เมื่อทำงานถึงเวลาหนึ่งจนปีกกล้าขาแข็ง เริ่มมีประสบการณ์ สามารถคุยกับลูกค้ารู้เรื่อง ตรวจงานน้องๆ จูเนียร์ได้ ขณะเดียวกัน ‘อายุ’ ก็เริ่มถึงเกณฑ์ที่ต้องเริ่มเติบโต เริ่มสามารถสั่งการตามลำดับอาวุโสได้ สิ่งสำคัญคือถ้าเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่ไม่ได้ใหญ่มากนัก ข้อเสนอที่คุณจะได้รับคือโอกาสให้ขึ้นเป็น ‘หัวหน้า’ 

อันที่จริง หัวหน้าเป็นตำแหน่งที่หลายคนปรารถนา ไม่ว่าจะด้วยลำดับอาวุโสที่หลายคนเห็นก็ต้องยกมือไหว้ เงินเดือน-สวัสดิการที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม หลายคนอยากเป็นหัวหน้า อยากเป็นผู้จัดการ อยากเป็นซีอีโอก็เพื่อเกียรติประวัติ แต่ในเวลาเดียวกัน บางคนก็เป็นหัวหน้าในวันที่ฝีมือไม่ถึง ความสามารถไม่ถึง แม้แต่งานตัวเองยังจัดการไม่ได้ จะให้วางยุทธศาสตร์องค์กรในระยะยาว สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงาน บริหารลูกน้อง บริหารทีม สื่อสารกับคนภายนอกก็อาจเป็นเรื่องยากลำบาก 

คำถามสำคัญคือ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณ ‘พร้อม’ ที่จะเป็นหัวหน้าคน ทักษะอะไรที่ควรมีในฐานะหัวหน้า แล้วเมื่อไรที่คุณควรรู้ว่าตัวเองไม่ไหวแล้ว และควรเปลี่ยนสายไปทำงานอื่น 

1. คนแก่ ไม่ได้แปลว่าเก่ง

ในองค์กรหนึ่งมีคนหลายรูปแบบ บางคนมีความสามารถจริง สามารถจัดการเรื่องราว 108 อย่างได้ตั้งแต่อายุยังไม่มาก ทั้งยังมีความคิดในเชิงยุทธศาสตร์ การจัดการองค์รวม มองปัญหาได้ทะลุปรุโปร่ง แต่กับบางคนอาจได้ขึ้นเป็นหัวหน้าตั้งแต่อายุน้อย เพราะมีมธุรสวาจา พูดเก่ง ประจบประแจงเก่ง พูดจาภาษาเดียวกับผู้มีอำนาจ ใช้ลิ้นเป็นอาวุธ หรือสามารถวาดวิมานในอากาศให้หัวหน้าเห็นได้ ทั้งที่ในทางปฏิบัติยังไม่มีอะไรการันตีว่าจะเกิดขึ้นจริง

องค์กรที่โปรโมตคนไร้ความสามารถขึ้นมามักไม่ได้มีตัวชี้วัดการทำงานที่ชัดเจน ขณะเดียวกันยังอาศัยความ ‘ใกล้ชิด’ และอาศัยความ ‘เชื่อง’ โดยใช้การเมืองภายในเป็นแรงขับ เมื่อ ‘นายใหญ่’ เลือกใช้ใคร คนนั้นก็กลายเป็น ‘นาย’ หรือ ‘หัวหน้า’ อีกที และนั่นจึงกลายเป็นความขัดแย้งที่จะตามมาอีกยืดยาวไม่รู้จบ จากการได้คนห่วยๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำ

2. มีความสามารถในด้านเดียวก็ไม่พอ

ไกด์ไลน์ว่าด้วยความเป็นผู้นำ (Leadership) ระบุไว้ว่า บางครั้ง ‘ความสามารถ’ ในด้านหนึ่งด้านเดียว ไม่อาจทำให้คนเป็นหัวหน้าที่ดีได้ และหัวหน้าในต่างแผนก หัวหน้าบนสุดต่างก็ต้องการความสามารถในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ฉะนั้น นอกเหนือจากเรื่องการบริหารงานแล้ว หัวหน้ายังต้องรับหน้าที่ ‘ให้คำปรึกษา’ และต้องรับหน้าที่ ‘ตัดสินใจ’ ในเรื่องที่ยากยิ่ง รวมถึงยังต้อง ‘สื่อสาร’ กับทุกคน ทุกแผนก อย่างเข้าใจและเท่าเทียมกัน รวมถึงในหลายครั้งยังต้องวางตัวให้อยู่ตรงกลาง ไม่ลงไปจัดการ Micromanagement กับทุกเรื่อง ทุกคน หากต้องกระจายอำนาจ กระจายตำแหน่งไปยังคนที่เหมาะสม เพื่อให้ทำงานได้ราบรื่น

ถึงจุดนี้จึงมีหลายคนที่เป็นหัวหน้าที่ดี แต่สื่อสารไม่เก่ง บางคนก็เป็นอาจารย์ที่ดี แต่เมื่อเป็นคณบดี เป็นอธิการบดี กระทั่งเป็นรัฐมนตรี กลับเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง ฉะนั้น การวางคนให้ถูกกับงาน และการประเมินความสามารถ ประเมินจุดแข็ง-จุดอ่อนของตัวเองก่อนรับงานใหญ่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

