คนอังกฤษยกย่อง เซอร์เอ็ดเวิร์ด โค้ก (ซึ่งเดิมทีออกเสียงว่า คุก) ว่าเป็นเหมือนรากฐานแห่งระบบกฎหมายอังกฤษ งานสำคัญของเขาคือ Petition of Right ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานกฎหมายสำคัญหนึ่งในสาม เทียบเท่ากับกฎบัตร Magna Carta หรือ Bill of Rights 1689 กันเลยทีเดียว

คำถามก็คือ แล้วเขาไปคัดง้างอำนาจกษัตริย์ที่ไหน การคัดง้างท้าทายที่ว่านี้ มันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตแค่ไหน รวมทั้งส่งผลอะไรต่อระบบกฎหมายอังกฤษหรือเปล่า

สิ่งที่โค้กทำนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และส่งผลภายหลังถึงขั้นพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอังกฤษในยุคหนึ่ง รวมทั้งวางรากฐานทางกฎหมายที่สำคัญยิ่งให้กับอังกฤษ

สิ่งนั้นก็คือ ‘สิทธิ’ ของประชาชน

โค้กเกิดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 1552 คือเมื่อเกือบๆ ห้าร้อยปีที่แล้ว เป็นยุคที่ไทยมีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ส่วนพม่ามีพระเจ้าบุเรงนองครองแผ่นดินอยู่ โค้กเกิดมาในครอบครัวชนชั้นสูง ร่ำเรียนจากทรินิตี้คอลเลจแห่งเคมบริดจ์ แล้วก็มาศึกษากฎหมายต่อเนื่อง จนในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่ง ในปี 1594 เมื่ออายุได้ 42 ปี โค้กก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัยการสูงสุด หรือ Attorney General for England and Wales

คู่แข่งคนสำคัญของโค้กคือ เซอร์ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) ผู้โด่งดังและจะเป็นปรปักษ์กับเขาไปจนชั่วชีวิต โค้กเป็นอัยการสูงสุดมาจนตลอดรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่ง เขาคอยจัดการปัญหาขบถต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาในอังกฤษยุคนั้น

ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า อังกฤษยุคนั้นมีความขัดแย้งทางศาสนาสูงมาก โดยเฉพาะระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ เพราะอังกฤษประกาศแยกตัวออกจากศาสนจักรคาทอลิกในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่แปด (ซึ่งต้องการจะหย่าร้างกับพระมเหสีอันเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการของคาทอลิก) แล้วตั้ง Church of England ซึ่งถือว่าเป็นโปรเตสแตนต์นิกายหนึ่งขึ้นมา

เมื่อพระเจ้าเฮนรีที่แปดสวรรคต ผู้ครองบัลลังก์สืบต่อมาคือเอ็ดเวิร์ดที่หก ถัดจากนั้นคือพระนางแมรีที่หนึ่ง แต่ปรากฏว่าควีนแมรีที่หนึ่งนั้นเป็นคาทอลิก จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในอังกฤษ

ควีนแมรีที่หนึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่แปด แต่พระมารดาของพระนางคือ แคเธอรีนแห่งอารากอน (Catherine of Aragon) เป็นคาทอลิก และพระนางยังสมรสกับเจ้าชายฟิลิปที่สองแห่งสเปนที่ก็เป็นคาทอลิกด้วยเหมือนกัน นั่นทำให้พระนางต้องการนำอังกฤษกลับไปเป็นคาทอลิกอีกครั้ง แต่เนื่องจากประชาชนคุ้นเคยกับการเป็นโปรเตสแตนต์แล้ว จึงเกิดการปราบปรามและจัดการกับคนที่เป็นโปรเตสแตนต์อย่างรุนแรง

