เดือนกันยายนนี้ ช่องทรูวิชั่นส์ จะนำการ์ตูนเรื่องใหม่แกะกล่องจากค่ายวอลต์ ดิสนีย์ ( Walt Disney) ที่ใครๆ ต่างก็รอคอย อย่าง “แอมฟิเบีย (Amphibia)” เข้ามาฉายในไทย ความตื่นเต้นของคนไทยสูบฉีดเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ดิสนีย์ได้ปล่อยข้อมูลของการ์ตูนแอมฟิเบีย (Amphibia) ออกมาว่า ตัวละครหลักเป็นเด็กหญิงลูกครึ่งไทย – อเมริกันที่ชื่อ แอนน์ บุญช่วย (Ann Boonchuay) ซึ่งเป็นเด็กหญิงผิวสีน้ำผึ้ง ผมหยิกหยักศกตามแบบคนไทย และภายในเรื่องยังมี “ความเป็นไทย” อีกหลากหลายอย่างที่พร้อมจะนำเสนอให้ชาวต่างชาติได้เห็น ไม่ว่าจะเป็น อาหารไทยอย่าง ผัดไทย วัฒนธรรมไทย เช่น การไหว้ หรือ ฉากหลังแบบไทยๆ หลายคนที่เห็นข้อมูลดังกล่าวก็มักจะเข้าใจว่า การ์ตูนเรื่อง แอมฟิเบีย ที่มีแอนน์ บุญช่วยเป็นผู้ดำเนินเรื่องหลักนี้ คือ “ความเป็นไทยครั้งแรก” ที่ได้ปรากฏอยู่บนโลกดิสนีย์ แต่ความเป็นจริง “ความเป็นไทย” ที่ลึกซึ้งและเห็นได้อย่างชัดเจนได้โลดแล่นอยู่บนโลกดิสนีย์เป็นครั้งแรกตั้งแต่ 64 ปีที่แล้ว
Siamese cat and Siamese talk
Lady and the Tramp หรือ ทรามวัยกับไอ้ตูบ เป็นเรื่องราวสุดโรแมนติกของตัวละครสัตว์ที่เข้าฉายเมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม ปี ค.ศ.1955 หรือ เมื่อ 64 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลงานในตำนานที่สร้างภาพจำสุดน่ารักจากเจ้าตูบสองตัว อย่าง “เลดี้” และ “แทรมป์” ให้กับการ์ตูนยุคบุกเบิกของดิสนีย์ อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของดิสนีย์ที่นำเสนอ “ความเป็นไทย” ออกสู่สายตาประชาโลก ด้วยกลวิธีการนำเสนอผ่านตัวละครแมวสองตัวในบทเพลงประกอบอยู่ภายในเรื่องที่ชื่อว่า The Siamese Cat Song ที่มีความยาว 2:35 นาที
ช่วงเวลา 2.35 นาทีของเพลง The Siamese Cat Song ที่มีตัวละครหลักคือ เลดี้ และแมววิเชียรมาศทั้งสองตัว ซึ่งเป็นแมวไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ได้นำเสนอภาพ “ความเป็นไทย” ที่ชัดเจนด้วยการอุปมาถึง “คนไทย” ผ่าน “แมววิเชียรมาศ” ตามชื่อเพลงว่าเป็นเพลงของ แมวแห่งประเทศสยาม ซึ่งในช่วงเวลานั้นแมววิเชียรมาศถูกจดทะเบียนในชื่อว่า Siamese cat ตามชื่อแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์ที่มีขึ้นในประเทศสยาม อีกทั้งยังมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการออกเสียงในภาษาอังกฤษที่มีสำเนียงและการออกเสียงที่ผิดแผกไปจากชาติอื่นในตะวันตก ด้วยวิธีการเปล่งคำออกมาแบบไม่ถูกวิธีนัก ซึ่งดูจะเป็นการขับเน้น “ความเป็นตะวันออกและความเป็นไทย” ที่มากล้นในตัวแมวทั้งสองออกมาให้ผู้ชมได้ฟัง ในสายตาของดิสนีย์ที่มองชาวสยามหรือชาวไทยจึงเป็นการมองผ่านลักษณะความเป็นแมวที่เห็นได้ในเพลงประกอบดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อเพลงดังนี้
We are siamese if you please
We are siamese if you don’t please
