เจิ้งซี มีแซ่เดียวกับ เจิ้งเหอ ขันทีและนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์จีน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกน่านน้ำและไปเยือนแผ่นดินที่ไม่เคยมีใครเหยียบย่ำของโลกในยุคจีนโบราณเหมือนบรรพบุรุษของเขา แต่เจิ้งซี ได้เดินทางมาก และในขณะที่เขายังหนุ่ม เขาใช้เวลาเกือบครึ่งปีรอนแรมเรียนรู้ ซื้อขายงานศิลปะและสินค้าดีไซน์นอกแผ่นดินเกิดสำหรับบริษัทออกแบบตกแต่งภายในของเขา

ขณะมีอายุได้ 30 ปี เจิ้งซีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งแบรนด์เมเนเจอร์ของบริษัทเทเลคอมสัญชาติจีนที่ซึ่งเขาทำงานตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อตั้ง เขาทำงานอยู่กับองค์กรซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนกำลังร้อนแรง กระทั่งสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) สหรัฐอเมริกา ในเวลาสำคัญนั้นเขาเป็นหนึ่งในทีมงานที่เดินทางไปทำงานในนิวยอร์กราวหนึ่งเดือนเพื่อการนี้ แม้ว่าอนาคตจะดูสดใสและหากยังทำงานนี้ต่อ เขาอาจไต่เต้าตามลำดับขั้นจนถึงระดับไวซ์เพรสซิเดนท์ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้ แต่เจิ้งซีกลับเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างออกไป

“เราอยากเสี่ยง เพราะเรารู้ว่าถ้ายังอยู่บริษัทเดิมเราก็จะเลื่อนขั้นขึ้นไปเรื่อยๆ มีคอนโดฯ ดีๆ อยู่ มีรถยนต์หรูๆ ใช้ เรารู้สึกว่ามันไม่ท้าทาย ชีวิตมันน่าเบื่อเกินไป” เจิ้งซี ตอบเมื่อผมถามว่าใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่มั่นคงไม่ใช่หรือ ทั้งเขาก็มีงานที่ดี แล้วอะไรทำให้คนหนุ่มอย่างเขาตัดสินใจ ‘เสี่ยง’ กับบางสิ่งที่ยังไม่ได้มา

“แล้วพ่อแม่นายว่าไง” ผมถามเขาต่อ เพราะในวัฒนธรรมตะวันออกเชื่อว่าพ่อแม่มีอิทธิพลต่อชีวิตของลูกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

“เขาปล่อยให้เราเลือกเอง แต่ในฐานะที่เขาทำงานในแวดวงนี้ เขาก็เตือนว่า สิ่งที่เราเลือกเดินมันไม่ง่าย และบอกให้เราเตรียมตัวรับความล้มเหลว แต่เขาไม่ได้ห้าม” เจิ้งซี ย้อนความหลังให้ฟัง ในขณะที่ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของบริษัทออกแบบตกแต่งภายในที่มีพนักงานราว 30 คน เป็นเจ้าของอาร์ต แกลเลอรี่ และกำลังเปิดร้านขายสินค้าไลฟ์สไตล์

เจิ้งซีบอกว่าสมัยที่ยังเป็นเด็ก เขารู้สึกเบื่อเมื่อพ่อแม่คุยกันแต่เรื่องงาน การออกแบบ ปัญหาเรื่องเส้นของอาคารที่กำลังออกแบบบนโต๊ะอาหาร และในเวลาอื่นๆ เกือบตลอดเวลา เขาเบื่อจนกระทั่งปฏิเสธที่จะเข้าเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังตั้งแต่เด็กนั้น กลับซึมซาบเข้าไปในตัวและมีอิทธิพลต่อเขาเมื่อโตเป็นหนุ่มจนไม่อาจขัดขืน

ครอบครัวของเจิ้งซีนับว่ามีต้นทุนที่ดี พ่อแม่ของเขามีโอกาสที่ดีกว่าคนในรุ่นเดียวกัน เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนมากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมถูกส่งไปเรียนรู้และใช้แรงงานในไร่ที่มณฑลอันห่างไกลเพื่อรับใช้สังคมในอุดมคติของลัทธิคอมมิวนิสม์ มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกคัดเลือกให้ไปเรียนต่อในชั้นมหาวิทยาลัย พ่อแม่ของเจิ้งซีเป็นคนจำนวนน้อยเหล่านั้น ทั้งสองถูกคัดเลือกจากผู้นำจังหวัดให้เข้าไปศึกษาต่อสาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัย และต่อมาก็เข้าทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทสถาปัตยกรรมและการตกแต่งซึ่งก่อตั้งและดำเนินการโดยรัฐบาล ครอบครัวของเจิ้งซีจึงมีความเป็นอยู่ค่อนข้างดี ชีวิตราบรื่น การงานมั่นคง

