การตัดสินใจระงับการผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลฮ่องกง เป็นผลจากแรงกดดันอันมหาศาลทั้งจากภายในและภายนอก ต่อจากนี้ ต้องคอยดูว่า การประท้วงของชาวฮ่องกงที่ยกระดับเป็นการขับไล่รัฐบาลจะลงเอยอย่างไร
หลังจากตำรวจใช้ไม้แข็งกับผู้ประท้วงในสัปดาห์ที่ผ่านมา การชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายเจ้าปัญหาได้บานปลายเป็นการประท้วงขับไล่ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง แม้ว่าแคร์รี่ หลำ ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ประกาศเมื่อวันเสาร์ ที่จะชะลอการออกกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน
การชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.) มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ (1) แคร์รี่ หลำ ลาออก (2) ยกเลิกแผนการออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างถาวร และ (3) รัฐบาลขอโทษที่ตำรวจใช้กำลังกับผู้ประท้วงเมื่อวันพุธ (12 มิ.ย.)
ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อจะได้รับการตอบสนองหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร ต้องรอดูกันต่อไป ประเด็นน่าสนใจสำหรับเวลานี้ คือ ทำไมรัฐบาลฮ่องกงยอมพับเก็บร่างกฎหมายฉบับนี้ ทั้งๆ ที่ยืนยันเสียงแข็งมาตลอดถึงความจำเป็นที่จะต้อง “อุดช่องโหว่ทางกฎหมาย”
คำอธิบายมีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายในแยกเป็น 2 ส่วน คือ ปฏิกิริยาของประชาชนภายหลังปฏิบัติการสลายการชุมนุมของตำรวจ กับคำทัดทานจากวงในของรัฐบาลเอง ซึ่งอาจรวมถึงสุ้มเสียงจากปักกิ่ง ปัจจัยภายนอกแยกเป็น 2 ส่วน คือ ท่าทีจากทุนต่างชาติในฮ่องกง กับท่าทีของนานาชาติ
สาธารณชนขุ่นเคือง
ความโกรธแค้นของสังคมหลังจากได้เห็นภาพผู้ประท้วง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและคนทำงานวัยหนุ่มสาว ถูกตำรวจตอบโต้ด้วยสเปรย์พริกไทย กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ดูจะเป็นแรงผลักที่เป็นรูปธรรมที่สุดที่ทำให้ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงออกมาประกาศเลื่อนการออกกฎหมายฉบับนี้อย่างไม่มีกำหนด
นั่นเพราะรูปการณ์ปรากฏชัดเจนว่า ถ้ายังขืนดึงดันต่อไป รัฐบาลก็จะต้องปะทะกับมวลชนอีก ที่สำคัญ การต่อต้านรอบนี้มีคนเข้าร่วมนับล้าน แทบเรียกได้ว่าเป็นฉันทามติของชาวฮ่องกงที่จะตะโกนบอกรัฐบาลว่า “ไม่เอากฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน”
เสียงคัดค้านไม่ได้มีแต่การเมืองภาคพลเมือง แม้แต่ ส.ส.ฝ่ายนิยมจีนที่เป็นพันธมิตรของนางหลำเองยังขอให้เธอถอนร่างกฎหมายออกไปก่อน อย่างเช่น ไมเคิล เทียน ซึ่งออกมาบอกเมื่อวันศุกร์ว่า ถ้าเลื่อนก็จะได้คะแนนนิยม เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน คนเป็นผู้นำก็ต้องเปลี่ยนจุดยืนเป็นธรรมดา และกระทั่งหัวหน้าทีมที่ปรึกษาของเธอ นายเบอร์นาร์ด ชาน ยังบอกว่า ในเมื่อเกิดความขัดแย้งอย่างกว้างขวางเช่นนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเดินหน้าอภิปรายกฎหมายนี้ในสภา
เสียงกระซิบจากจีน
หนังสือพิมพ์ชิงเต่าในฮ่องกงรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (13 มิ.ย.) นางหลำข้ามฟากจากเกาะฮ่องกงไปพบกับนายฮานเจิง รองนายกรัฐมนตรีจีน ที่เมืองเสิ่นเจิ้น นายฮานเจิงเป็นหนึ่งในกรรมการประจำของกรมการเมือง ซึ่งเป็นกลไกตัดสินใจที่สำคัญสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
แน่นอนว่า ไม่มีใครรู้ว่าคนทั้งสองคุยกันว่าอย่างไร ซึ่งเมื่อถูกนักข่าวซักถึงเรื่องนี้ นางหลำเองก็ไม่ได้ตอบยืนยันหรือปฏิเสธ ว่า เธอไปพบกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของจีนจริงหรือไม่ แต่ภาพที่เห็นกันก็คือ เธอประกาศระงับร่างกฎหมายนี้ในอีกสองวันต่อมา
การประกาศยอมถอยเมื่อวันเสาร์จะส่งผลอย่างไรต่อเก้าอี้ของผู้บริหารเกาะฮ่องกง ซึ่งอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของรัฐบาลปักกิ่ง เป็นอีกประเด็นที่นักสังเกตการณ์เฝ้าจับตา
