อย่าถ่ายวิดีโอแนวตั้ง!” นี่อาจเป็นจุดแบ่งระหว่างชาวมิลเลเนียลกับเจเนเรชั่น Z ผม, ซึ่งเป็นชาวมิลเลเนียล, เคยได้ยินคำเตือนทำนองนี้เมื่อสักสี่ห้าปีก่อนนี้เอง แน่ล่ะ ห้าปีก่อน สมาร์ทโฟนก็เป็นที่นิยมแล้วเรียบร้อย อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และโซเชียลเนตเวิร์กต่างๆ ก็มาแล้ว แต่ตอนนั้น เราก็ยังได้ยินคำเตือนเช่นนี้อยู่ คนเตือนคงคิดว่าสื่อวิดีโอนั้นเหมาะกับสัดส่วนแนวนอนเพียงอย่างเดียวและการถ่ายแนวตั้งจะเป็นการลดทอนคุณค่าของมันไป (หรืออาจแค่รำคาญ?) 

ผมคิดว่าเจเนเรชั่น Z ที่ตามหลัง โตมากับ Snapchat หรือ Tiktok อาจไม่เคยได้ยิน หรือได้ยินก็ไม่แคร์กับคำเตือนแบบนี้ ด้วยความที่ทั้ง Snapchat และ Tiktok มีสัดส่วนแบบเนทีฟเป็นวิดีโอแนวตั้ง (ซึ่งแอปพลิเคชั่นโซเชียลวิดีโอรุ่นบุกเบิกอย่าง VINE ไม่ได้เป็นอย่างนั้น)

สงครามระหว่างแนวตั้งกับแนวนอนอาจถือได้ว่าเป็นสงครามระหว่างสายตากับมือ ความที่มนุษย์เรามีตาสองข้างซ้ายและขวา มองภาพแบบพาโนรามา การที่สื่อวิดีโอจะมีลักษณะเป็นแนวนอนจึงสมควรอยู่ และเป็นเช่นนั้นมาตลอด หน้าจอโทรทัศน์สมัยก่อนมีสัดส่วนเป็น 4:3 คอมพิวเตอร์รับช่วงต่อมาในสัดส่วนเดียวกัน ก่อนจะยืดยาวสัดส่วนให้ใกล้เคียงกับภาพยนตร์มากขึ้นที่ 16:9 จนสมาร์ทโฟนมาถึงนั่นแหละ สงครามระหว่าง Aspect Ratio จึงเริ่มต้นขึ้นและดูท่าทีว่าจะไม่มีวันสงบเลย 

ที่อยู่ประจำของสมาร์ทโฟนคือในมือ (หนึ่งข้าง) การที่จะสลับการถือสมาร์ทโฟนจากแนวตั้งมาเป็นแนวนอนนั้นเป็นเรื่องยากด้วยมือข้างเดียว ด้วยเหตุนี้ กระทั่งตอนที่ดูวิดีโอแนวนอน คนจำนวนมาก (มิลเลเนียล 72%) จึงไม่หมุนสมาร์ทโฟนให้เป็นแนวนอนตามด้วยซ้ำ (นั่นคือ ยอมดูในแนวตั้ง กระทั่งว่าจะมีขอบบนและล่างใหญ่ยักษ์ก็ตามผมก็เป็น หากวิดีโอนั้นมีความยาวไม่มาก)

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมซีรีส์และภาพยนตร์จึงจะเป็นแนวตั้งบ้างไม่ได้เล่า

หลายคนอาจรู้จักบริการสตรีมมิ่งอย่าง Quibi มันตั้งใจที่จะเป็นบริการสตรีมมิ่งที่เหมาะสมกับมือถือ ซีรีส์ของ Quibi มีความยาวไม่มากนัก แต่ละเรื่องได้รับการออกแบบมาให้สามารถชมได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หากคุณไม่สนใจที่จะหมุนสมาร์ทโฟนเป็นแนวนอน Quibi ก็จะแสดงซีรีส์ในแนวตั้ง (ที่ถูกครอปมาอย่างตรงจุด เช่น ตรงหน้านักแสดงนำหรือจุดสนใจพอดี) ให้กับคุณ จะว่าไปแล้วก็เป็นคอนเซปท์ที่เข้าท่าอยู่ แต่ตัวเลขล่าสุดกลับแสดงว่า Quibi ไม่ประสบความสำเร็จนัก 

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? เป็นความผิดที่สัดส่วนหรือเนื้อหา หรืออะไรกันแน่

