1

เธอคือเด็กสาวอายุไม่น่าจะถึงวัยเบญจเพส ความคมคายของใบหน้าและลอนผมสีทองอมน้ำตาลของเธอสะดุดตาผมตั้งแต่แรกเห็น เธอมักนั่งกับพื้นบริเวณร้านกาแฟชื่อดังที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวในบริเวณลานอเล็กซ์ซานเดอร์ (Alexanderplatz) ศูนย์กลางของเมืองเบอร์ลิน เบื้องหน้าของเด็กสาวมีป้ายและแก้วกระดาษวางอยู่ เธอมักนั่งห่อตัวด้วยกองผ้าห่มและเสื้อกันหนาวตัวใหญ่ เอนหลังอิงกับถังขยะใบโต ข้างตัวเธอมีกระเป๋าหนึ่งใบ และสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์นอนเป็นเพื่อนอีกหนึ่งตัว

กระดาษใบนั้นมีข้อความที่เขียนว่า “ฉันหิว”

ผมเดินผ่านลานกว้างแห่งนี้แทบทุกวันทั้งเพื่อเดินทางไปเรียนหนังสือ ไปห้องสมุด ไปต่างเมือง ตลอดจนไปดื่มเบียร์ในร้านที่อยากไปในเวลาพักผ่อน เหตุด้วยที่ลานนี้เป็นทั้งจุดตัดกันของสถานีรถไฟหลายสายและแวดล้อมไปด้วยห้างสรรพสินค้ามากมาย แทบทุกวันจะมีนักดนตรีมาเปิดหมวกแสดงความสามารถ บางช่วงมีตลาดนัดและงานมหกรรม ลานกว้างนี้จึงเต็มไปด้วยเสียงอึกทึกและผู้คนพลุกพล่าน พูดจาหลายภาษา อวลด้วยกลิ่นอาหารและเครื่องดื่ม

กระนั้น เด็กสาวคนนี้ยังคงนั่งอยู่ที่เดิม ความวุ่นวายของสถานที่มิอาจทำให้เธอปริปากหรือย้ายไปที่ไหนได้ เธอมักก้มหน้าเล็กน้อยยามที่คนเดินผ่าน บางครั้งก็มองเหม่อลอยไปยังท้องฟ้าที่นกกางปีกบินหรือพื้นอิฐที่เท้าของผู้คนสลับย่ำไปมา ผมไม่อาจทราบได้ว่าเธอนอนที่ไหน กระทั่งเป็นใครมาจากที่ไหน ระหว่างเรา รวมไปถึงระหว่างเธอกับคนอื่นๆ มีเพียงความใกล้ชิดทางสายตา (Visual Intimacy) เท่านั้น ที่กำหนดและสร้างให้ผมและคนอื่นๆ รับรู้ว่าเธอคือใครและทำอะไรบ้างในแต่ละวัน

ผมเคยเห็นเธอนั่งกอดกับสุนัขที่เธอเลี้ยงในวันที่อากาศหนาวจัด มือที่สวมถุงมือทั้งเก่าและขาดลูบหัวเจ้าลาบราดอร์อย่างอบอุ่น เธอยิ้มให้มัน และมันก็เอาหัวซุกที่ตักของเธอ ทั้งสองอยู่ในกองผ้าเดียวกัน ผมไม่รู้เลยว่าหากอากาศหนาวกว่านี้หรือในวันที่หิมะตกเธอจะไปอยู่ที่ไหน บางคนบอกว่าเธอมักไปอาศัยอยู่ตามตึกร้างและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเพราะอากาศอุ่นกว่า ผมเคยได้ยินจากพนักงานร้านกาแฟว่าเธอแอบขายบริการทางเพศเพื่อเลี้ยงชีพด้วย บ้างก็ว่ามีคนเคยเห็นเธอร่วมเพศกับชายแปลกหน้าบริเวณมุมตึก เรื่องเหล่านี้ไม่มีมูลหรือข้อเท็จจริงอะไรมากไปกว่าความจริงทางสายตาที่แต่ละคนมองไปที่เธอ ความคิดที่อยู่เบื้องหลังสายตาของพวกเราต่างหากที่สร้างให้เรามองเห็นเธอเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เท่าที่เข้าใจ ทั้งผมและคนอื่นแทบไม่มีใครที่ได้คุยกับเธอเลย ไม่มีโอกาสที่จะรู้จักชื่อของเธอเสียด้วยซ้ำ