ฮ่องกงในเศรษฐกิจโลก
ชื่อเสียงของฮ่องกงในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ นับเป็นเดิมพันที่ดินแดนเกาะแห่งนี้ต้องพิทักษ์รักษา ท่ามกลางโลกที่ไม่เคยขาดไร้คู่แข่งขัน
ตลาดเงินตลาดทุนเป็นกิจกรรมที่แสนจะอ่อนไหว การค้าการลงทุนข้ามชาติตั้งอยู่บนความเชื่อมั่น เงินทองเปรียบเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขี้ตกใจที่สุด ความเชื่อมั่นถูกกระทบเมื่อไหร่ ทุนจะเตลิดหนีทันที กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนกำลังเขย่าความเชื่อมั่นที่ว่านี้
ที่ผ่านมา ฮ่องกงยังคงรักษาสถานะศูนย์กลางการเงินไว้ได้แม้คืนกลับมาอยู่ใต้อธิปไตยของจีนตั้งแต่ปี 1997 เนื่องเพราะพ่อค้านายเงินทั้งหลายต่างเชื่อมั่นในความมีนิติรัฐของกระบวนการยุติธรรมของฮ่องกง เหตุที่แวดวงธุรกิจคัดค้านกฎหมายดังกล่าวก็เพราะกลัวว่า วันดีคืนดี ตัวเองอาจถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปขึ้นศาลจีน
วิกเตอร์ ซีเค ไหว่ นายธนาคารและอดีตนักการบัญชี บอกว่า ในเมืองจีน ความผิดฐานฉ้อโกงมีโทษรุนแรงมาก คนในแวดงวงการธนาคารและการบัญชีในฮ่องกงหวั่นเกรงกันว่า ถ้าลูกค้าไปทำผิดในจีน ตัวเองจะพลอยติดร่างแห ด้วยข้อหามีส่วนรู้เห็นกับธุรกรรมของลูกค้า
มหาเศรษฐีในฮ่องกงก็มีความวิตกเช่นกัน บางรายที่เคยทำธุรกิจด้วยเส้นสายทางการเมืองในจีน เริ่มโอนย้ายเงินไปยังแหล่งที่ปลอดภัยกว่าแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ มหาเศรษฐีคนหนึ่งได้โยกเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปเก็บไว้ในธนาคารที่สิงคโปร์
เรื่องที่มหาเศรษฐีกลัวกันมากก็คือ ถ้าฮ่องกงออกกฎหมายนี้ ศาลจีนอาจขอให้ศาลฮ่องกงอายัดทรัพย์หรือยึดทรัพย์หากตัวเองเจอคดีอาญาบนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งปัจจุบันจะอายัดหรือยึดได้เฉพาะในคดียาเสพติดเท่านั้น
สายตาของต่างชาติ
ไม่ว่าทุนนอก ไม่ว่ารัฐต่างแดน ต่างมองร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยสายตาอย่างเดียวกัน นั่นคือ ก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ธุรกิจในฮ่องกง
ทารา โจเซฟ ประธานหอการค้าอเมริกันในฮ่องกง บอกว่า ความน่าเชื่อถือของฮ่องกงกำลังถูกตั้งคำถาม ขณะที่ผู้บริหารบริษัทลงทุนชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวขอสงวนนาม บอกว่า จุดแข็งของฮ่องกง คือ การปกครองด้วยกฎหมาย ไม่มีใครต้องติดคุกอย่างไร้เหตุผล ไม่มีใครปิดบริษัทของเราอย่างไร้เหตุผล ทุกคนมีสิทธิ์สู้คดีในศาล
ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนยังเรียกเสียงวิจารณ์จากประชาคมนานาชาติด้วย ปฏิกิริยาที่ชัดเจนที่สุดมาจากสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกสภาสูงและสภาล่างทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันร่วมกันเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของฮ่องกง เนื้อหาหลักมีว่า ถ้าฮ่องกงไม่เป็นอิสระจากจีน สหรัฐฯ จะเพิกถอนสถานะพิเศษของเขตปกครองแห่งนี้
ขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงต่างประเทศ มอร์แกน ออร์เทกุส แถลงว่า สหรัฐฯ วิตกกังวลอย่างยิ่งต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ถ้าฮ่องกงผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติ สหรัฐฯ อาจเลิกถือว่าฮ่องกงไม่ใช่จีน ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐฯ ปฏิบัติต่อฮ่องกงอย่างแยกเป็นเอกเทศจากจีน กฎหมายสหรัฐฯ ที่เล่นงานจีนนั้นไม่ครอบคลุมถึงฮ่องกง
แรงกดดันจากภายในและภายนอกเหล่านี้นี่เอง ผลักดันให้รัฐบาลฮ่องกงตัดสินใจ ‘พักรบ’ ในรอบนี้.
อ้างอิง:
AFP via The Malaysian Insight, 14 June 2019
AFP via Channel News Asia, 14 June 2019
AFP via Channel News Asia, 14 June 2019
ภาพปก: REUTERS/Tyrone Siu
Tags: ฮ่องกง, จีน, ส่งผู้ร้ายข้ามแดน