟยังเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของมูลนิธิฯ ด้วย รวมถึงบริษัทอื่นๆ อีกมากมายที่บริจาคเงินให้มูลนิธิ เช่น ซีพี,คิงพาวเวอร์, กฟภ., Gulf, EGCO.ม ธนาคารออมสิน, ปตท., DoubleA, ACE ฯลฯ

หลังการอภิปรายนี้จบลงชาวเน็ตจำนวนหนึ่งร่วมกันทำชาเลนจ์แบนสินค้าที่เกี่ยวข้อง ด้วยการงดเข้า 7-11 ทุกวันพุธ แล้วหันมาสนับสนุนร้านโชห่วย ทั้งยังมีการลิสต์รายชื่อแบรนด์ต่างๆ ที่สามารถใช้บริการแทนได้

อาจกล่าวได้ว่า กระแสการแบนสินค้าหรือบริการที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นเริ่มจุดประกายครั้งใหญ่ในเหตุการณ์นี้ เพราะหลังจากนั้นก็มีการแบนสปอนเซอร์ของช่องข่าวของเนชั่นทีวี เพื่อต่อต้านการรายงานข่าวที่บิดเบือน ไปจนกระทั่งแบนบุคคลที่พวกเขามองว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

8.ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี ‘ธนาธร’ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท

หลังศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไทยวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากกรณีที่พรรครับเงินจำนวน 191 ล้านบาทในรูปเงินกู้จาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็นการละเมิดมาตรา 66 และ 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อีกทั้งยังตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 16 คน ทำให้ไม่สามารถลงเลือกตั้งได้เป็นเวลา 10 ปี

เหตุการณ์ดังกล่าวคือ ตัวอย่างที่อธิบายการปกครองในไทยได้อย่างชัดเจนว่า อำนาจทางการเมืองในประเทศตอนนี้ตกอยู่ในมือชนชั้นนำเพียงไม่กี่คน และหากผู้ใดก็ตามที่สั่นคลอนสถานะนี้ย่อมต้องถูกลงทัณฑ์ แม้ว่าจะมีสถานะเป็นพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกโดยประชาชนก็ตาม

คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแม้แต่น้อย ไม่ได้ใกล้เคียงกับคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประกาศไว้เมื่อคราวยึดอำนาจปี 2557 ว่าจะเข้ามาสร้างความปรองดองแต่อย่างใด

เพราะผลกระทบทางการเมืองที่ตามมาคือ คนรุ่นใหม่ผู้หมดความหวังกับการต่อสู้ในระบอบรัฐสภา ได้ยอมเสียเสียสละต้นทุนทางสังคมสูงจำนวนอย่างมหาศาล ออกมาเดินบนถนนอย่างพร้อมเพรียงในรูปแบบของไฮด์ปาร์คในหลากหลายมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็นม็อบขนาดใหญ่ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่ คือหนึ่งชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เพราะพวกเขาต่างเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า การต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเขย่าระบบอำนาจที่ฝังรากและกัดกินชีวิตของพวกเขาอยู่ในทุกคืนวัน

9.เหตุการณ์สลายการชุมนุมในประเทศไทย

ปี 2563 ถือเป็นปีที่การเมืองไทยร้อนระอุกว่าปีก่อนหน้า มวลชนจำนวนมากตัดสินใจจัดการชุมนุมอย่างจริงจังโดยเริ่มจากวันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นมา ก่อนจะเกิดการชุมนุมต่อเนื่องหลายครั้ง ทั้งปักหลักและเดินเท้าไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ บางครั้งการชุมนุมก็เป็นไปอย่างราบรื่น และหลายครั้งก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น

ในวันที่ 14 ตุลาคม การชุมนุมครั้งใหญ่ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง เริ่มต้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยแกนนำและผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะราษฎร’ ก่อนร่วมเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาลและปักหลักค้างคืน และในที่สุดก็โดนสลายการชุมนุมในช่วงตีสี่ของวันที่ 15 ตุลาคม