ความคิดที่อยู่เบื้องหลังสายตาของพวกเราต่างหากที่สร้างให้เรามองเห็นเธอเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เท่าที่เข้าใจ

ในแต่ละวันที่ผมเดินผ่าน ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้เพียงอย่างเดียวคือท้องที่ค่อยๆ โตขึ้นของเธอ ครั้งแรกที่สังเกตเห็น ผมพบว่าเจ้าลาบราดอร์ตัวนั้นหายไปแล้ว และเสื้อกันหนาวของเธอพองขึ้น เมื่อเดินผ่านหลายครั้งเข้าจึงค่อยๆ แน่ใจว่าเธอตั้งครรภ์เมื่อเห็นข้อความในป้ายกระดาษเพิ่มขึ้นมาว่า “ฉันทนหิวได้แต่เด็กทนไม่ได้…”

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมตัดสินใจเดินเข้าไปหาและนั่งลงตรงหน้าเธอ ผมยื่นเงิน 20 ยูโรให้เธอกับมือ เงินจำนวนนี้ถือว่ามากสำหรับนักศึกษาอย่างผม และมันคงมีมูลค่ามหาศาลสำหรับเธอ เพราะในแก้วกระดาษนั้น มีเพียงเหรียญ 50 เซนต์อยู่ไม่มาก เธอหันมามองตากับผมอยู่ได้พักนึง นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นสีฟ้าอมเขียวในดวงตาของเธอ มันแฝงแววเศร้าสร้อยอย่างแปลกประหลาด

พนักงานร้านกาแฟที่คุ้ยเคยกับผมเห็นเหตุการณ์ทุกอย่าง พวกเขาทักท้วงในการกระทำที่เหมือนมีน้ำใจแต่ดูงี่เง่าเป็นอย่างมาก ทุกอย่างที่เขาพูดให้ฟังมันไม่ต่างไปจากเรื่องราวว่าด้วยแก๊งขอทานในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสนับสนุนทางอ้อมให้คนกลุ่มนี้ขอทานต่อไป ไม่ก็เราไม่ทราบแน่ชัดว่าคนพวกนี้มีเบื้องหลังอย่างไร สำหรับผม มันไม่มีน้ำหนักเท่ากับเหตุผลส่วนตัวที่ตนเองมี ผมมีภรรยาและลูกที่บ้าน ทั้งยังเคยเห็นแม่อุ้มท้องน้องๆ อีกสองคน ผมทราบดีกับตัวเองว่าผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ควรได้รับการบำรุงร่างกายและไม่ควรนั่งกลางอากาศหนาวเพื่อขอเศษเงินและอาหารเช่นนี้ ผมทราบเสียด้วยซ้ำว่าระบบสวัสดิการของเยอรมันรับรองคนจนและคนไร้บ้านในแง่ของเงินช่วยเหลือในอัตราที่พอไม่ให้อดตายและมีที่พักให้ตามอัตภาพ แต่ทั้งหมดมันเป็นเพียงระบบของการตัดสินใจเชิงเหตุผลและมันไม่อาจหยุดความรู้สึกของผมได้

ผมไม่ได้ให้เงินเธอเพราะสงสารเธอเพียงอย่างเดียว…

ท้องของเธอค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผมคาดคะเนว่าเธอน่าจะใกล้คลอดในอีกอีกไม่กี่สัปดาห์ หลังจากนั้นไม่นาน ก่อนที่ฤดูใบไม้ผลิจะเข้ามาอย่างเต็มที่ เธอก็ได้หายไปจากที่แห่งนั้น ไม่มีข่าวหรือข้อมูลใดๆ เล็ดลอดออกมาจากร้านกาแฟ ทุกคนพากันสงสัยกันเพียงครู่พร้อมคาดเดากันไปต่างๆ นานา สักพักก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องราวของเธออีก

