นอกจากดราม่าในสภาฯ หรือตามหน้าเฟซบุ๊กแล้วความบันเทิงของหมู่เราชาวโซเชียลฯ ในตอนนี้ก็มีแต่อีซ้องปีบกับกาสะลองนี่แหละ นอกจากจะพ่นคำเมืองไฟแลบแล้ว ยังตบกันได้ม่วนไจ๋ขนาด สิ่งหนึ่งที่อยากรู้ที่สุดก็คือญาญ่าได้ค่าตัวเท่าไรคะ เล่นละครหนึ่งเรื่องได้ค่าตัว X บาท แต่กลิ่นกาสะลองเล่นเป็นแฝด แถมยังมีชาติก่อน ชาติปัจุบัน บางฉากมีญาญ่าถึง 3 คน อยากรู้ว่าค่าตัวคูณตามจำนวนตัวละครที่เล่นด้วยหรือเปล่า 

ฉันว่าควรได้นะ 

แต่ตอนนี้เริ่มจะมึนๆ แยกประสาทไม่ออก เพราะต้องเปิดสลับระหว่างช่องสามและช่อง GMM25 ประสาทหนึ่งก็ต้องคอยฟังคำเมืองใน กลิ่นกาสะลอง ให้รู้เรื่อง แต่พอสลับช่องมา GMM25 ปุ๊บ ก็ต้องรีบเปลี่ยนโหมดสมองให้ฟังภาษาอีสานใน ดอกคูณเสียงแคน ให้เข้าใจเช่นเดียวกัน นี่ถ้าช่องเจ็ดหรือช่องอื่นๆ ในวันจันทร์อังคาร มีละครภาษาใต้ คงได้มันพิลึกล่ะในการเปลี่ยนโหมดการฟังเพื่อให้เข้าใจภาษาถิ่นในแต่ละภาค 

ว่าแต่ทำไมเราถึงไม่ค่อยมีละครที่ใช้ภาษาใต้เลยล่ะ นั่นสิ ทำไม 

หากย้อนไปในอดีต เมื่อนึกถึงละครที่มีความเป็นภาคใต้ก็จะนึกถึงตัวละครอย่างนายหัวจากละครเรื่อง จำเลยรัก ซึ่งช่วงที่ลักพาตัวนางเอกไปนั้นฉากในท้องเรื่องคือภาคใต้ แต่ นายหัว (ไม่รู้ว่าดูเวอร์ชั่นไหนกัน ส่วนฉันดูเวอร์ชั่น จอห์น รัตนเวโรจน์และนิ้ง กุลสตรี ในปี 2539) นั้นไม่ยักกะพูดใต้แฮะ ซึ่งกรณีนี้พอจะเข้าใจได้ว่านายหัวอาจจะไม่ใช่คนใต้ แต่เป็นคนภาคกลาง เป็นนักธุรกิจที่มาทำธุรกิจและมีอิทธิพลในท้องถิ่น แม้ว่าจะพยายามให้จอห์น รัตนเวโรจน์ นั้นดูดิบ เถื่อน ผมยาว ขนเยอะ เพื่อจะนำเสนอ ‘ภาพแทนของหนุ่มใต้ก็ตาม 

ในละครเรื่อง จำเลยรัก นี้มีตัวละครซึ่งพูดภาษาใต้ในเรื่องคนเดียว ซึ่งก็คืออัจฉรา ทองเทพ (เธอเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช) จำเลยรัก จึงเป็นหนึ่งในละครที่ทำให้เราคุ้นเคยกับฉากหลังและภาษาใต้เรื่องหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ใช่ละครที่ใช้ภาษาใต้เป็นหลักก็ตาม

หรือเรื่อง ไฟรักอสูร (พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง, นาถยา แดงบุหงา 2535) ที่แม้จะไม่ได้รู้พิกัดทางภูมิศาสตร์ว่าใต้ขนาดไหน แต่ก็เริ่มเรื่องจากดินแดนชาวประมง และมีตัวละครอื่นๆ ที่พูดภาษาใต้บ้าง แต่ไม่ใช่ตัวละครสำคัญอย่างพระเอก นางเอก

