แม้เวลาทำงานคือเวลาสำหรับการทำงาน 

แต่เมื่อเวลาเดียวกันนั้นกลับหมายถึง 1 ส่วน 3 ของชีวิตพนักงานออฟฟิศในแต่ละวัน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นนอกจากการทำงาน โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของพนักงานที่ควรจะได้กินอิ่ม นอนหลับ เพื่อให้ได้ใช้ร่างกายและสมองสร้างผลลัพธ์ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

สำหรับการนอน แม้อาจพูดได้ว่า ปกติแล้วมนุษย์ก็สามารถจัดสรรเวลานอนในช่วงนอกเวลางานได้ แต่ด้วยปัจจัยด้านการใช้ชีวิตหลายอย่างกลับพบว่า มนุษย์ในปัจจุบันมีการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ สอดคล้องกับงานวิจัยโดยสถาบันเฝ้าระวังสุขภาพแห่งชาติ (INVS) ในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า กลุ่มคนอายุ 25 ถึง 45 ปีซึ่งเป็นวัยทำงาน นอนหลับน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน 

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่หลายบริษัทต้องมาชั่งน้ำหนักถึงผลประโยชน์ โดยมีเงื่อนไขที่ว่า หากจัดให้มีช่วงเวลางีบสำหรับพนักงาน จะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นหรือไม่

ในทางทฤษฏี เรื่องนี้มีการศึกษามายืนยันแล้วว่า การที่พนักงานได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ช่วยให้การทำงานดีขึ้นจริง โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่เปรียบเทียบผลของการงีบหลับ คาเฟอีน และยาหลอก (Placebo) พบว่าในกลุ่มที่กินคาเฟอีนและยาหลอก แม้จะตื่นตัวขึ้นแต่กลับมีทักษะในการพูดและเคลื่อนไหวลดลง แต่ขณะเดียวกันกลุ่มที่ได้งีบหลับกลับมีค่าความดันโลหิตลดลงหลังจากตื่นนอน รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน และโรคเบาหวาน

อีกทั้งยังมีการศึกษาอื่นๆ เพิ่มเติมระบุว่า พนักงานที่ทำงานหลังจากงีบหลับจะมีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มคืน สามารถประมวลผลข้อมูล จดจำข้อมูล และแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพ ส่วนระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการงีบหลับนั้น ในงานวิจัยระบุว่า ระยะเวลาเพียง 30 นาที ก็เพียงพอต่อการขจัดอารมณ์ในเชิงลบและความเหนื่อยหน่ายในแต่ละวันแล้ว

อย่างไรก็ตาม การงีบหลับหากจะได้ประสิทธิภาพนั้น การได้นอนราบบนเตียงย่อมดีกว่ากว่าฟุบนั่งบนโต๊ะทำงาน ทั้งในแง่ของคุณภาพในการงีบหลับและการจัดการอย่างเป็นระบบ ต่อการงีบหลับของพนักงานในองค์กร ทำให้ปัจจุบันหลากหลายบริษัทมักมีการสร้างห้องสำหรับงีบหลับ (Nap Room) ในออฟฟิศ เพื่อให้พนักงานได้พักผ่อนอย่างเป็นสัดส่วนมากยิ่งขึ้น 

ดังนั้นหากบริษัทไหน กำลังประสบปัญหาพนักงานดูไร้เรี่ยวแรง หาวนอน ในช่วงบ่ายอยู่ตลอด อาจต้องคิดถึงการนำนโยบายนี้มาใช้ในออฟฟิศ แต่อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำหนดกฎเกณฑ์ ระยะเวลา และจำนวนการใช้บริการส่วนนี้ให้เหมาะสมกับรูปแบบการทำงาน และตำแหน่งต่างๆ ของพนักงานในออฟฟิศ

ที่มา:

https://www.smithsonianmag.com/science-nature/why-we-need-a-nap-room-in-the-office-168110266/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2603066/

https://www.napandup.com/en/blog/5-good-reasons-to-install-a-napping-space-in-your-company/

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3741412/

Tags: , , ,