บทนำ

4 ปีผ่านไปกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ และนโยบายมหากาพย์การปฏิรูปสหรัฐอเมริกาของเขาอันนำมาซึ่งผลกระทบต่อทั้งโลก รวมถึงข้อกังขามากมายและอีกหลาย ๆ ประเด็น

ผมไม่เคยเจอผู้นำโลกที่มีลักษณะการทำงานที่ประหลาดและดูมีภาพลักษณ์แย่ได้ขนาดนี้มาก่อนเลย  การเปลี่ยนแปลงจากประธานาธิบดีเจ้าเสน่ห์ คารมดี อีคิวสูง เช่น บารัก โอบามา มาเป็นนักลงทุนตลกร้ายที่พร้อมด่ากราดทุกคนอย่างทรัมป์ เหมือนฟ้าผ่าลงกลางอกในการสร้างมาตรฐานใหม่ของคำว่า ‘ผู้นำ’ ในโลกการเมืองสหรัฐ

จนแล้วจนรอดวันที่ประธานาธิบดีทรัมป์น่าจะหวาดกลัวที่สุดก็มาถึงจนได้ ตามกฎแล้วสหรัฐจะทำการเลือกตั้งใหม่ทุก ๆ 4 ปี เมื่อครบหนึ่งเทอมการปกครองของประธานาธิบดี 

ประชาชนชาวอเมริกานั้นผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในด้านวิธีการ หากประเทศไทยเราเดินเข้าคูหาเอาปากกาไปกาบัตรกระดาษกันแบบที่ใช้ในปัจจุบันแล้วล่ะก็ เหล่าอเมริกันชนต้องประสบพบเจอกับทั้งการกาแบบคลาสสิก การเจาะกระดาษ (Punch card – ซึ่งแอบก่อความวายป่วงมาแล้ว) การใช้เครื่องกลไก และที่ขาดไม่ได้คือการเลือกตั้งด้วยเครื่องมือดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นมาก ๆ ในปัจจุบัน 

ในหมวดนี้จะมีทั้งเครื่องและระบบอ่านผลแบบฝนมือที่นักเรียนไทยต้องคุ้นเคย ขณะเดียวกันก็มี เครื่องโหวต (Voting Machine) ที่ใช้นิ้วจิ้มเลือก หลังยืนยันตัวตน ฟังดูเหมือนเจ้าระบบหลังสุดนี้น่าจะเป็นความฝันด้านนวัตกรรมที่จะมาปฏิวัติวงการการเลือกตั้งของทั้งโลก แต่ในความเป็นจริงคือ เจ้าระบบเครื่องนี้กลายมาเป็นดาบสองคมที่เวิร์คบ้าง ไม่เวิร์คบ้าง บางฝ่ายก็ชอบ บางฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย

วันนี้ เรามาทำความรู้จักกับเรื่องราวของเจ้าเครื่องโหวต (Voting Machine) ในนี้กันครับ

ย้อนรอย ‘ระบบเลือกตั้ง’ สหรัฐอเมริกา

“ประชาชนสหรัฐไม่ได้เลือกผู้นำ รัฐต่างหากล่ะที่เป็นผู้เลือก” 

ประโยคข้างต้นนี้คงดูผิดปกติเอามาก ๆ หากเรายังคิดถึงระบบการเลือกแบบ ‘ป๊อปปูลาร์ โหวต’ (Popular Vote) ตามหลักประชาธิปไตยชนิด (โคตร) ออริจินัล หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘Winner take all” (ผู้ชนะได้ทุกอย่าง) ถึงจะชนะด้วยผลโหวตเกินครึ่งมานิดนึงก็ตาม แต่ผลที่ได้ก็ต้องนับตรง ๆ ทุกเสียงจากผู้โหวต จริงไหม?