เหตุการณ์ชุลมุนช่วงเช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม เกิดขึ้นตามการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่คุมฝูงชนพร้อมโล่ กระบอง หมวกกันกระสุน และรถฉีดน้ำแรงดันสูง เคลื่อนพลประชิดผู้ชุมนุมที่ปักหลักก่อนเข้าสลายการชุมนุมพร้อมจับกุมแกนนำหลายคน อาทิ อานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ ก่อนจะตามไปจับ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และณัฐชนน ไพโรจน์ ในที่พักย่านถนนข้าวสาร

ต่อมาวันที่ 16 ตุลาคม หลังจากแกนนำคณะราษฎรนัดหมายมวลชนบริเวณสี่แยกราชประสงค์ในเวลา 4 โมงเย็น แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตั้งแต่สกัดปิดทางเข้า-ออก พื้นที่ดังกล่าว ผู้ชุมนุมจึงย้ายไปยังสถานที่ใหม่ด้วยการติดแฮชแท็ก #16ตุลาไปแยกปทุมวัน โดยประกาศไม่กี่ชั่วโมงก่อนถึงเวลานัดหมาย

การชุมนุมช่วงแรกดำเนินไปได้ด้วยดี ก่อนเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนพร้อมอุปกรณ์ครบมือ รวมถึงรถฉีดน้ำแรงดันสูงจะเคลื่อนตัวมาจากฝั่งสยามพารากอน และฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ โดยที่ยังมีเยาวชนจำนวนมากกับผู้สูงอายุอยู่ในพื้นที่ หลังยื้อยุดกันอยู่นานกว่าชั่วโมง แกนนำตัดสินใจประกาศสลายการชุมนุมและต้อนประชาชนไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้มวลชนปะทะกับเจ้าหน้าที่ และยืนยันว่า “การถอยร่นครั้งนี้ไม่ใช่การยอมแพ้”

ถัดมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ณ สี่แยกเกียกกาย และบริเวณรอบอาคารรัฐสภา เป็นเวลากว่า 7 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงกลางดึก เริ่มต้นจากการ์ดคณะราษฎรที่มารอฟังผลให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ (iLaw) พยายามแก้รั้วแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา เจ้าหน้าที่จึงฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีใส่ พร้อมประกาศออกลำโพงว่าหากไม่หยุดรื้อแนวกั้นจะใช้แก๊สน้ำตากับกระสุนยาง ซึ่งทางผู้ชุมนุมยังคงยืนยันจะปักหลักต่อ จนทำให้ถูกยิงน้ำแรงดันสูงรวมถึงยิงแก๊สน้ำตาใส่หลายระลอก

นอกจากการรับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรยังต้องรับมือกับกลุ่มคนสวมเสื้อเหลืองที่มาปักหลักในบริเวณเดียวกันอีกด้วย นำโดยกลุ่มไทยภักดี ที่เดินทางมาเพราะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดการปะทะอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกเกียกกายช่วงห้าโมงเย็น ทั้งสองฝ่ายต่างขว้างปาสิ่งของใส่กัน มีรายงานว่ากลุ่มคนเสื้อสีเหลืองถือไม้หน้าสามและเริ่มปาก้อนหินใส่ผู้ชุมนุมคณะราษฎร ก่อนเกิดการปะทะกันอีกครั้งในช่วงเวลาสองทุ่ม พร้อมกับเสียงปืนที่ดังขึ้น เหตุการณ์ในวันดังกล่าวส่งให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 41 ราย

เหตุการณ์วันที่ 17 พฤศจิกายน ส่งผลให้ ‘เป็ดยาง’ กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยของคณะราษฎร เนื่องจากระหว่างถูกยิงน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตา ผู้ชุมนุมได้ใช้เป็ดยางตัวใหญ่เป็นโล่กำบังจากน้ำ แก๊สน้ำตา และก้อนหินที่ฝั่งคนเสื้อเหลืองขว้างปาใส่

10.สนามมวยลุมพินี Super Spreader และโควิด-19 ที่ยังไม่จบ..

