โจ ไฮม์ นักข่าวคนหนึ่งของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เดินไปที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกาเพื่อหาข้อมูลสำหรับเรื่องเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่มาดูรัฐธรรมนูญ ระหว่างนั้นเขาสังเกตเห็นความผิดปกติในภาพการเดินขบวนของผู้หญิง (Women’s March) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2017 ที่ติดอยู่บริเวณทางขึ้นลิฟต์เพื่อโปรโมตนิทรรศการเกี่ยวกับ บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาข้อที่ 19 (the 19th Amendment)
ภาพนี้เป็นภาพของผู้ชุมนุมจำนวนมากที่กรุงวอชิงตันในวันที่ 21 มกราคม 2017 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ภาพขนาด 49X69 นิ้วนี้ตั้งอยู่ที่ทางเข้านิทรรศการรำลึกถึง 100 ปีของสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงอเมริกัน
ไฮม์พยายามอ่านป้ายที่ผู้ชุมนุมถือ จนสังเกตเห็นว่ามีบางคนที่ถูกเบลอ เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็พบว่ามีหลายป้าย จึงถ่ายรูปเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาพถ่ายไว้ จากนั้นกลับไปหาภาพต้นฉบับที่สำนักงาน บรรณาธิการพิมพ์ภาพให้ เขาจึงนำไปเปรียบเทียบกับภาพที่เห็น แล้วก็เจอว่ามันไม่เหมือนกัน จึงติดต่อหอจดหมายเหตุทันที
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ภาพที่ถ่ายในปี 2017 โดยมาริโอ ทามา ถูกแก้ไข รูปต้นฉบับเป็นรูปที่หลายคนชูป้าย แต่รูปที่หอจดหมายเหตุมีอย่างน้อย 4 จุดที่ถูกทำให้เบลอ เช่น ป้ายที่เขียนว่า “พระเจ้าเกลียดทรัมป์” ก็ถูกลบคำว่า “ทรัมป์” ออก นอกจากนี้ยังแก้ไขป้ายที่ใช้คำที่กล่าวถึงสรีระของผู้หญิง เช่น ประโยคที่ว่า “ถ้าจิ๋มของฉันยิงกระสุนออกมาได้ มันคงถูกควบคุมน้อยกว่านี้” คำว่า “จิ๋ม” ก็หายไป
ตอนแรกหอจดหมายเหตุอ้างว่า ผู้จัดการและเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งเป็นคนตัดสินใจแก้ไขภาพ ระหว่างเตรียมจัดแสดง โฆษกให้เหตุผลว่า “ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ไม่สังกัดฝ่ายใด เราเบลอภาพที่อ้างถึงชื่อประธานาธิบดีออก เพื่อที่จะได้ไม่ให้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองใดๆ” และอธิบายว่า การตัดสินใจซ่อนคำที่บรรยายอวัยวะเพศหญิง เป็นเพราะไม่เหมาะสมที่จะแสดงคำเหล่านี้
แต่ภายหลังหอจดหมายเหตุแห่งชาติก็ออกแถลงการณ์ขอโทษ ในคำแถลงระบุว่า เราทำสิ่งที่ผิดพลาด “ในฐานะที่เป็นหอจดหมายเหตุของสหรัฐอเมริกา เรามีพันธะที่ต้องรักษาของที่เราถือครองโดยไม่ปรับเปลี่ยนใดๆ” ภาพนี้ไม่ได้อยู่ในบัญชีของสิ่งที่หอจดหมายเหตุถือครอง แต่เป็นภาพที่หอจดหมายเหตุได้สิทธิที่จะใช้เป็นภาพโปรโมต อย่างไรก็ตาม หอจดหมายเหตุก็ยอมรับผิดที่แก้ไขภาพ ตอนนี้ได้นำภาพนี้ออกไปแล้ว และจะนำภาพที่ไม่ถูกแก้มาใช้แทน
นอกจากนี้ หอจดหมายเหตุขออภัยและจะทบทวนนโยบายและกระบวนการการจัดแสดงนิทรรศการเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก
ที่มา:
https://www.theguardian.com/us-news/2020/jan/18/national-archives-sign-womens-march-photo
https://www.nytimes.com/2020/01/18/us/national-archives-womens-march-images.html
ภาพ: MARIO TAMA / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / AFP
Tags: สหรัฐอเมริกา, การเซ็นเซอร์, หอจดหมายเหตุ