ลานแห่งนี้มันคงจะกว้างใหญ่เกินไปสำหรับเรื่องราวเล็กๆ ของเธอ

2

งานเขียนเรื่อง ‘Essai sur la sociologie des sens’ ของเกออร์ก ซิมเมล (Georg Simmel, 1858-1918) เป็นบทความที่พิมพ์เผยแพร่ในปี 1912 และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษปี 1921 ในชื่อ ‘Sociology of the Senses’ (สังคมวิทยาว่าด้วยผัสสะ) ซิมเมลอาจไม่เป็นที่คุ้นเคยของคนไทยนัก ทว่า งานเขียนของเขาค่อนข้างหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องชีวิตประจำวัน ประวัติศาสตร์ ปรัชญา เมือง และศิลปะ ทำให้งานเขียนของเขาไม่มีชิ้นไหนที่มีลักษณะของงานชิ้นเอก (Magnum Opus) เหมือนกับงานศึกษาค้นคว้าเรื่องโปรแตสแตนต์ของมักซ์ เวเบอร์ ทว่า หากในมุมมองของคนเยอรมัน โดยเฉพาะในเบอร์ลินแล้ว ซิมเมลอาจเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางไม่น้อยไปกว่ากันเลย

คงเป็นเพราะด้านหนึ่ง ซิมเมลมีชีวิตอยู่ที่เบอร์ลินเป็นหลัก เบอร์ลินขณะนั้นคือส่วนหนึ่งของอาณาจักรปรัสเซีย และเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างสรรค์ทางวิทยาการความรู้และการเติบโตขึ้นทางเศรษฐกิจและความเป็นเมืองในฐานะมหานคร บทความของเขาจึงสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่เติบโตอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสำคัญ

ในบทความเรื่องสังคมวิทยาว่าด้วยผัสสะนั้น เขาพัฒนาขึ้นมาต่อจากหนังสือว่าด้วยมหานครและชีวิตทางจิตใจ (The Metropolis and Mental Life) ซิมเมลวิเคราะห์ให้เราเห็นว่าภายใต้การเติบโตของเมืองและสภาวะความทันสมัย มันมิใช่สิ่งปลูกสร้างและรูปแบบการใช้ชีวิตเท่านั้นที่เปลี่ยน แต่ชีวิตสมัยใหม่ในเมืองทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ทางผัสสะด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เสียง และการมองเห็น

มิใช่สิ่งปลูกสร้างและรูปแบบการใช้ชีวิตเท่านั้นที่เปลี่ยน แต่ชีวิตสมัยใหม่ในเมืองทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้ทางผัสสะด้วย

ซิมเมลบันทึกไว้ว่า เขาเริ่มสังเกตถึงการเพิ่มขึ้นของความเงียบงันในการใช้สายตาเพื่อปฏิสัมพันธ์กัน โดยปราศจากการฟังและการพูดคุย สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการรับรู้ความจริงของโลก เพราะโดยปกติแล้วเรามักมีความเชื่อว่า เราสามารถรับรู้ความจริงได้จากความคิดที่อยู่ภายใน มิใช่ภายนอก ซิมเมลทำให้เราพลิกมุมมองใหม่คือ ผัสสะที่รู้สึกและส่งผ่านมาทางร่างกายต่างหากคือสิ่งที่มีส่วนในการรับรู้ความจริงของโลกใบนี้ไม่แพ้กัน

ซิมเมลบอกว่า การแยกขาดของการมองเห็นกับการพูดคุยและได้สดับรับฟังนั้นส่งผลต่อมิติทางอารมณ์ของผู้คนเป็นอย่างมาก สำหรับเขา นี่คือ ผัสสะของความโดดเดี่ยวอย่างสมบูรณ์แบบ (Utter Lonesomeness) ราวกับปัจเจกบุคคลซึ่งถูกห้อมล้อมไปด้วยประตูที่ปิดตาย

