ดื่มอีกแล้ว เมาค้างอีกแล้ว ทุกอย่างวนลูปกลับมาเป็นเหมือนเดิม บางทีการอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วย ‘นักดื่ม’ ก็ทำให้คุณหลีกเลี่ยงคำคะยั้นคะยอให้ดื่มด้วยได้ยากยิ่ง และหลายครั้ง วันที่ดื่มก็เป็นวันธรรมดา ไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์ ที่มีเวลาให้ตื่นมานั่งเมาค้างโง่ๆ แต่คุณต้องตื่นมาประชุมงาน พรีเซนต์งานตั้งแต่เช้าวันรุ่งขึ้นในทันที
คำถามก็คือในคืนที่ ‘จัดหนัก’ จะตื่นอย่างไรไม่ให้ปวดหัว ไม่ให้ ‘เมาค้าง’ ให้วันต่อมาสดชื่น แจ่มใส เหมือนวันปกติ
ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักการของการเมาค้างก่อนว่า หลักการสำคัญคือเมื่อแอลกอฮอล์ซึมเข้าสู่ร่างกาย จะถูกเปลี่ยนไปสู่รูปของอะซีทอลดีไฮด์ (Acetaldehyde) ซึ่งเป็น ‘สารพิษ’ อย่างหนึ่ง โดยปกติแล้ว ร่างกายจะกำจัดออกได้ด้วยเอนไซม์อะซีทอลดีไฮโดรจีนีส (Acetal dehydrogenase) แต่ในบางครั้ง ในบางคน ร่างกายอาจผลิตไม่ทัน ทำให้เกิดอาการเมาค้าง ชนิดตื่นมาก็ยังคงปวดหัว บ้านหมุนตุบๆ บางคนเกิดอาการคลื่นไส้ตลอดทั้งวัน บางคนเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย จนกระทบกับชีวิตประจำวั
Work Tips สัปดาห์นี้ ขอแนะนำวิธีการดื่ม และวิธีการปฏิบัติตัวไม่ให้เมาค้าง ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ ในเชิงจิตวิทยา และในเชิงการปฏิบัติจริง
1. ป้องกันไว้ก่อนคือคำตอบ
อย่าลืมว่าการดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องดื่มจนเมาหยำเป บางครั้งคำตอบอาจเป็นแค่จิบเฉยๆ สักแก้วสองแก้ว เพื่อเอาบรรยากาศ เอาฟีล เพราะรู้ดีว่าในวันรุ่งขึ้นก็ยังต้องทำงานหนักต่อไป
2. กินไปด้วย ดื่มไปด้วย ช่วยลดอาการเมา
นักดื่มทั้งหลายรู้ดีว่าการที่กินกับแกล้มไปด้วย คอหมูย่าง ถั่ว แล้วดื่มเบียร์ ดื่มเหล้าบ๊วย ดื่มไวน์นั้น สิ่งที่ต้องทำไปด้วยคือต้องกินไปพร้อมๆ กัน เพื่อลดอัตราแอลกอฮอล์ซึมเข้าไปในเส้นเลือด การที่มีโปรตีนและไขมันเติมอยู่ในท้องจะทำให้เมาน้อยลง และเมื่อเมาน้อยลง แอลกอฮอล์ซึมเข้าไปไม่มาก การดูดซับไม่มากนัก อาการเมาค้างก็จะน้อยลงตามไปด้วย
3. ดื่มน้ำให้มาก
สาเหตุสำคัญของการเมาเหล้าส่วนหนึ่งคืออาการ ‘ขาดน้ำ’ ก่อนหน้านี้ มีการพูดต่อกันว่า หากไม่อยากโดนจับในด่านเป่าแอลกอฮอล์ ให้ดื่มน้ำเยอะๆ 2-3 ลิตรยิ่งดี เผื่อจะช่วยไม่ให้หิวน้ำระหว่างโดนจับ (ฮา) เอาเข้าจริงแล้ว อาการเมาค้างนั้น ส่วนสำคัญมาจากการที่คุณขาดน้ำ ข้อแนะนำที่เป็นไปได้ก็คือ ทุกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คุณดื่ม ลองดื่มน้ำตามไปด้วยแก้วหนึ่งทุกครั้ง การปัสสาวะบ่อยๆ จะช่วยคุณระบายแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ดีขึ้น
4. นอน
