ช่วงนี้ถ้าใครที่มีอาการคล้ายไข้หวัด หรือพาบุตรหลานที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไปตรวจที่โรงพยาบาล แล้วขอให้แพทย์ส่งตรวจหาเชื้อไวรัส RSV ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ก็อาจได้คำตอบจากแพทย์ว่า “โรคนี้รักษาตามอาการ จะตรวจหรือไม่ตรวจ ก็รักษาเหมือนกัน” หรืออาจถูกแพทย์ตัดบทว่า “รพ.รัฐไม่มีชุดตรวจ”
ส่วนถ้าอยากรู้ว่าติดเชื้อไวรัส RSV หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า “ให้ไปขอตรวจที่รพ.เอกชน” ซึ่งแน่นอนว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แล้วอย่างนี้เราจำเป็นต้องไปตรวจอย่างที่กังวลหรือเปล่า?
RSV มีอาการ ‘เหมือน’ ไวรัสไข้หวัดชนิดอื่น
ผมขอทบทวนสั้นๆ เกี่ยวกับ RSV (Respiratory syncytial virus) ว่า เป็นไวรัสทางเดินหายใจที่เมื่อติดเชื้อแล้วก็จะมีอาการ ‘เหมือน’ ไวรัสไข้หวัดชนิดอื่น เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถแยกเชื้อจากอาการได้ เพียงแต่ถ้ามีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างจะมีเสมหะเยอะ หายใจเหนื่อย หรือได้ยินเสียงวี้ดจากการตีบของหลอดลมขนาดเล็ก
“โรคนี้รักษาตามอาการ” หมายความว่าโรคนี้ยัง ‘ไม่มี’ ยารักษาเฉพาะ ซึ่งก็คือยาต้านไวรัส ดังนั้นแพทย์จะจ่ายยารักษาตามอาการที่ผู้ป่วยมี เช่น ถ้ามีไข้ก็จ่ายยาลดไข้ พร้อมแนะนำให้เช็ดตัวจนกว่าไข้จะลง ถ้าไอก็จ่ายยาแก้ไอ ถ้ามีน้ำมูกก็จ่ายยาลดน้ำมูก ถ้าน้ำมูกเยอะก็จ่ายหลอดฉีดยาพร้อมน้ำเกลือให้มาล้างจมูก เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่า ‘ไม่ต่าง’ จากไข้หวัดทั่วไป
ส่วนถ้ามีอาการของทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือ ‘ไวรัสลงปอด’ ที่หลายคนกังวล แพทย์ก็จะพ่นยาขยายหลอดลม หากเสียงปอดดีขึ้นก็อาจให้กลับบ้าน แล้วนัดมาติดตามอาการหรือพ่นยาในวันถัดไป แต่ถ้ามีอาการเหนื่อยมาก ซึ่งในเด็กจะสังเกตเห็นปีกจมูกบานหรือชายโครงบุ๋ม แพทย์ก็จะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
ทำไมถึง ‘ไม่จำเป็น’ ต้องตรวจหาเชื้อ RSV ?
