วัยเด็กคือช่วงเวลาอันแสนสั้น ที่ทำให้ชีวิตอันยาวนานมีความหมาย
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘ทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว’ ซึ่งความเป็นเด็กในที่นี้ คงไม่ได้แปลว่าเราจะยังเป็นเด็กคนเดิมที่ตั้งตารอดูการ์ตูนโปรดเรื่องเดิมในวันหยุด หรือเป็นหนูน้อยที่ร้องไห้งอแงเพราะอยากได้ของเล่น แต่มันคือวิธีคิดหรือพฤติกรรมบางอย่าง ที่เป็นผลมาจากตัวตนและเรื่องราวที่เคยได้พบเจอในวัยเด็ก
คำว่า ‘Inner Child’ หรือความเป็นเด็กในตัวเรา เป็นแนวคิดทางจิตวิทยาที่ถูกนำมาใช้อธิบายว่าการที่เราเป็นเราได้นั้น นอกจากเหตุการณ์ที่เจอและจดจำได้ในตอนโตหรือการพบกับจุดเปลี่ยนบางอย่างแล้ว ช่วงชีวิตตั้งแต่อดีตอันหมายถึงวัยเด็กและช่วงระหว่างการเติบโตก็ยังสำคัญในการสร้างตัวตนของคนคนหนึ่งมากเช่นกัน
แนวคิดดังกล่าวริเริ่มโดย คาร์ล กุสตาฟ ยุง (Carl Gustav Jung) จิตแพทย์ชื่อดังผู้สร้างองค์ความรู้เรื่องจิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ โดยแนวคิด Inner Child เกิดขึ้นหลังจากที่เขาได้สำรวจถึงความรู้สึกภายในใจของตนเองว่ายังคงมีลักษณะเหมือนเด็ก ซึ่งคาร์ลเชื่อว่าสิ่งนี้มีอิทธิพลต่อการกระทำของทุกคนในตอนโต และภายในตัวของเรามีเด็กที่ไม่มีวันเติบโตซ่อนอยู่
Inner Child จึงเป็นได้ทั้งความร่าเริงสดใส ความสนุกสนาน การกล้าคิดฝันแบบเด็กที่ไม่ต้องสนใจเงื่อนไขชีวิตอะไรมากมาย หรือการได้คิดถึงเหตุการณ์น่าประทับใจที่นึกทีไรก็รู้สึกเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้คือ Inner Child ที่ช่วยหล่อเลี้ยงตัวตน และทำให้แต่ละวันดำเนินต่อไปอย่างมีชีวิตชีวามากขึ้น
ขณะเดียวกัน Inner Child ก็ยังหมายรวมถึงประสบการณ์ไม่ดี หรือความรู้สึกฝังใจบางอย่างจากประสบการณ์ในตอนเด็กที่กระทบจิตใจจนส่งผลไปถึงตอนโต จนอาจเรียกได้ว่าเป็นบาดแผลทางจิตใจในวัยเด็ก หรือ Childhood Trauma
Childhood Trauma เกิดได้จากหลายสาเหตุ หลักๆ คือการพบเจอกับเหตุการณ์ที่สร้างความรู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นในทางตรง เช่น การโดนทำร้ายร่างกาย การประสบอุบัติเหตุ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือบาดแผลในจิตใจจากการได้พบเห็นและซึมซับความรุนแรง อย่างการเห็นผู้ใหญ่ทะเลาะกัน หรือต้องโดนดุด่าจนฝังใจ ซึ่งบาดแผลที่ว่านั้นมันไม่ได้จบลงแค่ในช่วงวัยเด็ก
‘โหยหาความรักจากคนอื่นมาก เพราะตอนเด็กไม่เคยรู้สึกถึงความรักที่พ่อแม่ควรจะมีให้’
‘เติบโตพร้อมกับการที่ต้องพิสูจน์ตัวเองตลอดเวลาว่าเป็นคนเก่ง เพราะจะถูกผู้ใหญ่ชื่นชมต่อเมื่อประสบความสำเร็จ’
‘เชื่อว่าตัวเองคือสาเหตุของปัญหา แม้ว่าจะเป็นเหยื่อ’
เรื่องราวในใจที่ถูกแสดงออกผ่านพฤติกรรมต่างๆ อาจเป็นผลมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก แนวคิด Inner Child จึงได้ถูกนำมาใช้มากในการบำบัดจิต เพื่อรักษาบาดแผลทางจิตใจแก่เด็กน้อยที่กำลังเจ็บปวดอยู่ในร่างผู้ใหญ่ โดยกระบวนการบำบัดจิตมักเป็นไปในรูปแบบของการเริ่มต้นพูดคุย ทำความรู้จักกับตัวเอง เช่น การเขียนจดหมายถึงตัวเองตอนเด็ก
สิ่งสำคัญของการบำบัดจิตด้วยวิธีนี้ คือการได้ค้นพบตัวเอง และยอมรับว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไร โอบกอดทั้งสิ่งดีและความเจ็บปวดด้วยจิตใจที่เข้าอกเข้าใจ หรือเป้าหมายว่ามันจะช่วยให้เราได้เห็นตัวเองและสิ่งที่เป็นไปมากขึ้นในอีกมุม
ถึงอย่างนั้น ต้องย้ำว่าทุกปัญหาทางจิตใจหรือทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นผลมาจาก Inner Child เพียงอย่างเดียว เพราะเพียงทฤษฎีเดียวที่คงไม่สามารถปรับใช้ได้กับทุกอย่าง โดยเฉพาะกับปัญหาทางจิตใจที่มีความซับซ้อน และปัจจัยแวดล้อมที่แต่ละคนมีย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้น แม้ว่า Inner Child จะมีประโยชน์ในการช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเอง แต่มันก็ไม่ใช่ทางออกของทุกปัญหา และการหมกมุ่นกับอดีตมากเกินไปก็ไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน
บ่อยครั้งเราคิดว่าถ้าย้อนเวลาไปในอดีตและแก้ไขสิ่งหนึ่งได้ อะไรๆ ในตอนนี้อาจดีขึ้น หรือสำหรับคนที่เคยมีช่วงเวลาที่ดี คงเคยหวนนึกถึงวันวานแสนสดใส และคิดว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นอีกครั้งเหลือเกิน
แต่ในเมื่อมันไม่มีทางเกิดขึ้น เราอาจใช้แนวคิด Inner Child ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเชื่อว่าเด็กน้อยคนนั้นก็ยังอยู่ในตัวเราเหมือนเดิม เพียงแต่เติบโตขึ้นและกำลังใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันเท่านั้นเอง
ที่มา
https://positivepsychology.com/inner-child-healing/
https://www.harleytherapy.co.uk/counselling/what-is-the-inner-child.htm
https://www.verywellmind.com/what-are-the-effects-of-childhood-trauma-4147640
Tags: Knowledge and Wisdom, Inner Child, ความเป็นเด็ก