ถ้าเริ่มเร็ว ก็ขอให้เลิกเร็ว หลักการสำคัญหลังดื่ม คือคุณต้องมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพออย่างน้อยก็ 7-8 ชั่วโมง การนอนเป็นวิธีหนึ่งในการขับฤทธิ์เหล้าออก ถ้านอนไม่พอ จะยิ่งทำให้คุณงัวเงีย อ่อนเพลีย ผสมปนเปไปกับอาการเมาค้าง แล้ววันรุ่งขึ้นของคุณก็จะดูไม่จืด
5. เครื่องดื่ม อาหารเสริมแก้เมาค้าง
ปัจจุบันมีอาหารเสริมจำนวนมากวางขายในท้องตลาด ทั้งรูปแบบซองชง หรือรูปแบบเครื่องดื่มเป็นขวดเล็กๆ องค์ประกอบสำคัญของเครื่องดื่มเหล่านี้คือเป็นเครื่องดื่มผสมวิตามินซีช่วยให้สดชื่น และเร่งการกำจัดแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย เร่งลดสารตกค้างในตับ ขณะที่เครื่องดื่มบางชนิดอาจผสมเกลือแร่ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้สดชื่นขึ้น
นอกจากนี้ยังมีสูตรว่าด้วยเครื่องดื่มอย่าง ‘น้ำขิง’ อาหารอ่อนๆ ร้อนๆ อย่างโจ๊ก ต้มจืด ก็ช่วยได้มากในบางคน แต่ในขณะที่บางคน อาหารเหล่านี้ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเช่นกัน…
6. ‘จังซี่มันต้องถอน’ อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง
สำนวนฝรั่งของการ ‘ถอน’ คือคำว่า ‘Hair of the dog’ หรือแปลตรงๆ ว่า ‘ขนหมา’ เรื่องมีอยู่ว่า ถ้าหมากัด ก็ให้ไปถอนขนหมาออกมา… ขณะที่คนไทยเชื่อว่า หากเมามากๆ เมาค้างมากๆ เช้ามาลอง ‘เหล้าขาว’ สักเป๊กอาจทำให้สดชื่นขึ้น
กระนั้นเอง ในทางการแพทย์ เรื่องนี้ไม่มีสมมติฐานใดๆ พิสูจน์ และในทางการแพทย์ก็ไม่มีใครแนะนำ เพราะนั่นแปลว่าแอลกอฮอล์จะยิ่งสะสมในร่างกายคุณเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันตับที่มีแอลกอฮอล์อยู่แล้วก็จะทำงานหนักขึ้นเช่นกัน ทว่าบางคนกลับบอกว่าการตื่นมาดื่มเบียร์สักแก้ว เหล้าสักเป๊ก (อย่ามากกว่านั้น) แล้วตามด้วยข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด กลับช่วย
เรื่องนี้ต้องทดลอง แต่ถ้าไม่ได้ผลก็อย่าว่ากัน
7. ระวังการดื่มกาแฟและการออกกำลังกายหนัก
แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้ยิ่งจะทำให้อาการเมาค้างบานปลายกันไปกว่าเดิม ด้วยคาเฟอีนนั้นจะทำให้ร่างกายคุณขาดน้ำเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน หากยิ่งออกกำลังในห้วงเวลาที่ผะอืดผะอม ก็จะทำให้เกิดอาการเสียน้ำในร่างกายเช่นกัน ฉะนั้นเคลื่อนไหวได้ แต่อย่าออกกำลังกายหนัก
สิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ก็คือ รู้จัก ‘ร่างกาย’ ของคุณให้ดี ว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากแค่ไหน อาการเมาค้างของคุณโดยปกติแล้วหนักหน่วงเพียงใด ขณะเดียวกัน วิธีแก้เมาค้างของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ฉะนั้นรู้จักตัวเองให้ดีเพื่อหาวิธีป้องกันให้ถูกทางจะดีที่สุด
ที่มา:
https://www.healthline.com/nutrition/7-ways-to-prevent-a-hangover
Tags: Work Tips, เมาค้าง, เมา, การทำงาน