“ถ้าเป็นวันทำงาน ผมวิ่งวันละ 10 กม. แต่ถ้าเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ที่มีเวลามากกว่า ผมจะวิ่งรอบหมู่บ้านวันละ 20 กม.” วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงกิจวัตรประจำวันนอกงานของเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวเพื่อปูพื้นฐานไปสู่การใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างแข็งแรงและเดินตามนโยบายของบริษัท

สำหรับผู้บริหารของฟิลิปส์คนนี้ คำว่า บั้นปลาย ของเขาไม่ได้หมายถึงวัย 70-80 ปี แต่เขามองไปไกลถึง 120 ปี ตัวเลขที่ในอดีตคนส่วนใหญ่คงส่ายหน้าไม่เห็นด้วย แต่ในปัจจุบันด้วยนวัตกรรมทางด้านสุขภาพที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตัวเลขนี้ไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะอีกต่อไป

และหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านนี้จนถือเป็นทั้งธุรกิจหลักและพันธกิจสำคัญของบริษัทก็คือ ฟิลิปส์ นั่นเอง ซึ่งวิสัยทัศน์ครั้งนี้พิสูจน์ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ของบริษัท ด้วยการบอกลาธุรกิจผลิตหลอดไฟ ซึ่งเคยเป็นภาพจำของฟิลิปส์ทั่วโลกมานานเกือบทศวรรษ และโฟกัสที่เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพอย่างครบวงจร

ในฐานะพนักงานที่อยู่กับบริษัทตั้งแต่ 19 ปีก่อนในวันที่แผนกเครื่องมือทางการแพทย์ยังเป็นกลุ่มธุรกิจเล็กๆ  วิโรจน์จึงเป็นคนที่สามารถถ่ายทอดภาพความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้อย่างชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่วันที่คนในบริษัทส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักแผนกนี้จนกระทั่งถึงวันที่กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ ซึ่งรวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องมือเพื่อสุขภาพกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของฟิลิปส์ ทั้งในไทยและในต่างประเทศ
   

เมื่อตอนที่คุณวิโรจน์เข้ามาทำงานที่นี่ใหม่ๆ แผนกเฮลท์แคร์ของฟิลิปส์เป็นอย่างไรบ้าง

ผมมาทำงานที่นี่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ปี 2543 ในตำแหน่ง GM ของแผนกเฮลท์แคร์ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในตำแหน่งนี้นะ เพียงแต่มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะหมวกอีกใบคือดูแลธุรกิจฟิลิปส์ทั้งหมดในประเทศไทยด้วย

สมัยนั้นผมเป็นพนักงานตัวเล็กๆ คนหนึ่งเลย เพราะแผนกเราเป็นธุรกิจที่เกือบจะเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับธุรกิจของฟิลิปส์ทั่วโลก ในเมืองไทยเองก็เช่นกัน GM แผนกอื่นบางคนเขายังไม่รู้เลยว่าแผนกที่ว่าขายเครื่องมือแพทย์นี่ขายอะไร ในยุคนั้นโปรดักต์ของฟิลิปส์มีหลากหลายมาก อย่างเวลาประชุมสภาผู้แทนราษฎร เครื่องเสียงที่ใช้ก็เป็นของฟิลิปส์หมดเลยนะ กล้องซีซีทีวีที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิก็ใช่ เครื่อง ATM รุ่นแรกยังเป็นของฟิลิปส์เลย

แต่พอเวลาผ่านไป เราก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน จนกระทั่งล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงประเภทที่เรียกว่าช็อกโลกก็ว่าได้ เพราะเราตัดสินใจขายธุรกิจหลอดไฟออกไป ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ห้าวหาญมาก ทั้งที่ฟิลิปส์เกิดจากหลอดไฟ แต่เราก็ตัดสินใจทิ้งหลอดไฟ แล้วโฟกัสที่ด้านเฮลท์แคร์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในท้องตลาดจะยังเห็นหลอดไฟฟิลิปส์อยู่อีกประมาณ 10 ปี อันนี้เป็นเงื่อนไขในการขายกิจการของเรา เพียงแต่ว่าบริษัทไม่ใช่แล้ว

เพราะอะไรบริษัทจึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในทิศทางนี้