1980

ที่เมืองเฉิงตู (Chengdu) มณฑลเสฉวน (Sichuan) ครอบครัวเล็กๆ ให้กำเนิดเจิ้งซี ซึ่งเป็นลูกชายคนเดียว ภายใต้นโยบายลูกคนเดียว (One-Child Policy) ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 1979 เพื่อจำกัดจำนวนประชากรเกิดใหม่โดยรัฐบาลจีน ในวัยเด็ก เขาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ซึ่งมีเพื่อนบ้านทำงานเป็นสถาปนิก เป็นมัณฑนากร เป็นช่างไฟฟ้า หรือทำหน้าที่อะไรสักอย่างเกี่ยวกับการสร้างอาคาร พวกเขาเหล่านั้นมีอพาร์ตเมนต์ในขนาดพื้นที่ใกล้เคียงกันและมีเครื่องใช้ไม้สอยซึ่งจัดหาให้โดยรัฐบาลเหมือนๆ กัน

“มันเป็นชีวิตที่เงียบสงบ สังคมดี ทุกๆ คนมีฐานะเท่ากันหมด พ่อแม่เราทำงานให้รัฐบาล ซึ่งก็เหมือนกับคนอื่นๆ ถ้านึกย้อนกลับไปตอนนั้นก็จะมีความเหงามากหน่อย ซึ่งเราเคยคุยกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเหงาเหมือนกันเกือบทุกคน” เจิ้งซี เล่าความหลังครั้งเป็นเด็กในช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงาน

“การที่ต้องมีลูกคนเดียวทำให้มีเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงไหม” ผมถาม เพราะอยากรู้ว่ามันเป็นอย่างที่ผมเคยได้ยินมาหรือไม่ว่าหากเด็กที่เกิดเป็นเด็กหญิงมักถูกทำให้ตาย เพื่อโอกาสที่จะได้มีลูกชาย

“นโยบายลูกคนเดียวนี้บังคับเฉพาะในเมืองใหญ่ ในชนบทยังผ่อนปรนกฎหมายนี้อยู่ ซึ่งครอบครัวอาจมีลูกได้มากกว่าหนึ่ง แต่เราไม่คิดว่านโยบายนี้ทำให้มีเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง แม้ว่าคนตะวันออกจะนิยมและต้องการมีลูกชายมากกว่าลูกสาวก็ตาม ตอนนั้นประชาชนไม่สามารถรู้เพศของลูกได้ เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้รับรู้ เราจะรู้เพศเด็กก็ต่อเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว หากครอบครัวไหนมีลูกคนที่ 2 พวกเขาจะถูกไล่ออกจากงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะการจะหางานใหม่ทดแทนเป็นเรื่องยากมาก (เพราะทุกตำแหน่งงานถูกจ้างโดยรัฐ) ดังนั้นการทำแท้งจึงเป็นเรื่องทำได้ และถูกกฎหมาย” เจิ้งซีอธิบาย

“แล้วมันส่งผลถึงปัจจุบันบ้างไหม อย่างเช่นผู้ชายอาจจะหาเมียยากขึ้น เพราะมีผู้หญิงน้อย” ผมสงสัย จากที่เคยอ่านพบในข่าวว่า ปัจจุบัน การแต่งงานคือปัญหาอย่างหนึ่งของสังคมจีน เพราะชายหนุ่มหาคู่ไม่ได้  

“เราว่าเรื่องแต่งงานมันไม่ใช่ปัญหานะ แต่ปัญหาคือคนหนุ่มสาวต้องดูแลคนแก่จำนวนมาก เราหมายถึง ลูกหนึ่งคนต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชราสองคน และคู่แต่งงานหนึ่งคู่ต้องดูแลคนแก่สี่คน” เจิ้งซีพูดให้ผมเห็นภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องหนักหนาพอสมควร เพราะนี่ยังไม่นับว่าแต่ละครอบครัวหนุ่มสาวนั้นอาจมีลูกที่ต้องดูแลอีกหนึ่งหรือสองคน