รูปแบบชีวิตในลักษณะนี้เกิดขึ้น เป็นรูปแบบเฉพาะของชีวิตที่ทันสมัยในเมืองใหญ่ สถานที่ซึ่งคนแปลกหน้ามาอยู่ร่วมกันบนพื้นที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นตรอกซอย ร้านรวง หรือในระบบขนส่งมวลชน

เขาเห็นว่า ช่วงก่อนการเกิดขึ้นของทางรถไฟ สถานีขนส่ง และเส้นทางรถยนต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้คนไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน การทำงานของการมองเห็นไปด้วยกันกับการพูดคุยและการได้ยิน ทว่าในช่วงของการก้าวกระโดดของความเป็นเมือง สายตากลับถูกแยกขาดจากผัสสะอื่นๆ การใช้ดวงตาสำรวจและสอดส่องความเป็นไปของโลกกลายเป็นสิ่งเดียวที่ผู้คนหยิบยื่นและสัมพันธ์กันอย่างปราศจากการพูดคุย มันไม่แตกต่างไปจากการดำรงอยู่แต่กับตัวเอง

ความคิดของเขาลักษณะนี้ช่างแตกต่างไปจากสิ่งที่เรียกว่าปริมณฑลสาธารณะ (Public Sphere) อย่างสิ้นเชิง ซิมเมลไม่ได้กล่าวถึงการถือกำเนิดของพื้นที่ใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทว่าพื้นที่สาธารณะในเมืองใหญ่กลับส่งผลต่อสภาพทางจิตใจของผู้คน

ระยะห่างของดวงตาทำให้เราใกล้ชิดกันทางการทัศนา ทว่า กลับทำให้เราแต่ละคนในเมืองมีความห่างไกลในเชิงปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ไม่มีใครก้าวล่วงล้ำอาณาเขตความเป็นส่วนตัวของแต่ละคนบนพื้นที่สาธารณะ ไม่มีใครคุยกับคนที่ไม่รู้จักบนรถเมล์ รถไฟ และในร้านกาแฟ

สำหรับซิมเมลแล้ว นี่คือรูปแบบความสัมพันธ์ชุดใหม่ของคนในสังคมที่เขาคุ้นเคย ความเป็นปัจเจกชนในรูปแบบนี้คือสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นมาภายใต้สภาวะความทันสมัย ซิมเมลมิได้ตำหนิรูปแบบชีวิตในลักษณะนี้ เพียงแต่ต้องการบอกถึงมิติบางด้านที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมัน ปัจเจกชนถูกพรากให้โดดเดี่ยวท่ามกลางการมองเห็นผู้คนที่แวดล้อมตัวของพวกเขามากมาย สิ่งนี้คงเป็นตรวนที่ล่ามความสัมพันธ์ของมนุษย์สมัยใหม่ให้ต่างออกไปจากพันธนาการทางสังคมที่มีก่อนหน้า

ความโดดเดี่ยวในลักษณะนี้ มิใช่ความรู้สึกที่ตนเองแยกขาดจากผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับชุดความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นผ่าน ‘การมอง’ เพียงอย่างเดียว ทั้งยังปล่อยให้ความคิดและมายาคติต่างๆ เข้ามาจัดการการรับรู้ในจิตใจ (Mental) ของเรา เรามักถูกสอนให้ประเมินและตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอกไม่ว่าจะเป็น สถานะ สีผิว และการแต่งกาย ควบคู่กับการถูกสอนให้ประพฤติตนให้ดูดีในสายตาของผู้อื่น

ชุดความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นผ่าน ‘การมอง’ เพียงอย่างเดียว ทั้งยังปล่อยให้ความคิดและมายาคติต่างๆ เข้ามาจัดการการรับรู้ในจิตใจ

