ปัญหาสำคัญของสังคมแบบไทยๆ ก็คือการต้องแบกคนรุ่นพ่อแม่ไว้บนบ่า บนหลัง จนหลายคน ‘ปวดหลัง’ โดยไม่จำเป็น 

บางคนอยากมีความฝันที่จะไปเติบโตต่างประเทศ ก็ไปไม่ได้ เพราะยังต้องช่วยดูแลพ่อแม่ บางคนอยากย้ายบ้าน อยากซื้อบ้านเป็นของตัวเอง ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยังต้องช่วยครอบครัวผ่อนต่อไป บางคนหนักไปกว่านั้น เพราะพ่อแม่ขีดเส้นทางไว้แล้วว่าต้องรับราชการ ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็จำต้องเดินทางเส้นทางนี้ เพื่อในยามยากจะได้ช่วยเบิกค่ารักษาพยาบาลให้ในที่สุด

คำถามสำคัญก็คือ แล้วทำไมวัยเพิ่งเริ่มต้นทำงานทั้งหลาย จำต้องแบกคนรุ่นก่อนหน้าจนหนักขนาดนี้ แล้วทำไมมนุษย์วัยทำงาน วัยแห่งการสร้างตัว สร้างครอบครัวถึงไม่มีเส้นทางเลือกชีวิตของตัวเอง ทำไมการมีชีวิตเป็นของตัวเองถึงได้ยากเย็นนักในประเทศนี้

เรื่องทั้งหมด คุณไม่ได้เจออยู่คนเดียว หากแต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างร่วมกันของสังคมไทย เป็นปัญหาตั้งแต่ระดับนโยบาย โครงสร้างประชากร และลากเส้นไปได้ถึงคำว่า ‘ถ้าการเมืองดี..’ ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด

อันที่จริงมีปัจจัยใหญ่ๆ อยู่ 4 ข้อที่ The Momentum เห็นเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งสังคมไทย ทำลายคนรุ่นเก่า และตรึงเด็กรุ่นใหม่ไว้จนไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหนได้

1. ประเทศอันแห้งแล้งรัฐสวัสดิการ

ความล้มเหลวของคนรุ่นก่อนหน้าที่ทำให้ต้องพึ่งพาลูกหลานนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการที่ประเทศนี้ไม่มีระบบสวัสดิการอันดีไว้สำหรับดูแลประชากร โดยเฉพาะประชากรสูงวัยที่พ้นจากตลาดแรงงานไปแล้ว และปราศจากรายได้ไปโดยทันที

ลองคิดดูว่าถ้าวันหนึ่งคุณอายุ 60 ปี หลุดจากระบบการจ้างงาน ไม่มีรายได้เข้ามา แต่รายจ่ายยังคงเดิม มีเพียงเงินช่วยเหลือจากรัฐ 600 บาทต่อเดือน และถ้าวันหนึ่งบ้านเกิดพัง รถที่ใช้อยู่ทุกวันเกิดต้องซ่อมใหญ่ หรือบังเอิญตรวจพบโรคเรื้อรัง ชีวิตคุณจะอยู่อย่างไร… ทางเลือกเดียวคือหวังพึ่ง ‘ลูก’ ที่กำลังเข้าสู่วัยแรงงาน

แต่เรื่องเหล่านี้ จะไม่เกิดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มั่นคง แข็งแรง… สวีเดนให้บำนาญผู้สูงอายุเดือนละราว 4.6 หมื่นบาท เยอรมนีให้บำนาญผู้สูงอายุราว 5 หมื่นบาท ขณะที่ออสเตรเลีย ให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุราว 3 หมื่นบาทต่อเดือน หากอยู่อาศัยในประเทศมาแล้วนานเกิน 10 ปี

หลายคนอาจบอกว่าประเทศเหล่านี้ ประชาชนจ่าย ‘ภาษีเงินได้’ ในอัตราที่สูงพอที่จะสร้างระบบรัฐสวัสดิการ ซึ่งต่างกับประเทศไทยที่ภาษีเงินได้ยังไม่มากนัก คำถามก็คือแล้วทำไมไทยไม่ปรับปรุงระบบภาษีใหม่ หรือหาทางในฟากของ ‘รายรับ’ ฝั่งรัฐบาลใหม่เสียทีล่ะ?

