ตอนเด็กๆ ก็เคยอยากให้ถึงตรุษจีนเร็วๆ เพราะอยากได้อั่งเปา แต่โตมาเริ่มไม่อยากแล้ว ไม่มีเงินใส่ซอง

การโตเป็นผู้ใหญ่ไม่เคยง่ายไม่ว่ากับใคร และในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ดูท่าจะเป็นช่วงเวลาทรหดสำหรับชาวเจนวายบางส่วน เพราะในปีนี้ กลุ่มคนเจนวายที่เด็กที่สุดก็จะมีอายุ 27 ปีแล้ว ซึ่งสำหรับชาวไทยเชื้อสายจีนหลายครอบครัว ถือว่าไม่อยู่ในช่วงวัยที่จะหาข้ออ้างไม่ยอมใส่ซองอั่งเปาแจกเด็กๆ อีกต่อไป

ฉะนั้นหากจะถามว่ากลุ่มคนที่โหยหาอดีตยุค Y2K ที่สุดคือกลุ่มไหน ไม่แน่ว่าคำตอบที่ถูกต้อง อาจไม่ใช่เจนซีที่กำลังดื่มด่ำกับแฟชั่นเทรนด์นี้ที่สุด แต่เป็นเจนวายเชื้อสายจีนที่ทำได้เพียงนั่งเหม่อมองยอดเงินคงเหลือบนจอมือถือ พลางนึกคะนึงถึงวันวาน ที่ได้นั่งนับซองแดงบนเบาะหลังรถระหว่างทางกลับจากบ้านอาม่า

Generation (WH)Y: เจเนอเรชันแห่งความก้ำกึ่ง

ชาวมิลเลนเนียลส์ (Millenials) หรือในอีกชื่อที่คุ้นหูคนไทยมากกว่า ‘เจนวาย’ (Generation Y) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1981-1996 โดยประมาณ (ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 27-42 ปี ในปี 2023) ถือเป็นคนรุ่นที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความผันผวนวุ่นวาย ทั้งในแง่เศรษฐกิจ การเมือง สังคม ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

หากจะให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ในขณะที่เจนเอ็กซ์ (Generation X: เกิดในช่วงปี 1965-1980 ปัจจุบันอายุ 43-58 ปี) คือคนกลุ่มที่ใช้สมาร์ตโฟนไม่คล่องนัก และมักจะวานให้ลูกหลานช่วยกดรีโมตหาช่องทีวีที่ดูประจำให้ ส่วนเจนซี (Generation Z: เกิดในช่วงปี 1997-2012 ปัจจุบันอายุ 11-26 ปี) คือกลุ่มคนที่ดูนาฬิกาเข็มไม่เก่ง และรู้สึกสับสนเวลาผู้ใหญ่บอกให้ ‘อัดเทป’ เจนวายคือกลุ่มคนตรงกลางที่ไม่มีปัญหาทั้งกับสมาร์ตโฟนและนาฬิกาเข็ม เป็นเหมือนกาวที่คอยเชื่อมประสานรอยที่ต่อไม่ติดของคนยุคแอนะล็อกและดิจิทัลเข้าด้วยกัน

แต่แน่นอนว่าหน้าที่ ‘กาวใจ’ ระหว่างคนสองรุ่นที่เข้ากันได้กับทุกคนนั้น เป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิตที่สวยงามกว่า หากลองกลับมุม เลือกมองจากด้านหลังภาพแทน จะพบว่าคนรุ่นนี้ยังรับหน้าที่เป็น ‘กระสอบทราย’ ของครอบครัวด้วย  

เพราะในด้านของเยาวชนเจนซีมักมองว่าคนเจนวายหัวอ่อน ไม่มีปากมีเสียง ประนีประนอมเกินไป อะไรก็ยอมตามผู้ใหญ่ไปเสียหมด ส่วนเจนเอ็กซ์ที่เติบโตมากับค่านิยมของคนรุ่นก่อน และให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อสร้างตัว ก็มองว่าคนรุ่นนี้ทำตัวเหลาะแหละ เกียจคร้าน และไม่หนักเอาเบาสู้เอาเสียเลย

แต่หากลองย้อนมองสภาพเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเบื้องหลังความ ‘โลเล’ ที่มองเห็น แท้จริงแล้วคือความ ‘สับสน’

ไม่ได้ ‘ไม่เอาไหน’ แค่ไม่รู้จะเลือกไปทางไหนดี

ผู้ปกครองของเจนวายโดยมาก หากไม่ใช่เบบี้บูมเมอร์ไปเลย ก็จะเป็นเจนเอ็กซ์กลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู (ช่วงปี 1987-1996 ก่อนฟองสบู่แตกในไทย) คนเจนวายในวัยเด็กมักได้เห็นพ่อแม่ของตัวเองไต่บันไดอาชีพขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ภาพจำชีวิตทำงานที่ประสบความสำเร็จนี้ จึงกลายมาเป็นความกดดันเมื่อต้องเริ่มชีวิตทำงานของตนเอง

