วันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันแห่งความรัก วันที่จะมีโปรโมชันมา 2 คนลด 50% ซื้อคู่คุ้มกว่า สั่งเซตเมนูวาเลนไทน์แถมเค้กรูปหัวใจทุกโต๊ะ ซื้อแหวนคู่วันนี้พร้อมสลักชื่อฟรี
พอมองเช่นนี้ ‘วันวาเลนไทน์’ ก็ดูเหมือนเป็นวันเชิดชูคนมีคู่เสียมากกว่าการพูดถึงความรักในภาพกว้าง
แน่นอนว่าการมีคู่ครองเป็นสิ่งสวยงาม การที่มนุษย์ฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาทางโลกมากมายเพื่อค้นพบ 1 ใน 8,000 ล้านคนที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างพวกเขาเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ที่มุมมืดเล็กๆ ในวันวาเลนไทน์ ‘ผู้มีความรักต่อตนเอง’ อีกมากกำลังถูกเหยียบย่ำและผลักออกจากความเป็น ‘ปกติ’
‘คนโสด’ ถูกแปะป้ายต่างๆ นานา บ้างว่าเป็นผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จทางความสัมพันธ์ บ้างว่ามีรูปโฉมไม่ดีพอให้ถูกเลือก หรือในบางสังคมอย่างประเทศจีน ที่ให้ความสำคัญในการผลิตประชากรและสร้างครอบครัว ถึงขั้นเรียกคนโสดในช่วงวัยหนึ่งว่าเป็น ‘ของเหลือ’ เพราะพวกเขาอยู่คนเดียวมาเกินช่วงวัยที่จะต้องแต่งงานมีลูก
ทำไมกัน ทำไมค่านิยมแบบนี้ถึงกระจายเป็นวงกว้างไปหลายพื้นที่
ค่านิยมฝังหัว ‘โสด = ล้มเหลว’
ภาพยนตร์เรื่อง The Lobster โดยผู้กำกับ ยอร์กอส ลานทิมอส (Yorgos Lanthimos) บอกเล่าเรื่องราวในโรงแรมแห่งหนึ่งที่มีกฎว่าผู้เข้าพักทุกคนจะต้องหาคู่ให้ได้ภายใน 45 วัน มิเช่นนั้นจะถูกแปลงสภาพไปเป็นสัตว์อื่น ด้วยวิธีการย้ายสมองและจิตสำนึกไปยังร่างกายของสัตว์ใดก็ตามที่ผู้เข้าพักเลือก หมายความว่า หากคุณโสด คุณจะถูกตัดสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ไปตลอดกาล และต้องใช้ชีวิตในร่างของสัตว์อื่นทั้งที่ยังรู้ตัวและมีความทรงจำเช่นเดิม ความโชคดีเดียวที่มีคือสิทธิ์ที่ได้เลือกชนิดของสัตว์
การอุปมาอุปไมยของภาพยนตร์เรื่องนี้ คิดดูก็โหดร้ายและน่าขบขันในคราเดียวกัน แต่พอคิดต่อไปอีกสักครู่ก็ต้องหยุดขำ เพราะมันไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเลยแม้แต่น้อย ความโสดถูกทำให้เป็นความผิดมหันต์เช่นนั้นจริง
ในโลกตะวันตกเริ่มมีการใช้คำว่า ‘Single Shaming’ อย่างแพร่หลาย คำดังกล่าวใช้เรียกพฤติกรรมการเหยียดหยามคนโสด ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์หรือตั้งคำถาม
ทำไมถึงยังโสด?
ช่วงนี้มีคุยกับใครอยู่บ้างไหม?
