สัปดาห์นี้ เทศกาลดนตรี วูดสต็อก (Woodstock) ปี 1999 หรือที่เรียกว่า Woodstock’99 เดินทางมาถึงวาระครบรอบ 20 ปีพอดิบพอดี มีบทความจากสื่อต่างประเทศมากมายออกมาร่วมรำลึกความหลัง ด้านหนึ่งมันถูกยกย่องว่านี่คือเทศกาลดนตรีร็อกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็ถูกตราหน้าว่าเป็นวันแห่งหายนะของวงการดนตรี จากบรรยากาศอันบ้าคลั่งของสาวกกว่า 200,000 คน ตลอด 4 วันทำการ ก่อนนำไปสู่ความรุนแรงทั้งเลือด ไฟ เหตุจลาจล และการล่วงละเมิดทางเพศ ชนิดที่ผู้จัด ศิลปิน และแฟนเพลงผู้ร่วมเหตุการณ์ต่างคาดไม่ถึง
Woodstock 1969 – ประวัติศาสตร์โลกไม่ลืม
คิดว่าเด็กรุ่นใหม่ยุคโซเชียล มีเดีย ไม่น่าจะคุ้นเคยกับ Woodstock เลยขออนุญาตเล่าความหลังพอสังเขป ว่า Woodstock คือเทศกาลดนตรีระดับตำนานแห่งสหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1969 โดยจัดขึ้นทั้งหมด 3 วันคือ 15-17 สิงหาคม ปี 1969 ที่ ไวท์ เลค (White Lake) ไร่วัวขนาดใหญ่ 600 เอเคอร์ในเมืองเบธเอล (Bethel) ของนาย แม็กซ์ ยาสเกอร์ (Max Yasgur) ชาวไร่ธรรมดาแต่กลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่ง Woodstock เมื่อเขายกสถานที่ให้ ไมเคิล แลง (Michael Lang) โปรโมเตอร์หนุ่มเนรมิตให้เป็นเทศกาลดนตรีขนาดยักษ์ที่รวมเอาศิลปินร็อกยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นอย่าง Sweetwater, Creedence Clearwater Revival, The Who, Santana และ Jimi Hendrix ขวัญใจร็อกเกอร์บุปผาชน มาบรรเลงเพลงขับกล่อมคนฟัง รวมถึงการแสดงงานศิลปะต่างๆ ภายใต้คอนเซปต์งานคือ ‘3 วันแห่งสันติภาพ’
ตลอด 3 วันทำการของ Woodstock ครานั้น มีแฟนเพลงผู้หลงใหลเสียงดนตรี, สันติภาพ และเหล่าฮิปปี้กว่า 400,000 ชีวิต มาร่วมสัมผัสประสบการณ์แห่งความสุขกันอย่างล้นหลาม แม้จะมีเสียงต่อต้านจากเพื่อนบ้านกลุ่มใหญ่ของ แม็กซ์ ยาสเกอร์ ที่ไม่ยินดีให้เหล่าคนดูในเมืองใหญ่เข้ามาบุกรุกพื้นที่บ้านของตัวเอง พร้อมกับทำแคมเปญต่อต้าน แต่สุดท้ายงานก็เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างสูง (เพื่อนบ้านที่ต่อต้านทีแรก กลับลำเปลี่ยนใจพากันเอาน้ำมาขายแก่คนดูอีกต่างหาก) แล้วเมื่อทุกอย่างสิ้นสุดลง เทศกาลดนตรี Woodstock กลายเป็นตำนานโลกไม่ลืม และมีการนำภาพ เสียง วีดีโอ ออกมาจำหน่ายให้รำลึกถึงกันอย่างสม่ำเสมอ
Woodstock’ 99 – จุดเริ่มต้นแห่งหายนะ
