ผลพวงที่คาดไม่ถึงของกฎหมายที่มาจากฐานคิดทางศีลธรรมล้วนๆ อย่างการห้ามจำหน่ายสุรา นั่นคือ วัฒนธรรมอาหารถูกทำลายไปอย่างยากจะกอบกู้

ถ้าใครเรียนประวัติศาสตร์มาบ้าง คงจำได้ว่าหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของโคลัมบัสในการเดินเรือไปพิชิตอเมริกาคือ การที่เขาขนไวน์ไปกับเรือของเขาในปริมาณมหาศาล ไม่ใช่เพราะโคลัมบัสจน หรือเครียด แต่ในยุคนั้นที่คนยังไม่รู้จักแบคทีเรียในน้ำเปล่า สิ่งที่พวกเขาเจอคือกินน้ำเปล่าแล้วเป็นอหิวาต์ เป็นโรคบิด แล้วก็ล้มหายตายจากกันแทบจะยกเมือง ยกหมู่บ้าน และอย่าลืมว่าในยุโรปสมัยนั้น การอึ ฉี่ ปล่อยของเสียจากบ้านเรือนก็ปล่อยลงสู่ถนน แล้วลงสู่แม่น้ำลำคลองนั่นแหละ ทำให้น้ำเต็มไปด้วยเชื้อโรค เมื่อเป็นเช่นนั้น เครื่องดื่มที่คนสมัยก่อนดื่มกันจึงไม่ใช่ ‘น้ำสะอาด’ แต่เป็นบรรดาน้ำหมักจากข้าว จากองุ่น จากผลไม้ต่างๆ หรือไซเดอร์ เอล ที่ผ่านกระบวนการหมักบ่มจนเกิดความเป็นกรดอ่อนๆ เป็นแอลกอฮอล์ หรือเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ‘สุรา’ ในปัจจุบัน

ดังนั้นเราจึงต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า คนสมัยโบราณดื่มเหล้ามากกว่าคนในสมัยปัจจุบันมาก ไม่เพียงดื่มเหล้าแล้วไม่เป็นอหิวาต์ การดื่มเหล้ายังทำให้พวกเขากระปรี้กระเปร่า สดชื่น หรือสามารถติดต่อกับภูติ ผี ปีศาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ (จริงๆ แล้วคือ เมา)

ในอเมริกา แม้ล่วงมาถึงยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษก็ยังปฏิบัติต่อเบียร์และเอลในฐานะที่เป็น ‘อาหาร’ และไม่ดื่มน้ำเปล่า เพราะทำให้ท้องเสีย

จากสถิติ ปี 2015 คนอเมริกันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 7.5 ลิตร แต่ในยุคที่ยังเป็นอาณานิคมดื่มเฉลี่ยปีละ 26.5 ลิตร!!!

เหล้ามีบทบาทกับการสร้างชาติอเมริกาอีกครั้ง หลังจากที่เป็นเสบียงของโคลัมบัส ทั้งนี้ก็เนื่องจากการที่อังกฤษไปแพ้สงคราม 7 ปีต่อฝรั่งเศส ก็เกิดการ ‘ร้อนเงิน’ ขึ้น หันซ้าย หันขวา คิดอะไรไม่ออก ก็รีดภาษีจากอาณานิคมนี่แหละวะ ตั้งแต่ภาษีน้ำตาล หนังสือพิมพ์ ชา และเหล้า – โอ๊ยยยย ภาษีอย่างอื่นยังพอทน แต่พอเก็บภาษีเหล้ากับน้ำตาลนี่แหละที่เป็นเรื่อง เพราะอ้อยจากแคริบเบียนนี่ก็เอามาทำรัม  เชื่อไหมว่า ภาษีเหล้า น้ำตาล นี่เอง ที่ลากเรื่องราวไปใหญ่โต กลายเป็นข้ออ้างที่จะต้องสู้เพื่อเป็น ‘ไท’ จากเมืองแม่ที่เอะอะก็มารีดภาษี