ครั้นมาถึงสมัยของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่ง คราวนี้ควีนกลับกลายมาเป็นโปรเตสแตนต์ เพราะควีนเอลิซาเบธที่หนึ่ง (ซึ่งก็เป็นลูกสาวของพระเจ้าเฮนรีที่แปดเหมือนกัน) มีแม่คือ พระนางแอนน์ โบลีน (ผู้ถูกพระเจ้าเฮนรีที่แปดสั่งตัดศีรษะ) อังกฤษจึงกลับมาเป็นโปรเตสแตนต์เหมือนเดิม แต่ก็ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำคุกรุ่น เกิดแผนการขบถมากมาย โค้กในฐานะที่เป็น ‘ผู้ใหญ่’ ของแผ่นดินคนหนึ่ง จึงมีส่วนร่วมในการต่อต้านการขบถหลายครั้ง

อย่างไรก็ดี ไม่มีอะไรมั่นคงถาวร เพราะเมื่อควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งสิ้นพระชนม์แล้ว ผู้ครองบัลลังก์ต่อมาก็คือพระเจ้าเจมส์ที่หกแห่งสกอตแลนด์ ผู้เมื่อมาครองบัลลังก์อังกฤษแล้วก็กลายเป็นเจมส์ที่หนึ่งแห่งอังกฤษ

ปัญหาก็คือ – พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งนั้นเป็นคาทอลิก และพระองค์เกลียดชังโปรเตสแตนต์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในนิกายเพียวริแทน (Puritan) ที่มีความเคร่งครัดสูงมาก

นักประวัติศาสตร์คาดเดาว่า สิ่งที่ทำให้โค้กยัง ‘อยู่ได้’ ทั้งที่เคยรับใช้รัชสมัยที่เป็นโปรเตสแตนต์มาก่อน น่าจะเป็นเพราะบารมีส่วนตัวเรื่องหนึ่ง และในอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ช่วงที่พระเจ้าเจมส์ขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ เกิดคดีความหนึ่งขึ้นมา คือคดีไต่สวน เซอร์วอลเตอร์ ราลีห์ (Sir Walter Raleigh) ในข้อหาขบถ ล้มล้างการปกครอง และสมคบคิดกับราชสำนักสเปน โดยได้รับเงินทองมหาศาลจากสเปนเป็นการตอบแทน

ที่จริงแล้ว คดีนี้ถูกมองว่าหลักฐานอ่อนเอามากๆ แต่โค้กก็กลับตัดสินให้ราลีห์ผิด โค้กเรียกราลีห์ว่าเป็นผู้ทุรยศตัวร้าย เป็นคนไร้ศาสนาที่ต้องถูกประณาม เป็นผู้ทำลายหลักกฎหมาย สุดท้าย ราลีห์จึงถูกตัดสินให้ผิด และถูกจำคุกอยู่ในทาวเวอร์ออฟลอนดอนนานกว่าสิบปีก่อนถูกประหาร นักประวัติศาสตร์มองว่า การตัดสินของโค้กครั้งนี้เป็นเรื่องที่มีอคติอย่างมาก เชื่อกันว่า ที่โค้กตัดสินแบบนี้ เป็นไปได้ว่าเพราะต้องการแสดงความจงรักภักดี ว่ากันว่ามีหลักฐานว่ากษัตริย์ขอร้องให้เขาตัดสินว่าราลีห์ผิด และโค้กก็เชื่อฟัง

หลายคนวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า นั่นส่งผลให้ต่อมาโค้กได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Chief Justice of the Common Pleas เรียกได้ว่าเป็นประธานศาลสูงสุด ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญตำแหน่งหนึ่งของอังกฤษยุคนั้น แต่บางกระแสก็บอกว่าคนที่เป็นอัยการสูงสุดจะได้รับตำแหน่งนี้โดยปริยายอยู่แล้ว