ไม่มีเลยหรือ คงเหงาน่าดู
ไม่เป็นไรนะ สักวันก็ต้องเจอคนที่ดี
การกระทำเช่นนี้จากคนรอบตัวส่งผลให้คนโสดหลายคนเริ่มเข้าสู่สภาวะตั้งคำถามต่อคุณค่าของตัวเอง (Self Doubting) จากที่เคยอยู่ได้สบายใจดี ก็เริ่มคิดว่าเราผิดอะไร ทำไม่คนอื่นถึงถามแบบนั้น หรือเราไม่มีคุณค่ามากพอที่จะบรรลุบรรทัดฐานของสังคมได้ ในขณะเดียวกัน สื่อที่เสพทุกวันก็คอยประโคมภาพความสมหวัง คู่รักและการแต่งงานว่าเป็นสิ่งที่จะพาชีวิตของมนุษย์ทุกคนไปยังจุดจบบริบูรณ์ที่สวยงาม พอรู้เช่นนั้นก็พานให้ต้องรีบออกตามหา ไปเที่ยวสถานบันเทิงดีไหม หรือจะเริ่มนัดบอด หรือโหลดแอปพลิเคชันหาคู่
แอลลิสัน อับรามส์ (Allison Abrams) นักจิตอายุรเวทในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC) ต่อประเด็นนี้ว่าความละอายใจที่เกิดจากทัศนคติทางสังคมที่มีต่อคนโสด สามารถส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของพวกเขาได้ แม้คนรอบตัวจะไม่ได้กดดันหรือแสดงออกชัดเจน แต่ลึกๆ แล้วคนโสดรู้ดีว่าการไปไม่ถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตตามมุมมองของสังคม เช่น การแต่งงานและมีลูก ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นคนล้มเหลว
โดยเฉพาะกับคนโสดที่กำลังมองหาคู่อย่างตั้งใจ พวกเขาจะรู้สึกถึงแรงกดดันจากความคาดหวังล่องหนนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้แอลลิสันยังเล่าต่ออีกว่าความรู้สึกจมกับความผิดหวังต่อตนเองในเรื่องการหาคู่ครอง สามารถพัฒนาไปเป็นอาการซึมเศร้าได้
บทความบนเว็บไซต์ Psychology Today ในหัวข้อ ‘ทำไมผู้คนถึงไม่ชอบความโสด’ เผยแพร่ข้อมูลจากงานวิจัย 2 ชิ้น ชิ้นแรกชื่อว่า ‘การเหมารวมนิรนามและการเลือกปฏิบัติต่อคนโสด’ (The Unrecognized Stereotyping and Discrimination Against Singles) โดยเบลลา เอ็ม. เดอเปาโล (Bella M. DePaulo) และเวนดี แอล. มอร์ริส (Wendy L. Morris) ทั้งคู่เลือกทำแบบทดสอบกับนักศึกษาชาวอเมริกัน ระดับปริญญาตรี 1,000 คน โดยให้พวกเขาระบุลักษณะที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่แต่งงานแล้ว และระบุลักษณะของคนที่ยังโสด ผลที่ได้คือบุคคลแต่งงานแล้วได้รับการอธิบายว่าเป็นผู้ใหญ่ ใจดี มีความสุข ซื่อสัตย์ และมีความรัก
ในทางกลับกัน คนโสดถูกอธิบายว่าเป็นคนไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ปลอดภัย เอาแต่ใจตัวเอง ไม่มีความสุข โดดเดี่ยว และน่าเกลียด
งานวิจัยอีกชิ้นชื่อว่า ‘อยู่เป็นโสดในโลกที่แต่งงานแล้ว: ผู้หญิงที่ไม่เคยแต่งงานในยอกยาการ์ตาและเมดาน’ (STAYING SINGLE IN A MARRIED WORLD: Never-married women in Yogyakarta and Medan) โดยออกัสตินา สิทุโมรัง (Augustina Situmorang) พบว่าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่มองการเป็นโสดเป็นความล้มเหลวทางสังคม ผู้หญิงอินโดนีเซียถูกสังคมกำหนดให้เป็นภรรยาและแม่ เพราะนั่นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ในฐานะผู้หญิง และความสามารถในการสืบสายเลือดของสามีให้ดำรงอยู่ต่อไป การแต่งงานจึงกลายเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผู้หญิงได้รับการยอมรับในชุมชน
จากข้อมูลข้างต้นสามารถอนุมานได้ว่า ‘ความโสด’ กลายเป็นเรื่องน่ากลัวของปัจเจกบุคคล เพราะเหตุที่จะตามมาจากหลังความโสดคือพวกเขากลัวว่าตนจะถูกตัดสิน ถูกมองในแง่ลบ และลดทอนคุณค่าทางสังคม
ด้วยเหตุนี้ทำให้คนที่ไม่สามารถมีคู่ได้ตามความคาดหวังของสังคม หันหน้าเข้าหาความสำเร็จด้านอื่นในชีวิตแทน เพราะไม่อยากให้สถานะทางความสัมพันธ์มากำหนดภาพลักษณ์ของตัวเอง
ในประเทศจีนผู้หญิงที่ถูกตีตราว่าเป็น ‘เชิงนู’ (Sheng-nu) หรือ ‘ของเหลือ’ เริ่มใช้ความสำเร็จด้านการงาน เงิน และวัตถุ เพื่อต่อสู้กับค่านิยมอันโหดร้ายของการเป็นโสด
บทความบนเว็บไซต์ The Conversation เกี่ยวกับปรากฏการณ์การสู้กลับของผู้หญิงในจีนต่อค่านิยมดังกล่าว นำเสนอข้อมูลว่าปัจจุบันผู้หญิงโสดกว่า 7 ล้านคนอายุระหว่าง 25-34 ปีในเขตเมืองของจีน มีส่วนอย่างมากในการเติบโตของประเทศ เพราะประชากรเพศหญิงมีส่วนสร้างค่า GDP ของจีนคิดเป็น 41% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของประเทศใดๆ ในโลก