มนต์เสน่ห์ของ Woodstock เมื่อปี 1969 แม้จะผ่านมาเนิ่นนานแต่ก็ยังเปี่ยมมนต์ขลังข้ามยุคข้ามสมัย และเมื่อครั้นถึงปี 1999 ยุคสมัยที่วงการเพลงร็อก เมทัล เบ่งบานสุดขีด เทศกาลดนตรี Woodstock ก็ได้กลับมาทักทายแฟนเพลงอีกครั้งที่ลานกว้างของฐานทัพอากาศ กริฟฟิส แอร์ ฟอร์ซ ในกรุงนิวยอร์ก ผู้จัดกำหนดวันแสดงไว้เรียบร้อยคือ 22-25 กรกฏาคม ปี 1999 ซึ่งทันทีที่มีการประกาศจัดงาน สปอนเซอร์จากทั่วทุกสารทิศที่ได้กลิ่นผลประโยชน์แสนหอมหวลต่างกระโดดมาร่วมเป็นผู้สนับสนุนกันอย่างคับคั่ง รวมถึง MTV สถานีดนตรีระดับโลก ที่ขอรับหน้าที่ถ่ายทอดสดแบบ เปย์-เปอร์-วิว เป็นทางเลือกให้แก่แฟนเพลงที่ไม่ได้เดินทางมาชมแบบติดขอบเวที เลือกเอาเลยว่าอยากดูวงไหน จ่ายเงินแล้วกดรีโมตดูที่บ้าน กระนั้นก็มีเสียงบ่นจากคนที่ไปงานนี้บอกค่าตั๋วเข้าชมแพงฉิบหายที่ 150 ดอลลาร์ (ราว 4,630 บาท) แพงกว่าเทศกาลอื่นในยุคนั้น
ใครที่เป็นแฟนเพลงร็อก เห็นไลน์อัพ Woodstock หนนี้ต้องกรี๊ดเป็นแน่แท้เพราะนี่คืองานที่รวมเอาตัวเป้งไว้แบบครบครันเช่น Rage Against the Machine แร๊พเมทัล กระบอกเสียงอันเกรี้ยวกราดของเหล่าประชาชน, Red Hot Chili Peppers ฟังค์ร็อกสุดป่วน, KORN เจ้าพ่อแห่งโลกนูเมทัล, Limp Bizkit ที่กำลังโด่งดังสุดขีดกับอัลบั้มสอง Significant Other, แทรชเมทัล (Thrash metal) ผู้ยิ่งใหญ่ Metallica กับ Megadeth ขึ้นเล่นงานเดียวกัน, Alanis Morissette เจ้าแม่อัลเทอร์-กรันจ์ ที่มีแฟนคลับมากมาย ขณะที่สายฮิปฮอปกับสายอิเล็คโทรนิกส์ก็มีตัวเด็ดอย่าง DMX, Ice Cube, The Chemical Brothers, Fatboy Slim ฯลฯ มาร่วมเปิดฟลอร์ตั้งแต่บ่ายยันค่ำ
พิจารณาจากไลน์อัพที่เกริ่นไป ทุกคนย่อมนึกถึงภาพที่เหล่าวัยรุ่นผู้มีใจรักในเสียงดนตรี ต้องออกมาสนุก เซิ้งรำ กระโดด ปลดปล่อยกันอย่างเมามันแน่ๆ ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพียงแต่หลายคนที่อยู่ในงานคงไม่ได้คาดคิดว่าจะเจอฝันร้าย และหายนะ ในงาน Woodstock’99 เป็นของแถมไปอยู่ในความทรงจำ
ลางร้ายมาเยือน
หายนะเริ่มบังเกิดตั้งแต่ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศกว่า 220,000 คน เดินทางมาที่โดมเพื่อเข้าร่วมเทศกาลดนตรี Woodstock’99 ด่านแรกที่พวกเขาต้องเจอคืออากาศที่โคตรร้อนอบอ้าว มีการวัดได้ว่าอุณหภูมิความร้อนในงานสูงถึง 100 องศาฟาเรนไฮต์ รายงานของ บัลติมอร์ ซันส์ บอกว่ามีคนดูโดนพระอาทิตย์พิโรธเล่นงานถึงกับหมดสติเพราะขาดน้ำกว่า 700 ราย เจ้าหน้าที่พยาบาลต้องวิ่งมาดูแลปฐมพยาบาลกันให้วุ่น แม้แต่ศิลปินอย่าง Kid Rock ยังพูดออกไมค์ระหว่างโชว์บนเวทีว่าขอให้คนดูโยนขวดน้ำขึ้นมาหน่อย