จอห์น แฮนค็อก (John Hancock) หนึ่งในคณะกู้ชาติอเมริกานั่นเคยเอาเรือชื่อ Liberty (แสบปะล่ะ) ขนเหล้าหนีภาษีมาเทียบท่าบอสตัน แล้วถูกจับข้อหาขนเหล้าเถื่อนในปี 1768 ขนมาไม่มากไม่น้อย แค่รัม กับ Madeira (ไวน์ผสมรัม) 100,000 แกลลอน เท่านั้นเอง งานนี้จงใจขนเย้ยหยันอำนารัฐบริติช และถือโอกาสนี้ก่อกบฏเสียเลย ด้วยการไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ที่เมื่อเทียบเป็นเงินในปัจจุบันแล้วก็แค่ 7 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น และเขาก็เอามาคุยโม้โอ้อวดภายหลังอย่างภูมิใจ

แต่เมื่อก่อร่างสร้างชาติสำเร็จแล้ว ล่วงมาถึงศตวรรษที่ 20 แม้จะมีน้ำสะอาดดื่ม ท้องไม่เสียอีกต่อไป แต่อเมริกันชนก็คงเอ็นจอยการดื่มสุราจน จอร์จ วอชิงตัน สมัยเป็นประธานาธิบดีใช้เงินร้อยละ 7 ของรายได้ไปกับการดื่มเหล้า เมื่อเกษียณแล้ว ยังคงอุตส่าห์มาตั้งโรงงานวิสกี้ ปี 1799 ที่เขาตายนั้น โรงงานเขาผลิตเหล้าออกมาได้ถึง 11,000 แกลลอน

ในช่วงทศวรรษที่ 1920 เป็นยุคทองของการก่อตั้งโรงงานวิสกี้ในอเมริกา

แต่…

คนสมัยโบราณดื่มเหล้ามากกว่าคนในสมัยปัจจุบันมาก ไม่เพียงดื่มเหล้าแล้วไม่เป็นอหิวาต์ การดื่มเหล้ายังทำให้พวกเขากระปรี้กระเปร่า สดชื่น

มีกลุ่ม ‘คนดี’ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวว่าไม่ได้การแล้ว ประชาชนอเมริกันทำไมเลอะเทอะ เหลวไหล ดื่มเหล้า ไม่ทำการทำงาน ไม่รับผิดชอบครอบครัว หันเหออกไปจากพระเจ้า มั่วสุมกันไปตามซาลูน ที่มีพวกลูกน้องนักการเมืองท้องถิ่น หรือเจ้าพ่อ  คุม แล้วก็กินเหล้า ซ่องสุมกันทำความชั่ว ก่ออาชญากรรม บรรดาคนงานที่ยากจน ค่าแรงน้อยได้เงินมาแทนที่จะเอาไปให้ลูกเมียก็แวะกินเหล้าเสียครึ่งหนึ่ง ต่างๆ นานาเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ คนดีก็โจมตีเหล้าและการดื่มเหล้าจนกลายเป็นขบวนการภาคประชาสังคม อันประกอบไปด้วย Woman’s Christian Temperance Union (1847), Prohibition Party, Anti Saloon League (1893) ตัวตั้งตัวตีที่แอ็กทีฟที่สุดคือ กลุ่มต่อต้านซาลูนนี่แหละ เพราะมีประเด็นโจมตีว่าเป็นที่ซ่องสุมของหัวคะแนนนักเลง เต็มไปด้วยความเสื่อมทางศีลธรรม เป็นตัวแพร่กระจายความเสื่อมสาขาอื่น เช่น กิจการซ่อง โสเภณี พูดง่ายๆ คือพวกนี้เห็นว่าคนเรากินเหล้าก็สามารถทำความชั่วสาขาอื่นได้ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่น ไปตีกะหรี่ต่อ หลังจากนั้นก็มีแคมเปญทางสังคมว่า ‘Make the Whole Country Dry’ – มาทำประเทศให้แห้งผากกันเถอะ (ขอแอบฮา)