Now we looking over our new domicile
If we like we stay for maybe quite a while
พวกเราคือชาวสยาม ไม่ว่าคุณจะพอใจหรือไม่ก็ตาม
ตอนนี้ พวกเรากำลังมองหาที่พักที่เป็นหลักแหล่งแห่งใหม่
หากว่าเราชอบ เราก็จะพักอยู่สักช่วงหนึ่ง
Do you see that thing swimming round and round
Maybe we could reaching in and make it drown
If we sneaking up upon it carefully
There will be a head for you a tail for me
คุณเห็นสิ่งนั้นที่กำลังว่ายไปมาอยู่ในน้ำนั่นมั้ย
บางทีเราคงจะไปถึงมันและทำให้มันจมน้ำ
หากเราย่องไปอย่างระมัดระวัง
ก็คงจะได้หัวให้คุณ และหางสำหรับฉัน
Do you hear what I hear, a baby cry
When we finding baby there are milk nearby
If we look in baby buggy there could be
Plenty milk for you and also some for me
คุณได้ยินในสิ่งที่ฉันได้ยินมั้ย เด็กร้องไห้
เมื่อเราหาเด็กเจอ มันอาจจะมีนมอยู่แถวนั้น
หากเรามองไปในรถของเล่นเล็กๆ
อาจจะมีนมปริมาณมากให้คุณ และบางส่วนให้ฉัน
จากลักษณะนิสัยของแมวทั้งสองตัวอันเปรียบได้กับ “ชาวไทย” ภายในเนื้อเพลง จะเห็นลักษณะที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การพยายามปรับตัวของคนไทยผ่านแนวความคิดเรื่องที่อยู่อาศัยที่ว่า หากแมวทั้งสองตัวพอใจในแหล่งพักใด ก็จะอยู่อาศัยเป็นการชั่วคราว และหากว่าได้แหล่งพำนักแล้ว ก็ย่อมมองหาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนและพรรคพวกของตนต่อไป ผ่านทักษะการเจรจาภายในเรื่องที่แมวตัวหนึ่งพยายามจะหาวิธีกินปลาในโหลแก้วซึ่งมีเลดี้เฝ้าอยู่ให้ได้ และการจะร่วมมือกับแมวอีกตัวในการกินปลาในโหลแก้วนั้น แมวตั้วนั้นก็ย่อมต้องหาวิธีเจรจาให้มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อให้อีกฝ่ายยอมร่วมมือด้วย ด้วยการบอกผลประโยชน์ที่อีกฝ่ายจะได้รับ
ในกรณีนี้ แมวตัวนั้นได้บอกอีกตัวว่า “ถ้าเราได้กินปลาในโหลแก้ว ฉันก็จะให้หัวปลากับคุณ และฉันเองที่จะกินหางปลา” การยอมกินหางปลาของแมวตัวนั้นคือวิธีแสดงความนอบน้อมอย่างหนึ่งเพื่อยอมให้อีกฝ่ายเหนือกว่า แม้ว่าตนจะได้ประโยชน์น้อยกว่าอีกฝ่าย แต่ก็ได้กินปลาเช่นกัน ไม่ได้เป็นการเสียเปรียบโดยสิ้นเชิงแต่อย่างใด นอกจากกรณี หัวปลาและหางปลาแล้ว หากลองพิจารณาเนื้อเพลงในท่อนถัดไป จะพบว่า แมวตัวหนึ่งจ้องจะกินนมที่อยู่ใกล้ๆกับเด็ก การเจรจาให้อีกฝ่ายช่วยกันหานมที่อยู่ใกล้เด็กนั้น คือการบอกเล่าถึงผลประโยชน์ที่อีกฝ่ายจะได้รับมากกว่าตนเอง ด้วยการที่แมวตัวหนึ่งได้บอกกับแมวอีกตัวว่า ถ้าเจอนมแล้ว แมวตัวนั้นจะได้นมในปริมาณที่มากกว่าไป และเขาเองที่ขอเพียง “บางส่วน (some)” ของนมเท่านั้น