3. สภาพบีบบังคับให้ต้องเป็น ‘หัวหน้า’ เพราะไม่มีทางเลือก

อันที่จริง นอกจากความ ‘อยาก’ แล้ว บางคนก็ไม่ได้ตั้งใจเป็นหัวหน้า หากแต่ต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้ชำนาญการ (แบบข้าราชการ-องค์กรของรัฐ) เป็นตำแหน่งอาวุโส โดยไม่จำเป็นต้องบริหารงาน ไม่ต้องบริหารคน ปัญหาก็คือในโครงสร้างองค์กรรูปแบบใหม่ที่ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งลีน (Lean) ลงเรื่อยๆ ความจำเป็นของตำแหน่งอาวุโสเหล่านี้ก็ยิ่งค่อยๆ หายไป 

เรื่องที่ยากไม่แพ้การบริหารงาน คือการบริหาร ‘คน’ ให้อยู่มือ เพราะหลายครั้ง คุณก็ต้องทำหน้าที่ ‘อนุญาโตตุลาการ’ คอยไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง และหลายครั้ง ความขัดแย้งเหล่านั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับคุณเลยแม้แต่น้อย

หลักสำคัญคือคุณต้อง ‘ประเมิน’ ตัวเองให้ได้ว่า คุณพร้อมเป็นหัวหน้าจริงหรือไม่ พร้อมที่จะต้องรับฟังเรื่องของคนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับคุณ พร้อมที่จะให้คุณให้โทษ หรือคุณพอใจที่จะอยู่ในเซฟโซน ไม่ต้องมีความขัดแย้งกับใคร 

4. แล้วจะประเมินความพร้อมการเป็นหัวหน้าอย่างไร?

ก่อนอื่น คุณต้องจัดการตัวเองให้ได้ก่อนว่า การเป็นหัวหน้ามีเป้าหมายอย่างไร บางคนอาจมีเป้าหมายเพื่อท้าทายศักยภาพตัวเอง บางคนมีเป้าหมายเพื่อ ‘องค์กร’ ในการทำรายได้ ทำกำไรให้สูงที่สุด ขณะที่บางคนอาจมีเป้าหมายว่าด้วยการทำเพื่อสังคม และอีกหลายคนอาจไม่มีเป้าหมายอะไรเลย ถ้าเขาสั่งให้ทำก็ทำ

จากนั้น ข้อแนะนำสำคัญคือคุณต้องประเมินจุดเด่น-จุดด้อยของตัวเองให้ดีว่า มีอะไรที่เป็นข้อควรระวังบ้าง บางคนอาจมีจุดด้อยในฐานะ ‘คนอารมณ์ร้อน’ ขณะที่บางคนอาจมีจุดด้อยที่ ‘ไม่กล้าตัดสินใจ’ ฉะนั้น หากลองวาดภาพการทำงาน โดยเอาข้อดีข้อเสียไปทาบกับสถานการณ์จริงว่า ถ้าเป็นคุณจะจัดการอย่างไร 

และก่อนขึ้นเป็นผู้นำ อย่าลืมคุยกับทุกคน เพื่อถามหา ‘เป้าหมาย’ ในการทำงานว่า ตรงกันหรือไม่ และเป้าของแต่ละคนคืออะไร

หากเป็นไปได้ งานคุณอาจง่ายกว่าที่คิด

5. อย่าลืมว่าไม่มีใครเป็นผู้นำตั้งแต่เกิด

ข้อสำคัญของการเป็นผู้นำ คือต้องอาศัยเวลา หลายเรื่องไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิด แม้การอ่านหนังสือ การเตรียมหลักการแน่นๆ หรือฟังคอร์สอบรมว่าด้วยการเป็นผู้นำจะช่วยคุณเตรียมตัวได้ส่วนหนึ่ง

แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ ‘ประสบการณ์’ ยิ่งผ่านเวลานานขึ้น ปัญหาต่างๆ จะทำให้คุณแกร่งขึ้น ยิ่งนานวันคุณจะเรียนรู้ว่า ‘การฟัง’ ทำให้คุณรอบคอบยิ่งขึ้น คิดได้รอบด้านมากขึ้น ส่วน ‘การพูด’ จะทำให้คุณระมัดระวัง ‘ปาก’ มากขึ้น และ ‘การคิด’ จะทำให้คุณมองอะไรในเชิงหลักการ เชิงระบบ มองเป้าหมายในระยะยาวมากขึ้น รวมทั้งใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยลง

ทั้งหมดนี้คือข้อแนะนำเล็กๆ สำหรับคนที่ต้องขึ้นเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือโดยไม่ตั้งใจ แต่อย่าลืมว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย และไม่อาจสำเร็จได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

อ้างอิง

https://medium.com/@coachpadraig/signs-youre-ready-to-be-a-leader-and-a-few-signs-you-re-not-f7c449edc842

https://www.linkedin.com/pulse/leadership-checklist-doug-schumann/

Tags: , , , ,