ที่จริงแล้ว ระบบกฎหมายของอังกฤษยุคโน้น (ที่จริงก็รวมมาถึงยุคนี้ด้วย) มีความสลับซับซ้อนสูงมาก หลายตำแหน่งงานก็ทำงานซ้ำซ้อนกัน ทั้งยังขันแข่งกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่ง Chief Justice หรือประธานศาลสูงสุดในอังกฤษยุคนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายตำแหน่ง แต่ที่สำคัญๆ นอกจาก Chief Justice of the Common Pleas แล้ว ยังมี Chief Justice of the King’s Bench อีก ถ้าจะเปรียบไป ศาลที่เป็น Common Pleas ก็คือศาลของประชาชนคนธรรมดา คือเป็นเรื่องราวของมนุษย์เดินดินที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกษัตริย์ ใครทะเลาะกับใคร ใครโกงเงินใคร ใครฆ่าคนตาย ก็มาขึ้นศาลนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นศาลที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ศาลที่เป็น The King’s Bench นั้น เดิมทีเป็นศาลที่ต้องติดตามกษัตริย์เวลาออกเดินทางไปไหนต่อไหน แต่ต่อมาก็รวมเข้ากับศาลสูง (High Court of Justice) และจากยุคแรกๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกษัตริย์เท่านั้น ก็เพิ่มหน้าที่เข้ามามากมาย แม้โดยหลักการจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของกษัตริย์ แต่เมื่อถึงยุคร่วมสมัยกับโค้ก หลายคนพบว่าศาลของ The King’s Bench มีอำนาจทำงานเพิ่มขึ้นมาถึงสิบเท่าเมื่อนับจากศตวรรษที่แล้ว นั่นทำให้ศาล Common Pleas ต้องระแวงระวังไม่น้อย

เมื่อโค้กได้เป็นประธานศาลสูงสุดของ Common Pleas แล้ว เขาเริ่มหันมาโจมตีองค์กรที่ก่อนหน้าเคยสนับสนุน องค์กรหนึ่งที่เขาโจมตีก็คือ Court of High Commission ซึ่งเป็นศาลที่ทำงานเกี่ยวกับคณะสงฆ์ แต่ศาลนี้แต่งตั้งโดยกษัตริย์ และในยุคนั้นถือว่ามีอำนาจแทบไร้ขีดจำกัด เพราะเหมือนรวมเอาอำนาจทางศาสนาเข้ากับสถาบันกษัตริย์ด้วย หลายเรื่องที่ศาลนี้ทำก่อให้เกิดการถกเถียงขนานใหญ่ โดยเฉพาะการตัดสินคดีเกี่ยวกับศาสนา ว่าใครอยู่ในรีตในรอยหรือใครเป็นคนนอกรีตบ้าง (เรียกว่าเป็น Non-Conformist) ทำให้โค้กหันมาร่วมแรงร่วมใจกับรัฐสภาในการต่อสู้ต่อรองกับอำนาจของศาลนี้

หลักการของโค้กก็คือ ถ้าหากว่าใครคนหนึ่งมีความคิดหรือความเห็นของตัวเองที่ขัดแย้งกับรัฐ แต่เป็นความคิดหรือความเห็นแบบลับๆ ไม่ได้แสดงออกให้คนอื่นรู้ – ก็ไม่ควรถูกพิพากษาว่าเป็นคนผิด แต่กับศาลศาสนานั้น เพียงระแวงสงสัยก็อาจตัดสินให้คุณให้โทษได้แล้ว โดยมีคดีความหนึ่ง เรียกว่า Fuller’s Case ที่ศาล High Commission กล่าวหา นิโคลัส ฟุลเลอร์ ว่านอกรีต เขาก่นด่าศาล จึงโดนข้อหาหมิ่นศาล และถูกจำคุก ทำให้โค้กต้องเข้ามาเป็นตัวกลาง ทว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจา นั่นทำให้โค้กต้องลุกขึ้นมาร่างกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเพื่อพยายามจำกัดอำนาจของศาล High Commission โดยเสนอว่า ศาลศาสนาก็ควรดูแลแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ส่วนเรื่องอื่นๆ ควรปล่อยให้กฎหมายของฆราวาสดูแลไปเอง