ทางแก้ที่ง่ายที่สุดก็คือหาน้ำดื่มมาดับกระหาย ทว่าเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อน้ำดื่มที่ผู้จัดเตรียมไว้มีไม่เพียงพอ พ่อค้า-แม่ค้าที่ขายอาหารอยู่ในงานเมื่อรู้เรื่องนี้เข้าก็พากันอัปราคาน้ำดื่มฟันกำไรกันอย่างสนุกสนาน เริ่มต้นที่ขวดละ 4 ดอลลาร์ (ราว 120 บาท) แน่นอนว่าเป็นราคาที่ใครก็รับไม่ได้ แต่หากสถานการณ์บีบบังคับ หลายคนก็ยอมจ่ายซื้อไป เช่นเดียวกับของกินที่ถูกอัปราคาตามกันไปเช่น แซนด์วิช กับ ฮอทด็อก ชิ้นละ 5 ดอลลาร์ (ราว 150 บาท) , พิซซ่า ชิ้นละ 12 ดอลลาร์ (ราว 370 บาท) ใครทนหิวได้ก็แล้วไป ส่วนใครทนไม่ไหวก็ต้องจำใจควักเงินซื้อกินในราคาขูดรีด
การแสดงจุดความคลั่ง
ดนตรีร็อกนั้นได้ชื่อว่าเป็นแนวดนตรีที่ปลุกปั่นอารมณ์คนฟังให้พุ่งพล่านถึงขีดสุด ยิ่งศิลปินวงไหนแสดงสดได้ดุเด็ดถึงใจก็จะยิ่งส่งเสริมให้บรรยากาศในงานทวีความมันยิ่งขึ้นไปใหญ่ อย่างไรก็ตาม Woodstock’99 ดนตรีร็อกไม่เพียงแต่ทำให้คนดูกระโดดโลดเต้นกันสะใจ กลับกันมันยังปลุกสัญชาติญาณดิบของใครหลายคนให้ระเบิดออกมาจนกลายเป็นความรุนแรงชนิดที่ควบคุมไม่ได้
โดยเฉพาะสองวงนูเมทัลประจำงาน KORN กับ Limp Bizkit การสำแดงเดชอันดุเดือดของพวกเขาทำให้แฟนเพลงเรือนหมื่นที่ East Stage คุมตัวเองไม่อยู่ถึงกับทำลายข้าวของ รวมถึงกระทำการล่วงละเมิดทางเพศคนดูผู้หญิงอย่างน่าเกลียด จากปากคำของ เดวิด ชไนเดอร์ อาสาสมัครที่ดูแลงานระหว่างที่ KORN กำลังระเบิดเวทีอยู่ เล่ากับ MTV ว่าเขาเห็นหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังเล่นบอดี้เซิร์ฟ ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อายุราว 25-32 ปี ดึงตัวเข้าไปในฝูงมอชพิท (การแสดงออกถึงความสนุกของชาวร็อคที่ชอบเสียเหงื่อและนิยมการปะทะ แต่ไม่ใช่การตีกัน) พร้อมทั้งลวนลามเธอ “พวกเขายึดแขนเธอไว้ และคุณก็ต้องเห็นได้ชัดว่าเธอกำลังดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดออกมา
ความเลวร้ายยังไม่จบเมื่อ Limp Bizkit ที่ขึ้นเล่นในวันถัดมา อารมณ์ของผู้ชมพีคถึงขีดสุดถึงขั้นดึงแผ่นไม้ที่ติดไว้ใกล้เวทีออกมาทำเป็นกระดานเซิร์ฟเล่นกันอย่างสนุกสนาน เฟรด เดิร์ส นักร้องนำจอมซ่า พยายามพูดออกไมค์ให้ผู้ชมหันมาดูการแสดงบนเวที แต่ก็ทำได้ยากเพราะคนดูสติกระเจิงกันหมดแล้ว และที่น่าเศร้าคือระหว่างที่วงกำลังเล่นเพลงฮิตอย่าง Break Stuff มีหญิงสาวรายหนึ่งถูกข่มขืนในดงคนดูเรือนหมื่นนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจให้การเรื่องนี้กับ วอชิงตัน โพสต์ ถึงเหตุการณ์อัปยศว่า “มีผู้ชาย 2 คนพยายามใช้นิ้วมือและสิ่งแปลกปลอมยัดเข้าไปในร่างกายของหญิงสาวอายุ 24 ปีที่อยู่ในวงมอชพิท ก่อนที่ใครคนหนึ่งนั้นจะลงมือข่มขืนเธอ และด้วยฝูงชนที่แออัดทำให้เธอร้องขอความช่วยเหลือไม่ได้” อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็จับตัวผู้กระทำผิดคนนั้นได้ในเวลาต่อมา
ทะเลเพลิงที่ Woodstock’99
ไม่เพียงแค่การทำลายข้าวของในงานหรือการล่วงละเมิดทางเพศ เหล่าคนดูแสนบ้าคลั่งที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ ยังจัดการเนรมิตเปลวเพลิงสีแดงฉานให้เกิดขึ้นไปทั่วทั้งงาน โดยมีเสียงดนตรีของศิลปินดังเป็นตัวปลุกเร้า อาทิ Rage Against The Machine ที่จุดไฟเผาธงชาติสหรัฐอเมริกา ระหว่างแสดงสดเพลงสุดท้าย Killing in the Name จนทำเอาอารมณ์คนดูกระเจิดกระเจิงถึงขีดสุดไปจุดไฟเผาไม้กระดาน ป้ายผ้า ทำลายรถยนต์กันอย่างสนุกสนาน
เช่นเดียวกับ Red Hot Chili Peppers ที่ขึ้นโชว์เป็นวงปิดวันสุดท้าย นอกจาก ฟลี มือเบสจอมยียวนที่เปลือยกายปล่อยน้องชายห้อยโตงเตงจนคนดูฮือฮาตลอดโชว์ การแสดงเพลง Fire ที่วงเอาเพลงของ Jimi Hendrix ออกมา cover ส่งท้าย ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ตามจุดต่างๆ เพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งการเผาเต็นท์ร้านค้า, เผารถ, โค่นเสาวิทยุ รวมถึงคนดูวัยรุ่นบางส่วนอาศัยจังหวะชุลมุนไปขโมยน้ำ, อาหาร, เสื้อยืดที่ระลึก และคนดูต่อยตีจลาจลกันเอง ร้อนถึงเจ้าหน้าที่ทหารในฐานทัพต้องออกมาควบคุมสถานการณ์ เคิร์ท โลเดอร์ นักข่าวของ MTV ถึงกับบรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นในงานนี้ว่า “เหตุอันตรายเต็มไปทั้งงาน น่ากลัวเหลือเกิน ชัดเจนว่าเราต้องออกไปจากที่นี่”
วันแห่งความตายของวงการดนตรี
San Francisco Chronicle หนังสือพิมพ์ประจำถิ่นเขียนคำจำกัดความต่อหายนะที่เกิดขึ้นตลอด 4 วันของ Woodstock’99 ว่า “The Day The Music Died” ขณะที่เมื่อเหตุการณ์สงบลง มีการสรุปความเสียหายต่างๆโดยพบว่าตู้ ATM ในงานถูกทำลายทั้งหมด, เต็นท์ขายของถูกเผาราบ, รถเทรลเลอร์ถูกเผา 12 คัน และมีเหตุวิวาทตามจุดต่างๆ 7 คดี โดยเจ้าหน้าที่จับกุมตัวผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด 44 ราย, มีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 10,000 คน และมี 8 คนที่แจ้งความว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ข่าวคราวด้านลบของ Woodstock’99 ถูกเผยแพร่ตามสื่อทั้งทีวีและอินเตอร์เน็ตอย่างใหญ่โตหลังจบงาน เหล่าผู้จัดถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องความปลอดภัยที่หละหลวมจนเกิดเหตุร้ายในหลายพื้นที่ จอห์น เชอร์ หนึ่งในโปรโมเตอร์จัดงาน ออกมากล่าวขอโทษสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาประกาศอย่างมั่นใจว่างาน Woodstock’99 จะได้รับการดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างดี ขณะเดียวกันเจ้าตัวก็กล่าวโทษเหล่าคนดูไร้สติที่ก่อเรื่องทำลายข้าวของและล่วงละเมิดผู้หญิงจนกลายเป็นความน่าอัปยศของเทศกาล
ทั้งนี้ ไม่ว่าใครจะคิดถึงมันในด้านไหน Woodstock’99 ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของวงการดนตรีโลก หน้าหนึ่งมันอาจถูกเขียนว่าเป็นห้วงเวลาที่บันทึกยุคสมัยความยิ่งใหญ่ของดนตรีร็อกที่มีอิทธิพลต่อชีวิตวัยรุ่นอเมริกันอย่างมหาศาล (กลับมาที่ยุคปัจจุบันถูกเพลงป๊อปยึดพื้นที่สื่อไปหมดแล้ว) ส่วนอีกหน้าหนึ่งมันก็เปรียบเสมือนบทเรียนชั้นดีของเหล่าผู้จัดเทศกาลดนตรีทั่วโลกต้องศึกษาในหัวข้อเรื่องที่ว่า “การจัดเทศกาลดนตรีที่ดีนั้นเป็นอย่างไร”
ทิ้งท้าย
ปี 2019 ไมเคิล แลง ชายผู้ร่วมให้กำเนิดเทศกาลดนตรี Woodstock 1969 และทีมงานพยายามปลุกผีเทศกาลดนตรีนี้ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยกำหนดวันไว้เสร็จสรรพ 16-18 สิงหาคมนี้ ในชื่อ Woodstock’50 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของเทศกาลดนตรีในตำนานที่เขากับ แม็กซ์ ยาสเกอร์ ร่วมกันสร้างขึ้นครั้งอดีต พร้อมจัดไลน์อัพศิลปินน่าชมทั้ง Jay-Z, Imagine Dragons, The Killers, Miley Cirus, Robert Plant ฯลฯ อย่างไรก็ตาม มีคำถามมากมายว่างานนี้มันจะเกิดขึ้นหรือไม่เพราะปัจจุบันยังไม่ประกาศขายบัตรเลย (อ้าว..) แถมสถานที่จัดงานก็ยังสรุปไม่ได้ว่าจะจัดที่ไหน ทั้งที่ใกล้งวดจัดงานเข้ามาทุกที ยิ่งไปกว่านั้น สปอนเซอร์หลายเจ้าก็เริ่มทยอยถอนตัวไปเพราะความล่าช้าต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้รายงานข่าวบอกว่า Woodstock’50 ถูกยกเลิกไปแล้วแต่ทีมผู้จัดก็ยังบอกให้รอติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด อย่าตื่นตระหนกไป เราจะทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ คนที่อยากสัมผัสความขลังของ Woodstock ก็ต้องรออย่างมีความหวังกันไปแม้จะดูริบหรี่เหลือเกิน
Tags: เทศกาลดนตรี, Woodstock