ประโยค “หมดสิ้นกันทีปีเก่า” จากเพลง รื่นเริงเถลิงศก ของวงดนตรีในตำนานอย่างสุนทราภรณ์ที่ดังก้องอยู่ในอากาศนั้นแลดูมีความหมายมากกว่าปกติในวันปีใหม่ของ ค.ศ. 2021
เหตุผลนั้นก็ชัดเจนครับ เพราะปีเก่า หรือ ค.ศ. 2020 ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นปีเลขสวยอันดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของผู้คนทั่วโลก กลับพลิกผันกลายเป็นสุดยอดความหายนะสมบูรณ์แบบจนนำมาซึ่งจุดจบของหลายอย่าง และกลายเป็นปีที่แทบทุกคนอยากให้ผ่านไปให้เร็วที่สุด
ไม่ได้หมายความว่าในปี 2021 นี้ เราจะได้รีเซตทุกอย่างแล้วมานับหนึ่งใหม่หรอกนะครับ (เพราะธรรมชาติไม่ทำแบบนั้นอยู่แล้ว) หากแต่จะลากยาวเอาความเสียหายจากปีเก่าตามมาด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะในตอนที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น โรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และปัญหาทั้งหลายในโลกก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม แถมวัคซีนที่ผลิตแล้วนั้นย่อมต้องใช้เวลาหลักเดือนหรือปีในการกระจายให้ถึงทุกๆ คนบนโลก ผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจและผลกระทบที่ตามมาย่อมต้องใช้เวลาฟื้นตัวกันอีกพักใหญ่อย่างไม่อาจปฏิเสธ
ได้ ผมเองก็นับว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ต่างกัน และในช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็ได้แต่เฝ้ารอให้สถานการณ์ทั้งหมดนี้คลี่คลายลงมาเรื่อยๆ จนลืมความสำคัญของวันหยุดและปีใหม่ไปเลยด้วยซ้ำ เสมือนเวลาของโลกใบนี้ได้เสียหลักจนเดินหลงทิศหลงทางไปซะแล้ว
แต่ในช่วงก้าวข้ามปีใหม่ที่ผ่านมา ผมเองก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ‘ปีใหม่’ นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่วันที่พิเศษอะไรไปมากกว่าวันอื่นๆ เลย (โดยเฉพาะปีใหม่นี้ที่งานฉลองส่วนใหญ่เงียบกว่าปกติ) แถมมนุษย์เราดันเลื่อนวันปีใหม่กันเป็นว่าเล่นเลยในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดังนั้นแล้วเราลองมาสำรวจกันดูดีกว่าครับว่าความหมายของ ‘ปีใหม่’ แท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่
ว่าด้วยปีใหม่ตามปฏิทินปัจจุบัน
‘ปีใหม่’ ถูกนิยามเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นวันที่เริ่มต้นการนับวันในปฏิทินของปี ‘ใหม่’ โดยในปัจจุบันเรายึดปฏิทิน Gregorian ที่มีความแม่นยำสูงเป็นหลัก ในปฏิทินชนิดนี้
เรายึดวันแรกของปฏิทิน ซึ่งก็คือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่นั่นเอง เช่นเดียวกับปฏิทิน Julian และปฏิทิน Roman ก่อนหน้า ด้วยความที่ปฏิทิน Gregorian มีความเที่ยงตรงสูง
โลกสมัยใหม่จึงได้ยึดมันเป็นรากฐานหลักของการคำนวณเวลาไปโดยปริยาย ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในประเทศไหนหรือวัฒนธรรมใด ปฏิทิน Gregorian ก็เป็นเสมือนภาษาสากลในการสื่อสารวันเดือนปีไม่ต่างจากภาษาอังกฤษนั่นเอง