แต่ศาล High Commission ไม่ใช่ศาลธรรมดา เพราะเกี่ยวพันกับอำนาจกษัตริย์ด้วย เรื่องนี้จึงทำให้พระเจ้าเจมส์ที่หนึ่งขัดเคือง เพราะแม้ไม่เกี่ยวอะไรกับพระองค์โดยตรง แต่ก็เท่ากับเป็นการไป ‘ลดทอนพระราชอำนาจ’ เนื่องจากเดิมทีศาลนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจของกษัตริย์เป็นใหญ่ พระองค์ถึงขั้นบอกว่า – ถ้าเรื่องไหนไม่ได้บอกไว้ว่าใครมีอำนาจจัดการ กษัตริย์ก็ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ผู้พิพากษานั้นเป็นเพียงตัวแทนของกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งก็ทำให้โค้กต้องตอบโต้กลับไปว่า ตามกฎหมายและประเพณีของอังกฤษแล้ว กษัตริย์ทำอย่างนั้นไม่ได้ กษัตริย์ไม่สามารถตัดสินอะไรได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชญากรรม การหลอกลวง ฯลฯ นั่นคือสิ่งที่ต้องทำในศาล และกล่าวด้วยว่ากฎหมายคือสิ่งที่คอยปกป้องกษัตริย์ ซึ่งก็ทำให้พระเจ้าเจมส์เถียงกลับว่า เป็นกษัตริย์ต่างหากที่ต้องปกป้องกฎหมาย เพราะกษัตริย์คือผู้แต่งตั้งทั้งผู้พิพากษาและบิชอปทั้งหลาย ทว่าโค้กก็ปฏิเสธอีกครั้งด้วยการบอกว่า – กษัตริย์เองก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายด้วย การจะตัดสินพิพากษาอะไรได้ กษัตริย์ต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายมากเพียงพอเสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีสิทธิตีความกฎหมายตามใจชอบ

การคัดง้างท้าทายอำนาจกษัตริย์ของโค้กไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะต่อมาเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Chief Justice of the King’s Bench อีก ไม่ใช่เพราะกษัตริย์โปรดปราน แต่เพราะ ฟรานซิส เบคอน แนะนำพระเจ้าเจมส์ว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ ควรจะเอาศัตรูมาอยู่ใกล้ตัวดีกว่า การย้ายโค้กจากการเป็นประธานศาลที่ดูแล ‘สิทธิ’ ของประชาชน มาเป็นประธานศาลที่ดูแล ‘สิทธิ’ ของกษัตริย์ น่าจะทำให้เขาเป็นอันตรายน้อยลง

แต่ปรากฏว่าทั้งพระเจ้าเจมส์และ ฟรานซิส เบคอน คิดผิด เพราะคดีแรกที่โค้กตัดสิน ก็คือคดี ‘หมิ่นฯ’ ที่สาธุคุณชาวเพียวริแทนคนหนึ่ง แสดงความอาฆาตมาดร้าย ด้วยการเขียนบทเทศนาสนับสนุนความตายของกษัตริย์ แต่โค้กกลับตัดสินว่านี่ไม่ใช่ขบถที่มีการแสดงออกอย่างแจ้งชัด เพราะมันเป็นแค่งานเขียนที่ไม่ได้รับการเผยแพร่ ยังไม่ได้มีการเทศน์ออกมาจริงจัง แน่นอนว่าพระเจ้าเจมส์ไม่เห็นด้วย จึงไปให้คนอื่นพิพากษาแทน ผลลัพธ์จึงออกมาตรงข้าม

หลังจากนั้นอีกไม่นานก็เกิดกรณีที่พระเจ้าเจมส์ใช้อำนาจของพระองค์อนุญาตการถ่ายโอนทรัพย์สินขององค์กรทางศาสนา เพื่อให้คนที่พระองค์โปรดปรานยังได้รับผลประโยชน์บางอย่างแม้พ้นไปจากหน้าที่นั้นแล้ว (คล้ายๆ การอยู่บ้านหลวงโดยไม่ได้ทำงานในตำแหน่งนั้นๆ) แต่เมื่อเรื่องนี้ถึงมือโค้ก เขาพิพากษาว่าการกระทำของพระเจ้าเจมส์นั้นผิดกฎหมาย กษัตริย์โกรธมาก จึงเรียกผู้พิพากษาทุกคนเข้าเฝ้า ผู้พิพากษาทุกคนยอมทำตามบัญชากษัตริย์ ยกเว้นแต่โค้ก

นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย กษัตริย์รับคำแนะนำจาก ฟรานซิส เบคอน สั่งพักงานโค้กจากตำแหน่งองคมนตรี และต่อมาก็ปลดเขาจากตำแหน่งประธานศาลสูงสุด โค้กสะเทือนใจมากจนมีอาการซึมเศร้า แต่เขาไม่หยุดยั้ง ต่อจากนั้นอีกไม่นาน โค้กเข้าสู่การเลือกตั้ง และกลายเป็นสมาชิกสภาฯ ฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันในหลายเรื่อง โดยเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ ก็คือเรื่องการผูกขาด หรือ Monopolies

ต้องย้อนกลับไปเล่าก่อนว่า ก่อนหน้านั้นราวสามร้อยปี คือในรัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่สอง พระองค์อยากกระตุ้นเศรษฐกิจอังกฤษ จึงอนุญาตให้คนทำงานและนักประดิษฐ์ต่างชาติเข้ามาตั้งรกรากในอังกฤษได้ และให้นักประดิษฐ์เหล่านี้สามารถจดสิทธิบัตร (Patent) ต่างๆ ได้ด้วย โดยที่ราชสำนักหรือกษัตริย์เป็นผู้ดูแลคุ้มครองสิทธิบัตรต่างๆ ให้เองโดยอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของสมาคมวิชาชีพต่างๆ เรียกได้ว่ามีข้อยกเว้นพิเศษ

ในระยะแรก สิทธิบัตรเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเหมือนใบผ่านทางให้ปฏิบัติงานให้สะดวกเท่านั้น แต่เมื่อผ่านมานับร้อยๆ ปี กระบวนการให้สิทธิบัตรนี้ก็เป็นเหมือนการให้สิทธิพิเศษเพื่อให้พ่อค้าสามารถ ‘ผูกขาด’ กิจการบางอย่างไว้กับตัวเองได้ ราชสำนักชอบการให้สิทธิบัตรเหล่านี้มาก เพราะมันคือการหารายได้ที่ทำเงินมหาศาล และเป็นรายได้ที่แตกต่างจากการเก็บภาษีด้วย ในกรณีของภาษี ถ้าเก็บภาษีแล้วประชาชนไม่พอใจ ราชสำนักจะถูกโจมตีโดยตรง แต่ในกรณีสิทธิบัตร ผู้คนจะไม่โจมตีราชสำนักโดยตรง ทว่าหันไปโจมตีพ่อค้าและนักประดิษฐ์ที่จ่ายเงินให้ราชสำนักแทน

ยิ่งนานเข้า ระบบนี้ก็ยิ่งเป็นปัญหา ในรัชสมัยของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่ง พระองค์ทรงสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรที่เป็นปัญหาหลายอย่างเพื่อทำลายการผูกขาดเหล่านี้ แต่เมื่อมาถึงยุคของพระเจ้าเจมส์ที่หนึ่ง พระองค์กลับคงสิทธิบัตรพวกนี้ไว้เพื่อสร้างรายได้และก่อให้เกิดการผูกขาด โค้กจึงใช้ตำแหน่งแห่งที่ในฐานะฝ่ายค้านในสภาฯ โจมตีสิทธิบัตรเหล่านี้ เขาบอกว่าสิทธิบัตรพวกนี้เติบโตเหมือนหัวของตัวไฮดรา ยิ่งตัดก็ยิ่งแตก ดังนั้น จึงต้องใช้มาตรการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด ซึ่งในที่สุด โค้กก็ทำสำเร็จ เจมส์โกรธมาก จึงสั่งแบนกฎหมายนี้ แต่โค้กใช้กฎหมายและสภาฯ ออกประกาศประท้วงกษัตริย์โดยตรง ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ พระเจ้าเจมส์สั่งยุบสภา แล้วโค้กก็ถูกจำคุกอยู่ในทาวเวอร์ออฟลอนดอนนานถึงเก้าเดือน