การเจรจาและอุปนิสัยที่แสดงให้เห็นทักษะการพูดในแบบดังกล่าวยิ่งตอกย้ำลักษณะของ “การทูตแบบสยาม” ที่เลื่องชื่อในดินแดนตะวันตกเมื่อครั้งอดีตอย่างยิ่ง เนื่องจาก “การทูตแบบสยาม” คือลักษณะการเจรจาในการค้าหรือติดต่อกับผู้อื่นของชาวสยามในอดีตที่มีเล่ห์เหลี่ยม ผสานผลประโยชน์ของอีกฝ่ายและตนเองอย่างลงตัว เสียเปรียบบ้าง แต่ก็ได้ประโยชน์บางส่วนด้วย แม้หลักฐานของการทูตแบบสยามจะไม่ได้ปรากฏชัดในจารึกหรือพงศาวดารใดพงศาวดารหนึ่ง แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ในช่วงที่มีการล่าอาณานิคม หรือแม้แต่สงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 การทูตแบบสยามเป็นยุทธวิธีสำคัญที่มีเล่ห์เหลี่ยม ลื่นไหล จนสามารถหลุดรอดจากการตกเป็นอาณานิคมของประเทศอื่นได้ ขนาดที่ฝรั่งเศสเองยังยอมรับในวิธีการดังกล่าว
ตามที่สื่อฝรั่งเศสยังได้เล่าใน บทความของหนังสือพิมพ์ Le Matin ฉบับ 18 June 1907 ที่แปลโดย อ.ไกรฤกษ์ นานา ผู้แปลเรื่อง‘พระมหากษัตริย์ที่แท้จริง (Un vrai Roi)’ ซึ่งพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมว่า ”นักการเมืองยุโรปคุยกันนักหนาว่ารู้จักคิงจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างดี…แต่ทว่าคนอังกฤษกับคนฝรั่งเศสก็ยื้อแย่งประเทศของพระองค์อย่างไม่เป็นผลเท่าไหร่ และก็ยังไม่มีใครฮุบประเทศนี้ได้จริงจังเสียที ขนาดส่งเรือรบเข้าไปถึงกลางใจเมืองหลวง แต่ด้วยกลการเมืองที่เดอะคิงใช้หลอกล่อพวกเรา เรือรบเหล่านั้นก็ต้องถอยทัพออกมาหมด พร้อมกับเงิน (ค่าไถ่) ที่พระองค์มอบให้เราเพียงหยิบมือ ช่างเป็นเรื่องประหลาดเหลือเชื่อ
แทนที่เราจะตั้งหน้ารบกันจริงๆ เรากลับต้องตั้งต้นคืนดีกันเพราะการที่เราได้เขมรมาไว้ในครอบครอง ฝรั่งเศสก็กลายเป็นเพื่อนบ้านของสยามไปโดยปริยาย เราได้สมบัติจากนครวัดมาไว้เชยชมมากมายแล้วก็จริง แต่ก็ยังเอื้อมไปไม่ถึงตัวนครวัดที่เป็นต้นตอของสมบัติเหล่านั้น ทำให้เราดูคล้ายแมลงหวี่ยุ่งๆ ที่คอยสร้างความรำคาญให้วัว แต่ก็ทำอะไรวัวไม่ได้ และแล้วฝรั่งเศสก็สูญเสียจันทบูรไป ทุกครั้งที่มีการลงนามในกระดาษเราก็จะพูดว่ามันเป็นชัยชนะทางการทูตร่ำไป “แต่ที่แท้แล้วเราไม่เคยชนะอะไรเลย“
เกมการทูตของสยามในการเจรจาเรื่องต่างๆ แม้จะทำให้สยามต้องเสียเปรียบไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้เข้าเนื้อจนต้องตกเป็นอาณานิคมเหมือนประเทศอื่นๆ และนี่คืออิทธิพลของการเจรจาที่มีชั้นเชิงในสายตาของประเทศตะวันตก กอปรกับอุบายนกสองหัวของสยามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สยามเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ซึ่งประกอบด้วยประเทศเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น และถึงแม้ว่าฝ่ายอักษะจะพ่ายแพ้อย่างเต็มรูป ทำให้สยามต้องเสียเปรียบในกรณีที่เป็นฝ่ายแพ้สงคราม