เมื่อกาลเวลาและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงปีใหม่
แต่แน่นอนว่าสมัยก่อนไม่ได้เป็นเช่นนี้ ก่อนที่จะมีการยึดปฏิทิน Gregorian เป็นหลักสากล ปฏิทินเก่าหรือปฏิทินตามวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ล้วนใช้วันปีใหม่ไม่เหมือนกัน
อย่างปฏิทิน Julian เดิม วันปีใหม่ถูกกระจายแยกตามพื้นที่ (ถึงระบบปฏิทินจะเหมือนกัน) ซึ่งไล่ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม, 25 มีนาคม, วันอีสเตอร์, 1 กันยายน, 25 ธันวาคม หรือวันคริสต์มาส
จะว่าไปแล้ววัน April Fool หรือวันเมษาหน้าโง่ ก็มีที่มาจากการล้อเลียนผู้คนที่ยังฉลองวันปีใหม่ผิดวันตามปฏิทิน Julian เช่นกัน (ซึ่งมักจะอยู่ในช่วง 25 มีนาคม-1 เมษายน)
ส่วนในระบบปฏิทินอื่นๆ อย่างปฏิทินจีน วันปีใหม่จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่ 21 มกราคมถึง 21 กุมภาพันธ์ โดยยึดวันที่พระจันทร์เริ่มข้างขึ้นแรกในเดือนนั้นๆ แน่นอนแหละครับว่าคนไทยรู้จักวันนี้กันเป็นอย่างดีในชื่อวันตรุษจีนนั่นเอง (เทศกาลแจกแต๊ะเอียและอั่งเปาดูจะตรงตัวกว่าด้วยนะ)
เทศกาลสงกรานต์ของไทยและอีกหลายประเทศข้างเคียงที่จัดในช่วง 13-15 เมษายน ก็นับว่าเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ตามระบบปฏิทินเก่าด้วยเช่นกัน (ซึ่งเดิมจะถูกจัดขึ้นในวันพระจันท์เต็มดวงของเดือนพฤศจิกายน ในฐานะวันลอยกระทงจากการคำนวณด้วยปฏิทินจันทรคติ)
วัฒนธรรมและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกยิ่งมีวันปีใหม่ที่หลากหลายกันมากขึ้นไปอีก เช่น วันปีใหม่บังกลาเทศจะอยู่ในวันที่ 14 หรือ 15 เมษายน, วันปีใหม่อิหร่านจะอยู่ในวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งก็คือวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม, วันปีใหม่ของปฏิทินปฏิวัติฝรั่งเศสที่เด้งไปอยู่ในช่วง 22-24 กันยายน หรือช่วงศารทวิษุวัต ถ้าจะให้ผมไล่รายการนี้ทั้งหมดละก็ วันปีใหม่ก่อนการยึดปฏิทิน Gregorian เป็นหลักนั้นมีการไล่ตั้งแต่เดือนมกราถึงธันวาเลยครับ
แถมเอาเข้าจริง วันปีใหม่ในปัจจุบันก็ไม่ได้ตรงกันทั้งโลกอยู่แล้วด้วยซ้ำ เพราะการยึดเอาระบบวันตามการหมุนรอบตัวเองของโลกและระบบโซนเวลา (Universal Time Zone) ส่งผลให้ออสเตรเลียฉลองปีใหม่ก่อนไทยถึง 4 ชั่วโมง และอเมริกาตามหลังมาในวันรุ่งขึ้นด้วยความที่โซนเวลาช้ากว่าเราถึง 12 ชั่วโมง
สรุปแล้วคือผู้คนทั่วโลกจะฉลองปีใหม่ไล่กันไปเรื่อยๆ จนบางครั้งห่างกันเป็นวันทีเดียว (หักมุมใช่ไหมล่ะครับ เรื่องนี้นับว่ายาวมากถ้าผมขยายความ เพราะเราต้องพูดถึงเส้นแบ่งเวลาด้วย)
ปีใหม่ที่แท้คืออะไรกันแน่
ถ้าเราเชื่อถือการตั้งวันปีใหม่ตามวัฒนธรรมของมนุษย์ไม่ได้แล้วละก็ วิทยาศาสตร์น่าจะมีคำตอบให้ครับ เพราะหนึ่งปีนับได้จากการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์จนครบหนึ่งรอบ
