1
คนแบบไหนจัดว่าเป็น ‘ผู้หญิง’ ได้บ้างครับ?
ผู้หญิงที่มดลูกไม่แข็งแรง เลยมีลูกไม่ได้ จัดเป็นผู้หญิงหรือเปล่า ก็ใช่ อาจจะเป็น
แล้วถ้าเป็นผู้หญิงที่เกิดมาแต่ ‘ไม่มีมดลูก’ เลยล่ะครับ อย่างนี้ถือว่าเป็นผู้หญิงหรือเปล่า
คำถามที่ว่า What is a woman? คือคำถามที่นักสตรีนิยมถามไว้นมนานแล้ว และจนถึงบัดนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
2
ในปี 2011 คริสทีน เคซี (Kristine Casey) หญิงที่ถูกมองว่าชราแล้ว คืออยู่ในวัย 61 ปี ได้ให้กำเนิดทารกน้อยคนหนึ่ง
แต่ทารกที่ว่าไม่ใช่ลูกของเธอนะครับ หนูน้อยที่เพิ่งคลอดออกมานั้นเป็น ‘หลาน’ ของคริสทีนต่างหากเล่า!
อ้าว! ยังไงกัน ทำไมคลอดออกมาจากมดลูกแท้ๆ ถึงไม่ได้เป็นแม่ล่ะนี่?
คำตอบก็คือ จริงๆ แล้ว เด็กคนนี้เป็นลูกของซารา คอนเนลล์ (Sara Connell) ซึ่งเป็นลูกของคริสทีนอีกที แต่ปัญหาก็คือ ซารามีลูกยากมาก ก่อนหน้านี้เธอเคยตั้งท้องลูกแฝด แต่พอคลอดออกมา ลูกแฝดที่ว่าก็เสียชีวิต แล้วหลังจากนั้นเธอก็ท้องอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าแท้ง เธอจึงหมดกำลังใจที่จะมีลูก ทำให้แม่ของเธอ ซึ่งก็คือคริสทีน ต้องออกปากว่าถ้าเป็นไปได้ แม่จะขอ ‘อุ้มบุญ’ ให้ลูกแทน
อาการ MRKH เกิดกับผู้หญิงราวหนึ่งใน 5,000 คนตั้งแต่เกิด นั่นคือมักจะเกิดมาโดยไม่มีมดลูก
ปกติแล้วหมอไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสูงวัยขนาดคริสทีน (ที่ประจำเดือนหมดแล้ว) ตั้งท้องอุ้มบุญหรอกนะครับ แต่ในบางกรณี แพทย์ก็อนุญาตได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นญาติกัน เพราะว่าภูมิคุ้มกันอะไรต่างๆ มันจะเข้ากันได้ ความเสี่ยงที่มีจึงต่ำลงพอที่จะทำได้ แต่กระนั้นก็ต้องเข้าตรวจสอบและประเมินผลอะไรต่างๆ มากมาย เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของรัฐอิลลินอยส์ที่อาศัยอยู่ และในกรณีของคริสทีน ผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาดี ทารกน้อยเพศชายชื่อฟินเนียน (Finnean) คลอดออกมาอย่างปลอดภัยและแข็งแรง
มีผู้หญิงมากมายในโลกนี้ที่มดลูกมีปัญหานะครับ ทำให้พวกเธอไม่สามารถมีลูกได้ หรือมีโอกาสที่จะมีลูกน้อยกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ อย่างในกรณีของซารานี่ถือว่ายังดี เพราะเธอมีแม่ที่ให้ยืมมดลูกมาใช้ แต่ผู้หญิงอีกมากโชคไม่ดีอย่างนี้ ทำให้ไม่สามารถมีลูกได้
3
ผู้หญิงที่ ‘โชคไม่ดี’ ถึงขนาดเกิดมาโดย ‘ไม่มีมดลูก’ นั้นมีอยู่จริงนะครับ
ผู้หญิงเหล่านี้มักเกิดมาพร้อมกับอาการที่เรียกชื่อยากเย็นมากๆ ว่า ‘Mayer-Rokitansky-Kuster-Hauser Syndrome’ หรือ MRKH ซึ่งเกิดกับผู้หญิงราวหนึ่งใน 5,000 คนตั้งแต่เกิด นั่นคือมักจะเกิดมาโดยไม่มีมดลูก (คือ Uterus) หรือในบางรายก็ไม่มีช่องคลอด (Vagina) หรือไม่ก็มี แต่ว่าไม่พัฒนาขึ้นมาเต็มที่ แต่คนที่เป็น MRKH เหล่านี้จะเกิดมาโดยมีรังไข่ (Ovaries) อยู่นะครับ ร่างกายจึงผลิตไข่ได้ แต่ไม่มีอวัยวะโอบอุ้มไข่
ผู้หญิงเหล่านี้จะเรียกว่าโชคดีก็พอได้ เพราะพวกเธอโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่มีประจำเดือนเป็นปัญหาให้ต้องมาคอยดูแลกันทุกเดือน แต่อีกปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อไม่มีมดลูก พวกเธอก็ไม่สามารถมีลูกด้วยตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าพวกเธอจะไม่สามารถมีลูกได้เลยร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ เพราะอย่างที่บอกว่าพวกเธอยังมีรังไข่อยู่ เมื่อมีรังไข่ก็ต้องมีไข่ เมื่อมีไข่ก็ต้องมีความหวัง
