เชื่อว่าเมื่อลงรูปตัวเองในแอปพลิเคชันอินสตาแกรม หลายคนคงเคยได้รับคำชมเช่นนี้มาบ้าง ที่ผ่านมามีสารพัดการใช้คำพูดเสริมสร้างความมั่นใจใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนหญิงที่อยากจะสนับสนุนกันและกัน หรือบางทีก็เป็นตัวเราเองที่รับหน้าที่เป็นฝ่ายเติมพลังใจให้เพื่อนคนอื่นๆ ด้วยคำชมเหล่านั้นเอง ซึ่งก็มีทั้งที่ดูสมจริงบ้าง เกินจริงไปบ้าง (แต่ก็ชอบ)
ไม่ว่าจะในโลกออนไลน์หรือชีวิตจริง เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่อันน่ายินดี ที่สามารถสร้างสังคมแห่งการชื่นชมกันอย่างจริงใจ ซึ่งบางทีผู้ที่เราเอ่ยชมก็อาจจะไม่ใช่คนสนิท หรือไปจนถึงไม่รู้จักกันด้วยซ้ำ บางกรณีเพียงแค่แค่ยืนต่อแถวเข้าห้องน้ำ เราก็สามารถที่จะผูกมิตรกันได้ตามสไตล์ตัวแม่ด้วยการชมใครสักคนว่าวันนี้แต่งหน้าสวยมาก
น่าสนใจไม่น้อยการเอ่ยชื่นชมกันและกันสำคัญอย่างไร และทำไมเราจึงชอบที่จะได้ฟังคำชม
“ผู้คนต่างก็ต้องการที่จะได้รับยอมรับและชื่นชม มันทำให้พวกเขารู้สึกดี ทั้งกับคนที่ชมเชยเราและยังทำให้ได้รู้สึกดีกับตัวเองด้วย”
ราเชล ซุสแมน (Rachel Sussman) นักจิตบำบัดและผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จากสหรัฐอเมริกาได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า คำชมเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยยืนยันว่า คนคนนั้นถูกมองเห็น และได้ยอมรับจากคนรอบข้าง อันเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
งานวิจัยหนึ่งได้ทำการทดสอบอาสาสมัครทั้งหมด 19 คน ด้วยวิธีถ่ายภาพเพื่อตรวจหาตำแหน่งการทำงานของสมอง (MRI) ของมนุษย์ โดยแบ่งกลุ่มผู้ทดลองออกเป็น การถ่ายภาพสมองขณะที่ได้รับคำชมเชย และการถ่ายภาพสมองขณะที่ได้รับเงิน ซึ่งผลการวิจัยได้เผยว่า สมองของกลุ่มได้รับคำชมมีความสัมพันธ์กับสมองส่วน Striatum ซึ่งเป็นส่วนที่มีหน้าที่ในการกระตุ้นต่อสิ่งเร้ามากกว่า
ดังนั้น แม้ว่าคำชมจะนำไปซื้อข้าวกินไม่ได้ ไม่ได้มีมูลค่าที่จับต้องได้เหมือนกับเงิน แต่การได้รับคำชมที่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานทางจิตใจนั้น ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันส่งผลต่อรางกายและสมองของมนุษย์ด้วยเช่นกัน
แล้วจะทำอย่างไรจึงจะเอ่ยชมผู้คนให้รู้สึกดีได้จริงๆ เพราะบ่อยครั้งที่การเอ่ยชมผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง มักจะได้รับความชื่นชมโดยการพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอก เพราะมันถือว่าเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการจะส่งมอบความรู้สึกดีๆ ให้กัน ถึงอย่างนั้น การพูดถึงแต่ภาพลักษณ์ก็อาจมีผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน
เช่น เมื่อมีใครคนหนึ่งน้ำหนักลดลง แล้วคุณเอ่ยชมว่าคนคนนั้นดูดีขึ้นกว่าเดิม แต่ความจริงแล้วน้ำหนักที่หายไปนั้นอาจเป็นผลจากความเจ็บป่วย เขาอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะลดน้ำหนักให้ตัวเองดูผอมลง และมีความพึงพอใจกับรูปร่างก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว คำชมเรื่องรูปลักษณ์อาจทำให้ผู้คนต้องพิจารณากับภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองมากกว่าความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง
เรื่องนี้ขออ้างอิงจากบทความในเว็บไซต์ She defined สื่อออนไลน์สำหรับผู้หญิง ที่ระบุว่า บ่อยครั้งคำชมที่ดีก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ เพราะการเอ่ยชื่นชมใครสักคนจากการกระทำ ความพยายาม อุปนิสัยส่วนตัว อาจทำให้ผู้รับฟังรู้สึกดีมากกว่าที่จะมุ่งความสนใจไปที่รูปร่างหน้าตา
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการชื่นชมคือความจริงใจ หากเรามีเจตนาที่ดีในการสนับสนุนกันและกัน และพิจารณาได้ว่าคำชมแบบไหนที่ช่วยเสริมพลังให้กันจริงๆ แม้แต่การชมเชยรูปร่างหน้าตาที่ทำกันได้ง่ายๆ ถึงจะมีข้อควรระวังแต่ก็ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม เพราะมันก็สามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้คนได้จริงๆ โดยเฉพาะในสังคมที่ยังคงมีการวิจารณ์กันเรื่องรูปร่างหน้าตากันเป็นปกติ
ที่มา
https://www.discovermagazine.com/mind/why-do-people-love-getting-compliments
https://www.insider.com/compliments-feelings-psychology-2019-1
https://shedefined.com.au/life/how-and-why-to-give-women-compliments-that-arent-based-on-appearance/
Tags: จิตวิทยา, คำชม, Instagram, Wisdom, การเอ่ยชม, Compliment