งานนี้ ‘สื่อ’ มีบทบาทมากในการชี้ให้เห็นถึงโทษของการดื่มเหล้า กลุ่มคนที่สนับสนุนแคมเปญนี้ โดยมากเป็นชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในย่านชานเมือง เป็นโปรเตสแตนต์ ไปโบสถ์สม่ำเสมอ – พูดง่ายๆ คือเป็นกลุ่ม ‘คนดี’ ชีวิตใสๆ ครอบครัวอบอุ่น มีศีลธรรม จริยธรรม งดงามไปหมด คนกลุ่มนี้เห็นว่าเหล้าคือที่มาของปัญหาสังคม ความยากจนทำให้ครอบครัวแตกแยก ไม่อบอุ่น นายทุนอย่าง เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ก็สนับสนุนแคมเปญนี้เต็มที่ เขาบอกว่าที่บรรดา ‘คนงาน’ ในโรงงานของเขาลืมตาอ้าปากไม่ได้สักทีก็เพราะกินเหล้านี่แหละ ถ้าเลิกเหล้า ก็จะทำงานดีขึ้น (ลึกๆ เขาคงอยากได้คนงานที่ขยันๆ มาผลิตรถยนต์ให้เขาแบบไม่ขาดตกบกพร่อง)

แล้วก็ไม่รู้อะไรจะบังเอิญขนาดนั้น ในปี 1917 อเมริกาก็ประกาศสงครามกับเยอรมัน แล้วเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับเหล้าและแอลกอฮอล์? เรื่องก็คือว่า บรรดาโรงงานเบียร์ทั้งหลายในอเมริกาที่ตั้งขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 ล้วนแต่ตั้งขึ้นมาโดยผู้อพยพชาวเยอรมันล้วน แถมตั้งชื่อโรงงาน ชื่อยี่ห้อเป็นภาษาเยอรมันอีก พอประกาศสงคราม อาการ ‘ต่อต้านเยอรมัน’ ก็ลามปามมาถึงเหล้าถึงเบียร์ของคนเยอรมันได้อีก เรื่องนี้ก็ไปเข้าทางพวกอยากให้อเมริกา ‘แห้งทั้งแผ่นดิน’ ที่ประกาศสงครามกับสุรายาเมาอย่างต่อเนื่อง

กฎหมายห้ามจำหน่ายสุราเริ่มที่รัฐแคนซัสในปี 1881 รัฐแคลิฟอร์เนีย 1914 เมืองในรัฐคอนเนตทิคัตในปี 1908 ครึ่งหนึ่งห้ามจำหน่ายสุรา หลังจากนั้นแต่ละรัฐ แต่ละเมืองก็ทยอยกันออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุรา จนบรรลุผลเบ็ดเสร็จในปี 1920

ถามว่ามีข้อดีไหมที่พากันแห้งไปทั้งแผ่นดิน คำตอบคือดี (มั้ง) สถิติอาชญากรรมลดลงบ้าง เริ่มมีครอบครัวแบบที่พ่อบ้านพาเมียพาลูกไปปิกนิกวันเสาร์- อาทิตย์ แทนการไปมั่วสุมในซาลูน แต่ขณะเดียวกันก็มีสิ่งเจ๊งกระบ๊งตามมามากเช่นกัน ที่ไปก่อนเพื่อนคือธุรกิจการผลิตวิสกี้ทั้งหลายทั้งปวง และการผุดขึ้นของขบวนการผลิตเหล้าเถื่อนดีกรีสูง หรือที่เรียกันว่า Moonshine

แต่หายนะที่เป็น by product ของอาการคลั่งศีลธรรมที่คนคาดไม่ถึง หายนะที่เกิดแก่วัฒนธรรมอาหารของอเมริกันก่อนการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุรา  อาหารอเมริกัน ไม่ได้ ‘แห้งแล้ง’ อย่างทุกวันนี้

ไทเลอร์ โคเวน (Tyler Cowen) ผู้เขียนหนังสือ เศรษฐศาสตร์นักกิน
บอกว่า กฎหมายการห้ามจำหน่ายสุราคือ
“การสังหารหมู่ศิลปะการกินดื่มอย่างมีรสนิยม”

