ทำไมโลกนี้มีแต่ข่าวร้าย
เอาละ — มันก็ไม่ขนาดนั้น การอ่านข่าวทุกวันอาจทำให้เราเศร้า เพราะแต่ละวันมีแต่ข่าวนำเสนอโลกไปในทางลบ ดูเหมือนกับว่าสังคมของเรากำลังถอยหลังลงคลอง มีความไม่สงบเกิดขึ้นทุกหัวระแหง มนุษยธรรมของคนก็ดูเสื่อมถอยลงทุกวันผ่านข่าวอาชญากรรม ข่าวบันเทิงก็เต็มไปด้วยความฉาว ความแก่งแย่งชิงดี ไม่ต้องพูดถึงข่าวการเมืองที่เพียงเหลือบตามองไปอ่านก็พานจะทำให้วันนั้นกลายเป็นวันแย่ๆ ไปได้เลย ยิ่งอยู่ในช่วงที่มีแบคกราวนด์เป็นโควิด-19 กำลังระบาดหนักทั่วโลก ยิ่งทำให้รู้สึกว่า หรือโลกจะถึงกาลอวสานเสียแล้ว
แต่เราก็รู้ว่าอาจไม่เป็นเช่นนั้น — หนังสืออย่าง Factfulness บอกเราผ่านข้อมูลทางสถิติว่าแท้จริงโลกนี้กำลังดำเนินไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หากมองผ่านสเกลเวลาที่กว้างและนานขึ้น ไม่ใช่เพียงสเกลหนึ่งวัน หนึ่งเดือน หรือหนึ่งปี แต่ถ้าเรามองกันในระยะทศวรรษ สถิติหลายด้าน ทั้งเรื่องสุขภาพ รายได้ ความสงบ กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แล้วทำไมเราถึงเห็นแต่ข่าวร้าย
เราได้ยินมาตลอดว่า “ข่าวร้ายขายได้” แต่คำว่า ‘ขายได้’ ในที่นี้ มีการพิสูจน์ไหมว่าขายได้อย่างไร หรือมันเป็นเพียงความเชื่อที่วงการข่าวเอามารองรับเหตุผลในการกระทำของตนเฉยๆ
Marc Trusller และ Stuart Soroka จากมหาวิทยาลัย McGill ในแคนาดา ทำการทดลองในปี 2014 เพื่อดูว่า แท้จริงคนสนใจข่าวร้ายมากกว่าข่าวดีหรือเปล่า พวกเขาเชิญคนมาร่วมทดลองเพื่อศึกษา ‘การเคลื่อนที่ของลูกตา’ อาสาสมัครเหล่านี้จะถูกขอให้อ่านข่าวการเมืองจากเว็บไซต์เพื่อที่ว่ากล้องจะได้ตรวจสอบการเคลื่อนที่ของลูกตาเพื่อเป็นมาตรวัดเบื้องต้นก่อน นักวิจัยบอกกลุ่มทดลองว่าพวกเขาจำเป็นต้อง ‘อ่าน’ ข่าวจริงๆ (ไม่ใช่เพียงเลื่อนผ่านๆ) เพื่อที่จะได้วัดค่าได้อย่างแม่นยำ หลังจากนั้นกลุ่มทดลองก็จะได้ดูวิดีโอ (ที่พวกเขาคิดว่าเป็นการทดลองหลัก แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่) หลังจากนั้นก็จะต้องตอบคำถามว่าตนอยากอ่านข่าวการเมืองที่มีลักษณะอย่างไร
ผลลัพธ์การเคลื่อนที่ของลูกตาบอกกับเราว่า ผู้เข้าร่วมมักเลือกข่าวเชิงลบ เช่นเรื่องการคอร์รัปชั่น อุปสรรค หรือพฤติกรรมหน้าไหว้หลังหลอกมากกว่าข่าวกลางๆ หรือข่าวเชิงบวก แต่เมื่อนักวิจัยถามในภายหลัง พวกเขากลับตอบว่าตนต้องการอ่านข่าวดี ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ทำจริง
เช่นกัน ในอีกงานทดลองหนึ่ง เมื่อนักวิจัยกระพริบคำเชิงลบอย่างเช่น ‘มะเร็ง’ ‘ระเบิด’ หรือ ‘สงคราม’ เพื่อวัดความเร็วในการตอบสนองของกลุ่มทดลอง พวกเขาก็พบว่าคำเชิงลบนั้นเรียกการตอบสนองได้เร็วกว่าคำเชิงบวกอย่าง ‘ยิ้ม’ ‘ทารก’ หรือ ‘สนุก’ มาก