แต่กลับมีกลุ่ม “เสรีไทย” ซึ่งเป็นกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์เป็นแกนนำ ทำให้สยามที่ควรจะเสียเปรียบโดยสมบูรณ์ไม่ต้องได้รับผลกระทบอย่างประเทศแพ้สงครามเช่นประเทศอื่นๆ อีกทั้งยังได้รับข้อยกเว้นบางประการจากการต่อต้านรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้น และในขณะเดียวกัน ดังที่เห็นในฉากของเจ้าหมาเลดี้ และแมวทั้งสองตัว ก็จะเห็นถึงชั้นเชิงที่ใช้หลอกล่อหมาเพื่อให้แมวได้ผลประโยชน์ ดังนั้น ในสายตาของชาวตะวันตก “การทูตแบบสยาม” หรือ “Siamese talk” ที่มีมาตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม ผ่านช่วงเวลาในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ยังคงดำรงอยู่ให้เห็นมาจนถึงปีค.ศ. 1955 ผ่านการเล่าเรื่องของแมววิเชียรมาศที่เป็นภาพแทนของชาวสยามในบทเพลง The Siamese Cat Song
ในสายตาของวอลต์ ดิสนีย์ อุปนิสัยและทักษะการเจรจาที่โดดเด่นกลายเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ของคนไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ และแม้จะผ่านมาถึง 64 ปี สายตาของวอลต์ ดิสนีย์ที่มองเราก็ไม่ได้เปลี่ยนไป ตามที่เห็นได้จากการนำเสนอ “ความเป็นไทย” ในการ์ตูนเรื่องใหม่แกะกล่องอย่าง แอมฟิเบีย
Amphibia ความเป็นไทยที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง
Amphibia “แอมฟิเบีย (Amphibia)” หมายถึง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พูดง่ายๆก็คือ สัตว์ที่มีความสามารถในทางกายภาพที่อาศัยอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ นับว่าเป็นคุณสมบัติที่มีประโยชน์ของสัตว์จำพวกนี้ที่ง่ายต่อการอยู่อาศัย ได้ประโยชน์ไม่ว่าจะบนบกหรือในน้ำ ซึ่งการนำคำว่า “แอมฟิเบีย” มาใช้เป็นชื่อเรื่องของการ์ตูนเรื่องใหม่จากค่ายวอลต์ ดิสนีย์ ก็ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า “แอมฟิเบีย” ในความหมายว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำนี้ จะมีความหมายและนัยยะบางอย่างที่สะท้อนถึง “ความเป็นไทย” หรือไม่
และเมื่อพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่เป็นตัวแทนของความครึ่งๆ กลางๆ และการผสานประโยชน์ของน้ำและบกเอาไว้ ได้สะท้อนให้เห็นถึง “ความเป็นไทย” ที่เด่นชัดผ่านตัวละครและเนื้อเรื่องของการ์ตูน แอมฟิเบีย นี้ ตัวละครหลักภายในเรื่องเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความครึ่งๆ กลางๆ จากความเป็นลูกครึ่งของแอนน์ บุญช่วย เพราะ แอนน์ บุญช่วย คือ ตัวละครหญิงชาวไทยวัย 13 ปีที่มีเชื้อสายผสมผสานกันระหว่าง อเมริกันและไทย ซึ่งมีต้นแบบมาจากคุณยายของแมตต์ บราลี่ (Matt Braly) นักวาดการ์ตูน ลูกครึ่งไทย – อเมริกัน ที่ยายของเขาเป็นชาวไทย มีผิวสีน้ำผึ้ง ผมหยิกหยักศกแบบไทยๆ ประกอบกันเป็น แอนน์ บุญช่วย จึงไม่แปลกนักที่เธอ อาจเป็นภาพแทนของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ได้รับทั้งความเป็นชาติตะวันตก อย่าง อเมริกัน และความเป็นชาติตะวันออก อย่าง ไทย สามารถรับวัฒนธรรมได้ทั้งตะวันตกและตะวันออก ไม่ต่างจากสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่อยู่อาศัยได้ทั้งบนบกและในน้ำ