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะเทรนด์โลกด้วย ทั้งเทรนด์ด้านธุรกิจและสังคม สมัยก่อนบริษัทใหญ่ๆ อย่างบริษัทข้ามชาติแบบเราจะมีธุรกิจหลากหลายมาก ความยิ่งใหญ่ขององค์กรวัดกันที่ตัวเลขรายได้แต่ละปี แต่ตอนนี้ทิศทางมันเปลี่ยนไปแล้ว บริษัทใหญ่ๆ เริ่มโฟกัสกันเฉพาะด้านมากขึ้น เราจะเห็นหลายบริษัทในยุโรป ไม่เฉพาะแต่ฟิลิปส์ เริ่มแตกย่อยและจับโฟกัสในสิ่งที่เขามองว่าเป็นเรื่องที่ถนัดและเดินต่อไปในทางนั้น อย่างฟิลิปส์นี่เรามองว่าทั้งโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น หลายๆ ประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนอายุยืนขึ้น ปัญหาที่จะตามมาก็คือเรื่องสุขภาพ

เมื่อแนวโน้มเป็นแบบนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผู้คนน่าจะเป็นเทรนด์ที่สำคัญ ซึ่งฟิลิปส์มองตรงนี้มา 20 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่ม เพราะเราเริ่มขยายธุรกิจด้านเฮลท์แคร์ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จากธุรกิจที่คนภายในบริษัทเองยังไม่รู้จักจนกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด

เรื่องสังคมผู้สูงอายุนี้ในประเทศที่เจริญแล้วเขาจะรู้จักเรื่องนี้ดีมาก แต่ในเมืองไทยที่เราเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา คนเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น สังคมเมืองเริ่มขยายขึ้น คนมีการศึกษากันมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับเทรนด์ที่ว่าทุกวันนี้คนเริ่มสนใจสุขภาพมากกว่าแต่ก่อน และเรื่องนี้เองที่ฟิลิปส์มองว่า จากเดิมที่แผนกเฮลท์แคร์จะต้องโฟกัสเครื่องมือที่ใช้ในโรงพยาบาล ก็เริ่มขยายไปถึงเครื่องมือที่ใช้นอกโรงพยาบาลมากขึ้น และในอนาคต ถ้าพูดถึงเครื่องมือพวกนี้ก็จะไม่ใช่แค่อุปกรณ์ที่ใช้กับคนป่วย แต่จะมีเครื่องมือที่ใช้กับคนสุขภาพดีด้วย

ถ้าดูเอกสารทางการตลาดของฟิลิปส์จะเห็นว่า เรามีคำว่า health continuum ซึ่งสำหรับเราแล้ว คำนี้ก็คือเมื่อคุณพูดถึงสุขภาพ มันไม่จำเป็นต้องพูดถึงเฉพาะผู้คนหรือสิ่งของต่างๆ ในโรงพยาบาล เพราะสุขภาพไม่ได้เริ่มต้นที่โรงพยาบาลแต่เริ่มต้นจากที่บ้าน ทำอย่างไรคนที่บ้านถึงจะแข็งแรง เราก็ดูว่าฟิลิปส์จะมีนวัตกรรมอะไรที่เข้าไปส่งเสริมเรื่องพวกนี้บ้าง เพราะวิสัยทัศน์ของที่ฟิลิปส์คือเราจะต้องมีส่วนในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นให้ได้ปีละ 3,000 ล้านคนภายในปี 2573

brand promise ของเราคือ Philips delivers innovation that matters to you. นั่นหมายความว่าเราจะต้องมีนวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อชีวิตของคุณ

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างนวัตกรรมด้านสุขภาพของฟิลิปส์ที่สอดคล้องกับความหมายของ health continuum

ถ้าเริ่มตั้งแต่ที่บ้านก็อย่างเช่นพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีผลต่อสุขภาพของเรา ตัวอย่างเด่นก็คือหม้อทอดที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน อันนี้ถือเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ของฟิลิปส์เหมือนกัน หรืออย่างเครื่องฟอกอากาศ เรามีอยู่รุ่นหนึ่งที่ไม่ใช่แค่ว่ากลับถึงบ้านแล้วกดปุ่มให้เครื่องทำงาน แต่เป็นเครื่องฟอกอากาศที่สามารถสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีของ Internet of Things ผมสามารถตรวจดูสภาพอากาศที่บ้านผ่านเครื่องฟอกอากาศเครื่องนี้ ถ้าอากาศที่บ้านเริ่มไม่ดี อย่างเช่นวันนั้นแถวบ้านมีคนทุบกำแพงหรือตอกเสาเข็ม เครื่องจะส่งข้อมูลมาบอก ผมก็สามารถสั่งให้เครื่องฟอกอากาศทำงานได้เลยจากที่ทำงาน เราจะมีนวัตกรรมพวกนี้ที่ทำให้สุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล

แต่ถ้าถึงคราวป้องกันไม่ได้จริงๆ เอาไม่อยู่แล้ว ไม่สบาย ต้องมาโรงพยาบาล เราก็จะมีนวัตกรรมของเราที่ใช้ในโรงพยาบาลอยู่แล้วที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัย ซึ่งเราก็มีเครื่องมือตรงนี้พร้อม หลังจากตรวจวินิจฉัยแล้วรู้ว่าเป็นอะไร ก็ต้องรักษา เราก็มีอุปกรณ์ในการรักษาอีก พอรักษาแล้วกลับบ้าน เป็นช่วงฟื้นตัว เราก็จะมีอุปกรณ์สำหรับใช้ในช่วงนั้นด้วย

ในความหมายของ health continuum ข้อมูลทั้งหลายในโฟลว์จะต้องต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน สิ่งที่เป็นกระดูกสันหลังของทั้งหมดที่พูดมานี่ก็คือระบบการสื่อสารและอินเตอร์เน็ต เพราะอินเตอร์เน็ตเป็นหัวใจสำคัญของโลกในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0

ในการนำอินเทอร์เน็ตและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ผู้ใช้ส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงวัย ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งหรือไม่

เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะที่พูดมาทั้งหมดนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ในอนาคตจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งเวลาเราผลิตอุปกรณ์ขึ้นมาสักชิ้น เราจะต้องเข้าศึกษาและเรียนรู้บริบททางสังคมก่อน อย่างเช่นตอนนี้เรารู้ว่าโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เราก็จะต้องผลิตโปรดักต์ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ตรงนี้ก่อน เสร็จแล้วก็เอาไปทดลองใช้ พอทดลองใช้ก็จะได้ฟีดแบ็กกลับมา เราจะนำฟีดแบ็กนั้นมาปรับปรุงคุณภาพ

เพราะฉะนั้นที่ถามว่ามันไอทีมากอย่างนี้ แล้วคนสูงอายุจะใช้เป็นไหม โปรดักต์ที่เราทำออกมาก็จะต้องทำให้ user friendly การใช้งานจะต้องง่าย ไม่ให้ผู้สูงอายุใช้แล้วรู้สึกยุ่งยาก ต้องกดปุ่มนั้น เข้าเมนูนี้ เราจะต้องทำให้การใช้งานง่ายที่สุด

ในฐานะที่ทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพมาตลอดตั้งแต่แรกจนถึงทุกวันนี้ คุณวิโรจน์ตื่นเต้นกับนวัตกรรมใดเป็นพิเศษบ้างไหม

ถ้าเป็นเครื่องมือแพทย์ซึ่งเราเป็นผู้นำในตลาดด้านเครื่องตรวจด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังสูง หรือเครื่อง MRI เมื่อเร็วๆ นี้เราออกรุ่นใหม่ ขนาด 1.5 เทสลา คือรุ่นที่มีแรงสนามแม่เหล็ก 15,000 เท่าของแรงโน้มถ่วง และเป็นรุ่นที่ใช้ก๊าซฮีเลียมในการหล่อเย็นแค่ 7 ลิตร จากปกติต้องใช้เป็นพันๆ ลิตร ก๊าซฮีเลียมเป็นตัวการในการทำให้สนามแม่เหล็กยังคงความเป็นแม่เหล็กอยู่ได้ แต่ฮีเลียมทั่วโลกเจอปัญหาขาดแคลนเป็นประจำเพราะแหล่งฮีเลียมทั่วโลกมีไม่กี่ที่ อีกทั้งในการใช้งานเครื่องนี้จะมีการสูญเสียฮีเลียมไปบ้างแม้จะเป็นระบบปิดก็ตาม