ผมเข้าใจความกังวลของผู้ปกครองที่ต้องการทราบว่าเด็กติดเชื้ออะไร ใช่เชื้อที่กำลังเป็นข่าวอยู่หรือไม่ แต่ในฝั่งของแพทย์ โรคติดเชื้อไวรัส RSV รักษาเหมือนไวรัสหวัดชนิดอื่นคือ ถึงจะรู้ว่า ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ก็ยังรักษาตามอาการเหมือนกัน ยังต้องประเมินว่าอาการรุนแรงจนต้องนอนรพ.หรือเปล่าเหมือนกัน ดังนั้นจึง ‘ไม่จำเป็น’ ต้องตรวจหาเชื้อชนิดนี้
เปรียบเทียบกับการตรวจเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น การเจาะเลือดหรือการตรวจที่มีราคาแพง แต่ไม่คุ้มค่า ก็จะทำให้เจ็บตัวฟรี หรือสิ้นเปลืองเงิน อย่างการตรวจหาเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นชุดทดสอบรวดเร็วคล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ ราคาประมาณ 500-1,000 บาท แต่ถ้าตรวจแล้วยังได้รับยาแก้ไข้ ยาแก้ไอเหมือนเดิม เลยไม่ต้องส่งตรวจตั้งแต่แรก
ยกเว้นต้องการทราบจริงๆ ก็ต้องไปตรวจที่คลินิกหรือรพ.เอกชนซึ่งมีบริการนี้อยู่ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ต้องพ่นยา หรือต้องให้ออกซิเจนชดเชย แพทย์ก็จะส่งตรวจหาเชื้อที่สงสัยอีกที เพราะผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัส RSV หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ ‘ไม่จำเป็น’ ต้องนอนรพ. ทุกราย แต่ขึ้นกับอาการในขณะนั้นเป็นหลัก
สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย RSV มาก่อน เช่น นักเรียนในห้องเรียนเดียวกันป่วยไล่เลี่ยกัน แล้วคนที่ป่วยก่อนตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส RSV แล้ว ก็สามารถใช้ความเชื่อมโยงนี้สันนิษฐานได้ว่าติดเชื้อเดียวกัน โดยที่คุณครูไม่จำเป็นต้องแจ้งผู้ปกครอง “ให้รีบไปตรวจ” แต่อย่างใด และกรณีนี้ความสำคัญจะอยู่ที่การควบคุมโรคมากกว่า
การควบคุมโรค RSV เหมือนโควิด-19
“สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ” ไม่เพียงแต่เป็นการป้องกันโควิด-19 แต่ยังรวมถึงไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่นด้วย ซึ่งติดต่อผ่านละอองน้ำมูกน้ำลาย และพื้นผิวที่ปนเปื้อนละอองเหล่านี้ หากใช้มือสัมผัสแล้วมาหยิบจับบริเวณใบหน้า ทำให้นอกจากจะล้างมือแล้ว โรงเรียนต้อง ‘ล้างของเล่น’ และ ‘ทำความสะอาดเครื่องเล่น’ ที่เด็กจับทุกวันด้วย
ไวรัส RSV มีระยะฟักตัว 3-5 วัน และสามารถแพร่เชื้อ 3-8 วันหลังเริ่มมีอาการ ดังนั้นเด็กที่มีอาการป่วยควรหยุดเรียน 1 สัปดาห์ และเฝ้าระวังอาการของเด็กที่เรียนด้วยกัน 5 วัน หากมีนักเรียนป่วยหลายรายอาจพิจารณาปิดห้องเรียน 1 สัปดาห์ เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่ และป้องกันการแพร่เชื้อให้กับห้องเรียนหรือชั้นเรียนอื่น
นอกจากนี้ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นพาหะนำเชื้อไปให้เด็กได้ ดังนั้นผู้ใหญ่ต้อง ‘ไม่หอม-ไม่กอด-ไม่จับ’ บุตรหลานผู้อื่นในช่วงที่มีการระบาด ส่วนผู้ปกครองควรล้างมือหรืออาบน้ำ (ถ้าเป็นไปได้) ก่อนอุ้มเด็ก ที่สำคัญหากเด็กไม่สบายต้องแยกนอนจากเด็กคนอื่นในบ้าน และควรงดไปโรงเรียน รวมถึงงดเล่นนอกบ้าน เช่น บ้านบอล หรือไปในที่ชุมชน
ผมขอสรุปว่าเด็กที่มีอาการไข้หวัด ‘ไม่จำเป็น’ ต้องตรวจหาเชื้อไวรัส RSV เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ และแพทย์จะรักษาตามอาการ ซึ่งเป็นการรับประทานยาบรรเทาอาการ และสังเกตอาการว่าถ้าเหนื่อยหรืออ่อนเพลียมากอาจต้องนอนรักษาตัวในรพ. ดังนั้นการที่แพทย์รพ.รัฐไม่ตรวจหาเชื้อ ‘ไม่ได้’ หมายความว่าแพทย์ไม่ใส่ใจบุตรหลานของท่านนะครับ
Tags: ไข้หวัด, ไวรัสRSV, สุขภาพเด็ก