อกธรณี ซึ่งเคยเป็นทั้งหนังในชื่อเดียวกันและเปลี่ยนชื่อเป็น กระท่อมนกบินหลา และเป็นละครทางช่องเจ็ดถึงสองรอบในปี 2548 และ 2560 โดยมีเนื้อเรื่องปรากฏอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ก็ใช้ภาษากลางเป็นภาษาหลักของละคร เช่นเดียวกันกับ แผนร้ายพ่ายรัก ในปี 2556 ซึ่งท้องเรื่องเกิดที่จังหวัดพัทลุง หรือมายาตะวัน ละครในปี (2538 และรีเมคในปี 2556) ซึ่งมีท้องเรื่องอยู่จังหวัดภูเก็ต แต่ทั้งสองเรื่องก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความเป็นใต้เลย และแน่นอนว่าใช้ภาษากลางในการสื่อสารในเรื่องด้วยเช่นกัน

ละครที่ดูเหมือนจะใช้ความเป็นใต้ในการเล่าเรื่องเป็นหลักก็คือ ผีเสื้อกับพายุ ในปี 2553 ทางช่องไทยพีบีเอส ที่ทั้งท้องเรื่อง ชื่อตัวละคร เพลงประกอบมีความเป็นใต้ทั้งหมด แต่ตัวละครหลักกลับพูดภาษากลางทั้งหมด มีกลางทองแดงบ้าง และมีภาษาใต้บ้างในตัวละครเล็กๆ 

ละครเรื่องเดียวเท่าที่จำได้ ที่ใช้ภาษาใต้เป็นภาษาในการเล่าเรื่องก็คือ เพลงรักทะเลใต้ ในปี 2553 ทางช่องเจ็ด ที่นำเสนอความเป็นใต้ตามเนื้อเรื่องทั้งการแต่งตัว เพลงประกอบละคร และภาษาที่ใช้ซึ่งเป็นภาษาใต้ และเรื่อง โนราห์ เวอร์ชั่นแรกในปี 2544 และเวอร์ชั่นปี 2559 ซึ่งนำเสนอความเป็นใต้โดยตรง ทั้งชื่อเรื่องเพลง วัฒนธรรม ที่แม้ว่าจะมีคนบอกว่าในเวอร์ชั่นแรกจะมีกลิ่นอายความเป็นใต้มากกว่า แต่ทั้งสองเวอร์ชั่นก็เลือกใช้ภาษากลางในสื่อสารเป็นหลัก แม้ว่าจะกำลังนำเสนอเรื่องการรำโนราห์ อันเป็นวัฒนธรรมของทางใต้ก็ตาม 

ดังนั้นในบรรดาละครที่มีความเป็นใต้เกือบทั้งหมดเมื่อเปรียบเทียบทั้งในเรื่องจำนวนและความนิยม ละครใต้ก็ยังถือว่าน้อยกว่าละครเหนือ หรืออีสานอยู่ดี 