ระบบของสหรัฐไม่ใช่แบบนั้นครับ เพราะตัวอย่างบาดตาที่มีให้เห็นล่าสุดเลยคือการขึ้นดำรงตำแหน่งของทรัมป์ ที่มองเผิน ๆ เหมือนเขาจะได้ ‘เสียง’ เกิน 270 เสียงและชนะไปแบบแฟร์ ๆ นั่นไม่ใช่เสียงของประชาชนที่เลือก (จะเป็นไปได้ยังไงที่ทั้งประเทศจะมีคนอย่างน้อย 270 คนกันล่ะ ! ) แต่นั่นคือเสียงโหวตจากตัวแทนรัฐต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลให้ถึงแม้ว่าทรัมป์จะพ่ายแพ้ให้กับป๊อปปูลาร์ โหวตกล่าวคือประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการเลือกเขาเข้าสู่ทำเนียบขาว แต่หากชนะเสียงของ ‘รัฐ’ ขั้นต่ำ 270 เสียงที่ว่า ผลลัพธ์ที่ได้ล้วนเป็นเก้าอี้ประธานาธิบดีอยู่ดีครับ

ไม่ใช่แค่ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ในประวัติศาสตร์สหรัฐ มีประธานาธิบดีที่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ทั้งที่ไม่ได้เสียงข้างมากจากประชาชนในระดับประเทศ เช่น จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช  (ค.ศ. 2000) และย้อนกลับไปเป็นร้อยปีอย่าง จอห์น ควินซี อดัมส์  (ค.ศ. 1824), รูเธอฟอร์ด บี. เฮย์ส  (ค.ศ. 1876), และ เบนจามิน แฮร์ริสัน (ค.ศ. 1888) ตามลำดับ

ปัญหายุ่งยากทั้งหมดเริ่มมาจากระบบเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐที่มีชื่อว่า ‘Electoral College’ ซึ่งถูกร่างขึ้นมาในสมัยก่อตั้งประเทศ หลังการประกาศเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ ขั้นตอนการทำงานของ EC (ต่อไปผมขอใช้ตัวย่อนี้เพื่อความสะดวก) เริ่มที่ประชาชนคนทั่วไปที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงหนึ่งเสียงต่อคน ก็ฟังดูปกตินี่นา แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือต่อจากนี้ครับ เพราะนอกจากเสียงของประชาชนแล้ว ยังมีเสียงของรัฐซึ่งเป็นผู้ไปเลือกประธานาธิบดีจริง ๆ ในนาม ‘คณะผู้เลือกตั้ง’ อีกทีนึงด้วย

จำนวนเสียงของรัฐหรือที่เราเรียกกันว่าคณะผู้เลือกตั้ง จะขึ้นอยู่กับประชากรในรัฐนั้น ๆ ยิ่งรัฐมีประชากรมาก จำนวนเสียงโหวตต่อรัฐสำหรับเลือกประธานาธิบดีก็จะเพิ่มขึ้นตามและบวกด้วยจำนวนเสียงมาตรฐานอีกสองเสียง ตัวอย่างเช่นรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีประชากรจำนวนมาก ย่อมได้เสียงมากกว่าที่ 55 เสียง ส่วนรัฐที่มีประชากรจำนวนน้อยอย่างเนวาดา ก็ได้ไปแค่ 6 เสียง รวมทุกรัฐ 50 รัฐ และเมืองหลวงอย่าง วอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว เราก็จะได้เสียงโหวตสุดท้ายในระบบ EC ที่ 538 เสียง 

ส่วนตัวเลข 270 ที่คุ้นชินกันคือ จำนวนเสียงโหวตเกินครึ่งที่น้อยที่สุด หลังการจัดลำดับจำนวนเสียงการโหวตของแต่ละรัฐแล้วที่จะทำให้ได้ผู้ชนะ ถึงแม้ว่าตัวเลขครึ่งหนึ่งจริง ๆ คือ 269 เสียง ซึ่งทำให้เกิดการเสมอได้ (นี่คืออีกหนึ่งความหายนะของระบบ EC) ตัวเลข 270 จึงถูกเลือกในฐานะตัวแทนของ 51%  ตัวเลขนี้ได้ดำรงอยู่ในยุคสมัยปัจจุบันมาอย่างยาวนานแล้วในเวทีการเลือกตั้งของสหรัฐ เพราะไม่มีการเพิ่มขึ้นของเสียงโหวตจากรัฐตามระบบ EC ด้วยเหตุผลง่าย ๆ คือยังไม่มีรัฐที่ 51 เพิ่มขึ้นมาครับ แน่นอนว่า วอชิงตัน ดี.ซี. และ เปอร์โต ริโค ต่างพยายามให้ตนเองได้ Statehood หรือความเป็นรัฐ เพื่อสิทธิประโยชน์หลาย ๆ อย่างที่ควรจะได้ แต่ก็คงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่ ๆ ครับ (ปัญหาความล่าช้าทางการเมืองทั้งนั้น)