1990

หลังจากจบไฮสกูล เจิ้งซีเข้าศึกษาต่อคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาหนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัย ที่เมืองเฉิงตู เขาตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ เพราะใฝ่ฝันจะทำงานกับบริษัทต่างชาติ และหากโชคดีเขาอาจได้รับทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ในขณะนั้นการเมืองแบบม่านไม้ไผ่ของจีนเริ่มเปิดกว้าง ประเทศจีนเติบโตในอัตราเร่ง เริ่มมีการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศจีน การลงทุนหลั่งไหล อาจเรียกได้ว่าทะลักล้นเข้ามาจากประเทศตะวันตก ประชาชนสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ง่ายขึ้น สามารถเปิดบริษัทของตัวเอง ลงทุนในตลาดหุ้น ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมและรถยนต์

“ประเทศเราเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วมาก มีคนรวยรุ่นใหม่เกิดขึ้นมากมายทุกวัน เราเรียกคนเหล่านี้ว่ารวยกักขฬะ (Rich and Rude) พวกเขารวยเร็วเกินไป แต่สิ่งที่ดีอย่างหนึ่งคือประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น สำหรับผมตอนเป็นเด็ก เราจะเห็นฮ่องกงก็แต่ในปฏิทิน มันแสดงถึงความทันสมัย ความเจริญรุ่งเรือง จนวันหนึ่งเมื่อผมเป็นวัยรุ่น เราสามารถเดินทางไปที่นั่นได้อย่างง่ายดาย”

ในขณะที่นั่งคุยกัน ผมนึกไปถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองครั้งหนึ่งในปี 1989 ‘ภาพจำ’ ภาพหนึ่งซึ่งทรงพลังมาก คือภาพของชายคนหนึ่งยืนขวางรถถังไม่ให้เคลื่อนที่ไปปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง เหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อคนหนุ่มสาวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่หลายเมือง โดยจุดศูนย์กลางสำคัญของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของจีนสมัยใหม่ คือการล้อมปราบที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พระราชวังต้องห้าม กรุงปักกิ่ง

“นายจำแท้งค์แมน ได้ไหม (Tank Man)” ผมถามถึงภาพจำของเหตุการณ์ครั้งนั้น

“จำได้ ตอนนั้นเราอยู่ไฮสกูล เรายังเด็กแต่จำบรรยากาศของเหตุการณ์นั้นได้ เราไม่แน่ใจนักว่าหากตอนนั้นเราโตเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย เราจะเข้าร่วมการประท้วงหรือไม่ แต่มีความเป็นไปได้สูง นายรู้ไหม มันเหมือนงานเฉลิมฉลองอะไรสักอย่างที่พวกเราเข้าร่วม ร้องตะโกน และถือโปสเตอร์ประท้วงไปบนถนน พ่อแม่ของเรา และผู้ใหญ่จำนวนมากสนับสนุนการประท้วง แต่เมื่อเหตุการณ์รุนแรงขึ้น รัฐบาลสั่งให้หยุดชุมนุม และกลับบ้าน พวกเราค่อยๆ หยุดการประท้วง ยกเว้นนักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งที่หน้าพระราชวังต้องห้าม จนทหารต้องเขามาจัดการ” เจิ้งซี ย้อยรอนความทรงจำวัยเด็ก

“แต่นายรู้ไหมว่า มุมมองของคนภายนอกมันดูใหญ่กว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริง สำหรับเราและครอบครัว เหตุการณ์ที่เทียนอันเหมินไม่ได้เป็นความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ หรือสำคัญอะไรนัก คล้ายๆ กับความขัดแย้งทางการเมืองในไทยหลายปีที่ผ่านมา ที่รัฐบอกว่าประชาชนยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย” เจิ้งซีย้อนกลับมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ทางการเมืองของไทย ซึ่งผมคงได้แต่หัวเราะเบาๆ ในลำคอ