เมื่อโตขึ้นอีกนิด เจนวายบางส่วนมีโอกาสเห็นพ่อแม่ตกงาน เปลี่ยนงาน บ้างก็ขาดทุนจนหมดเนื้อหมดตัว ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ข่าวเงินเฟ้อ หนี้สาธารณะ การล้มละลาย การปิดบริษัท ลดขนาดองค์กร ลดเงินเดือน ตกงาน สถิติการฆ่าตัวตายพุ่งสูง ฯลฯ ตำแหน่งเสือตัวที่ 5 ของไทยปลิวหายไปกับพายุเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

ด้วยเหตุนี้ ภาพจำอีกอย่างของชีวิตวัยทำงานของคนรุ่นนี้จึงเป็น ‘ความไม่แน่นอน’ การมอบกายถวายใจให้นายจ้างอย่างคนรุ่นก่อนค่อยๆ กลายเป็นเพียงวิถีแห่งอดีต ส่วนการเปลี่ยนที่ทำงานหรือแม้กระทั่งเปลี่ยนสายอาชีพตามโอกาสและความเหมาะสม กลับกลายมาเป็นหลักปฏิบัติที่แสนจะปกติธรรมดาในการเอาตัวรอดท่ามกลางระบบทุนนิยมที่โหดร้ายนี้

นอกจากสองภาพจำที่ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงนี้แล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ส่งผลต่อกระบวนการประกอบสร้างตัวตนและค่านิยมของคนเจนวาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้ามามีบทบาทของโลกอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่มีข้อเท็จจริงเพียงไม่กี่ชุด นำเสนอโดยสื่อกระแสหลักไม่กี่เจ้า คนก็เริ่มเข้าถึงโครงข่ายข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เชื่อมต่อโยงใยกันไปเป็นทอดๆ ไม่รู้จบได้ด้วยปลายนิ้ว

ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อทิศทางลมเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงความเชื่อมั่นของเยาวชนที่กำลังเติบโตขึ้นมาเพื่อพบว่า ‘ความจริง’ ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวอย่างที่คิด

ไม่ได้ลำบากถึงขั้นไม่มีเก็บ แค่แอบเจ็บที่ต้องควักเงินเก็บมาใส่ซอง

ในขณะที่การแข่งขันในตลาดแรงงานไทยสูงขึ้นทุกปี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีนั้นแทบไม่มีแนวโน้มจะลดลงเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเข็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากมายหลายฉบับก็ตาม ชาวเจนวายที่กำลังอยู่ในช่วงลงหลักปักฐานจึงกำลังเจอศึกหนักเป็นพิเศษ 

นอกจากนี้ ประเพณีการมอบเงินอั่งเปาก็เป็นหนึ่งในความกดดันทางการเงินที่วนมาทุกปี จึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นใหม่ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจ โดยเฉพาะในสิงคโปร์ซึ่งมีกฎที่เคร่งครัดมากกว่าในไทย คือทันทีที่แต่งงานได้ครบ 1 ปี คู่แต่งงานจะต้องเริ่มแจกอั่งเปาให้กับเด็กๆ ในครอบครัว รวมถึงผู้ใหญ่วัยใกล้เคียงกันที่ยังไม่แต่งงานด้วย

ชาวจีนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์จึงเริ่มออกมาพูดคุยและทบทวนถึงกฎล่องหนข้อนี้ รวมถึงความคาดหวังของคนในสังคมเกี่ยวกับจำนวนเงินขั้นต่ำในการใส่ซอง ซึ่งล้วนเป็นบรรทัดฐานที่อาจสร้างความตึงเครียดให้กับคู่แต่งงานใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างการปรับตัวได้

ฉะนั้น หากว่าในตอนนี้มีใครกำลังรู้สึกนอยด์ที่จะต้องใช้ชีวิตรัดเข็มขัดไปจนถึงสิ้นเดือน เพราะเพิ่งแบ่งเงินเดือนไปใส่ซองอั่งเปาแจกหลานๆ นั่นไม่ได้หมายความว่าเราเห็นแก่ตัว หรือไม่หนักเอาเบาสู้เสมอไป แต่อาจหมายความว่าในปีที่ผ่านมานั้น เราเองก็ทำงานหนักและสมควรได้รับเงินอั่งเปาให้กำลังใจไม่น้อยไปกว่าใครเลยเหมือนกัน

ที่มา

https://www.scmp.com/week-asia/article/3207436/singapores-young-ponder-lunar-new-years-hong-bao-custom-financial-strain-painful?module=perpetual_scroll_0&pgtype=article&campaign=3207436

https://www.straitstimes.com/opinion/chinese-new-year-market-rates-and-giving-hongbao-after-you-marry-time-to-update-traditions

https://www.wonderwall.sg/workplay/lunar-new-year-ang-pow-millennial/

http://www.iaeme.com/ijm/issues.asp?JType=IJM&VType=11&IType=4

http://www.inquiriesjournal.com/articles/878/3/how-to-explain-the-millennial-generation-understand-the-context

https://thediplomat.com/2022/08/why-is-household-debt-in-thailand-so-high/

Tags: , , , , , ,