เราสามารถสรุปได้ว่า ประชาชนลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกพรรคที่ตนเองต้องการแล้ว ตัวแทนรัฐจึงไปเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่งโดยดูจากผลโหวตของประชาชน เปรียบเสมือนระบบประชาธิปไตยที่ทับซ้อนกันอยู่แบบแปลก ๆ ก็ไม่เชิง ลองจินตนาการภาพว่าบนโต๊ะมีน้ำใส่สีหลายๆ แก้ววางเอาไว้เท่าจำนวนคน แล้วประชาชนเป็นคนเลือกแก้วไปยื่นให้ผู้ลงคะแนนเสียงของรัฐอีกที เมื่อสิ้นสุดการเลือกแล้ว แก้วน้ำสีที่ถูกเลือกมากกว่าเท่านั้นจึงจะถูกนำไปเติมในเหยือกใหญ่ตามกำหนดแก้วของแต่ละรัฐ เพื่อเลือกประธานาธิบดีในที่สุดนั่นเอง 

แต่ปัญหาดันหนักข้อกว่านั้น ตรงที่แต่ละรัฐไม่ได้แบ่งคะแนนเสียงที่ประชาชนเลือกตามสัดส่วน แต่จะเทคะแนนให้พรรคที่ได้เสียงข้างมากไปแบบหมดหน้าตัก เช่น  แคลิฟอร์เนียมี 66 เสียงแล้วพรรค A ได้ผลโหวต 60 % ส่วนพรรค B ได้ 40 % คณะผู้เลือกตั้งจะโหวตให้พรรค A 100% คือทั้ง 66 เสียง ไม่ใช่อัตราส่วน 40/20 อย่างที่ควรจะเป็น 

นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมบางครั้งสหรัฐถึงได้ประธานาธิบดีที่ไม่ได้ชนะป๊อปปูลาร์ โหวต เพราะระบบการเลือกของรัฐแท้ ๆ เลยที่ทำให้บางครั้งเสียงป๊อปปูลาร์ โหวตข้างน้อย ชนะได้เพียงแค่ผู้แข่งขันเดินเกมให้เป็น แล้วเลือกเอาชนะคู่แข่งในรัฐที่จำนวนเสียงโหวตของคณะเลือกตั้งตามระบบ EC มีมากกว่า ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ได้ใช้วิธีการข้างต้นนี้เอาชนะฮิลลารี คลินตันมาแล้วในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2016 

อย่างไรก็ตามบางรัฐอย่างเนบราสกา เลือกที่จะแบ่งเสียงของคณะผู้เลือกตั้งออกเป็นสัดส่วนตามการเลือกของประชาชนอย่างที่ควรจะเป็น แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักเมื่อต้องสู้กับ 40 กว่ารัฐที่เหลือซึ่งยังคงเลือกใช้วิธีลงทุนเต็มร้อยกับผู้ชนะแบบเดิม ๆ

EC ยังแถมมาด้วยปัญหาสัดส่วนของผลโหวตต่อประชาชนอีกด้วยครับ ด้วยกฎบวกสองเสียงที่รัฐจะได้โดยมาตรฐาน หมายความว่ายิ่งรัฐนั้นมีประชากรน้อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมี ‘พลัง’ ในการเลือกต่อประชากรหนึ่งคนมากขึ้นเท่านั้น หากหารด้วยจำนวนเสียงโหวตของรัฐโดยคณะผู้เลือกตั้งบวกสอง นี่เป็นสาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่ออกมาแอนตี้ระบบ EC เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความไม่แฟร์เชิงรากฐานของระบบเอง

อีกจุดสำคัญในปัญหาของกระบวนการ EC คือรัฐสามารถเลือกที่จะโหวตตามใจตัวเองได้อีก (คณะผู้เลือกตั้งที่ถูกเลือกโดยรัฐแล้วจะเป็นผู้ตัดสินใจในท้ายที่สุดแล้ว) หมายความว่าตามทฤษฎีแล้วคณะผู้เลือกตั้งสามารถจะไม่เลือกตามผลป๊อปปูลาร์โหวตในรัฐก็ได้ เช่นพรรค A ชนะแบบ 99% ในรัฐ คณะผู้เลือกตั้งจะเลือกพรรค B ทั้งหมดก็ไม่ผิด เราเรียกวิธีการนี้ว่า Faithless Elector (แปลเป็นไทยตรง ๆ ก็คือผู้เลือกตั้งอันไร้ซึ่งความเชื่อ) โดยกฎข้อนี้ถูกตั้งขึ้นในสมัยก่อตั้งประเทศ ที่การสื่อสารแทบไม่มี และการนับผล ป๊อปปูลาร์ โหวต เป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ละรัฐจึงต้องส่งคณะผู้เลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนไปยังเมืองหลวง ซึ่งก็ใช้เวลาเป็นเดือน เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งและผู้คนเหล่านี้ได้เจอประธานาธิบดีตัวจริง พวกเขาอาจจะได้ข้อมูลใหม่ ๆ หรือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนการเลือกได้ตามความเหมาะสมนั่นเอง 