การได้รับผลประโยชน์ทั้งสองทางจากเรื่องเชื้อชาตินี้ ไม่ได้ปรากฏออกมาให้เห็นผ่านตัวละครหลักเท่านั้น แต่เมื่อสังเกตที่เนื้อเรื่อง จะพบกับความชัดเจนของความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น จากคำบอกเล่าของแมตต์ บราลี่ที่เล่าว่า แรงบันดาลใจในการทำการ์ตูนเรื่องนี้ของเขาคือ ความทรงจำในวัยเด็กสมัยที่เขาอาศัยอยู่ที่อเมริกา และกลับมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยทุกวันหยุดฤดูร้อน และการกลับมาไทยทุกช่วงฤดูร้อนนั้น ทำให้แมตต์สัมผัสได้ถึงความตื่นตาตื่นใจจากโลกใบใหม่อย่างประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม การแสดงออกแบบไทยๆ อาหารไทย
สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับเนื้อเรื่องแอมฟิเบียที่ว่า แอนน์ บุญช่วยขโมยมิวสิกบ็อกซ์กล่องหนึ่งมาและถูกดูดเข้าไปในโลกแอมฟิเบีย หรือโลกของกบ เธอพบความตื่นตาตื่นใจไม่ต่างจากตอนที่แมตต์ บราลี่กลับไทยครั้งแรก ความชัดเจนของการเปรียบเทียบระหว่างดินแดนของคนไทยและดินแดนของกบปรากฏให้เห็นชัดเจนโดยไม่ต้องแปลกใจ และไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ในสายตาวอลต์ ดิสนีย์ ก็ยังมองคนไทยเป็นคนจำพวกครึ่งๆ กลางๆ มักหาช่องทางที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝั่งไม่ว่าจะทางบกหรือทางน้ำในโลกของกบ หรือแม้แต่ความเป็นคนไทยเองที่ก็ยังต้องผสมผสานกับชาติอื่นๆ เช่น อเมริกันผ่านตัวละคร แอนน์ บุญช่วย และนิสัยที่ชอบเจรจาต่อรองในแบบที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายผ่านตัวละครแมว วิเชียรมาศ ในการ์ตูนเรื่อง Lady and the Tramp
ไม่เพียง Lady and the Tramp และ Amphibia เท่านั้นที่จะสะท้อนสายตาอันแจ่มชัดของวอลต์ ดิสนีย์ที่มองมายัง “เมืองไทย” และ “คนไทย” เพราะเมื่อไม่นานมานี้ ค่ายวอลต์ ดิสนีย์ก็ได้ปล่อย Disney Shorts เรื่อง Our Floating Dreams ที่มีความพิเศษคือการนำมิกกี้เมาส์ และ มินนี่ เมาส์ มาเรียกคนดูจากผู้ชม และยิ่งไปกว่านั้น คือการเรียกความนิยมจากคนไทยด้วยการนำเสนอภาพวิถีชีวิตชาวตลาดน้ำและสภาพบ้านเมืองริมน้ำมานำเสนอให้ชาวต่างชาติได้เห็นอย่างใกล้ชิด ด้วยการใช้สีสันสดใสเป็นฉากหลัง เห็นบ้านเรือนทรงไทย และมีพ่อค้าแม่ขายเป็นสัตว์หลายชนิด เช่น ยีราฟ ฮิปโป ช้าง
ที่น่าประหลาดใจก็คือสังคมโลกรู้จักประเทศสยามจากแฝดสยาม แมววิเชียรมาศ ในบทเพลง The Siamese Cat Song ก็เป็นแฝด ล่าสุดมิกกี้เมาส์ และมินนี่เมาส์ และชิปกับเดลใน Our Floating Dreams ที่กำลังกลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียลมีเดียของไทยก็ยังเป็นพี่น้อง (ที่มีความคล้ายกันอย่างมาก) กันอีกต่างหาก! มันช่างบังเอิญอะไรเช่นนี้
เนื้อเรื่องของ Our Floating Dreams เริ่มจากมิกกี้เมาส์ พ่อค้าขายสับปะรดพายเรือมาชนเข้ากับเรือของมินนี่เมาส์ แม่ค้าที่ขายข้าวผัด ความไม่ลงรอยกันเด่นชัดขึ้นตั้งแต่การชนครั้งนั้น ต่อเนื่องมาหลายๆ ครั้งจนเหน็ดเหนื่อยและนำไปสู่การผสมผสานกันของรสชาติเปรี้ยวจากสับปะรดและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของข้าวผัด กลายเป็น “ข้าวผัดสับปะรด” ที่ใครได้ชิมก็ติดใจ