2018

ผมไม่เคยไปประเทศจีน แต่เคยฟังสมัยที่พ่อของผมเดินทางไปเยี่ยมญาติและไหว้บรรพบุรุษเมื่อ 30 ปีก่อน เขามักกลับมาเล่าว่าที่นั่นยากจนข้นแค้น บ้านเมืองยังไม่พัฒนา และพ่อของผมยังต้องฝากเงินไว้ให้กับญาติๆ ที่โน่นไว้ใช้สอย แต่ 30 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศจีนพัฒนาไปไกลกว่าที่คนรุ่นพ่อผมเคยจินตนาการไว้ กระทั่งคนรุ่นผมเองยังตระหนกกับการก้าวย่างอย่างรวดเร็ว แล้วเจิ้งซีล่ะ รู้สึกอย่างไรกับชีวิตที่เปลี่ยนไป ใครทำมากได้มาก เมื่อเทียบกับการมีชีวิตเสมอภาค ทุกคนทำงานเพื่อส่วนกลาง มีอพาร์ตเมนต์ขนาดเท่าๆ กัน มีข้าวของเครื่องใช้ที่รัฐจัดหาให้เหมือนกัน

“เราไม่แน่ใจว่าประเทศของเราอยู่ในอันดับที่เท่าไรของประเทศที่ทันสมัย อันดับ 3  อันดับ 5 หรือเป็นหนึ่งในสิบอันดับแรก แต่จีนมาไกลมาก คนหนุ่มสาวหาเงินง่าย รวยเร็ว มีชีวิตที่ดี มีคอนโดฯ ราคาแพง มีรถยนต์หรูหรา เรายกตัวอย่างปัจจุบันในวันตรุษจีน คนจีนใช้เวลาร่วมกับครอบครัวน้อยลง จาก 10 วัน เป็น 5 วัน และคงจะเหลือ 3 วัน เรากับพ่อแม่ไม่เคยกลับไปหาญาติพี่น้อง ครอบครัวเราเดินทางช่วงตรุษจีนทุกปี ปัจจุบันนี้ คนหนุ่มสาวอยากเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าจะกลับไปอยู่กับครอบครัวนานๆ แม้ว่าคนในครอบครัวจะผูกพันกัน แต่คนต่างเจเนอเรชั่นไม่มีเรื่องที่สนใจร่วมกัน

“นายนึกออกไหมว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คนรุ่นพ่อแม่เรานึกไม่ออกหรอกว่าคนรุ่นเราจะมาไกลขนาดนี้ พวกเขาไม่สามารถแนะนำได้ว่าเราควรทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขาไม่เคยเจอมาก่อนในช่วงชีวิตของเขา มันอยู่นอกเหนือความรู้และประสบการณ์ของคนรุ่นก่อน ความรู้เก่าๆ แทบไร้ความหมาย โลกเปลี่ยนไปแล้ว…” คำตอบอันยืดยาวของเจิ้งซีทำให้ผมนึกถึงประเทศของตัวเอง ประเทศที่คนหนุ่มสาวไม่มีโอกาสกำหนดอนาคตของตัวเองมากไปกว่าเดินตามแผนพัฒนาฯ ของคนรุ่นก่อนที่กำหนดขึ้นโดยปราศจากการเข้าไปมีส่วนร่วมของคนที่เป็นเจ้าของอนาคต 

เจิ้งซีมีโอกาสเดินทางบ่อยๆ เรียกว่าเขาใช้ชีวิตทุกครึ่งปีอยู่นอกประเทศ แม้ว่าทุกวันนี้จีนจะพัฒนาเท่าเทียมกับประเทศทันสมัยอื่นๆ ผมยังคงอยากรู้ว่าขณะที่เขาอยู่ในโลกเสรี เขารู้สึกมีเสรีภาพ สบายเนื้อสบายตัว สามารถแสดงออกได้อย่างที่ใจต้องการมากกว่าในประเทศบ้านเกิดของเขาเองไหม

“เราไม่รู้สึกว่ามันต่างกันนะ เรากลับรู้สึกว่าสบายใจมากกว่าเมื่ออยู่ในประเทศจีน” คำตอบนี้ของเจิ้งซี ผมย้อนฟังอีกครั้งจากเครื่องบันทึกเสียง เพราะตอนที่ผมหลุดคำถามนี้ออกจากปาก ผมไม่ได้ตั้งใจฟังคำตอบจากเขาเท่าไร เพราะรู้สึกว่าควรจะถามคำถามนี้กับตัวเองมากกว่า

 

Zheng Xi | นักธุรกิจ

Medium Format 6 x 6

Black and White Negative Film

Tags: , , ,