ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนบ่ายวันนี้ (15 มิ.ย.) แคร์รี่ หลำ ผู้ว่าฯ ฮ่องกง ระบุว่า รัฐบาลตัดสินใจจะระงับการพิจารณาร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยยังไม่มีกำหนดว่าจะมีการพิจารณาอีกครั้งเมื่อใด และมีแนวโน้มว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะยังไม่ผ่านในปีนี้

นอกจากนี้ เธอยังกล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งสำหรับการทำงานที่บกพร่องและปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมายขึ้น เธอชี้ว่า ได้ทำจนสุดความสามารถแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าร่างกฎหมายนี้สร้างความแตกแยกในสังคมอย่างยิ่ง และหวังว่าการระงับร่างกฎหมายในครั้งนี้ของรัฐบาลจะช่วยคืนความสงบสู่สังคม

การชุมนุมต้านร่างกฎหมายนี้ เริ่มขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยผู้จัดคาดการณ์ตัวเลขผู้ออกมาชุมนุมราว 1 ล้านคน ต่อมา ในการชุมนุมเมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายน มีรายงานว่าผู้ชุมนุมหลายหมื่นคนที่พยายามปิดทางเข้าที่ทำการรัฐบาลเพื่อหยุดยั้งการพิจารณาร่างกฎหมายถูกตำรวจสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 70 คน เจ็บสาหัสสองคน องค์กรสิทธิฯ ออกมาประณามว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ และมีการนัดชุมนุมอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (16 มิ.ย.) รวมถึงเรียกร้องให้มีการหยุดงานประท้วงในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ด้วย

ขณะที่ บัจโจ เหลียง นักเคลื่อนไหวและนักการเมืองที่ชนะเลือกตั้งแต่ถูกศาลฮ่องกงตัดสินให้ไม่มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติ หลังจากใช้ธงที่มีคำว่า ฮ่องกงไม่ใช่ของจีน ในพิธีสาบานตน ระบุว่า การชุมนุมในวันอาทิตย์จะมีต่อไปจนกว่าร่างกฎหมายนี้จะถูกถอดออกจากการพิจารณา อย่างไรก็ตาม เขาก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้กฎหมายฟ้องร้องผู้ชุมนุมเพื่อทำให้พวกเขากลัว

เขาย้ำว่า สิ่งที่เรียกร้องคือ การไม่เอาร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนและต้องไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี

ขณะที่ เคนเนธ ชาน ศาสตราจารย์ภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยแบ๊ปติสต์ฮ่องกงมองว่า นี่เป็นการซื้อเวลาของแคร์รี่ หลำ และพวกพ้องที่มีแนวโน้มสนับสนุนรัฐบาลจีนของเธอ พร้อมชี้ว่า รัฐบาลแค่รอเวลาที่เหมาะสมอีกรอบ โดยอาจเป็นช่วงหลังเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นช่วงที่เด็กนักเรียนจะกลับไปเรียนหนังสือ

สำหรับร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีเนื้อหากำหนดให้ผู้ร้ายหนีคดีที่รัฐบาลจีนต้องการตัวต้องถูกส่งไปรับการไต่สวนที่จีน ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลฮ่องกงจะให้เหตุผลว่า ศาลฮ่องกงจะเป็นผู้ตัดสินว่าจะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ โดยจะยกเว้นการส่งตัวผู้ต้องหาในคดีการเมืองหรือศาสนา หรือผู้ที่เสี่ยงจะถูกทรมาน แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็กังวลถึงจุดยืนของศาลฮ่องกงที่ระยะหลังจีนเริ่มเข้ามามีอิทธิพล รวมถึงกรณีที่ผู้ต้องหาคดีอาญาในจีนมักถูกซ้อมทรมาน และเข้าไม่ถึงสิทธิของผู้ต้องหาอย่างที่ควรจะเป็น

 

ที่มา:

https://edition.cnn.com/2019/06/15/asia/hong-kong-extradition-bill-pause-intl-hnk/index.html

https://www.theguardian.com/world/2019/jun/15/hong-kong-leader-carrie-lam-extradition-bill-delay-protests-china

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-48645342

ภาพ: REUTERS/Jorge Silva

Tags: , ,