เหตุผลที่เราสนใจข่าวร้ายอาจเป็นเพราะวิวัฒนาการสร้างให้เราเป็นเช่นนี้ ในอดีต การสนใจข่าวร้าย หรือสัญญาณร้ายๆ (เช่น เสือในพุ่มไม้) ทำให้เรารอดจนสืบเผ่าพันธุ์มาได้จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่การรู้ข่าวดีอาจไม่ได้ส่งผลต่อความเป็นความตายมากเท่า ‘ความสูญเสีย’ ที่เกิดจากข้อมูลร้ายๆ นั้น ซึ่งมักจะมากกว่า ‘ผลประโยชน์’ ที่ได้รับจากข้อมูลดีๆ
มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างยอดขายของนิตยสารในวันที่หน้าปกเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย พบว่าเมื่อหน้าปกเป็น ‘ข่าวดี’ ยอดขายจะลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับเมื่อเว็บไซต์ข่าวรัสเซียริเริ่มโครงการ ‘วันข่าวดี’ แต่กลับพบว่านั่นทำให้ยอดผู้อ่านในวันนั้นๆ ลดลงถึง 66 เปอร์เซ็นต์
คำกล่าวที่ว่า ‘ข่าวร้ายขายได้’ จึงอาจเป็นเรื่องจริง — แต่ปัจจุบันเราก็เห็นความพยายามในทางตรงกันข้ามบ้าง
ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องการบริหารงานของทรัมป์และโรคระบาด John Krasinski ดาราฮอลลีวู้ดริเริ่มรายการ Some Good News ผ่านยูทูบเพื่อนำเสนอข่าวดีสวนกระแส รายการข่าวดีนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งโดยมีผู้ Subscribe มากถึง 2.58 ล้านคน และตอนที่มีผู้ชมมากที่สุดก็มีผู้ชมมากถึง 18 ล้านวิว ความสำเร็จนี้ทำให้ค่ายโทรทัศน์อย่าง ViacomCBS ขอซื้อต่อลิขสิทธิ์รายการไปทำต่อ
ความสำเร็จของรายการอย่าง Some Good News ไม่ได้เป็นข้อพิสูจน์ในทางกลับว่า ‘ข่าวดีก็ขายได้’ นัก เพราะส่วนหนึ่ง ยอดวิวทั้งหลายก็มาจากความเป็นคนดังของ Krasinski เอง รวมถึงแขกรับเชิญของเขา (เช่น แคสท์ของ Hamilton หรือ The Office) แต่มันก็เป็นความพยายามหนึ่งในการสร้างความแตกต่าง ท่ามกลางข่าวร้ายที่เราเผชิญอยู่ทุกวัน
ไม่แปลกเลยที่นักคิดบางคนจึงแนะนำให้เราเลิกอ่านข่าวเสีย (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในคอลัมน์นี้ในตอน ‘ลัทธิเลิกอ่านข่าว’) หรือหากเลิกไม่ได้ ก็อาจลดความถี่ในการติดตามข่าวลง ติดตามมันอย่างเว้นระยะมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกระโดดเข้าไปตะครุบทุกจังหวะของสังคม
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้ต้องการสื่อความหมายว่า ข่าวร้ายนั้นเป็นข่าวไม่จริง หรือเป็นข่าวที่ไม่ควรนำเสนอนะครับ แน่นอน ข่าวร้ายก็มีคุณค่าของมัน มันทำให้เราเห็นความอยุติธรรม เห็นความเหลื่อมล้ำ เห็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนในสังคม และเมื่อเราเห็น เราก็สามารถลุกขึ้นมาทำอะไรกับมันได้ คำถามที่เกิดขึ้นคือเราจะทำอย่างไร ให้เราเสพข่าวร้ายอย่างได้สัดส่วนหรือได้สมดุล โดยไม่ตกอยู่ในลูปที่ถูกกระพือด้วยอัลกอริธึมฟีดแบกลูป ที่ทำให้เรามองไม่เห็นสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าต่างหาก
อ้างอิง
https://blogs.lse.ac.uk/politicsandpolicy/why-is-there-no-good-news/
https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/10584609.2014.881942