เกือบ 1 สัปดาห์พอดีหลังจากงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 94 ซึ่งในปีนี้มีประเด็นหลักที่ยังคงเป็นควันหลงให้ถกเถียงบนโลกออนไลน์กับเหตุการณ์ชวนช็อก เมื่อนักแสดงชื่อดัง วิล สมิธ (Will Smith) เดินดุ่มขึ้นบนเวทีไปตบหน้า คริส ร็อก (Chris Rock) นักแสดงตลกที่เป็นพิธีกรในงานจนหน้าหัน หลังจากที่ร็อกเล่นมุขตลกล้อเลียน เจดา พิงเคตต์ สมิธ (Jada Pinkett Smith) ภรรยาของวิล สมิธ แถมเขายังตะโกนบอกคริส ร็อก กลับไปอย่างดุเดือดว่า อย่าเอ่ยชื่อภรรยาของเขาออกมาอีก

หลังจากเหตุการณ์นั้นเพียงไม่กี่อึดใจ ชื่อของ วิล สมิธ ก็ถูกประกาศว่าเป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม หากแต่สปอตไลต์ได้ส่องไปที่เรื่องการตบหน้าของเขาเสียแล้ว จนเกิดเป็นการโต้เถียงกันว่า ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ บ้างก็ว่าสมิธควรควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีกว่านี้ บ้างก็ว่าร็อกเล่นตลกล้ำเส้นเกินไปจริงๆ

แต่หากตัดเรื่องของเหตุผลต่างๆ ออกไป มีศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า ‘Amygdala Hijack’ ซึ่งช่วยอธิบายได้ว่าทำไมสมิธถึงเดินขึ้นไปตบหน้าร็อกแบบนั้น

คำว่า Amygdala Hijack ใช้ครั้งแรกโดยนักจิตวิทยาสัญชาติสหรัฐฯ แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) ในหนังสือปี 1995 ของเขาที่ชื่อว่า ‘Emotional Intelligence: Why It Can Matter More Than IQ’ เพื่อนิยามปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและฉับพลันอย่างเกินกว่าเหตุ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเมื่อคนเราเกิดอาการ ‘ฟิวส์ขาด’ นั่นเอง

ปกติเมื่อมนุษย์ได้เห็น ได้ยิน สัมผัส หรือลิ้มรสบางสิ่ง ข้อมูลทางประสาทสัมผัสจะมุ่งไปที่สมองส่วนทาลามัส (Thalamus) ที่ทำหน้าที่เป็นเหมือนสถานีถ่ายทอดกระแสประสาทเพื่อส่งไปยังจุดต่างๆ ในสมอง จากนั้นจะถ่ายทอดข้อมูลไปยัง นีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex) หรือสมองแห่งการคิด และส่งต่อไปยังอะมิกดาลา (Amygdala) หรือสมองทางอารมณ์ เพื่อสร้างการตอบสนองที่เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ

แต่เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นการคุกคาม ไม่ว่าจะทางกายภาพหรือทางอารมณ์ก็ตาม ทาลามัสจะส่งข้อมูลทางประสาทสัมผัสไปที่อะมิกดาลาและนีโอคอร์เท็กซ์ พร้อมๆ กัน ซึ่งหากอะมิกดาลารับรู้ถึงอันตรายนั้น ก็จะตัดสินใจในเสี้ยววินาทีเพื่อเริ่มต้นการตอบสนองแบบ ‘สู้หรือหนี’ (Fight or Flight) ก่อนที่นีโอคอร์เท็กซ์จะมีเวลาไตร่ตรองเสร็จ จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ทางสมองที่อะมิกดาลา ‘แย่งชิง’ ร่างกายของเราไปชั่วขณะ จนเรียกว่า Amygdala Hijack นั่นเอง

หากย้อนกลับไปในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเวทีออสการ์ที่ผ่านมา เมื่อวิล สมิธมองว่าเรื่องตลกของคริส ร็อกเป็นภัยคุกคามต่อความผาสุกทางอารมณ์ของภรรยาของเขา ถึงจะเป็นสิ่งที่น่าตกใจ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เขาจะลงมือทำในสิ่งที่เป็นมุมมองของประสาทวิทยา เพราะสมองของเขาโดนแย่งชิงระบบการรับรู้ชั่วคราว และไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ของเขาไม่สามารถช่วงชิงการควบคุมและลบล้างปฏิกิริยาตอบโต้ที่เขาได้แสดงออกไปได้ทันเวลา

นอกจากนี้ บ็อบบี้ อาซาเรียน (Bobby Azarian) นักประสาทวิทยาทางปัญญาที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความเห็นว่า วิล สมิธอาจเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวไว้แล้วในจิตใต้สำนึกโดยที่เขาเองก็อาจจะไม่รู้ตัว เนื่องจากว่า คริส ร็อกเคย ‘เผา’ ภรรยาของเขามาแล้วครั้งหนึ่งในงานออสการ์ปี 2016 ซึ่งคริสเล่นมุขว่า “เจดาบอยคอตงานออสการ์ก็เหมือนกับผมบอยคอตกางเกงในของริฮานนา ก็เพราะผมไม่ได้รับเชิญน่ะสิ!” ดังนั้นอาการของสมิธอาจจะเป็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้จิตสำนึกมานานแล้วก็เป็นได้ เช่นเดียวกันกับท่าทีที่ใจเย็นจนได้รับการชื่นชมจากหลายคนของร็อก ก็อาจเป็นสัญญาณว่า จิตใต้สำนึกของเขาคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่สมิธจะตอบโต้อะไรบางอย่างกลับมาในระดับหนึ่งอยู่แล้ว

แต่ท้ายที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็ออกมาแถลงการณ์ขอโทษกันอย่างเป็นทางการ และทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้แปลว่าการกระทำของวิล สมิธ หรือการเล่นมุขแบบล้ำเส้นของคริส ร็อกเป็นเรื่องสมควร เพียงแต่เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่สร้างความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น คงจะไม่ยุติธรรมเท่าไร หากทุกคนจะโดนตัดสินตัวตนจากความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว แต่สิ่งที่จะตัดสินคุณค่าของเราจริงๆ คือการที่เราจะลุกขึ้นมาปรับปรุงตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นได้อย่างไรมากกว่า

ที่มา:

https://www.psychologytoday.com/…/the-neuroscience…

https://www.verywellmind.com/what-happens-during-an…

https://www.healthline.com/health/stress/amygdala-hijack

Tags: , ,