หากเป็นเครื่องรุ่นเก่าที่ใช้ฮีเลียมจำนวนมาก ถ้าเกิดขาดแคลนฮีเลียมขึ้นมาในระหว่างที่ต้องซ่อมแซมเครื่อง เครื่องก็จะใช้งานไม่ได้ ฟิลิปส์เลยออกรุ่นใหม่มา ใช้ฮีเลียมแค่ 7 ลิตร น้ำหนักก็เบาลงกว่าเดิม 1-2 ตัน พอรู้นี่ผมตื่นเต้นมากที่เขาคิดค้นออกมาได้ แล้วยังเป็นเครื่องแรกในโลกที่เอาระบบ AI เข้ามาจับ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเวลาเกิดปรากฏการณ์สูญเสียความเป็นแม่เหล็กได้ด้วย เพราะเมื่อเครื่องตรวจจับได้ว่ามีความผิดปกติในระบบ ก็จะรีบลดความเป็นแม่เหล็กลงแบบอัตโนมัติ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กลับมาทำงานได้ใหม่ภายใน 1 วัน ซึ่งนวัตกรรมนี้เป็นเรื่องที่เขย่าตลาดมาก

แต่ถ้าเป็นนวัตกรรมประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน มันจะเป็นความตื่นเต้นแบบสนุกสนาน อย่างเช่นอยู่ๆ ก็มีหม้อทอดไม่ใช้น้ำมัน แต่ใช้ไอร้อนแทน หรือเตารีดแบบที่ไม่ต้องควบคุมอุณหภูมินี่ผมตื่นเต้นมากเลยนะ ซื้อคนแรกในบริษัทเลย ตอนนี้มีรุ่นใหม่ออกมาแล้วด้วย นอกจากจะไม่ต้องตั้งอุณหภูมิแล้วมันยังปรับอุณหภูมิตามพฤติกรรมของคนรีดด้วย เพราะตามปกติถ้าเรารีดเร็วแปลว่าผ้าไม่ค่อยยับมาก เตารีดจะปล่อยไอน้ำออกมาน้อย แต่ถ้ารีดช้าแสดงว่าผ้ายับมาก เตารีดก็จะปล่อยไอน้ำออกมามาก

ไดร์เป่าผมที่ปรับอุณหภูมิก็มีเหมือนกัน ถ้าผมเปียกมากๆ อุณหภูมิจะออกมาร้อนหน่อย พอผมเริ่มหมาด ก็จะปรับลดอุณหภูมิเอง พวกนี้มันคือการเอาระบบ AI เข้ามาใช้ทั้งนั้น

เร็วๆ นี้จะมีที่น่าตื่นเต้นมากอีกอันหนึ่ง คือ แปรงสีฟันไฟฟ้าของฟิลิปส์จะซิงก์กับแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์ แปรงเสร็จแล้วมันจะบอกเลยว่าตรงนี้ยังไม่สะอาด ต้องกลับไปแปรงซ้ำ ซึ่งรุ่นนี้เมืองนอกมีขายแล้ว และคาดว่าอาจจะนำเข้ามาในไทยเร็วๆ นี้

เพราะทำงานที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมใหม่ๆ โดยตรง โดยส่วนตัวแล้วต้องติดตามข่าวเทคโนโลยีตลอดเวลาไหม

ก็ต้องตามบ้าง เพราะเช้ามาถ้าเราไม่ชอบดูข่าวดารา ก็จะเข้าไปดูข่าวพวกนี้แทน แล้วโลกยุคนี้ขับเคลื่อนหรือหมุนเร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยีทั้งนั้น ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่ อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่า term ต่างๆ หมายถึงอะไร ถ้าไม่รู้นี่เสร็จเลย เด็กยุคใหม่นี่รู้แค่ภาษาไทย อังกฤษ จีนนี่ไม่พอแล้ว ที่ต้องเรียนก็คือ coding อันนี้เป็นภาษาสำคัญเลย อังกฤษไม่รู้ จีนไม่รู้ แต่ coding เป็น ยังหากินได้

รุ่นผมนี่ใกล้เกษียณแล้วยังพอรอดตัว อาจจะออมเงินไว้ใช้ได้อีก 60 ปี พออายุสัก 120 ปีค่อยตาย แต่ถ้าคนรุ่นใหม่ๆ นี่ต้องรู้เรื่องอายุ 120 ปีนี่อย่าหัวเราะไปนะ เป็นไปได้มากเลยในคนเจเนอเรชันเรา เพราะนี่คือสิ่งที่ฟิลิปส์มองเห็น เห็นว่าคนยุคใหม่ช่วงชีวิตจะยืนยาวขึ้น สุขภาพจะเป็นเรื่องสำคัญ และถ้าชีวิตเรายืนยาวขึ้น เราจะใช้เงินไปกับการนอนในโรงพยาบาลเพราะเจ็บป่วยหรือใช้เงินกับการทำให้สุขภาพเราแข็งแรง ผมว่าการใช้เงินทำให้สุขภาพแข็งแรงมันใช้เงินน้อยกว่านะ