หลากหลายเสียงในโซเชียลมีเดียต่างมีคำถามเดียวกันก็คือ ทำไมไม่ค่อยมีละครที่เกี่ยวกับภาคใต้และใช้ภาษาใต้เป็นหลักเลย ซึ่งบทสรุปที่หลายคนเห็นคล้ายกันก็คือภาษาใต้ยากทั้งในแง่การฝึกพูดและการฟัง แต่เมื่อหันมามองละครภาคอื่นที่ได้รับความนิยม ที่นักแสดงไม่ได้เป็นคนภาคนั้นๆ แต่ใช้วิธีการฝึกพูด ไม่ว่าจะเป็นญาญ่าใน กลิ่นกาสะลอง มิว นิษฐา ใน รากนครา ซึ่งใช้ภาษาเหนือ หรือแต้ว ณฐพร ใน คุณชายรัชชานนท์ หรือ นาคี ที่ใช้ภาษาอีสาน เรื่องเหล่านี้ล้วนได้รับความนิยมและการชื่นชมอย่างท่วมท้น แม้ว่าหากมองกันจริงๆ ก็ยังมีความแปลกแปร่งอยู่บ้าง เหมือนกับเบนซ์ ปุณยาพร และซี ศิวัฒน์ ที่ใช้ภาษาใต้ในเรื่อง เพลงรักทะเลใต้  (ซีเป็นคนสงขลาและเบนซ์เป็นคนนครฯ) ถึงแม้จะไม่ได้เป๊ะมาก แต่นั่นก็ทำให้เห็นถึงความพยายามทั้งในฐานะนักแสดงและผู้สร้างละคร และทำให้เห็นว่าความยากของภาษาใต้ ไม่ใช่ปัญหาอันดับหนึ่งในการที่จะทำเป็นละครที่ใช้ภาษาถิ่นในการพูดในเรื่อง เหมือนที่เราสรุปว่า ที่ไม่มีละครภาคใต้มากนักและไม่เป็นที่นิยมเท่าภาคอื่น ก็เพราะภาษาใต้พูดยากฟังยาก

ไม่อย่างนั้นเขาจะมีอาชีพ Dialect Coach กันไว้ทำไมล่ะคะ 

สิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับภาพลักษณ์คนใต้มาตลอดก็คือความเซอร์และดุดันซึ่งไม่แน่ใจว่านั่นเป็นผลพวงของนายหัวในจำเลยรักหรือเปล่า หรือแม้แต่แก้ว’ ใน ไฟรักอสูร  ซึ่งส่งต่อมายังภาพลักษณ์ของหนุ่มใต้ที่เกิดขึ้นในสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะมิวสิค วิดีโอ เพลงลูกทุ่งภาคใต้ที่เริ่มครองพื่นที่ตลาดและได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้นในช่วงปี 2549 ที่หนุ่มใต้นั้นยังคงสไตล์ความเป็นหนุ่มเซอร์อย่างเห็นได้ชัดและไม่เปลี่ยนแปลง 

ภาพลักษณ์บางอย่างของคนใต้ในสื่อบันเทิงอย่างละคร นั้นสอดรับกันเป็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นนอกจอทีวี โดยเฉพาะในเรื่องความรุนแรง’ (ซึ่งจะจริงไม่จริง หรือเบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไรนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง) ความมีเอกลักษณ์อันแข็งแกร่งของภาคใต้ ไม่ว่าจะในด้านวัฒนธรรม ภาษา ศาสนานั้น ในแง่หนึ่งนั้นมันก่อให้เกิดทั้งความเป็นอื่น ความไม่เป็นมิตร ความไม่สนิทคุ้นเคย และเมื่อทั้งหมดนั้นมันพัวพันเกี่ยวเนื่องทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ุและศาสนา ที่ (หรือถูกทำให้) มีความเป็นอื่นสูง (โดยเฉพาะศาสนาที่แม้อีสานและเหนือจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากภาคกลางแต่ก็ยังอยู่ภายใต้ศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน) จึงเกิดเป็นทั้งความไม่เข้าใจ ความละเอียดอ่อนที่ยากกว่าจะเข้าใจ ไปจนถึงความไม่คุ้นเคย ไม่อยากจะคุ้นเคยหรือเกี่ยวข้อง นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ละครใต้มีจำนวนที่น้อยและไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนักในสื่อบันเทิงไทย 