ชีวิตสมัยใหม่จึงเป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญกับการมองเห็นและการถูกเห็น คนมากมายที่เราพบเจอในพื้นที่สาธารณะ จึงล้วนเป็นคนแปลกหน้าอันคุ้นเคยกับพวกเรา เนื่องจากตัวของเราเองที่สร้างความแปลกหน้านั้นขึ้นมาผ่านการมองและความใกล้ชิดทางสายตาที่เรามี

ชีวิตที่ดำรงอยู่ในลักษณะนี้ส่งผลให้เกิดอาการทางจิตเวชอย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านการทำงานของระบบเหตุผลและการมองเห็น เราไม่อาจเชื่อถือสิ่งที่เรามองไม่เห็น เรามีความรู้สึกไม่กล้าเข้าใกล้คนบ้า คนขอทาน และคนไร้บ้าน ไม่ใช่เหตุผลเฉพาะเรื่องความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว แต่มันคือความหวาดกลัวที่จะเข้าไปมีความสัมพันธ์ชุดอื่นมากกว่าการมองและใช้สายตาในการรับรู้โลก เรากลัวว่าการได้ยินและสัมผัสชีวิตของพวกเขาจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการมองเห็นของเรา

อาการจิตเวชอย่างเป็นธรรมชาติในลักษณะนี้ คืออาการของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นเห็นความปกติ เมื่อการมองเห็นเข้ามาเป็นกำแพงที่เรามิอาจข้ามไปสู่การรับรู้โลกในแบบอื่นได้ ความปกติจึงกลายเป็นอาการหลอนประสาท (Hallucination) ประเภทหนึ่ง ซึ่งทำให้เราหมกมุ่นครุ่นคิดและตีความกันไปถึงความผิดปกติของผู้อื่นซึ่งแตกต่างออกไปจากตนเอง

ผมหวนนึกถึงการตีความว่าด้วยเด็กสาวจากพนักงานขายกาแฟว่า เธอขายบริการทางเพศ บ้างก็ว่าเคยเห็นเธอร่วมเพศกับผู้ชายมุมตึก อย่าว่าแต่เรื่องพวกนี้เลย ลำพังความรู้สึกไม่เชื่อว่าหญิงคนนี้ท้องจริงหรือไม่ในช่วงแรกของผม หรือคำตักเตือนที่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางอ้อมให้คนกลุ่มนี้ขอทานต่อไป สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าความใกล้ชิดทางสายตาของพวกเรามีปัญหาเพียงไหน พวกเราไม่เพียงโดดเดี่ยวตนเองจากเธอ แต่ยิ่งทำให้เธอโดดเดี่ยวออกไปจากสังคมอีกด้วย

ผมเชื่อว่านี่คืออาการทางจิตเวชแบบหนึ่ง เพียงแต่มันกลับหัวกลับหางจากแนวคิดของฟรอยด์และลากองซึ่งเริ่มต้นพิจารณาจากจิตใต้สำนึก ครั้งนี้มันคืออาการทางจิตเวชที่วางบนฐานของการมองที่ถูกพรากให้แยกขาดจากผัสสะอื่น ที่มักทำให้เราเข้าใจตนเองว่าสมบูรณ์แบบกว่าคนอื่น จากดวงตาเข้าสู่จิตสำนึก การประเมินค่าความผิดปกติของผู้อื่นผ่านสายตาจึงเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าคำว่า “มองคนจากเปลือกนอก” เพราะทุกครั้งที่เรามอง เราล้วนย้ำความผิดปกติให้เกิดขึ้นในระบบจิตใต้สำนึกของเราเพื่อตีตราหรือแปะป้ายคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นด้วยตาเนื้อของเรา การมองผ่านเทคโนโลยีและสื่อประเภทต่างๆ

รูปแบบชีวิตสมัยใหม่ทำให้เรารู้สึกใกล้ชิดทางสายตามากยิ่งขึ้น ทว่า เรากลับห่างไกลจากความจริงที่อาจเป็นไปได้ในรูปแบบอื่นๆ ในแง่นี้ ชีวิตของพวกเราจึงมักมีความเจ็บป่วยซ่อนอยู่ภายใน

