เป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้วหลังจากที่รัสเซียได้ส่งกองกำลังทหารต่างๆ เข้าไปยังประเทศยูเครน โดยจุดประสงค์คือไม่ต้องการให้ประเทศยูเครนเข้าร่วม องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ (NATO) ทำให้สายตาของทั่วทั้งโลกต่างจับจ้องไปยังประเทศยูเครน ที่กำลังพยายามอย่างหนักในการป้องกันการบุกรุกจากรัสเซีย

หลังจากผ่านสัปดาห์แห่งความตึงเครียด ประชาคมโลกก็ได้แสดงออกถึงจุดยืนในการสนับสนุนยูเครน รวมถึงทำการคว่ำบาตร และจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ ของรัสเซีย ทำให้แม้กระทั่งประชาชนชาวรัสเซียเองก็เริ่มออกมาเรียกร้องให้หยุดสงครามที่มีแต่ความสูญเสียนี้เสียที

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทั่วโลกจะออกมากดดันให้รัสเซียทำการถอนกำลังทหารเพื่อหยุดการสูญเสีย และมีการเจรจาสันติภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็มีเพียงแค่การหยุดยิงชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้อพยพเท่านั้น ทำให้สงครามนี้อาจไม่จบลงง่ายๆ เพราะหัวเรือใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่จะสั่งการกองทัพรัสเซียอย่างประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน ซึ่งล่าสุดก็มีการวิเคราะห์กันว่า ลักษณะของปูตินนั้นอาจสะท้อนให้เห็นถึงคุณสมบัติของคนที่เข้าข่ายโรคจิต (Psychopath)

ดร.ซิฟ โคเฮน (Ziv Cohen) จิตแพทย์นิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา เป็นผู้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ดังกล่าว เนื่องจากว่าเมื่อนำการกระทำ ภาษากาย และคำพูดต่างๆ ของปูตินไปทำการประเมินทางจิตวิทยา ปูตินได้คะแนนสูงใน 3 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตของคนโรคจิต เช่น ความก้าวร้าว (Aggression), การหลงตัวเอง (Narcissism), และการขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Lack of empathy)

“เขาไม่ได้บ้า เขามีเสน่ห์ คิดมาก และเจ้าเล่ห์ ซึ่งสำหรับคนโรคจิต คุณไม่สามารถพัฒนาความเข้าใจร่วมกันกับเขาได้ คุณไม่สามารถตกลงกับพวกเขาได้ พวกเขาจะตอบสนองเฉพาะกับพลังที่เหนือกว่า (Superior force) และภัยคุกคามด้วยพละกำลัง (Credible threat of force) เพียงเท่านั้น” โคเฮนกล่าว

ทั้งนี้ โคเฮนได้แสดงให้เห็นถึงประวัติการออกคำสั่งต่างๆ ของปูตินว่าอาจจะมีความใกล้เคียงกับลักษณะของคนโรคจิต โดยยกตัวอย่างว่า ปูตินมีประวัติในการต่อสู้กับความขัดแย้งทางอาวุธ โดยแทบไม่ต้องกังวลต่อการบาดเจ็บล้มตายของพลเรือน เช่น มีการใช้กำลังอย่างหนักเพื่อปราบปรามการจลาจลแบ่งแยกดินแดนในเชชเนีย และยกระดับการต่อสู้ที่เมืองกรอซนีย์ในปี 2543

นอกจากนี้ โคเฮนยังยกตัวอย่างเพิ่มเติมอีกว่า ปูตินช่วยประธานาธิบดี บัชชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรียรักษาอำนาจท่ามกลางการจลาจลในปี 2554 โดยทำลายแนวราบของพลเรือน แม้กระทั่งการใช้ระเบิดเจาะเข้าไปในโรงพยาบาลใต้ดินแต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็มีผู้ออกมาแสดงความเห็นโต้แย้งการวิเคราะห์ของโคเฮนว่าไม่เป็นความจริง โดย รีเบกาห์ คอฟเลอร์ (Rebekah Koffler) อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองกลาโหมของรัสเซีย และผู้เขียนหนังสือ ‘คู่มือปูติน: แผนลับของรัสเซียเพื่อเอาชนะอเมริกา’ ทำการโต้แย้งว่า หลักการคิดของปูตินไม่เข้าข่ายตามครรลองของโลกตะวันตกหรืออเมริกา เพราะฉะนั้น การที่นักจิตวิทยาทั้งหลายชอบที่จะตีความว่าปูตินเป็นเผด็จการที่จิตใจไม่ปกติ ไปจนถึงการนำไปเปรียบเทียบกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือ โจเซฟ สตาลิน นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม

“การกระทำของเขาสะท้อนให้เห็นถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและมาตรฐานพฤติกรรมของรัสเซีย ซึ่งวิธีการทำสงครามของรัสเซียแตกต่างจากแบบตะวันตกมาก พวกเขาไม่ใส่ใจกับการเสียชีวิตของพลเรือนมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จของภารกิจ นั่นคือการกำจัดศัตรูด้วยวิธีการใดๆ ที่จำเป็น” คอฟเลอร์กล่าวโต้แย้ง

ท้ายที่สุด โคเฮนก็ออกมาอธิบายว่าการวิเคราะห์ของเขาไม่ใช่การกล่าวหาแต่อย่างใด เพราะว่าการวินิจฉัยบุคคลสาธารณะที่เขาไม่ได้ตรวจสอบเป็นการส่วนตัวถือเป็นการละเมิดกฎจริยธรรมในวิชาชีพของเขา เพียงแต่เขาประเมินการกระทำของปูตินในด้านของบุคลิกภาพเท่านั้น

Tags: , , ,