แม้ ‘อังม่อหลาว’ ในภาษาจีนฮกเกี้ยนจะหมายถึงคฤหาสน์ของคนหัวแดงหรือชาวยุโรป แต่ถึงกระนั้น คฤหาสน์โอ่อ่าอายุอานามหลัก 88 ปี ที่ตั้งตระหง่านประจำอำเภอถลาง กลับไม่ใช่ของฝรั่งหัวแดงที่ไหน แต่เป็นของ หลวงอนุภาษภูเก็ตการ (จิ้นหงวน หงษ์หยก) อดีตคหบดีชาวจีนที่เข้ามาบุกเบิกอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกบนเกาะภูเก็ต
คฤหาสน์หลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2479 ในสถาปัตยกรรมที่ตระกูลหงษ์หยกขอจำกัดความในชื่อ สไตล์ชิโน-โคโลเนียล (Chino-Colonial Style) ด้วยการใช้ปูนเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้างตามอิทธิพลศิลปะยุคอาร์ตเดโค (Art Deco) ที่มีลักษณะโค้งมน ส่วนด้านบนมุงหลังคาด้วยกระเบื้องจากฝรั่งเศส และด้านในปูพื้นด้วยกระเบื้องจากอิตาลี รวมถึงเฟอร์นิเจอร์และของใช้มากคุณภาพจากต่างแดน
แต่เมื่อวันเวลาผันแปร คฤหาสน์หลังนี้กลับถูกทิ้งร้างปล่อยว่างนานถึง 37 ปี กระทั่ง อ๊อด-สัจจ หงษ์หยก, โอ๊ค-บรรลุ หงษ์หยก และเอก-สติ หงษ์หยก สามพี่น้องและทายาทรุ่นที่ 4 แห่งตระกูลหงษ์หยก ตัดสินใจร่วมกันชุบชีวิตบ้านหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และเปลี่ยนชื่อเรียกคฤหาสน์หลังนี้ใหม่ว่า ‘บ้านอาจ้อ’ ที่หมายถึงบ้านของทวดนั่นเอง
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับอ๊อด-สัจจ หงษ์หยก พี่ชายคนโตและเจ้าของบ้านอาจ้อ ถึงการแปลงโฉมอังม่อหลาวประจำตระกูล ที่ปัจจุบันยืนหยัดด้วยการเปิดเป็นที่พัก พิพิธภัณฑ์ และ ‘โต๊ะแดง’ ร้านอาหารระดับมิชลิน แต่เหนือสิ่งอื่นใด เหตุผลสำคัญที่ทำให้บ้านอาจ้อยืนหยัดและดำเนินจนถึงทุกวันนี้ คือ ‘ความรัก’ จากลูกหลานที่ใส่ลงไปทุกตารางนิ้ว