แน่นอนว่ากฎข้างต้นใช้ไม่ได้แล้วครับในยุคที่ทุกคนมีอินเตอร์เน็ตและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ จริงๆ เหตุผลที่ใช้ก็น่าจะเชยไปแล้วตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ดันไม่มีใครหยิบยกเรื่องนี้มาพูดเลย จนกระทั่งไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาในความพยายามที่จะยกเลิกระบบ EC

นอกเหนือจากนี้ ระบบ EC ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญเฉพาะกับ Swing State หรือรัฐที่ไม่ได้เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเต็มตัว แต่มีเสียงโหวตของคณะผู้เลือกตั้งตามระบบ EC ที่มากพอจะพลิกเกมได้ การเดินสายแคมเปญและงบประมาณทั้งหลายจึงถูกเทไปที่รัฐเหล่านี้แทบทั้งสิ้น ระบบ EC ยังเป็นการลดการสนับสนุนประชาชนในการลงคะแนนเสียงด้วยเหตุผลด้านพลังของป๊อปปูลาร์ โหวตที่ได้กล่าวไป รวมไปถึงการตัดสิทธิ์พรรคที่สามออกจากระบบไปโดยธรรมชาติอีกเช่นกันเพราะการเทคะแนนแบบไม่สนอัตราส่วน (มีแค่เดโมแครตและรีพับลิกันในปัจจุบัน พรรคใหม่อย่างพรรคกรีน หรือกลุ่มเสรีนิยมแทบจะมาลงเลือกตั้งเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพราะเก้าอี้ ส.ส. หรือ ส.ว. ล้วนไม่มีทางสู้ได้อยู่แล้ว นับประสาอะไรกับตำแหน่งประธานาธิบดี)

แน่นอนครับว่าข้อเสียทั้งหลายนี้ทำให้มีความพยายามจะยกเลิกระบบทั้งหมดมาตั้งนานแล้วผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 มาจนถึงปัจจุบัน) เพราะเป้าหมายของ EC ในการถ่วงดุลอำนาจประชาชนและช่วยควบคุมความถูกต้องของการเลือกตั้งไปจนถึงการสื่อสารระหว่างเมืองหลวงและรัฐต่าง ๆ ในยุคก่อนล้วนไม่มีอยู่อีกต่อไป (อินเตอร์เน็ตเอาอยู่ทุกปัญหาข้างต้น) สิ่งเดียวที่ถ่วงกระบวนการยกเลิกนี้ไว้คือ กลุ่มพรรคที่ได้ประโยชน์จาก EC แบบชัดเจน ต่างทำทุกวิถีทางไม่ให้ระบบถูกยกเลิก ส่วนพรรคคู่แข่งและกลุ่มรัฐทั้งหลายที่ต้องการประชาธิปไตยจริง ๆ ก็ยังคงสู้กลับเพื่อให้กระบวนการนี้ไปต่อให้ได้

ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรและ EC จะถูกทำลายลงได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เราคงจะต้องติดตามดูกันต่อไปครับ (EC สามารถถูกทำลายได้ด้วยกลยุทธ์ทาง ‘อ้อม’ ที่ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญได้ด้วย แต่เราจะเก็บเรื่องนี้ไว้ในโอกาสหน้าครับ)

ประชาธิปไตยดิจิทัล

ด้วยเหตุผลข้างต้นอันแสนจะยืดยาวของวิธีการเลือกตั้งแบบ Electoral College (EC) นี่เอง ทำให้ความรับผิดชอบในการเลือกตั้งและควบคุมดูแลความโปร่งใสไปจนถึงจัดการคณะเลือกตั้งตามหลักตกไปเป็นของรัฐโดยสิ้นเชิง ดังนั้นแล้วรัฐจึงมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิธีการลงคะแนนเสียงหรือการโหวตที่มีประสิทธิภาพที่สุดได้เอง โดยคำนึงถึงความเร็ว ความสะดวก และความสามารถในการเก็บคะแนนให้ครบถ้วนสำหรับทุกคนที่มาเลือกตั้ง