ย้อนกลับไปหลายทศวรรษก่อนหน้า ประเทศไทยไม่เคยมีสวัสดิการใดๆ ให้กับประชากร คนกลุ่มใหญ่กลุ่มเดียวที่เข้าถึงสวัสดิการที่รัฐมอบให้คือ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่รัฐเห็นว่าต้องให้ ‘แรงจูงใจ’ บางอย่าง

สวัสดิการแรกที่ประเทศนี้มีคือระบบ ‘ประกันสังคม’ ถือกำเนิดขึ้นในปี 2534 ตามมาด้วย ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ในอีก 10 ปีถัดมา และเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน ในปี 2552 ขณะที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็คิดระบบ ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ มีวงเงินช่วยเหลือในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค หรือลดค่าใช้จ่ายต่างๆ

แต่ทั้งหมดนี้ ถ้าว่ากันตามตรง ก็ทำได้เพียงช่วยเหลือ สงเคราะห์ และแบ่งเบา มิได้เป็นสวัสดิการที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถ ‘อยู่ได้’ 

ลองคิดดูว่าถ้าคุณอายุ 60 คุณจะอยู่อย่างไรด้วยเงิน 600 บาท ลองคิดดูว่า ถ้าคุณป่วย หมดเรี่ยวหมดแรง แล้วยังต้องเอารองเท้าไปจองคิวเพื่อเข้ารับการรักษาในระบบ 30 บาทฯ เพียงลำพัง หรือลองคิดดูว่าถ้าคุณมีรายได้น้อย แล้วสามารถรับได้เพียงสิทธิใน ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ คุณจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ ลูกหลาน จึงเป็นทางเลือกเดียวในการที่คุณจะพึ่งพิง และโยงมาถึงข้อสำคัญข้อที่สอง

2. ระบบการออมที่ไม่มีอยู่จริง

แต่เดิมนั้น การเกิดขึ้นของระบบประกันสังคมคือกระตุ้นให้ประชากร ‘ออม’ มากขึ้น โดยเงินสมทบแต่ละเดือนที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม จะร่วมกับเงินที่รัฐบาลจ่าย และนายจ้างจ่ายก่อนจะถูกจ่ายคืนในฐานะ ‘บำนาญชราภาพ’ หลังเกษียณอายุ

ฟังดูเหมือนดี หากแต่ในระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบประกันสังคมแทบไม่ได้มีการพัฒนา และหลายคนยังวิพากษ์ว่าถอยหลังลงคลอง (เรื่องนี้คนใช้โรงพยาบาลของประกันสังคมบ่อยๆ คงพอเข้าใจได้) ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมอีกหลายสิบล้านคน ซึ่งไม่มีระบบบำนาญ

ขณะเดียวกัน หากดูตัวเลขบำนาญที่ระบบประกันสังคมจ่ายคืนแล้ว ก็แทบจะไม่ได้มีมรรคผลใดๆ เพราะคำนวณจาก 20% ของค่าจ้างเฉลี่ยช่วง 60 เดือนสุดท้าย (5 ปี) ก่อนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน โดยจะคำนวณโดยใช้ฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท  

นั่นหมายความว่าต่อให้สูงที่สุดเท่าไรก็ไม่เกิน 3,000 บาท ซึ่งเป็นบำนาญที่ยังไม่สามารถใช้ชีวิตได้จริง ซ้ำยังมีปัญหาใหม่คือเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และเด็กมีอัตราการเกิดน้อยลง ‘รายรับ’ จากผู้ประกันตนจะไม่เพียงพอกับรายจ่ายบำนาญให้กับคนชรา… ซึ่งวันนี้ ก็ยังไม่มีใครเสนอทางออกที่ชัดเจน

แล้วหากไม่ใช่ระบบประกันสังคม รัฐมีทางเลือกในการออมใดอีก? อันที่จริงมีระบบที่เรียกว่า ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ เกิดขึ้นเมื่อราวทศวรรษที่แล้ว ให้สะสมเงินออมโดยมีรัฐช่วยจ่ายสมทบให้ ปัญหาก็คือการประชาสัมพันธ์ไม่ได้มีมากนัก และคนรุ่นเก่าก็ออมไม่ทัน ขณะที่คนรุ่นใหม่ยังไม่รู้ว่ามี

3. ‘กับดักรายได้ปานกลาง’  

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในฝ่าย ‘เสรีนิยม’ หรือ ‘อนุรักษนิยม’ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือเศรษฐกิจของประเทศในรอบ 20 ปีหลังมานี้ ไม่ได้เฟื่องฟู รุ่งโรจน์ โชติช่วงชัชวาลเหมือนในอดีต และส่งผลกระทบกับผู้ที่เกษียณอายุราชการในช่วง 10 ปีที่แล้ว โดยตรง

อันที่จริง ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะ ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ หรือ Middle Income Trap มานานมากแล้ว เป็นภาวะที่ไม่รู้จะไปต่อทางไหน ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมสูงใหม่ๆ แล้วพาประเทศออกจากหล่มไปได้ ยังคงเป็นประเทศ ‘รับจ้างผลิต’ เพื่อการส่งออก แม้ประเทศผู้ว่าจ้างจะเปลี่ยนหน้าไปเรื่อยๆ จากสหรัฐอเมริกา เป็นญี่ปุ่น กระทั่งเป็น ‘จีน’ ก็ตาม

ถามว่า ‘เทคโนแครต’ ไทย รู้หรือไม่ว่าไทยกำลังเผชิญกับปัญหานี้ คำตอบก็คือรู้ จึงมีความพยายามในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ผ่านการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC โดยวาดหวังให้ไทยเป็นพื้นที่ของอุตสาหกรรมเทค หรือการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในวันที่เครื่องยนต์สันดาป ซึ่งเคยเป็นฮีโร่ของภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังหดหายไป

กระนั้นเอง EEC ก็ไม่ได้ส่งผลเร็ว และจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่ได้เป็นรูปเป็นร่างมากพอในการดัน GDP ไทยให้โตขึ้น หรือส่งเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาเพิ่มจนทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างที่วาดหวัง

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีพรรคการเมืองหรือมีใครก็แล้วแต่เสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มนายทุน และกลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ๆ จึงออกมาประสานเสียงไม่เห็นด้วยทุกครั้ง… ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หากรายได้ของเด็กจบปริญญาตรีอยู่ที่ 1.5 หมื่นบาท – 2 หมื่นบาท วันนี้ก็ยังอยู่ราวๆ นี้ ขณะที่ค่าครองชีพ ราคาอสังหาริมทรัพย์ กลับไม่ได้อยู่นิ่งอยู่กับที่

ความจริงก็คือการต่อสู้ทางการเมืองและความไม่ต่อเนื่องทางการเมืองได้ส่งผลสำคัญคือประเทศไทยขาดการวางอนาคตระยะยาว ไม่ได้มีนวัตกรรมใหม่ๆ และการลงทุนจากต่างชาติก็ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเคย สิ่งที่ไทยพึ่งหวังเพียงไม่กี่อย่างมีเพียง ‘การท่องเที่ยว’ ซึ่งรายได้ยังกระจุกอยู่กับคนบางกลุ่ม รวมถึงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา

กับดักรายได้ปานกลางส่งผลอย่างหนักกับผู้สูงอายุ คน Gen ก่อนหน้าเช่นกัน หากเศรษฐกิจของประเทศโตขึ้นต่อเนื่องในช่วง 20 ปีให้หลัง และไทยหาทางออกผ่านนวัตกรรม หรือการลงทุนบางอย่างเจอ พวกเขาอาจทำงานต่อได้ พวกเขาอาจมีรายได้เพิ่ม และพวกเขาอาจไม่ได้ยากลำบากจนต้องพึ่งพาคนอีกรุ่น

4. สังคมอุปถัมภ์ และเรื่องบุญคุณแบบไทยๆ

ข้อดีในอดีตของสังคมไทยก็คือเป็นสังคมที่อุปถัมภ์เลี้ยงดูพ่อแม่ ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องที่ระบบสวัสดิการรัฐต้องดูแล

ธรรมเนียมปฏิบัติส่งต่อมารุ่นสู่รุ่นทำให้เด็กรุ่นใหม่ยังต้องดูแลพ่อแม่ต่อไป เรื่องน่าเศร้าก็คือรัฐบาลทุกชุดไม่เคยวางระบบดูแลผู้สูงอายุให้เป็นกิจลักษณะ และนโยบายผู้สูงอายุมักจะเป็นนโยบายท้ายๆ เสมอ ไม่ว่าจะในด้านรายได้ หรือด้านระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่พ้นจากวัยทำงานจึงยังต้องอาศัยลูกหลานในการดูแลต่อไป

และหากมองในทางกลับกัน พ่อแม่จำนวนมากก็ใช้เวลาในช่วงที่ลูกยังอยู่ในระบบการศึกษา ส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ แพงๆ บีบให้ลูกเรียนสายวิทย์ฯ เพื่อเข้าคณะดีๆ ที่สามารถการันตีรายได้ หรือเพื่อให้เข้าสู่ระบบราชการ เข้าสู่การทำงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ลูกมีรายได้มากพอในการเลี้ยงบุพการีในอนาคต

ทั้งหมด จึงเป็นบุญคุณที่ต้องตอบแทน และทำให้กลุ่มวัยทำงานยังต้องดูแลพ่อแม่ต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดทาง

เรื่องทั้งหมดที่เอ่ยถึง สะท้อนว่าคน Gen ก่อนหน้า ล้วน ‘มีเหตุ’ ที่ล้มเหลว ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งโยงมาจาก ‘การเมือง’ เป็นเรื่องโครงสร้างล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องของปัจเจก และเป็นเรื่องน่าเห็นใจที่คน Gen ก่อนหน้าจะเป็น Gen ที่ล้มเหลว และพัวพันมาถึงคนรุ่นเรา

ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่อุ้มผู้สูงอายุโดยไร้สวัสดิการต่อไปไม่รู้จบ และส่งผลกับความฝันของเด็กไม่ว่าจะรุ่นก่อนหน้า รุ่นนี้ หรือรุ่นต่อไป

เพราะในที่สุด คำว่า ‘กตัญญู’ อาจไม่มีผลใดๆ หากเรายังมีปัญหาโครงสร้าง และระบบสวัสดิการ ระบบเศรษฐกิจ ยังคงเป็นแบบนี้ โดยไม่ได้รับการแก้ไข…

 

อ้างอิง

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_7Nov2017.pdf

https://www.visualcapitalist.com/ranked-the-best-and-worst-pension-plans-by-country/

Tags: , ,