เมื่อสิ้นยุคสมัยของพระเจ้าเจมส์ ผู้ที่ขึ้นครองราชย์ต่อมาคือพระเจ้าชาลส์ที่หนึ่ง ซึ่งหลายคนคงรู้อยู่แล้วว่าเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนจะเกิดสงครามกลางเมือง และสุดท้ายก็ทำให้อังกฤษกลายเป็นสาธารณรัฐอยู่ระยะหนึ่ง ในยุคของพระเจ้าชาลส์ พระองค์ยังคงปฏิบัติกิจหลายอย่างละม้ายพระเจ้าเจมส์ และบางอย่างก็หนักข้อกว่า เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือทรงสั่งให้มีการ ‘กู้โดยบังคับ’ หรือ Forced Loans นั่นคือตระกูลขุนนางต้องส่งเงินมาให้ราชสำนักไม่ว่าจะต้องการทำอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม ปรากฏว่ามีบางคนบางตระกูลไม่ยอมจ่ายเงินให้ พระเจ้าชาลส์ที่หนึ่งจึงสั่งจำคุกโดยไม่มีการไต่สวน สภาฯ จึงลงความเห็นว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ความไม่พึงพอใจต่อพระเจ้าชาลส์ที่หนึ่งทวีขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มขุนนางและคนชั้นสูง ซึ่งก็รวมทั้งตัวโค้กและสมาชิกสภา​ฯ วัยหนุ่มอีกคนหนึ่งที่มีชื่อว่า โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ด้วย เพราะการบังคับเช่นนี้ แปลว่ากษัตริย์สามารถริบเอาที่ดิน อิสรภาพ ทรัพย์สมบัติ ฯลฯ จากใครก็ได้ในทุกระดับชั้นของสังคม ผู้คนจึงยอมไม่ได้

ด้วยความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ในปี 1629 พระเจ้าชาลส์ ตัดสินพระทัยที่จะยุบสภาฯ และจะปกครองประเทศโดยไม่มีสภาฯ นั่นทำให้โค้กที่เริ่มเข้าสู่วัยชราแล้วย้ายตัวเองออกไปจากลอนดอน และตั้งมั่นจะไม่หวนกลับมาสู่การเมืองอีก เขาเสียชีวิตในปี 1634 ด้วยวัย 82 ปี โดยทิ้งมรดกเอาไว้เป็น Petition of Right ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารสำคัญยิ่งในทางกฎหมายและการปกครอง

โค้กไม่รู้หรอกว่า Petition of Right ที่เขาร่างขึ้นเพื่อสิทธิและประโยชน์ของประชาชน ไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายภาษีอื่นใดนอกเหนือไปจากภาษีที่เก็บโดยสภาฯ นั้น จะมีส่วนนำไปสู่สงครามกลางเมืองอังกฤษในปี 1642 และเปลี่ยนการปกครองของอังกฤษให้เป็นสาธารณรัฐในนามของ Commonwealth หรือเครือจักรภพ

เขาไม่รู้เลยว่า ด้วยความมุ่งมั่นทำสิ่งที่ถูกต้อง หลังเขาเสียชีวิตไปแล้ว อังกฤษจึงได้เป็นประเทศที่มั่นคงในทางกฎหมายที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

ผู้พิพากษาที่กล้าท้าทายกษัตริย์ ผู้มีชื่อว่า เซอร์เอ็ดเวิร์ด โค้ก – จึงนับได้ว่าเป็นคนสำคัญอย่างยิ่งยวดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษและประวัติศาสตร์โลก

 

อ่านเพิ่มเติม

หนังสือ The Strange Laws of Old England โดย Nigel Cawthorne

https://en.wikipedia.org/wiki/Edward_Coke

https://en.wikipedia.org/wiki/Court_of_Common_Pleas_(England)

https://en.wikipedia.org/wiki/Court_of_King%27s_Bench_(England)

https://en.wikipedia.org/wiki/Petition_of_Right  

Tags: , ,