ไทเลอร์ โคเวน (Tyler Cowen) ผู้เขียนหนังสือ เศรษฐศาสตร์นักกิน  บอกว่า กฎหมายการห้ามจำหน่ายสุราคือ “การสังหารหมู่ศิลปะการกินดื่มอย่างมีรสนิยม” นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษให้ความเห็นว่า นี่คือ “การลอบสังหารความสุขและเสน่ห์ของการรับประทานอาหารชั้นดีอย่างไม่เลือกหน้า” หนังสือพิมพ์ The Saturday Evening Post ลงความเห็นว่า ศิลปะการกินของอเมริกาถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าร้านอาหารส่วนมากทำกำไรจากเครื่องดื่มมากกว่าอาหาร และอาหารที่ดี ซับซ้อน มีศิลปะในการปรุงแต่ง ล้วนเป็นอาหารที่ต้องกินคู่กับสุรา ไวน์ ชนิดต่างๆ ไม่นับว่าอาหารอันอู้ฟู่ทั้งหลายก็ย่อมมีเหล้าไวน์เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงทั้งสิ้น

นักข่าวในยุคนั้นถึงกับบันทึกเอาไว้ว่า “การรับประทานอาหารชั้นดีในนิวยอร์กกลายเป็นเรื่องน่าหดหู่อยู่นาน”

มีร้านอาหารชั้นดีอะไรบ้างที่ต้องปิดตัวเพราะกฎหมายจำหน่ายสุรา

เดลโมนิโก, เรคเติร์ส, เชนลียส์ เดอะเทดลูอิสคลับ, เดอะบลอร์ดวอล์ก และอีกมากมายนับไม่ถ้วน (เศรษฐศาสตร์นักกิน, หน้า 38)

ร้านอาหารดีๆ มีวัฒนธรรมกลายเป็นธุรกิจผิดกฎหมายไปในทันที มิหนำซ้ำกฎหมายนี้ยังถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายคู่แข่ง เช่น เมื่อเราเห็นว่าร้านคู่แข่งขายดีกว่าเรา เราก็ไปแจ้งความว่าร้านนั้นแอบซ่อนเหล้าเอาไว้ หรือไม่เราก็ติดสินบนให้เจ้าหน้าที่เอาเหล้าไปยัดไว้ในร้านเพื่อหาข้ออ้างจับกุม สุดท้ายร้านอาหารดีๆ ก็ถูกร้านอาหารห่วยๆ ใช้วิธีนี้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกวาดล้างทำลาย ส่วนร้านอาหารห่วยๆ ฝีมือแย่ก็ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่อ แล้วแอบขายเหล้าเถื่อนในร้านเสียเลย สินบนก็ไม่มากมายที่ร้านอาหารห่วยๆ จ่ายให้เจ้าหน้าที่ฯ แค่เดือนละ 400 เหรียญฯ (ค่าเงินสมัยนั้น)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือร้านที่พยายามจะมีชีวิตอยู่ต้องปรับสูตรอาหารด้วยการเลิกใส่ไวน์ลงไปในซอส หรือบรรดาพ่อครัวฝรั่งเศสก็ต้องนั่งเรือกลับบ้านที่ยุโรปไปซะ

สิ่งที่เกิดขึ้นแทนที่ร้านอาหารดีๆ อร่อยๆ ในช่วงปี 1919-1929 คือ ร้านอาหารแบบแฟมิลีเรสเตอรองต์ ที่เน้นความสะอาด ประหยัด รสชาติพื้นๆ ที่กินกันได้ทั้งบ้านหรือเกือบจะเป็นรสชาติแบบอุตสาหกรรม เน้นของทอด เน้นการใช้เคตชัป และรสชาติห่วยแตกสุดๆ แต่กลายเป็นรสชาติมาตรฐานอเมริกัน เครื่องดื่มที่ขายก็คือน้ำอัดลม โซดา น้ำหวานทั้งปวง ไอศกรีม จากนั้นก็เป็นร้านฮอตด็อก แฮมเบอร์เกอร์ ลูกกวาด ตู้เกม ร้านเหล้าเถื่อนก็ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด

เมื่อร้านอาหารไม่ขายเหล้า อเมริกันชนก็พาเด็กไปกินข้าวนอกบ้านได้ อาหารนอกบ้านจึงเป็นอาหารที่ทำรสชาติที่เด็กชอบ คือ หวาน มัน กรอบ – สามรสนี้ทอดเงาทะมึนครอบงำรสชาติอาหารอเมริกันต่อเนื่องมายาวนานจนถึงทุกวันนี้

อาหารที่ดี ซับซ้อน มีศิลปะในการปรุงแต่ง
ล้วนเป็นอาหารที่ต้องกินคู่กับสุรา ไวน์ ชนิดต่างๆ
ไม่นับว่าอาหารอันอู้ฟู่ทั้งหลายก็ย่อมมีเหล้าไวน์เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงทั้งสิ้น

กฎหมายห้ามจำหน่ายสุราทยอยยกเลิกในปี 1933 (แต่บางรัฐอย่างเท็กซัส ที่ถือปืนได้ไม่ผิดกฎหมาย แต่การขายเหล้าผิดกฎหมายมาจนถึงปี 1971) แต่ก็สายเกินไปที่จะรื้อฟื้นธุรกิจอาหารดีๆ ขึ้นมาในอาหารอเมริกัน เพราะเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลง Great Depression เข้าซ้ำเติมอีก พ่อครัวดีๆ ทั้งหลายก็กลับบ้านกลับช่องที่ยุโรปหมดแล้ว

สิ่งที่ตามมาคือ ฟาสต์ฟู้ดของอเมริกาก็เติบโตขึ้นมาตามลำดับ แล้วมาประจวบเหมาะกับวัฒนธรรมโทรทัศน์ ไมโครเวฟ และความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งที่ถูกพัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงสงครามและหลังสงคราม เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมกิน อาหารพร้อมเข้าไมโครเวฟ อาหารที่เหมาะกับการจะฉีกออกจากกล่อง อุ่น แล้วนั่งกินหน้าทีวี โดยไม่ต้องละสายตาจากจอทีวีเลย และน้ำอัดลมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอาหารอเมริกัน

นี่คือผลพวงที่คาดไม่ถึงของกฎหมายที่มาจากฐานคิดทางศีลธรรมล้วนๆ อย่างการห้ามจำหน่ายสุรา นั่นคือ วัฒนธรรมอาหารถูกทำลายไปอย่างยากจะกอบกู้ ไม่นานนี้เองที่อเมริกาหันมารื้อฟื้นเรื่องไวน์เพราะจากกฎหมายนี้ที่ทำให้คนอเมริกันยังดื่มวิสกี้มากกว่าไวน์ – การปลูกองุ่น และการผลิตไวน์ จนเป็นสินค้าสำคัญทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเป็นแผ่นดินของคราฟต์เบียร์ในปัจจุบัน และคงไม่มีวันหันกลับไปหาความเป็นชาติคลั่งศีลธรรมบ้าๆ บอๆ อย่างนั้น ให้โคลัมบัสผู้พิชิตอเมริกาด้วยไวน์ปริมาณมหาศาลในเรือของเขาต้องเสียใจ แล้วไหนยังจะลุง จอห์น แฮนค็อก ผู้ก่อการกบฏกับเมืองแม่ด้วยการขนเหล้าเถื่อน

เขียนถึงตรงนี้ เราคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้อง salute ให้กับ ‘สุรา’

ภาพประกอบ: love syrup​

อ้างอิง:

  • Cowen, T., อรนุช อนุศักดิ์เสถียร (แปล). 2556. เศรษฐศาสตร์นักกิน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน
  • www.foreo.com/mysa/how-alcohol-founded-america

FACT BOX:

อีกปัจจัยหนึ่งของความล่มสลายแห่งวัฒนธรรมอาหารอเมริกันคือ นโนยบายกีดกันผู้อพยพที่เริ่มตั้งแต่ปี 1921-1961 โดยประมาณ เพราะนั่นทำให้ขาดความหลากหลายและถูกตัดขาดจากวัฒนธรรมอาหารอื่นๆ ในโลก ได้แต่แช่แข็งตัวเองไว้ในอาหารอันจืดชืดไร้รสชาติ ไร้เครื่องเทศ ทั้งสดและแห้ง

Tags: , , ,