เมื่อเราหันกลับมามองที่ละครภาคเหนือ หรืออีสาน หรือแม้แต่ภาพแทนที่เกิดขึ้นของคนอีสานหรือคนเหนือในละคร เราก็จะเห็นถึงท่าทีบางอย่างที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของความเป็น ‘คนต่างจังหวัดที่ใสซื่อ ซื่อสัตย์และเป็นมิตร ซึ่งบางครั้งก็ถึงกับมากไปจนถูกหลอก (อย่างเรื่อง แม่อายสะอื้น) ซึ่งการสร้างภาพลักษณ์หรือภาพแทนเหล่านี้ขึ้นมามันทำให้เกิดความไว้วางใจ’ ได้มากกว่า 

แต่ข้อน่าสังเกตอีกหนึ่งอย่างก็คือ เรามักจะเป็นตัวละครคนอีสานและตัวละครคนเหนือในละครในบทที่มีความต่ำต้อย เช่น การเป็นคนใช้อย่างบ่อยครั้งและถูกผลิตซ้ำมากที่สุด (โดยเฉพาะคนอีสาน) แต่เราไม่ค่อยเห็นคนใต้ในบทบาทนี้มากนัก

หากพิจารณาตามบทความเรื่อง ภาคใต้หลังอาณานิคม? ของยุกติ มุกดาวิจิตร ซึ่งกล่าวไว้ว่า

คนใต้ต่อต้านอำนาจรัฐก็จริง จนมีคำพูดว่าไม่รบนาย ไม่หายจนแต่ไม่ได้ต่อต้านถึงที่สุด ภาคใต้ไม่มีสำนึกของการตกเป็นอาณานิคมของสยาม หรือถึงที่สุดคือ สังคมภาคใต้เป็นอาณานิคมของสยามที่ยินยอมพร้อมใจต่อการเป็นอาณานิคมอย่างที่สุด ต่างจากภาคเหนือและอีสาน ไม่มีกบฏผู้มีบุญแบบภาคอีสาน ไม่มีกบฏเงี้ยวแบบในภาคเหนือ

ดังนี้แล้ว ก็จะเห็นถึงนัยยะอื่นที่นอกเหนือไปจากความไม่เป็นอื่นหรือความน่าไว้วางใจของตัวละครคนเหนือหรือคนอีสานในละคร นั่นก็คือการพยายามกดไว้เพื่อไม่ให้กระด้างกระเดื่อง โดยการยัดเยียดบทที่ต่ำต้อยอย่างคนใช้ให้ เพื่อกดไว้ในสถานะที่ต่ำกว่า เป็นสถานะที่ไร้ซึ่งอำนาจและต้องรอฟังคำสั่งเท่านั้น ส่วนภาพแทนของคนใต้ก็ยังคงผูกติดไว้กับภาพอีกแบบอย่างที่กล่าวไปข้างบน

ละครใต้หรือแม้แต่ภาพยนตร์ที่เป็นใต้จริงๆ จึงพยายามจะเข้ามาสู่ความนิยมของผู้คนในสื่อบันเทิงด้วยการเริ่มต้นการทำความเข้าใจกับผู้คน ในความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อน ไปจนถึงการแก้ภาพลักษณ์หรือภาพแทนที่เกิดขึ้นทั้งในสื่อบันเทิงหรือในสังคมทั่วไป อันมาจากข่าวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในแง่สังคมและการเมือง แทนที่จะเป็นเพียงการนำเสนอความบันเทิงประโลมโลกทั้งแง่ดราม่าหรือคอเมดี้เพียงอย่างเดียวอย่างละครเหนือหรืออีสาน 

อย่างที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ผีเสื้อกับพายุ หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์เรื่อง ละติจูดที่ 6 ของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. หรือล่าสุดอย่าง ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก ของ ต้อม ยุทธเลิศ ที่ไม่ได้ฉาย ก็เป็นสื่อบันเทิงที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจ การสร้างภาพลักษณ์ภาพแทนใหม่ของสิ่งที่เรียกว่า ‘ภาคใต้’ ในสังคมไทย ที่ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดการเมืองสังคม หรือสื่อบันเทิงก็ยังมีความเป็นอื่นอยู่นั่นเอง

Tags: , ,