หลักฐานจากประเทศจีนพาให้เราเชื่อว่า ความผิดอาจไม่ได้อยู่ที่สัดส่วนซีรีส์แนวตั้ง ในจีน ผู้เล่นยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent และ IQiyi เอาจริงเอาจังกับซีรีส์แนวตั้งเหมือนกัน พวกเขาเปิดตัวซีรีส์ตลกอย่าง My Boyfriendish Sister, My Idiot Brother และ Ugh! Life! ที่มีความยาวแต่ละตอนสั้นเพียง 3-5 นาที แต่ละซีซั่นประกอบด้วยตอนสั้นๆ 48 ตอนออกมา ซีรีส์แนวตั้งของพวกเขาประสบความสำเร็จมาก ภายในช่วงเวลาสี่วันหลังเปิดตัว ก็มีสื่อและอินฟลูเอนเซอร์เขียนรีวิวมากกว่า 10,000 ชิ้น

สิ่งที่บริการสตรีมมิ่งจีนทำแตกต่างไปจาก Quibi คือ วกเขามีการออกแบบคอนเทนต์มาให้เหมาะกับการรับชมผ่านมือถือจริง ตั้งแต่การเลือกคอนเทนต์ประเภทตลกและ Slice of Life ที่ไม่ต้องใช้สมาธิมากในการเสพ การออกแบบเนื้อหาให้มุขตลกอัดแน่นในระดับที่เรียกว่าได้ฮาทุกๆ 5-10 วินาที การออกแบบช็อตที่โฟกัสกับตัวละครใดตัวละครหนึ่งเป็นหลัก (ข้อดีของวิดีโอแนวตั้งคือการที่เราสามารถเห็นตัวละครหนึ่งได้เต็มจอ ตั้งแต่หัวจรดมือ) และการพยายามยัดข้อมูลเข้ามาในเฟรมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นการใช้เทคนิคแบ่งจอแนวตั้งออกเป็นสองหรือสามส่วนเพื่อแสดงรีแอ็คชั่นของตัวละครต่างๆ การสอดประสานกันระหว่างฟอร์มกับคอนเทนต์นี้อาจเป็นปัจจัยความสำเร็จของซีรีส์แนวตั้งในจีน

ไม่นานนี้ มีความพยายามจุดกระแสวิดีโอแนวตั้งขึ้นอีกสองครั้งที่น่าจับตามอง ครั้งหนึ่งคือแคมเปญ Vertical Cinema: Shot on iPhone ที่แอปเปิลร่วมมือกับผู้กำกับฯ​ La La Land อย่าง Damien Chazelle เพื่อโชว์ศักยภาพกล้องของไอโฟนผ่านภาพยนตร์สั้นแนวตั้งที่ถูกแบ่งเรื่องออกเป็นส่วนย่อยๆ เราเห็นได้ว่ามีความพยายามฟิตเรื่องและช็อตให้เข้ากับกรอบอยู่ เช่น ในช่วงแรกของภาพยนตร์ ตัวละครหลักจะวิ่งหนีเหล่าร้ายและกระโดดลงจากตึกซึ่งเป็นการเคลื่อนที่แนวตั้ง หรือในช่วงต่อมาที่เป็นแนวเรื่องคาวบอย ก็มีการดีไซน์ช็อตที่พยายามเค้นศักยภาพของภาพแนวตั้งออกมา

อีกครั้งหนึ่งคือการประกาศโปรเจกต์ภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์แนวตั้งเป็นครั้งแรกของ Timur Bekmambetov โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์อย่าง Searching (ที่มีการเล่นกับหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างน่าสนใจ) ภาพยนตร์เรื่องนี้ชื่อ V2. Escape from Hell มันจะเล่าเรื่องราวของนักบินโซเวียตที่ต้องหนีจากค่ายนรกเยอรมัน ใช้งบฯ ในการถ่ายทำ 10 ล้านเหรียญสหรัฐและจะเข้าฉายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลต้นปี 2021 

เทศกาลภาพยนตร์ที่โฟกัสไปที่ภาพยนตร์แนวตั้งอย่าง Vertical Cinema พูดถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองไว้อย่างน่าสนใจ 

เราทอดทิ้งฟอร์แมตภาพยนตร์ดั้งเดิมไป แล้วหันมาทดลองฉายภาพยนตร์ที่ถูกออกแบบมารับกับพื้นที่สูงและแคบแทน นี่ไม่ใช่การเชื้อเชิญให้เราละทิ้งโรงภาพยนตร์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมาแต่เป็นเพียงการยั่วล้อให้เราขยายมุมมองไปสู่แกนใหม่ๆ โครงการนี้เป็นการคิดถึงพื้นที่แบบใหม่ๆ เพื่อคืนพื้นที่ให้กับผู้สร้าง แทนที่จะนำเสนอบทสนทนาหม่นหมองที่ว่าภาพยนตร์นั้นเป็นสื่อที่ตายแล้ว มันนำเสนอและชวนให้เราคิดถึงอนาคตของงานภาพยนตร์แทน

คุณคิดว่าถึงเวลาเสพซีรีส์และภาพยนตร์ในแนวตั้งหรือยัง?

Tags: ,