ในห้วงฤดูของการเปลี่ยนงาน บางครั้งตัวเราเองก็เป็นฝ่ายที่โยกย้าย ออกไปหาประสบการณ์และความท้าทายในองค์กรใหม่ๆ แต่ในบางครั้งก็เป็นเพื่อนร่วมงานของเราเอง ที่กลับเป็นฝ่ายโบกมือย้ายออกจากบริษัทไปก่อน ทิ้งไว้เพียงความทรงจำดีๆ ที่ในอดีตเคยล่มหัวจมท้ายกับบริษัทที่ตัวเรายังต้องคงนั่งทำงานต่อไปในปัจจุบัน
แม้ใจหนึ่งก็รู้สึกยินดีที่เป็นเพื่อนร่วมงานที่สนิทชิดเชื้อ มีโอกาสได้เติบโตในหน้าที่การงานดังที่คาดหวัง แต่ในอีกมุมหนึ่งเชื่อว่า หลายคนต้องรู้สึกใจหายไม่น้อยว่า เพื่อนร่วมงานคนโปรดต้องลาจาก ทิ้งเราเอาไว้เพียงข้างหลัง ที่ถึงแม้เขาจะไปได้ดีกับอนาคตข้างหน้าแล้ว ตัวเรายังคงรู้สึกโหวงเหวงเพียงลำพังอยู่ไม่น้อย
หากเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจัดการความรู้สึกอย่างไรดี เมื่อเพื่อนร่วมงานคนโปรดลาออก
อันดับแรกต้องยอมรับความรู้สึกและปล่อยให้เวลาเป็นเครื่องเยียวยา อ้างอิงจากบทความจาก The Muse แพลตฟอร์มสำหรับหางานในประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นของพนักงานออฟฟิศหลังมีพนักงานในทีมลาออก ว่าจะแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
1. อันดับแรกคุณจะรู้สึกตกใจ ปฏิเสธ และต่อต้านความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
2. ต่อมาคุณจะเริ่มยอมรับข้อเท็จจริง และรู้สึกยินดีกับเพื่อนร่วมงานคนนั้นที่ได้รับโอกาสใหม่ๆ ในหน้าที่การงาน
3. แต่หลังจากนั้นความเครียดจะมาเยือน เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่คุณจะตั้งคำถามว่า ทำไมถึงไม่เป็นตัวเราที่ได้โอกาส ทำไมตัวเรายังคงอยู่ที่เดิม
4. ทว่าคุณจะเริ่มรับมือกับความรู้สึกนั้นได้ และจะเริ่มจัดแจงหน้าที่และภาระงานของคนที่ลาออกให้คนที่ยังทำงานอยู่ต่อ ซึ่งอาจหมายถึงคุณต้องทำงานหนักกว่าที่เป็นมาอยู่เล็กน้อย
5. สุดท้ายทุกอย่างจะกลับมาสู่สภาวะปกติ เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามา คุณจะกลับมาเป็นคนเดิมอีกครั้ง และที่สำคัญคือเข้าใจวัฏจักรการเปลี่ยนผ่านของพนักงานในออฟฟิศมากยิ่งขึ้น
นอกจากการรับรู้และเท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังเพื่อนร่วมงานลาออก การตั้งเป้าหมายและจัดการความรู้สึกที่ตามมาหลังจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่พนักงานคนเก่าที่ทำงานอยู่ในออฟฟิศเดิมอย่างพวกเราควรให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งจะสามารถแบ่งออกได้ดังต่อไปนี้
1. ความสัมพันธ์ไม่ได้สิ้นสุดเพียงเพราะการลาออก
แม้เพื่อนร่วมงานคนโปรดจะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงาน แต่การที่การลาออกของเขา ก็ไม่ได้แปลว่ามิตรภาพของพวกคุณจะจบลง ท้ายที่สุดแล้ว หลังจากผ่านความรู้สึก 5 ขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังลาออก ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว คุณก็ยังสามารถรักษาความสัมพันธ์และเจอกันนอกเวลาทำงานได้อยู่เสมอ
2. แยกงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกัน
แม้การมีเพื่อนสนิทในที่ทำงานจะมีข้อดีอยู่มาก แต่สุดท้ายแล้วการทำงานนั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงคือการมาทำหน้าที่บางอย่างเพื่อรับค่าจ้างเพียงเท่านั้น การมีเพื่อนร่วมงานคนสนิทเป็นเพียงองค์ประกอบเสริมสำหรับการทำงานเพียงเท่านั้น บางทีเราจึงควรต้องแยกแยะว่าชีวิตการทำงานนั้น อาจไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตส่วนตัวที่ต้องมีเพื่อนสนิทสักคนไว้ข้างกาย
3. สร้างความสัมพันธ์ใหม่ในที่ทำงาน
แน่นอนว่าเมื่อมีพนักงานคนเก่าออกไปก็ต้องมีพนักงานคนใหม่เข้ามา ดังนั้นจึงเป็นโอกาสอันดีในการผูกสัมพันธ์กับพนักงานใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา รวมถึงพนักงานคนอื่นๆ ที่อาจไม่ได้พูดคุยมากมายเท่าไรนักก่อนหน้า ตอนนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับเข้าไปทำความรู้จักเขามายิ่งขึ้น
4. มองที่เป้าหมายของตัวเองเป็นสำคัญ
สำหรับคนที่ยังนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนร่วมงานคนเก่าที่ลาออกว่า ทำไมจึงไม่เป็นตัวเอง ทำไมจึงยังอยู่ที่เดิม สุดท้ายแล้วก็ต้องหันกลับมาตั้งคำถามและตอบกับตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายของการทำงานในทุกวันนี้คืออะไร ซึ่งหากคำตอบยังหมายถึงการหาความท้าทายภายใต้องค์กรที่สังกัดอยู่เช่นเดิมนั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้สึกหวาดหวั่นกับการลาออกของพนักงานคนไหนๆ ตราบใดที่เป้าหมายของตัวเรายังชัดเจนและแน่วแน่อยู่ในปัจจุบัน
Tags: การลาออก, Work Tips, เพื่อนร่วมงานลาออก