เคยสังเกตตัวเองและคนรอบข้างไหมว่า หากต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานๆ ในหน้าร้อน นอกจากเนื้อตัวจะเปียกชุ่มด้วยเหงื่อ ยังมีอะไรอีกที่เปลี่ยนแปลงไปอีกเพราะอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้น

คำตอบก็คือ ‘อารมณ์’ ของเจ้าตัว ที่คุกรุ่นอยู่ภายในคล้ายภูเขาไฟสงบที่พร้อมปะทุได้ทุกเมื่อ จึงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย หากความร้อนระอุของแดดจะกลายเป็นสิ่งรบกวนใจ ทำให้ไม่สบอารมณ์ ไปจนถึงขั้นปรอทแตก ส่งผลให้เขาหรือเธอผู้นั้นระเบิดความอัดอั้นทั้งหมดออกมา เป็นพฤติกรรมเกรี้ยวกราดที่ใครเห็นแล้วก็คงไม่อยากเสี่ยงเข้าใกล้ไปทำให้รำคาญใจเพิ่ม

กลายเป็นความสงสัยว่า อากาศร้อนทำให้คนหัวร้อนได้อย่างไร?

นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 หรือปี 1801 เป็นต้นมา นักจิตวิทยาเคยตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องนี้ว่า อารมณ์เดือดดาลและความก้าวร้าวของคนมักจะพลุ่งพล่านมากที่สุดในช่วงฤดูร้อน ซึ่งยืนยันได้จากผลการศึกษาและข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอากาศร้อนกับการแสดงออกพฤติกรรมรุนแรง โดยทั้งหมดเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นของอากาศสามารถส่งผลต่ออารมณ์และสภาพจิตใจของคนเราได้

เครก เอ แอนเดอร์สัน (Craig A. Anderson) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยไอโอวา สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในคนที่สนใจประเด็นนี้ โดยหลังจากค้นคว้าและศึกษาเปรียบเทียบงานวิจัยหลายชิ้น ก็ได้ข้อสรุปว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้คนโกรธ วิตกกังวล และเครียดง่ายขึ้น กลายเป็นคนฉุนเฉียวที่ใช้แต่อารมณ์มุ่งร้ายและความรุนแรง โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตร้อนหรือพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง จะมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ สุ่มเสี่ยงก่ออาชญากรรม และฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่อากาศเย็น

แม้แต่ภาวะโลกร้อน ก็มีส่วนทำให้คนหัวร้อนและสุขภาพจิตเสียได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับทุกคนทั่วโลก เพราะอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปีละประมาณ 1 องศาเซลเซียส ก็ถือว่ามากพอทำให้อารมณ์ของคนร้อนขึ้นตามไปด้วย

ข้อมูลประชากรชาวอเมริกันจำนวนเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งทางการได้เก็บรวบรวมระหว่างปี 2008 – 2013 พบว่าในวันที่ร้อน (อุณหภูมิสูงมากกว่า 21 องศาเซลเซียส) ชาวอเมริกันให้ข้อมูลว่าตัวเองรู้สึกเครียดและโกรธง่าย ทำให้เป็นวันที่มีความสุขน้อยกว่าวันอื่นๆ

ส่วนการทดลองที่น่าสนใจ ซึ่งใช้พิสูจน์ได้ว่าอากาศร้อนส่งผลต่อความคิดความอ่านและกระบวนการคิดตัดสินใจได้ เป็นการทดลองของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยแบ่งนักศึกษาสุขภาพดีทั้ง 44 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้ชีวิตอยู่ในหอพักที่ติดเครื่องปรับอากาศ อีกกลุ่มใช้ชีวิตอยู่ในหอพักที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ผลปรากฏว่า ตลอดระยะเวลา 12 วันที่เกิดคลื่นความร้อน หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่อากาศมีปริมาณความร้อนมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาหนึ่ง นักศึกษากลุ่มสองที่อยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานานๆ ประสิทธิภาพในการคิด อ่าน และตัดสินใจ ของพวกเขาจะลดลงอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม อากาศร้อนยังไม่ใช่ตัวการที่ทำให้ใจร้อนโดยตรง แต่เป็นตัวเร่งที่ทำให้กลไกการทำงานภายในร่างกายเปลี่ยนไป ผลก็คือ ระดับฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) จะพุ่งสูงฉับพลัน หัวใจเต้นรัว กล้ามเนื้อสูบฉีด ร่างกายจึงตื่นตัวสุดขีด ส่วนความอดทนยับยั้งชั่งใจก็ลดน้อยลง เพราะถูกกระตุ้นให้พร้อมหัวร้อนโมโหร้ายทันที ทั้งหมดเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากอากาศร้อน เหมือนโดมิโนที่ล้มต่อกันเป็นแถวยาว ด้วยเหตุนี้เอง ฮอร์โมนอะดรีนาลีน จึงมีชื่อเล่นว่า ฮอร์โมนแห่งความโกรธ

ถึงตรงนี้สามารถสรุปได้ว่า อากาศร้อนทำให้คนหัวร้อนได้ง่ายจริง เพราะความร้อนเปลี่ยนแปลงการทำงานของร่างกาย ทำให้อารมณ์เดือดดาล เกรี้ยวกราด และพฤติกรรมก้าวร้าวของคนพลุ่งพล่านมากที่สุดในฤดูร้อน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก 

แต่ถ้าจะโทษว่าคนเราหัวร้อนเพราะอากาศร้อนอย่างเดียว นับเป็นการกระทำที่มักง่ายและปัดความรับผิดชอบไปหน่อย เพราะคนเราคือผู้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเพียงผู้เดียวและยังมีความสามารถยับยั้งชั่งใจได้เสมอ เมื่อรู้ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ

ดังนั้น ถึงอากาศจะกระตุ้นให้คนหัวร้อนแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่ที่เราแล้วว่าจะเลือกแสดงอาการเกรี้ยวกราดออกมาหรือไม่

 

ที่มา: 

Barbosa Escobar, F., Velasco, C., Motoki, K., Byrne, D. V., & Wang, Q. J. (2021). The Temperature of Emotions. PloS one, 16(6), e0252408. https://doi.orgE10.1371/journal.pone.0252408

-VandenBos, G. R. (2015). APA Dictionary of Psychology (2nd ed.). American Psychological Association.

https://www.hsph.harvard.edu/news/press-releases/extreme-heat-linked-with-reduced-cognitive-performance-among-young-adults-in-non-air-conditioned-buildings/

https://www.psychiatrictimes.com/view/impacts-extreme-heat-mental-health

Tags: , ,