เรื่องราวของอ็อกกี้และ Wonder เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2008 หลังจาก อาร์. เจ. ปาลาซิโอ (นามปากกาของ ราเคล จารามิลโล) รู้สึกผิดกับการกระทำของตัวเอง
วันนั้นเธอกับลูกชายวัยสามขวบกำลังต่อแถวซื้อไอศกรีม ลูกชายของเธอมองเห็นเด็กหญิงคนหนึ่งที่มีใบหน้าผิดปกติและเริ่มร้องไห้ เธอจึงรีบพาลูกชายออกมา เพราะกลัวว่าเขาจะทำให้เด็กคนนั้นรู้สึกไม่ดี “แต่กลายเป็นว่าฉันเองนั่นแหละที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง”
ปาลาซิโอรู้สึกละอายใจ และหลังจากได้ฟังเพลง ‘Wonder’ ของนาตาลี เมอร์แชนต์ เธอก็ตระหนักได้ว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับทุกคนในสังคม
“ฉันเริ่มคิดว่า จะเป็นอย่างไรถ้าต้องอยู่ในโลกที่คนอื่นไม่รู้ว่าจะทำตัวกับคุณอย่างไรในทุกๆ วัน ฉันเริ่มเขียนหนังสือในคืนนั้นเลย”
Wonder ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 และติดอันดับหนังสือขายดีของ The New York Times รวมทั้งได้รับรางวัลการันตีอีกหลายรางวัล ก่อนที่สองผู้อำนวยการสร้าง ทอดด์ ลีเบอร์แมน และเดวิด โฮเบอร์แมน จะมอบหมายให้สตีเฟน ชาบอสกี ถ่ายทอดเรื่องราวในหนังสือเป็นภาพยนตร์
ออกัสต์ ‘อ็อกกี้’ พูลแมน (เจคอบ เทรมเบลย์) หนูน้อยวัย 10 ขวบ เกิดมาพร้อมกับโรค Treacher Collins กระดูกโครงหน้าของเขาเกิดความผิดปกติ ทำให้เขาต้องผ่านการผ่าตัดถึง 27 ครั้ง แต่ถึงกระนั้น รูปหน้าของเขาก็ผิดแปลกจากคนทั่วไปอยู่ดี
อ็อกกี้เรียนหนังสือกับแม่ที่บ้าน เขาไม่เคยมีเพื่อนวัยเดียวกัน และต้องสวมหมวกนักบินอวกาศแทบจะตลอดเวลาเพื่อปิดบังใบหน้า
เนตและอิซาเบล พูลแมน (โอเวน วิลสัน และจูเลีย โรเบิร์ต) พ่อและแม่ของอ็อกกี้ รู้ดีว่าวันหนึ่งลูกชายตัวน้อยต้องเผชิญกับโลกภายนอกด้วยตัวเอง ครอบครัวพูลแมนจึงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งของอ็อกกี้ วันที่เขาต้องไปโรงเรียนวันแรก
จากจุดเริ่มต้น ดูเหมือนเรื่องราวทั้งหมดของ Wonder จะเวียนวนอยู่กับอ็อกกี้ แน่นอนว่าเขาเป็นศูนย์กลางของเรื่องนี้ แต่เมื่อตัวหนังสือบนจอปรากฏคำว่า Via และมีเสียงของหญิงสาววัยรุ่นบอกเล่าเรื่องราวของเธอ ผมก็เข้าใจเจตนารมณ์ของ อาร์. เจ. ปาลาซิโอ มากขึ้น และเรื่องราวของผู้คนรายรอบอ็อกกี้นี่เองที่เติมเต็มความครบถ้วนสมบูรณ์ให้กับ Wonder
โอลิเวีย ‘เวีย’ พูลแมน (อิซาเบลา วิโดวิช) สาวน้อยวัย 15 ปี คือพี่สาวผู้อุทิศตัวให้กับน้องชายแบบเต็มกำลัง เธอไม่ใช่จุดสนใจของพ่อและแม่ กระทั่งความสัมพันธ์กับเพื่อนที่สนิทที่สุดก็ดูเหมือนจะมีปัญหา
เวียจำเป็นต้องแข็งแกร่ง เพราะเธอรู้ดีว่าพ่อกับแม่มีภาระหนักในการดูแลน้องชาย และถึงแม้เธอจะอิจฉาความใส่ใจที่อ็อกกี้ได้รับ แต่เธอก็มีความสัมพันธ์ที่แสนจะพิเศษกับอ็อกกี้
ผมชอบบทสนทนาระหว่างเธอกับน้องชาย เธอรักและเป็นห่วง แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้น้องชายเข้มแข็งและยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง เธอจึงไม่โอ๋ ไม่ตามใจ แต่อ็อกกี้ก็รู้อยู่ตลอดเวลาว่าเขามีพี่สาวอยู่เคียงข้างเสมอ
เช่นเดียวกับเนตและอิซาเบล เนตเป็นทั้งพ่อและเพื่อนซี้ของลูกชาย ขณะที่อิซาเบลก็เก็บซ่อนความตึงเครียดและความวิตกกังวลไว้ในระดับกำลังดี
ครอบครัวพูลแมนรู้ดีว่าการลดช่องว่างระหว่างโลกภายนอกกับอ็อกกี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และความเสี่ยงที่จะทำไม่สำเร็จก็มีอยู่สูง แต่ทุกคนก็ฝ่าฟันเดินไปข้างหน้าด้วยกันอย่างน่าประทับใจ
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งใน Wonder คือการทำความเข้าใจโลกของเด็กและวัยรุ่น เพราะเอาเข้าจริง เด็กแต่ละคนก็มีปัญหามากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ปัญหาของอ็อกกี้อาจจะเห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่การปรากฏตัวของเขาก็สะท้อนให้เห็นปัญหาของคนอื่นๆ เช่นกัน
นอกจากเรื่องราวอันน่าประทับใจระหว่างอ็อกกี้กับคนอื่นๆ สิ่งที่ Wonder ทำก็คือการปลุกให้เยาวชนลุกขึ้นต่อต้านการกลั่นแกล้งและการแบ่งแยกภายในโรงเรียน โดยหลังจากหนังสือวางแผง อาร์. เจ. ปาลาซิโอ ก็ได้พูดคุยกับเด็กๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อจุดประกายให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และคำพูดของ ดร. เวย์น ดายเออร์ ที่คุณครูบราวน์ (ดาวีด ดิกส์) แนะนำให้อ็อกกี้และเพื่อนๆ ได้รู้จักในวันเปิดเทอม ก็น่าจะเป็นบทสรุปที่ดีที่สุดของ Wonder
“If you have a choice between being right and being kind, choose kind.”
Tags: Movie, ภาพยนตร์, เด็กและเยาวชน, Wonder, จูเลีย โรเบิร์ต, bully