ในยุคการเลือกตั้งกระดาษก่อนหน้าโดยเฉพาะการเจาะกระดาษ ความผิดพลาดนั้นมีมาก บางคนเจาไม่หลุดบ้าง เจาะเกินช่องบ้าง ไม่ก็กาผิดหรือไปพลาดในขั้นตอนการทำเอกสารเอาซะดื้อ ๆ ส่งผลให้เกิดบัตรเสียตามมามากมาย แถมเสียค่าใช้จ่สยในการขนส่งและบริหารบัตรลงคะแนนซะอีก

Voting Machine ประเภท ‘DRE’ (Direct-recording Electronic) หรือเครื่องเลือกตั้งจึงค่อย ๆ เข้ามามีบทบาทในช่วงยุค ค.ศ. 1990 ในฐานะวิธีการเลือกตั้งหลักของสหรัฐ พร้อมกับบัตรเลือกตั้งแบบฝนและเครื่องอ่านแบบดิจิทัล (หลังจากที่สหรัฐผ่านวิธีการเลือกตั้งมามากมายหลายรูปแบบในอดีต) DRE มีหลักการทำงานที่ตรงไปตรงมาคือ ใช้ระบบแสดงผลแบบอิเลกทรอนิกส์ เช่นปุ่มกดหรือหน้าจอทัชสกรีนในการแสดงข้อมูลให้กับผู้ที่มาเลือกตั้งใช้ เพิ่มความสะดวกให้กับทุกๆ คน โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ แถมผู้ใช้สามารถที่จะเปลี่ยนตัวเลือกได้เรื่อย ๆ ก่อนที่จะกดยืนยันการโหวตได้อีก (ไม่เหมือนระบบกาที่เมื่อวาดกากบาทหรือระบบฝนที่ระบายแล้วเท่ากับการยืนยันไปโดยปริยาย) 

ตัวเครื่องจะบันทึกข้อมูลยืนยันตัวตนเช่นชื่อและวันที่ทำการโหวตพร้อมตัวเลือกสุดท้ายเอาไว้ในหน่วยความจำที่จะถูกถอดไปประมวลผลในภายหลังได้ ระบบ DRE จะมีการปริ้นท์ใบเสร็จยืนยันให้ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นการเพิ่มหลักฐาน (จินตนาการว่าเป็น ATM สำหรับเลือกตั้งได้เลย หลักการเดียวกัน)

เครื่อง DRE บางเครื่องจะมีการเก็บข้อมูลแบบ Physical หรือกายภาพด้วย โดยการปริ้นท์ข้อมูลของผู้ใช้และตัวเลือกลงบนม้วนกระดาษเพื่อทำบันทึก ซึ่งเราจะเรียกกันว่าระบบ ‘VVPAT’ (Voter-Verified Paper Audit Trail) ระบบนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันการผิดพลาดในการโหวตได้อีกระดับหนึ่ง

การเข้ามาของ DRE ส่งผลโดยตรงต่อวิธีการเลือกตั้งด้วยกระดาษแบบเดิมๆ ที่ใช้การนับมือ หรือวิธีการอื่นที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ เพราะช่วยทั้งความสะดวกและประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในแง่ของความเร็วที่จบได้ในวันเดียวเลยด้วยซ้ำ และหลังจากการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2000 ระหว่าง จอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช และ อัล กอร์ ที่ระบบกระดาษเจาะสร้างความสับสนอย่างรุนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายของการประกาศผลเลือกตั้ง เพราะบัตรที่เจาะชิ้นกระดาษไม่หลุด หลายรัฐจึงตัดสินใจซื้อเครื่อง DRE มาใช้เอง แต่ในไม่กี่ปีหลังจากนั้นประธานาธิบดีบุช ก็ได้ตัดสินใจผ่านนโยบาย Help America Vote Act ที่เป็นการโยนงบเลือกตั้งให้รัฐทั้งหลายไปปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น (แน่นอนแหละครับว่าบุชเจอเรื่องนี้มากับตัว)

นโยบายที่ว่าเริ่มในปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นมา และน่าจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นการเปิดยุคการเลือกตั้งดิจิทัลในสหรัฐด้วยเครื่อง DRE โดยแท้จริง โดยมีผู้ใช้ระบบ DRE เพิ่มเป็น 30% ในปี ค.ศ. 2004 และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้น