ความหวังแรกก็คือการให้คนอื่นอุ้มบุญให้อย่างที่คริสทีนอุ้มบุญให้ลูกสาว แต่อีกวิธีหนึ่งที่ฟังดูก้าวหน้าน่าตื่นตะลึงมากกว่าก็คือ ก็ในเมื่อไม่มีมดลูก สิ่งที่ทำได้ก็คือการ ‘ปลูกถ่าย’ มดลูกใส่เข้าไปในตัวเสียเลยสิ
นี่ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นนะครับ เพราะว่ากรณีแบบนี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ โดยในเดือนกันยายน ปี 2015 ผู้หญิงสวีเดนคนหนึ่งวัย 36 ปี ได้คลอดเด็กชายออกมา ผู้หญิงคนนี้มีอาการ MRKH เธอจึงไม่มีมดลูก แต่ยังมีรังไข่อยู่ เธอเข้าร่วมโครงการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์กในสวีเดน และได้รับการปลูกถ่ายมดลูกจากผู้หญิงวัย 61 ปี อีกคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนของเธอ จากนั้นก็มีการทำปฏิสนธิเทียมในหลอดแก้ว และปลูกถ่ายตัวอ่อนลงไปในมดลูกที่ถูกปลูกถ่ายอีกทีหนึ่ง
การอุ้มบุญทำให้ผู้อื่นต้องเกิดความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์หลายอย่าง เพราะฉะนั้นการปลูกถ่ายมดลูกจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและเป็นความหวังใหม่ให้ผู้หญิงไร้มดลูกที่อยากเป็นแม่
เรื่องนี้เป็นความสำเร็จครั้งแรก ซึ่งจะทำให้ผู้หญิงอีกหลายคนมีหวังขึ้นมา เนื่องจากการอุ้มบุญนั้นยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในหลายประเทศ (โดยเฉพาะในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส รวมไปถึงประเทศอย่างออสเตรเลียและแคนาดาด้วย)
ที่สำคัญ การอุ้มบุญยังทำให้ผู้อื่นต้องเกิดความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์หลายอย่าง เช่นอาจจะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงถาวรชนิดที่ต้องกินยาไปตลอดชีวิตก็ได้ ยังไม่นับรวมความเสี่ยงจากการคลอดอีก เพราะฉะนั้นการปลูกถ่ายมดลูกจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและเป็นความหวังใหม่ให้ผู้หญิงไร้มดลูกที่อยากเป็นแม่หลายคน
แต่แค่นี้ยังไม่พอ!
เพราะเมื่อเราสามารถปลูกถ่ายมดลูกที่ได้รับบริจาคจากคนอื่นลงไปในตัวได้แล้ว คำถามถัดมาก็คือ เอ…แล้วทำไมไม่ปลูกถ่ายมดลูกของตัวเองลงไปเสียเลยล่ะ
ฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์นะครับ แต่ ‘มดลูกวิศวพันธุกรรม’ นั้น มีแล้วจริงๆ โดยแพทย์จะใช้หลายวิธีในการ ‘สร้าง’ มดลูกขึ้นมา วิธีหนึ่งก็คือสร้างมดลูกขึ้นจากสเต็มเซลล์ที่ได้จากไขกระดูกของคนคนนั้น จากนั้นก็เอามาเลี้ยงให้โตขึ้นมาเป็นมดลูก แล้วก็ปลูกถ่ายเข้าไปในตัว ทำให้มดลูกที่ได้เป็นมดลูกที่มาจากร่างกายของตัวเองโดยตรง จึงไม่เกิดการปฏิเสธเนื้อเยื่อ ปัญหาก็จะน้อยกว่าการใช้มดลูกจากผู้บริจาค
อีกวิธีหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้เป็น MRKH คือมีมดลูกอยู่ แต่มดลูกอ่อนแอ ไม่ปกติ ทำให้มีลูกไม่ได้ ก็คือการเอาเซลล์จากมดลูกนี่แหละมาเลี้ยง (ซึ่งวิธีเลี้ยงก็ซับซ้อนนะครับ เพราะต้องเปลี่ยนจากเซลล์ที่มีความจำเพาะเจาะจงสูงให้กลับมาเป็นเซลล์ธรรมดาๆ ก่อน จะได้โตได้ในห้องปฏิบัติการ) เมื่อได้ออกมาเป็นมดลูกแล้วก็ปลูกถ่ายกลับเข้าไปในร่างกาย ซึ่งมดลูกนี้ก็จะไปเติบโตในร่างกายอีกทีหนึ่ง