ดังนั้น ถ้าเราหาจุดเริ่มต้นสักจุดหนึ่งในวงโคจรแล้วยึดจุดที่ว่านี้เป็นหมุด แล้วรอให้โลกโคจรกลับมาที่เดิมก็น่าจะได้วันปีใหม่ที่ถูกต้องกันแล้วใช่ไหมล่ะครับ คำตอบคือวิธีนี้ไม่ได้ผลดีสักเท่าไหร่หากนำมาใช้งานจริง เพราะปัญหาโซนเวลาเป็นไปได้ว่าเมื่อโลกโคจรมาถึงจุดที่กำหนดแล้ว แต่ละพื้นที่บนโลกย่อมต้องฉลองปีใหม่กันในเวลาไล่เลี่ยกันในรอบ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่เที่ยงคืนพอดิบพอดีตามแต่ละโซนเวลา ซึ่งย่อมนำเอาความลำบากมาให้คนที่ต้องฉลองปีใหม่ตอนตีห้า หรือกลางเวลางานในช่วงบ่ายโมงเลยก็เป็นได้ แถมยังมีโอกาสไปรบกวนระบบปฏิทินสากลที่มีการเพิ่มลดจำนวนวันอยู่แล้วเพื่อปรับเทียบความแม่นยำอีกด้วย
ท้ายที่สุดคือคำถามโลกแตกของระบบวงโคจรที่ไม่สามารถวัดเอาได้จริงๆ ว่าจะยึดจุดไหนของวงโคจรเป็นจุดอ้างอิงหลักอยู่ดีครับ เพราะในอวกาศการอ้างอิงตำแหน่งของวัตถุทั้งหลายที่เคลื่อนที่กันอยู่ตลอดเวลาย่อมเป็นฝันร้ายในการสร้างระบบที่มีความแม่นยำสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยทีเดียว
ที่ตลกกว่านั้นคือถึงมนุษย์เราไม่เปลี่ยนวันปีใหม่ ธรรมชาติที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยจัดการให้อยู่ดี
เพราะความเร็วในการโคจรและหมุนรอบตัวเองของโลกย่อมเปลี่ยนไปอยู่แล้ว แม้ว่าจะกินเวลาหลักพัน หลักล้านปีก็ตาม
บทส่งท้าย
ไม่ว่าคุณจะนับปฏิทินไหนเป็นหลัก หรือเลือกที่จะสร้างวันปีใหม่ของคุณเองขึ้นมาจากข้อมูลวงโคจรของโลก ท้ายที่สุดแล้วพวกเราทุกคนล้วนอยู่ในปี 2021 กันแล้วอยู่ดีครับ เพราะปีใหม่ที่นับเอาวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทิน Gregorian คือหลักในการใช้ชีวิตของพวกเรากันไปแล้ว
ร่างกายของเราปรับนาฬิกาชีวะให้คุ้นชินกับระบบวันที่มี 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ถูกเทียบในระดับเวลาที่ใหญ่ขึ้นไปอีกจนถึงปีปฏิทิน (และใหญ่ขึ้นไปกว่านั้นอีกในระดับทศวรรษและศตวรรษ ฯลฯ) ถ้าเราไปยึดวันปีใหม่อื่นแทน คนที่ลำบากก็จะเป็นเรานี่แหละครับที่หลุดจากกระแสโลกไปจริงๆ (ไม่นับวันปีใหม่ที่เหลืออยู่ในฐานะประเพณีนะ ซึ่งตรุษจีนและสงกรานต์ก็นับว่าเป็นวันหยุดพิเศษไปแล้วในปัจจุบัน ไม่มีผลในฐานะวันเริ่มต้นของปีจริงๆ อีกต่อไป)
2020 ซีซัน 2 จึงคงมีอยู่ในรูปของผลที่ตามมาเท่านั้นเองครับ
ซึ่งผมเองก็คงให้คำตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทุกอย่างจะจบลงโดยสมบูรณ์ก่อนจะถึงปีใหม่ปีหน้าหรือไม่ หรือเราจะต้องเตรียมรับมือกับ 2020 ซีซัน 3 กันต่อไปอีก ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นแบบไหน ปัญหาทั้งหลายจะจบลงช้าหรือเร็ว พวกเราทุกคนล้วนไม่ควรประมาทและเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้อยู่ตลอดเวลานะครับ
อ้างอิง
https://en.wikipedia.org/wiki/New_Year
https://www.history.com/topics/holidays/new-years
https://chinesenewyear.net/
https://www.britannica.com/topic/New-Year-festival
https://www.britannica.com/story/why-does-the-new-year-start-on-january-1
Tags: Scientifica