ถ้ามองอย่างผิวเผิน จะพบว่า “ความเป็นไทย” สะท้อนให้เห็นผ่าน ฉากหลังที่เป็นตลาดน้ำ สะท้อนผ่านวัฒนธรรมเช่น การไหว้ หรือสะท้อนผ่านการแต่งกาย อย่าง ชุดไทย แต่ถ้าพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะเห็น “อัตลักษณ์และตัวตน” ของคนไทยอย่างแจ่มชัด คือ การเจรจาการทูตแบบสยาม ที่ซ่อนเจตจำนงไว้ภายในและเสนอไว้ด้วยผลประโยชน์ที่คุ้มค่าทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเห็นได้จากคำพูดติดปากของคนไทยว่า “ไม่เป็นไร” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่แสดงถึงความใจกว้าง ไม่คิดมากและไม่ถือโทษโกรธแม้ว่าในใจจะรู้สึกคุกรุ่นเต็มที
เช่นเดียวกับตอนที่มิกกี้เมาส์และมินนี่เม้าส์พูดว่า “ไม่เป็นไร” หลังที่เรือจมและพังอย่างไม่เป็นท่า ความประนีประนอมและดูจะใจกว้างคือลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคนไทย จากที่เห็นได้ชัดในอีกตัวอย่างหนึ่งในช่วงหลังของเนื้อเรื่อง ที่แม้ทั้งสองจะทะเลาะเบาะแว้งกัน แย่งกันขายอาหารของตนให้กับลูกค้า แสดงกิริยาที่ไม่ถูกขี้หน้ากันอย่างเห็นได้ชัด แต่บทสรุปของเรื่องกลับจบลงที่การประนีประนอมด้วยหลักแห่งการผสมผสานผลประโยชน์อย่างสวยงามกลายเป็น “ข้าวผัดสับปะรด” ที่มิกกี้เมาส์ก็สามารถขายสับปะรดของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และมินนี่เมาส์ก็สามารถขายข้าวผัดของตัวเองได้อย่างลงตัว
วอลต์ ดิสนีย์กำลังนำเสนอภาพลักษณ์ของคนไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนไป แม้จะผ่านไปนานถึง 64 ปีแล้วก็ตาม เพราะ 64 ปีที่แล้วดิสนีย์กำลังนำเสนอแมวสองตัวที่ร้ายกาจ ผสานประโยชน์กันเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และคนที่เป็นเหยื่อคือเลดี้ หมาซึ่งเป็นตัวแทนแห่งโลกตะวันตก แต่นั่นก็สะท้อนเสน่ห์และลักษณะสำคัญของคนไทยที่ว่าด้วยการเป็นนักผสานผลประโยชน์อย่างดีเยี่ยม
ในขณะเดียวกัน 64 ปีต่อมา ดิสนีย์กำลังเล่าอีกครั้งว่าคนไทยยังคงมีลักษณะเช่นนั้นอยู่ ผ่านตัวตนของ “แอนน์ บุญช่วย” ที่ผสมผสานไว้ทั้งเชื้อชาติตะวันตกและตะวันออก รวมถึงกบที่สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดได้จากบนบกและในน้ำ และยังนำเสนอการผสานผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมนี้ผ่าน Disney Shorts เรื่อง Our Floating Dreams ที่ถึงแม้จะเปิดด้วยความขัดแย้งและความแตกต่างของสองขั้วที่ไม่อาจเข้ากัน แต่ทางออกของการที่เมื่อกระแทกกันแล้ว เมื่อปะทะกันแล้วอย่างที่เรือของมิกกี้เมาส์และมินนี่เม้าส์ชนกัน ทั้งสองคนก็ได้เอ่ยคำว่า “ไม่เป็นไร” ให้อภัยกัน เพราะพวกเขาเรียนรู้แล้วว่าควรจะร่วมมือกัน รวมทั้งสองความขัดแย้งเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียนกลายเป็น “ข้าวผัดสับปะรด” ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการผสมผสานกัน เพราะนี่คือสเน่ห์ของความเป็นไทย การแก่งแย่งแข่งขันไม่ใช่อัตลักษณ์ของความเป็นไทยอย่างที่ควรจะเป็น ความเป็นไทยเกิดจากการผสมผสานประโยชน์ดังที่เคยเป็นมาตลอด