3

ผมไม่แน่ใจนักถึงการเปรียบเปรยวิธีคิดของนักคิดยุคโบราณคลาสสิกอย่างซิมเมลกับรูปแบบชีวิตในปัจจุบัน ทั้งยังเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาทางจิตเวช กระนั้น ผมยังเชื่อรูปแบบของการมีชีวิตในลักษณะนี้ ว่ามันยังคงทิ้งร่องรอยไว้ในเบอร์ลิน และแน่นอน มันยังคงพบเห็นได้ในเมืองใหญ่ทั่วไป พวกเราคงสัมผัสมันได้ไม่มากก็น้อย และคงบ่อยครั้งทีเดียวที่เราใช้ความใกล้ชิดทางสายตาผ่านความรู้สึกเย็นชาเพื่อให้ชีวิตในแต่ละวันของเราดำเนินไปอย่างปกติ

ราวเดือนเศษที่เด็กสาวคนนั้นหายไป เบอร์ลินเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิเต็มที่ ความครึกครื้นและรื่นเริงเข้ามาเยือนลานกว้างแห่งนี้แทบไม่เว้นวัน จุดที่เธอนั่งมีชายชราคนหนึ่งมาแทนที่ หลายครั้ง ผมภาวนาในใจให้พบเธอด้วยความห่วงใย แต่อีกใจหนึ่งผมก็ไม่อยากเห็นภาพของหญิงสาวนำลูกเล็กมานั่งขอเศษเงิน ความย้อนแย้งประเภทนี้เกิดขึ้นในใจทุกครั้งที่เดินผ่าน อันที่จริงคงต้องบอกว่า ในซอกหลืบและมุมตึกของเบอร์ลิน ภาพที่ไม่อยากเห็นนี้ใช่ว่าจะพบได้ยาก

คงบ่อยครั้งทีเดียวที่เราใช้ความใกล้ชิดทางสายตาผ่านความรู้สึกเย็นชาเพื่อให้ชีวิตในแต่ละวันของเราดำเนินไปอย่างปกติ

วันหนึ่ง ขณะที่เพิ่งเข้าไปนั่งดื่มกาแฟร้านเดิม พนักงานที่คุ้นเคยเดินมาหาพร้อมบอกว่า เธอคนนั้นกลับมาแล้ว เธอนั่งอยู่อีกจุดนึง ห่างไกลจากสายตาคน บริเวณหลังป้ายรถประจำทาง ระหว่างดื่มกาแฟ ผมครุ่นคิดตลอดถึงการตัดสินว่าจะไปเยี่ยมหาเธอดีไหม เพราะอันที่จริง เราไม่ได้รู้จักกัน หรือผมควรจะดำเนินตามครรลองของเมืองใหญ่ สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจได้คือข้อความที่ส่งมาจากลูกสาวและภาพวาดของลูกสาวที่ภรรยาส่งมาให้ ผมคิดว่าผมควรเดินไปเยี่ยมเธอ…

เพียงครู่เดียว เบื้องหน้าของผมคือหญิงสาวรูปร่างผ่ายผอมและไม่มีร่องรอยของเด็กอ่อน ผมนั่งลงเพื่อกล่าวคำทักทาย วูบแรกที่สบตาเธอ ดวงตาสีฟ้าอมเขียวนั้นถูกกลบด้วยน้ำตาและความแดงกล่ำของเนื้อเยื่อ ผมถามเธอว่าจำผมได้ไหม เธอส่ายหน้า สักพักเธอบอกผมว่าจำแว่นกับหัวผมได้ เพียงครู่เดียวเธอก็ผวาเข้ามากอดแล้วร้องไห้จนคนรอบข้างหันมามอง ผมทำได้แต่ตบที่หลังของเธอเบาๆ แทนการปลอบใจ

ชีวิตมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความโดดเดี่ยว

Tags: , , , , , ,