อีกข่าวที่สร้างความตื่นตระหนกที่สุดในช่วงสภาวะไวรัสโควิด-19 ระบาด ก็คือเหตุการณ์ ‘คลัสเตอร์’ ใหญ่ที่สนามมวยลุมพินี ทำให้มีผู้คนกว่า 2,500 ชีวิต ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีจำนวนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในเวลานั้น

จุดเริ่มต้นของความโกลาหลนี้เริ่มจาก ในวันที่ 6 มีนาคม 2563 มีการจัดการแข่งขันมวยที่สนามมวยเวทีลุมพินี ถนนรามอินทรา เป็นการแข่งขันขนาดใหญ่ มีการจัดคู่มวยขึ้นชก 11 คู่ และแจกรถยนต์ 3 คัน ทำให้มีผู้สนใจเข้าร่วมชมรายการนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยมี พลตรี ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ทำหน้าที่เป็นนายสนามมวยอีกด้วย

ต่อมาในวันที่ 13 มีนาคม นายแมทธิว ดีน นักร้องนักแสดงชื่อดัง ออกมาประกาศผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเองว่าติดเชื้อโควิด-19 จากการสอบสวนพบว่าติดมาจากสนามมวยลุมพินี ที่เขาไปทำหน้าที่พิธีกร นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชมมวยจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้การระบาดกระจายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และในจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วันหลังจากวันแข่งขัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการแพร่กระจายนี้ก็คือ นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา หรือ นายก อบจ.ไก่ ที่ได้เข้าไปร่วมชมการแข่งขันมวยครั้งนี้ด้วย จนทำให้ชาวฉะเชิงเทรามีอาการหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากการชมมวยในวันที่ 6 มีนาคม นายก อบจ.ไก่ ได้เดินทางไปเป็นประธานงานต่างๆ มากถึง 19 งาน ไม่ว่าจะเป็นงานสังคม งานอุปสมบท หรืองานแต่งงาน ที่ล้วนแต่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากทั้งสิ้น

เหตุการณ์การระบาดแบบคลัสเตอร์ หรือแบบกลุ่มก้อนใหญ่ที่สนามมวยเวทีลุมพินี ถนนรามอินทรา ถือเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญในการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศ ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความรับผิดชอบของกองทัพบกที่บอกให้ประชาชน “การ์ดอย่าตก” ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อ แต่ตัวเองกลับการ์ดตกเสียเอง เพราะว่ากองทัพบกนั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลสนามมวยดังกล่าว แต่กลับอนุญาตให้จัดการแข่งขันทั้งๆ ทั้งที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็ส่งหนังสือแจ้งขอให้พิจารณาเว้นการจัดกิจกรรม เพื่อป้องกันการระบาดของโรคแล้ว

หลังจากนั้นเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ทาง พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งปลดคณะกรรมการสนามมวยทั้งหมด เพื่อเป็นการลงโทษถึงความบกพร่องในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่ง พลตรีราชิต ในฐานะนายสนามมวย ที่ติดเชื้อก็ไม่รอด โดนลงโทษด้วยเช่นกัน

การระบาดของโควิด-19 ที่ดูจะเป็น ‘ฝันร้าย’ สำหรับคนไทย ดูเหมือนจะจบ แต่ก็ยังไม่จบ เดือนพฤศจิกายน ไทยพบกับ ‘สัญญาณเตือน’ จากผู้ติดเชื้อใหม่ เป็นชาวไทยที่หลบหนีเข้าเมืองจากโรงแรม 1G1 จากจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า สร้างความปั่นป่วนให้กับการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะเจอ ‘ของจริง’ จากการพบ ‘คลัสเตอร์’ การระบาดใหญ่ จากแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม วันเดียวกว่า 567 คน

ไม่จบเพียงแค่นั้น ตลอดช่วงปลายเดือนธันวาคม ยังพบการระบาดใหญ่จากบ่อนการพนันในจังหวัดระยอง ร้านอาหารในกรุงเทพมหานคร จนโควิด-19 กระจายไปทั่วประเทศ กลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่ ‘ข้ามปี’ และยังไม่เห็นจุดจบง่ายๆ จนกว่า ‘วัคซีน’ จะมาถึงในอีกหลายเดือนข้างหน้า..

Tags: , , , , , ,