ผมเชื่อว่าอีกหน่อยเราจะได้เห็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมีพัฒนาการและก้าวล้ำไปอีกไกลมาก ยกตัวอย่างตอนนี้ผมใช้นาฬิกาที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ แต่อีกหน่อยนาฬิกาอาจจะบอกได้เลยว่า ตอนนี้ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่แล้ว เอนไซม์บางตัวเยอะไปหรือเปล่า ไตมีปัญหาไหม อีกหน่อยจะต้องมีเครื่องมือพวกนี้เกิดขึ้นแน่นอน เพราะเทคโนโลยีมันไปถึงตรงนั้นได้ และการรักษาในอนาคตจะเฉพาะบุคคลมากขึ้น คนสองคนป่วยแบบเดียวกัน แต่การรักษาของแต่ละคนอาจจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อมูลของแต่ละคน

ถ้าอย่างนั้น เราสามารถพูดได้ไหมว่า นวัตกรรมของฟิลิปส์มีส่วนช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย

แน่นอนครับ เรื่องนี้เป็น brand promise และเป็นวิสัยทัศน์ของเราอย่างที่บอกไป ทั้งทั่วโลกและในไทย เราต้องมีส่วนช่วยตรงจุดนี้

แต่โจทย์สำคัญอีกอย่างในอนาคตของเราก็คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของเราได้ สามารถซื้อเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เราเชื่อว่ามันคงต้องมีวันนั้น เพราะทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ของฟิลิปส์ส่วนใหญ่จะเจาะกลุ่มระดับไฮเอนด์เป็นหลัก ซึ่งถ้าเรามองตลาดนี้ สินค้าจะราคาแพงแน่นอน ในภูมิภาคอย่างยุโรปหรืออเมริกาอาจจะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นภูมิภาคบ้านเราจะต่างกัน

ทางฟิลิปส์เลยเริ่มหันมาจับตามองในเซกเมนต์ที่ลดลงมาจากไฮเอนด์ อย่างระดับกลางในบ้านเราก็เริ่มมีแล้ว เพราะเรามีโรงงานและมี R&D อยู่ที่เสินเจิ้น ผลิตเครื่องมือแพทย์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในราคาที่คนชั้นกลางทั่วๆ ไปพอจับจ่ายได้ หรืออย่างโรงพยาบาลบางแห่ง เราก็แนะนำให้เขาซื้อเครื่องมือในระดับที่รองลงมาได้ เพื่อให้โรงพยาบาลที่อยู่ตามต่างจังหวัดมีเครื่องมือที่สามารถตรวจคนไข้ได้เช่นกัน

อย่างที่บอกว่า ยุคนี้มันมีโอกาสสูงมากที่อายุเราจะยืนยาวขึ้นและคนทั่วไปก็คงคิดคล้ายๆ ผม คือ พยายามไม่ทำตัวเป็นภาระให้กับคนรุ่นหลัง ผมมักจะพูดกับน้องๆ ในออฟฟิศว่า เราต้องคิดว่าเมื่ออายุถึงตอนนั้นแล้วเราจะอยู่ในสภาพไหน เราจะสามารถเดินไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องพึ่งพาใครหรือเปล่า หรือใช้ไม้เท้าหนึ่ง สามขา วอล์กเกอร์ หรือจะนั่งวีลแชร์ หรือนอนติดเตียง ถ้าเราตัดสินใจได้ เราก็ต้องเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ เริ่มออกกำลังกาย

พอคนเริ่มคิดแบบนี้มากขึ้นๆ ผมคิดว่าในอนาคตเครื่องมือที่เกี่ยวกับสุขภาพจะเป็นตลาดที่กลายเป็นแมสโปรดักต์ ซึ่งฟิลิปส์มองเห็นในจุดนี้ และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราหันมาโฟกัสด้านสุขภาพเป็นหลักและทำตาม brand promise ของเราในการมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนผ่านนวัตกรรม

Tags: , , , ,