ปี 2561 คนไทยได้รู้จักวงดนตรีหน้าใหม่อย่าง ไททศมิตร (TaitosmitH) ผ่านบทเพลงที่มีชื่อว่า พัทยา เลิฟเวอร์ (Pattaya Lover) ก่อนที่ปีถัดมา พวกเขาจะได้เดบิวต์ในฐานะศิลปินของค่าย Gene Lab พร้อมปล่อยอัลบั้มแรกที่มีเพลงฮิตติดชาร์ตมากมาย อาทิ เป็นตะลิโตน, แดงกับเขียว, Amazing Thailand, Hello Mama และบังขายถั่ว

ด้วยเสียงร้องอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จากสองนักร้องนำ ‘จ๋าย’ – อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี และ ‘โมส’ – ตฤณสิษฐ์ สิริพิชญาศานต์ สอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรีอันหนักแน่นถูกใจชาวร็อก คลอไปกับเมโลดี้กระแทกใจคนฟังของสมาชิกวงอีก 4 ราย ได้แก่ ‘มีน’ – ปัณณสิทธิ์ สุขโหตุ (กีตาร์), ‘เจต’ – เจษฎา ปัญญา (เบส), ‘ตุ๊ก’ – พัฒนภูมิ ชอุ่มผล (กลอง) และ ‘เจ’ – ธนกฤต สองเมือง (คีย์บอร์ด) ทำให้วงไททศมิตรถูกพูดถึงในหมู่นักฟังอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องเนื้อเพลงที่เล่าถึงหลายแง่มุมในสังคม ทั้งความรัก ความอยุติธรรม วิถีชีวิต และการเมือง จนถูกยกให้เป็น ‘ศิลปินเพื่อชีวิตหน้าใหม่’ และถูกนำไปเปรียบกับวงดนตรีรุ่นพี่ระดับตำนานอย่างคาราบาว รวมถึง ‘ปู’ – พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์

อย่างไรก็ดี ในปี 2021 ไททศมิตรต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่เช่นเดียวกับศิลปินวงอื่นๆ ที่ไม่สามารถออกไปเล่นดนตรีได้จากผลกระทบของโควิด-19 แต่ในช่วงที่ต้องหยุดพักจากการเล่นดนตรี ก็ทำให้ไททศมิตรมีเวลาทำอัลบั้มชุดที่ 2 ก่อนปล่อยออกมาให้แฟนเพลงได้ฟังในช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา กับอัลบั้มที่มีชื่อว่า เพื่อชีวิตกู

หลังจากปล่อยอัลบั้ม เพื่อชีวิตกู ได้อาทิตย์เดียว ก็มีฟีดแบ็กจากแฟนเพลงมากมาย ทั้งลูกเล่นท่วงทำนองที่หลากหลายมากขึ้น และมีเนื้อหาที่เจาะลึกแง่มุมเข้าถึงคนทุกอาชีพ ทุกระดับชั้น ตั้งแต่บนรัฐสภา วินมอเตอร์ไซหน้าปากซอย โคโยตี้ รถแห่ วงไพ่ LGBTQ+ หรือแม้แต่ Sex Worker อาชีพที่คนบางกลุ่มและกฎหมายยังไม่เปิดใจยอมรับ

The Momentum มีโอกาสได้สนทนากับวงไททศมิตร ถึงที่มาที่ไปของอัลบั้มใหม่ชุดที่สองนี้ ตลอดจนประสบการณ์การทำงานร่วมกับศิลปินระดับชั้นครูอย่าง ไวพจน์ เพชรสุพรรณ รวมถึงแนวคิดสัญลักษณ์ ‘เสาไฟ’ ที่นำมาใช้บนโปสเตอร์โปรโมต และคำถามสำคัญอย่างวิถีการทำเพลง ‘เพื่อชีวิต’ จากมุมมองของไททศมิตร ท่ามกลางกระแสสังคมที่ผันผวนแทบทุกวินาที

Tags: , ,