นั่นทำให้เห็นว่าหญิงโสดชาวจีนกำลังเปลี่ยนวิธีที่คนอื่นมองพวกเธอผ่านอำนาจทางเศรษฐกิจ พวกเธอกำลังใช้ประโยชน์จาก ‘ลัทธิบริโภคนิยม’ (Consumerism) เพื่อต่อต้านค่านิยมที่ป้ายความอัปยศที่ทำกันอย่างยาวนานต่อสถานะโสดของพวกเธอ
“ในวันรวมญาติ ป้าพูดจาหยอกล้อกับพ่อแม่ว่าทำไมฉันถึงยังโสด ในความคิดของป้า ฉันดูเหมือนความอัปยศของครอบครัว ฉันอยากกู้หน้าให้พ่อแม่ เลยเริ่มปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเองและสวมใส่เสื้อผ้าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ” แหล่งข่าวเพศหญิงไม่ประสงค์ออกนามวัย 33 ปี ให้สัมภาษณ์กับ The Conversation
สิทธิทางสังคมที่ ‘คนโสด’ ไม่ได้รับหรือบางครั้งถูกลิดรอน
ช่วงพุทธศักราช 2487 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการออกกฎหมายข้อหนึ่งชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติพาสีชายโสด พุทธสักราช 2487’ ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 ความว่า
‘ชายที่มีภาวะเปนโสดหรือผู้ที่ไม่มีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ขาดจากกันแล้ว และเป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปีละ 960 บาทขึ้นไป ให้เก็บพาสีชายโสดเป็นเงิน 5 บาท หรือในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า’
กฎหมายดังกล่าวจะยกเว้นการเก็บภาษีชายโสดที่เป็นพระภิกษุ พ่อเลี้ยงเดี่ยว ผู้ต้องโทษอาญาอยู่ในเรือนจำ ผู้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ผู้ที่สมรสไม่ได้โดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ บุคคลวิกลจริต หรือผู้รับราชการทหารกองประจำการ หรือตำรวจตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร
เห็นได้ชัดเลยว่าความกดดันให้มีคู่ไม่ได้ล่องลอยตามอากาศ หรือผ่านมาตามคำพูดกดดันของคนรอบตัวเท่านั้น แต่ครั้งหนึ่งมันเคยปรากฏให้เห็นเชิงกายภาพ คนที่อยู่คนเดียวจะต้องจ่ายเงินพัฒนาประเทศมากกว่าคนมีคู่ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตโดยไม่บรรลุเป้าหมายของสังคมที่จะต้องสร้างครอบครัวหรือผลิตประชากร
จากข้อความข้างต้น เราแทบจะไม่พบคำว่า ‘ความสัมพันธ์’ หรือ ‘ความรัก’ อยู่เลย เพราะสถานะเหล่านั้นถูกสังคมแปรเปลี่ยนเป็น ‘หน้าที่’ ไปเสียแล้ว
ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกนโยบายเช่นนี้มาเพื่อกดดันให้คนต้องมีคู่ อย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีกฎหมายมากกว่า 1,000 ฉบับ ว่าด้วยผลประโยชน์ทางกฎหมายและการเงินที่บุคคลผู้มีสถานะสมรสแล้วจะได้รับ
กฎหมายเหล่านั้นประสบความสำเร็จแบบครึ่ง-ครึ่ง ชาวอเมริกันส่วนมากตัดสินใจแต่งงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์เกี่ยวเนื่อง แต่อีกครึ่งหนึ่งเลือกครองตัวเป็นโสดเพราะตระหนักว่ารางวัลเหล่านี้แลกมากับกฎระเบียบที่เข้มงวด อันจะทำให้ชีวิตขาดอิสระ
อย่างไรก็ตาม แม้สังคมจะพยายามป้อนแนวคิดหรือความกดดันให้คนโสดจากหลายทาง สิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้อ่านที่กำลังหวาดกลัวการเป็น ‘ของเหลือทางสังคม’ พึงระลึกไว้กับหัวใจของตน คือความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบังคับให้เกิดขึ้นได้ตามบรรทัดฐานใด
ไม่ว่าคุณจะอยู่คนเดียวตอนนี้ หรือกำลังก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการแอบรัก ศึกษาดูใจ ตกลงคบหา หรือแต่งงาน ไม่มีสิ่งใดการันตีว่ามันจะคงอยู่ตลอดไป ความผิดหวัง เรื่องขัดแย้ง ความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึก วันนี้รัก พรุ่งนี้ไม่ เกิดขึ้นได้แบบไร้สัญญาณเตือน ฉะนั้นการอยู่ต่อหรือปล่อยมือจากความสัมพันธ์ใดก็ตามจึงไม่ควรถูกยึดโยงกับความกลัวที่จะต้องโดดเดี่ยวในวันแห่งความรักเช่นนี้
ที่มา
https://www.psychologytoday.com/us/blog/happy-singlehood/201910/why-people-dont-singles
https://prachatai.com/journal/2013/09/48603
https://orge.medium.com/does-capitalism-hate-single-people-d8e4655b3e24
Tags: วาเลนไทน์, ทุนนิยม, Knowledge, Wisdom, ความรัก, Capitalism, Relationship, Single Shaming, LOVE, Single, sadness, Dating, ความสัมพันธ์, คนโสด, valentine