จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ สำหรับการใช้เทคโนโลยี VAR (Video Assistant Referee) หรือระบบภาพช้าเข้ามาช่วยตัดสิน เพราะกีฬาอย่างบาสเก็ตบอล NBA อเมริกันฟุตบอล หรือแม้แต่เทนนิส ก็มีการใช้ VAR เข้ามาเป็นตัวช่วยการตัดสินใจของกรรมการตั้งนานแล้ว
หากแต่โลกของฟุตบอล เทคโนโลยี VAR มาช้ากว่าเพื่อน เพิ่งจะมีการทดลองนำมาใช้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งเกมระดับลีก แม็ตช์อุ่นเครื่องระดับทีมชาติ และทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลอย่างฟีฟา คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2017 ที่ผ่านมา
สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) คาดหวังว่าจะให้มีการนำ VAR เข้ามาใช้ในเกมฟุตบอล เหมือนก่อนหน้านี้ที่มีการนำเทคโนโลยี Goal Line มาช่วยตัดสินใจจังหวะบอลข้ามหรือไม่ข้ามเส้นประตู เช่นเดียวกัน VAR ก็จะถูกผลักดันให้มีการใช้ในเกมฟุตบอลมากขึ้น
เกมแรกอย่างไม่เป็นทางการที่ทดลองใช้ VAR เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2016 เป็นเกมระหว่างนิวยอร์ก เรดบูล และออร์แลนโด ซิตี้ บี ในเมเจอร์ลีก ซ็อกเกอร์ของสหรัฐอเมริกา และถือเป็นเกมฟุตบอลอาชีพเกมแรกที่มีการนำ VAR มาช่วยในการตัดสิน
ขณะที่เกมฟุตบอลระดับนานาชาติที่มีการใช้ VAR อย่างเป็นทางการเกมแรก คือรายการชิงแชมป์สโมสรโลกเมื่อปลายปี 2016 ระหว่างรีล มาดริด กับคลับ อเมริกา และต่อมาเมื่อต้นปี 2017 ก็มีการนำมาใช้ในเกมอุ่นเครื่องทีมชาติระหว่างฝรั่งเศสและสเปน โดยมีสองเหตุการณ์ที่ VAR ถูกนำมาใช้ คือจังหวะที่อองตวน กรีซมันน์ ดาวเตะทีมชาติฝรั่งเศสโหม่งทำประตู แต่เมื่อใช้ VAR ผู้ตัดสินเปลี่ยนคำตัดสินไม่ให้ประตูเนื่องจากล้ำหน้า กับจังหวะที่เคราร์ด เดวโลเฟว ดาวเตะทีมชาติสเปนหลุดกับดักล้ำหน้าเข้าไปยิง แต่ไลน์แมนยกธงล้ำหน้า ทว่าพอใช้ VAR แล้ว ท้ายที่สุดผู้ตัดสินเปลี่ยนคำตัดสินให้สเปนได้ประตู
ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอล ฟีฟา คอนเฟดเดอเรชันส์ คัพ 2017 กลายเป็นทัวร์นาเมนต์แรกที่มีการใช้ VAR และทำให้คนดูฟุตบอลเริ่มรู้จัก VAR มากขึ้น พร้อมกับความแปลกตา แปลกใหม่ที่เห็นชัดว่าเกมฟุตบอลได้เปลี่ยนไปอย่างไร เกมฟุตบอลที่ไม่ลื่นไหลเหมือนเคย มีการหยุดเพื่อใช้ VAR ในกรณีที่การตัดสินไม่ชัดเจน อากัปกิริยาของนักเตะที่เปลี่ยนอารมณ์จากหน้ามือเป็นหลังมือ จะดีใจสุดๆ เมื่อพังประตูได้ก็ไม่กล้า หรืออยู่ดีๆ ถูกผู้ตัดสินแจกใบเหลืองหรือใบแดงจากการทำฟาวล์
“มันไม่ใช่เกมฟุตบอลแล้ว มันหยุดนานเกินไป และเหมือนเรากำลังเล่นโปโลน้ำ”
จานลุยจิ บุฟฟอน ผู้รักษาประตูทีมชาติอิตาลี
สำหรับกฎการใช้ VAR ของผู้ตัดสิน ทางคณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (IFAB) ได้ระบุว่าใช้เรียกดูได้ใน 4 กรณี ได้แก่ หนึ่ง-จังหวะการได้ประตู มีการทำฟาวล์เกิดขึ้นหรือไม่ สอง-จังหวะจุดโทษหรือไม่จุดโทษ สาม-การให้ใบแดงโดยตรง กรณีที่มีการฟาวล์หนักๆ และ สี่-การให้ใบเหลืองหรือใบแดงผิดคน
ส่วนวิธีการทำงานของ VAR ในเกมฟุตบอลจะเกิดขึ้นเมื่อกรรมการในสนามส่งสัญญาณมือเป็นรูปสี่เหลี่ยมเพื่อขอดูภาพช้าอีกครั้ง จากนั้นกรรมการที่อยู่ในห้องมอนิเตอร์จะตรวจสอบดูเหตุการณ์ดังกล่าวจากภาพที่มีความละเอียดสูง และส่งรายงานการตัดสินกลับไปให้กรรมการในสนาม
นอกจากในรายการฟุตบอล ฟีฟา คอนเฟดเดอเรชันส์ คัพ 2017 แล้ว ในปีนี้ฟุตบอลลีคดังของอิตาลีอย่างกัลโช เซเรีย อา และบุนเดสลีกาของเยอรมันต่างก็นำร่องใช้ VAR เข้ามามีส่วนในการตัดสินเกมแล้ว ส่วนพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ และลาลีกาของสเปน ยังไม่ได้นำมาใช้ คาดว่าคงรอดูว่ามันจะเวิร์กหรือไม่ ส่วนฟุตบอลโลก 2018 ก็อาจจะมีการนำ VAR มาใช้
แน่นอนว่าการนำ VAR เข้ามาใช้ในเกมฟุตบอลนี้มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ข้อดีแน่ๆ ที่ได้จากการใช้ VAR คือการตัดสินเกมมีความแม่นยำและถูกต้องมากยิ่งขึ้น เป็นการลดความกดดันของกรรมการในสนาม นักเตะที่ชอบพุ่งล้มหรือชอบเล่นนอกเกมจะระวังตัวมากขึ้น ไม่กล้าทำในสองกรณีดังกล่าว
แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมักจะบอกว่า ไม่มีความชัดเจนในการเรียกดู VAR ว่าใช้ได้กี่ครั้งในหนึ่งเกม หรือว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการในสนามแต่เพียงผู้เดียว ส่งผลให้เกมฟุตบอลไม่ต่อเนื่อง ดูแปลกตา ถ้าต้องหยุดบ่อยครั้ง รวมทั้งการตัดสินที่ผิดพลาดของกรรมการก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในเกมฟุตบอลที่จะทำให้เป็นข้อถกเถียงหรือกลายประวัติศาสตร์ให้จดจำกัน
จันนี อินฟันตีโน ประธานฟีฟาคนปัจจุบัน ประกาศสนับสนุนการใช้ VAR โดยบอกว่า “มันเป็นตัวช่วยในการตัดสินของกรรมการ และในกรณีที่มีการตัดสินผิดพลาด VAR ก็จะช่วยเปลี่ยนให้มันเป็นการตัดสินที่ถูกต้องได้ นับเป็นความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมที่เราสามารถนำ VAR เข้ามาใช้ในเกมฟุตบอล หลังจากมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมาหลายปี”
ขณะที่ ซีเนอดีน ซีดาน เทรนเนอร์ชาวฝรั่งเศสของรีล มาดริด ก็ให้ความเห็นว่า VAR สร้างความสับสนให้กับนักเตะ แต่ปัญหาคือพวกเขาก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่ฟีฟาต้องการ
ส่วน ลูกา โมดริช กองกลางชาวโครเอเซียของรีล มาดริดก็ให้ความเห็นเรื่องนี้ในทำนองเดียวกับซีดานที่ว่า VAR เป็นสิ่งใหม่ในเกมฟุตบอล “แต่อย่างสัตย์จริง ผมไม่ชอบมัน มันสร้างความสับสน และนี่ไม่ใช่เกมฟุตบอล”
แม้กระทั่ง จานลุยจิ บุฟฟอน ผู้รักษาประตูทีมชาติอิตาลีของยูเวนตุสก็บ่นว่า “มันไม่ใช่เกมฟุตบอลแล้ว มันหยุดนานเกินไป และเหมือนเรากำลังเล่นโปโลน้ำ”
นั่นคือบางส่วนจากความเห็นของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แน่นอน หลายเรื่องคงต้องมีการปรับปรุงและพัฒนากันต่อไป เพราะไม่ช้าก็เร็วเทคโนโลยีก็ต้องถูกนำมาใช้ในเกมกีฬาอยู่ดี