นอกเหนือจากสหรัฐแล้ว บางประเทศในยุโรปก็ได้หันมาใช้ DRE ร่วมกับระบบฝนและเครื่องอ่านดิจิทัล ส่วนบราซิลเลือกที่จะใช้ระบบ DRE ทั้งประเทศแบบ 100% ไปเลยในปี ค.ศ. 2000 กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้ระบบเลือกตั้งแบบอัตโนมัติทั้งหมด 

ทำไมวิธีการนี้ถึงไม่เวิร์ค

คำตอบที่ตรงไปตรงมาเลยคือ การที่ DRE เป็นระบบคอมพิวเตอร์แทบทั้งหมดครับ ข้อเสียทั้งหลายทั้งปวงที่พ่วงมากับคำว่า ‘คอมพิวเตอร์’ จึงตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างแรกคือ ข้อผิดพลาดของซอฟท์แวร์และการจัดเก็บข้อมูล ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยเจอปัญหาไฟล์หายจากไดรฟ์หรือเครื่องคอมพ์แล้วล่ะก็ เจ้าเครื่อง DRE นี้ก็มีโอกาสพลาดได้เหมือนกัน หากเกิดอุบัติเหตุหรือความเสียหายกับตัวเครื่อง โดยเฉพาะกับระบบหน่วยความจำ เพราะหลายครั้งที่ตัวเมมโมรีการ์ดทำข้อมูลหาย หรือบันทึกข้อมูลผิดพลาดไปจากที่ควรจะเป็น ซึ่งถ้าไม่มีระบบ VVPAT หรือหลักฐานทางกายภาพมาแก้ต่าง การนับคะแนนจะยิ่งลำบากมากขึ้นในการมาตามเก็บความถูกต้องทีหลัง

อย่างที่สองคือ ข้อผิดพลาดจากการบำรุงรักษา ถึงแม้เจ้าเครื่อง DRE จะมีรากฐานในการแก้ปัญหาไม่ต่างจาก ATM แต่แน่นอนครับว่าเครื่อง DRE นาน ๆ จะถูกเอามาใช้ที ไม่ได้ผ่านการดูแลรักษาเป็นประจำหรือถูกใช้ตลอดเวลาตามวัตถุประสงค์ของมันแบบ ATM ทั้งที่เครื่องจำเป็นต้องได้รับการอัพเดทด้านความปลอดภัยและปรับปรุงระบบอยู่ตลอดเวลาด้วยซ้ำ ดังนั้นเราจึงมีโอกาสเจอกับเครื่อง DRE ยุคโบราณตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2000 ไม่ก็ 2010 ที่เต็มไปด้วย Bug ซึ่งบางครั้งกดเลือกผู้สมัครแล้วผลที่ได้ดันไปขึ้นที่อีกคน บ้างก็จอดับ หรือระบบขัดข้องจนใช้ไม่ได้เลยก็มี ส่วนงบประมาณที่ให้ในแต่ละรัฐจากนโยบาย Help America Vote Act ก็ค่อย ๆ ลดลงในแต่ละปี เพราะเอาเข้าจริงรัฐต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านการจัดการเลือกตั้งเป็นหลักอยู่แล้ว รัฐที่รวยกว่าย่อมไม่มีปัญหาในการดูแลระบบ DRE ที่ไปเหมามา แต่รัฐที่ไม่มีงบประมาณและทรัพยากรบุคคลที่มากพอย่อมต้องติดอยู่กับเครื่อง DRE เก่าคร่ำครึที่แต่ละปีผ่านไปก็มีแต่จะเสียง่ายขึ้นเท่านั้น

นี่ยังไม่นับสตาฟฟ์ดูแลหน่วยเลือกตั้งที่ไม่มีความรู้เพียงพอกับเทคโนโลยีนี้และทำให้ระบบความปลอดภัยมีปัญหาได้หรือทำการบำรุงรักษาระบบผิดวิธีอีกด้วย (ซึ่งปัญหาก็มาจากงบไม่พอด้วยเช่นกัน)

อย่างที่สามคือ ความเสี่ยงในการถูกโจมตีหรือเจาะเข้าระบบครับ กลุ่มแฮคเกอร์สามารถเจาะเข้าระบบลำโพงของเครื่องแล้วเล่นเพลง Never Gonna Give You Up ของ Rick Ashely ได้มาแล้ว ซึ่งถ้าคุณกำลังเลือกตั้งแล้วถูก Rick Roll ขึ้นมา คงจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมไปเลยแหละ

การทดสอบในห้องปฏิบัติการณ์ได้ยืนยันเรื่องนี้อย่างชัดเจน แถมมาด้วย มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน หน่วยงานแฮคเกอร์ด้านข่าวกรองจากองค์กรข่าวกรองและความมั่นคง AIVD  และกลุ่มแฮคเกอร์ทั่วไปอีกหลายกลุ่มสามารถเจาะเข้าไปในระบบของเครื่อง DRE ยี่ห้อดัง ๆ ได้เกือบหมดเลย

การโจมตีระบบขนาดใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะเครื่อง DRE ไม่ได้ต่ออินเตอร์เน็ตเอาไว้ แต่การที่ระบบไม่ปลอดภัยพอก็น่าจะทำให้เราเห็นภาพแล้วแหละครับว่า ถ้ามีกลุ่มผู้ไม่หวังดีพยายามจะปั่นหรือแก้ผลการเลือกตั้งขึ้นมาจริง ๆ เพราะความเสี่ยงถูกวางอยู่ตรงหน้าเราแล้ว (อย่าลืมเรื่องระบบ Electoral College หรือ EC ที่เปิดช่องให้เกิดการปั่นคะแนนได้)

ปัญหาอีกข้อหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อเลยคือ ระบบ DRE สามารถที่จะดำเนินการช้ากว่าระบบฝนกระดาษได้ครับ ใช่แล้ว เพราะต่างจากกระดาษที่พิมพ์แจกได้เรื่อย ๆ ตามจำนวนคน เครื่องเลือกตั้งแบบ DRE นั้นมีจำกัดต่อจุดเลือกตั้ง ถ้าเจอคนเยอะมาก ๆ ปัญหาการรอคิวจะตามมา ไม่เหมือนระบบกระดาษที่แค่เพิ่มคูหาให้ประชาชนไปใช้เพิ่มเท่านั้นเองครับ

ฟังดูเหมือนข้อเสียของ DRE จะมีมากอยู่เหมือนกันนะ แบบนี้จากเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตจะกลายเป็นเพิ่มความยุ่งยากแทนรึเปล่า

คำตอบยังคงไม่ชัดเจนครับ หลายรัฐในสหรัฐยังคงใช้ DRE ต่อไป ในขณะที่บางรัฐเลือกไปใช้ ‘ระบบอื่น’ แทน ส่วนในยุโรป ประเทศเยอรมันได้ตัดสินให้ทำการพัฒนาเครื่อง DRE และระบบการเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องให้ออกมาดีกว่านี้ ถึงแม้จะไม่ใช่การแบนระบบ DRE โดยตรง แต่ก็เป็นการกดดันให้วงการผู้ผลิตเครื่องเลือกตั้งแบบ DRE ต้องยกระดับมาตรฐานกันขนานใหญ่

กลับสู่ความเรียบง่ายดีไหม

จำระบบคู่แข่งของ DRE ที่ผมได้เกริ่นไป นั่นก็คือ การฝนและเครื่องอ่านดิจิทัลนั่นเอง กลายเป็นว่าวิธีทำข้อสอบที่คนไทยเราคุ้นชินสามารถช่วยกำจัดข้อเสียของ DRE ออกไปได้เกือบหมด (ถึงแม้จะสู้ DRE ไม่ติด หาก DRE ทำงานได้เพอร์เฟคจริง ๆ) 

ระบบนี้มีชื่อว่า Optical Scan หรือ Mark Sense โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ บัตรเลือกตั้งกระดาษที่ใช้การฝนและเครื่องอ่าน เมื่อประชาชนทำการเลือกตั้งแล้ว บัตรเลือกตั้งจะถูกรวบรวมไปตรวจที่ศูนย์กลางอีกทีหนึ่ง หลักการทำงานเหมือนระบบสอบ TCAS บ้านเราหรือตามโรงเรียนต่าง ๆ เป๊ะ ๆ Mark Sense ยังเร็วกว่าการตรวจด้วยมือและสายตาไม่ต่างจาก DRE เช่นกันครับ แถมเป็นการนำข้อดีของการเลือกตั้งด้วยกระดาษมาใช้กับข้อดีในการตรวจสอบผลด้วยการเลือกตั้งได้อย่างลงตัว

แต่ระบบ Mark Sense เองก็พลาดได้ครับ ถ้าใส่กระดาษผิดด้านในเครื่องอ่าน โปรแกรมเสีย ระบบอ่านหรือดึงกระดาษขัดข้อง ฯลฯ แถมถูกปั่นหรือปลอมผลเลือกตั้งได้ ถึงแม้จะยากกว่าระบบดิจิทัลหลายเท่าก็ตาม แต่ด้วยความที่มีบัตรเลือกตั้งเป็นหลักฐานทางกายภาพอยู่แล้วการนับใหม่หรือตรวจซ้ำก็ทำได้เลย ไม่เหมือนระบบ DRE  ที่ข้อเสียเริ่มที่กระบวนการเลือกตั้งไปถึงกระบวนการอ่านผล และถ้าข้อมูลหายคือหายไปเลย (ยกเว้นว่าแบคอัพเอาไว้)

สุดท้ายแล้วสหรัฐอเมริายังคงเลือกใช้ทั้งสองระบบครับ แต่ระบบ Optical Scan หรือ Mark Sense ชนะไปอย่างขาดลอยอย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยจำนวนรัฐเกินครึ่งที่เลือกใช้ระบบนี้เป็นหลักหรือร่วมกับระบบอื่นนั่นเอง

บทส่งท้าย

เป็นเรื่องตลกร้ายที่ระบบประชาธิปไตยที่ดีและโปร่งใสต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและกระบวนการมากมาย เพื่อให้ได้ระบบการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

ไม่ว่าจะเป็นระบบอย่าง Electoral College หรือเครื่องมืออย่างเครื่องเลือกตั้งแบบ DRE ล้วนกำเนิดขึ้นมาเพราะความต้องการนี้ แต่กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นจุดบกพร่องในทั้งระบบและตัวเครื่องมือเอง อเมริกันชนและชาวโลกประชาธิปไตยจึงยังคงต้องพร้อมเจอกับการเลือกตั้งแบบนับมือหรือเครื่องมือดิจิทัลกันต่อไปครับ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นหลัก  

พวกเราต้องยอมรับว่าการเข้ามาของระบบ Optical Scan ได้ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมาก มิเช่นนั้นการนับคะแนนคงทำกันเป็นสัปดาห์ไม่ก็เดือนไใ่เหมือนในปัจจุบันที่รู้ผลกันได้ในหลักนาทีหรือชั่วโมง ดังนั้น จนกว่า DRE จะทำหน้าที่ของมันได้ดีกว่านี้ อเมริกา และแต่ละรัฐก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิธีการเลือกตั้งที่ดีที่สุดให้ประชาชนของตนเองอยู่ดี (แล้วประเทศแถวนี้จะเปลี่ยนมาใช้วิธีเลือกตั้งที่ดีและเร็วกว่ากาบัตรหรือไม่นั้น ผมก็ยังคงสงสัย)

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าในอนาคตที่มนุษย์ทุกคนมีชิปฝังอยู่ในตัวเพื่อยืนยันตัวตน เราอาจจะสามารถใช้ชิปนี้ในการเลือกตั้งก็ได้ หรือเลือกตั้งผ่านพลังจิตแบบ ‘Hive Mind’ ก็ยังได้เลยครับ อาจจะดูเพ้อฝันไปหน่อย แต่ในโลกที่ของทุกคนถูกบันทึกเอาไว้ได้ นั่นแหละคือ Utopia ของประชาธิปไตย

เพราะเสียงของทุกคนล้วนมีค่านั่นเองครับ

ที่มา

https://www.vox.com/recode/2020/11/3/21548057/voting-machine-broken-2020-elections-hacking-cybersecurity

https://www.vox.com/recode/2020/3/3/21163700/los-angeles-california-voting-machines-technical-flaws

https://en.wikipedia.org/wiki/Voting_machine

https://en.wikipedia.org/wiki/Elections_in_the_United_States

https://www.eac.gov/marksense

https://homepage.divms.uiowa.edu/~jones/voting/optical/

https://www.youtube.com/watch?v=OUS9mM8Xbbw&ab_channel=CGPGrey

https://en.wikipedia.org/wiki/Electronic_voting_in_Brazil

เพิ่มเติม

https://www.coursera.org/lecture/digital-democracy/dre-voting-machines-KLki7

https://twitter.com/votingvillagedc/status/891445496622874624?lang=en

Tags: ,