ที่น่าตื่นเต้นขึ้นไปอีกระดับหนึ่งก็คือ ถ้าเราสามารถสร้างมดลูกขึ้นมาได้จากการทำพันธุวิศวกรรมแล้วละก็ เป็นไปได้หรือเปล่าที่เราจะสร้างมดลูกประเภทที่ไม่ต้องปลูกถ่ายฝังเข้าไปใน ‘ร่างกาย’ ของผู้เป็นแม่เลย คือใครอยากเป็นแม่คนก็แค่เอาไข่มาผสมกับอสุจิ แล้วให้มดลูกที่อยู่ภายนอกเป็นผู้ดูแลไปจนครบเก้าเดือนแล้วค่อยคลอดออกมา
แน่นอน ความคิดแบบนี้ย่อมเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก สายหนึ่งน่าจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ประหลาด ผิดศีลธรรม ไปก้าวก่ายกับงานของพระเจ้าอะไรทำนองนั้น แต่ถ้าเป็นนักคิดสายเฟมินิสม์บางคน อาจจะบอกว่าเป็นเรื่องน่าสนใจดีก็ได้
เคยมีบทความชื่อ ‘Baby in a Box’ เขียนโดย นาตาลี แองเจียร์ (Natalie Angier) ตีพิมพ์ในนิวยอร์กไทม์ส บทความนี้พูดถึงเทคโนโลยี ‘มดลูกประดิษฐ์’ (Aritificial Uterus) ที่จะทำให้แม่ไม่ต้องใช้ร่างกายของตัวเองในการมีลูก
เฟมินิสต์อย่าง ชูลามิธ ไฟร์สโตน เขียนไว้ว่าเทคโนโลยี ‘มดลูกประดิษฐ์’ จะช่วยปลดปล่อยผู้หญิงออกจาก ‘ทรราชย์ทางชีววิทยาการสืบพันธุ์’
นอกจากงานเขียนนี้แล้ว ยังมีบทความเกี่ยวกับ ‘จริยธรรมชีวภาพ’ (Bioethics) อีกชิ้นหนึ่ง ชื่อ ‘Ectogenesis: Artificial Womb Technology and the Future of Human
Reproduction’ ที่ทำนายไว้ในอนาคตอันใกล้นี้ การเกิดของมนุษย์จะไม่ต้องเป็น ‘ภาระ’ ของผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไปแล้ว
คำว่า Ectogenesis เป็นคำที่นักพันธุศาสตร์อังกฤษอย่าง เจ. บี. เอส. ฮาลเดน (J.B.S. Haldane) คิดขึ้นตั้งแต่ปี 1924 เป็นคำที่ใช้เรียกวิธีถือกำเนิดแบบที่ใช้มดลูกประดิษฐ์นี่แหละครับ (จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้เกิดมานานมากแล้ว) แต่ฮาลเดนบอกว่าจำเป็นต้องทำอย่างนี้เพื่อคัดเลือกอสุจิและไข่ที่ ‘เหนือกว่า’ ในทางพันธุกรรม เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์มนุษยชาติให้อยู่รอด
ในขณะที่มุมมองของเฟมินิสต์อย่าง ชูลามิธ ไฟร์สโตน (Shulamith Firestone) เธอเขียนไว้ในงานชื่อ The Dialectic of Sex ตั้งแต่ปี 1970 ว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยปลดปล่อยผู้หญิงออกจาก ‘ทรราชย์ทางชีววิทยาการสืบพันธุ์’ (Tyranny of Reproductive Biology)
จะเห็นได้เลยว่า ความคิดนำมาซึ่งเทคโนโลยีหรือวิทยาการ แล้วเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ย้อนกลับมาขึ้นรูปความคิดของเราอีกครั้งหนึ่ง ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่แล้วเรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษนี้ กำลังจะเป็น ‘เรื่องใหญ่’ ให้เราได้ถกเถียงกันต่อไปอีกในอนาคต
ใครคือผู้หญิง ผู้หญิงต้องมีคุณสมบัติแบบไหนถึงจะครบถ้วนในความเป็นหญิง – คำถามเหล่านี้อาจไม่ต้องการคำตอบอีกต่อไป เพราะหากเทคโนโลยีเปลี่ยน ความคิดเปลี่ยน คำถามก็อาจต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นเดียวกัน
ภาพประกอบโดย ปรางวลัย พูลทวี
Tags: นวัตกรรม, Feminist, มดลูก, การสืบพันธุ์, ชีววิทยา, biology, ผู้หญิง, womb, Feminism