การผสมผสานกันของหลายๆ ความแตกต่าง รวมทั้งการผสานผลประโยชน์เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการในแบบที่คุ้มค่ากับทุกฝ่ายคืออัตลักษณ์ของคนไทยที่มีมาอย่างช้านาน สิ่งเหล่านี้เองที่ฝังอยู่ในตัวคนไทยและฝังอยู่ในสายที่กำลังจับจ้องมาตลอด 64 ปีของวอลต์ ดิสนีย์ ที่ได้นำเสนอผ่านตัวละครสดใส น่ารัก ตั้งแต่แมวสีขาวนวลอย่างแมววิเชียรมาศ ตัวละครลูกครึ่งสุดน่าเอ็นดูอย่าง แอนน์ บุญช่วย และความบ้องแบ๊วของมิกกี้เมาส์และมินนี่เม้าส์ ซึ่งใครๆ เห็นก็คงไม่นึกว่าจะเคลือบแฝงไว้ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อัตลักษณ์ของคนไทยไว้อย่างแยบยลและเจ็บแสบอย่างคาดไม่ถึงเช่นนี้
ไม่เพียงแต่สายตาของวอลต์ ดิสนีย์เท่านั้นที่มองเราในรูปแบบนั้น หากแต่เมื่อกล่าวในวงกว้าง อาจหมายถึงสายตาของชาติตะวันตกในภาพรวมด้วยก็ได้ ที่มองคนไทยจากภายนอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่รวบรวมความแปลกไว้ หรือเป็นเมืองที่ Exotic ซึ่งเห็นได้จากนวนิยายสุดอีโรติกเรื่อง “เอมมานูเอล” ในปี 2510 ที่ฉากบรรยายท้องเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยนั้นไม่ต่างไปจากฉากตลาดน้ำใน Our Floating Dreams เลยแม้แต่น้อย แม้เมืองไทยจะพัฒนารุดหน้าไปเท่าใด แต่ภาพจำของคนไทยสำหรับชาวตะวันตกก็ยังคงเป็นสิ่งที่เอ็กโซติกอยู่เช่นเคย หรือแม้แต่งานร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์เรื่อง The Beach หรือจากภาพยนตร์เรื่อง Hang over ภาค 2 ที่ยกกองถ่ายมาถ่ายทำกันถึงเมืองไทย ก็เห็นภาพเมืองไทยที่แจ่มแจ้งผ่านสายตาของชาติตะวันตกว่า
เมืองไทยคือสถานที่ที่รวบรวมความแปลกประหลาดหลายๆ อย่างไว้ จากฉากที่มีช้างเดินปะปนอยู่กับคนตามตลาด มีวัดที่พระห้ามพูดกัน มีตึกสูงหรูหราในขณะที่รอบข้างก็มีทางเดินสุดสกปรก สายตาของชาติตะวันตกจึงมองประเทศไทยในความหมายของสิ่งแปลกประหลาด ไม่ต่างจากที่นำ ฮิปโป ยีราฟ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ไม่มีในไทยมาใส่ไว้ในฉากที่แสดงความเป็นไทยอย่างฉากในตลาดน้ำจาก Our Floating Dreams เพื่อแสดงความเอ็กโซติกอย่างถึงขีดสุด และ ผลักให้ ”ประเทศไทย” ได้กลายเป็นพื้นที่สุดเอ็กโซติกที่เข้าไม่ถึง เข้าใจยาก แต่ก็น่าสนใจและน่าหลงใหลเกินกว่าจะถูกทอดทิ้ง
การอยู่รวมกันของบางสิ่งที่ยากจะอยู่ร่วมกันได้กลายเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยที่กลายเป็นเจ้าแห่งนักผสมผสาน นักผสานผลประโยชน์ ก็กลายเป็นเงาที่สะท้อนอย่างแจ่มชัดในสายตาของดิสนีย์และชาวตะวันตก และสะท้อนความหวาดกลัวของตะวันตกที่มีต่อสยามมายาวนานหลายศตวรรษ ความน่ากลัวของกบตัวน้อยๆ ที่ทำให้ราชสีห์ต้องเผ่นหนีมาแล้วในหลายสมรภูมิ
Tags: มิกกี้เมาส์, มินนี่เมาส์, TheMoJu, walt disney, Amphibia, แอนน์ บุญช่วย, ชิปกับเดล