เส้นตายการเจรจายุติสงครามการค้าในวันที่ 1 มีนาคมใกล้เข้ามาแล้ว ทว่าสหรัฐฯ กับจีนยังไม่มีวี่แววบรรลุข้อตกลง นานาชาติกำลังลุ้นว่า ผลการพูดคุยที่กรุงปักกิ่งในสัปดาห์นี้จะมีข่าวดีหรือไม่

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง ตกลงกันที่กรุงบัวโนสไอเรสเมื่อ 1 ธันวาคม ระงับแผนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กันไว้ก่อน เพื่อหันหน้าเจรจาหาทางรอมชอมข้อพิพาททางการค้าให้ได้ภายในเวลา 3 เดือน

เมื่อเดือนมกราคม คณะผู้เจรจาฝ่ายจีน นำโดยรองนายกรัฐมนตรี หลิวเหอ บินไปยังวอชิงตัน ขึ้นโต๊ะพูดคุยกับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเฟน มนูชิน แต่จุดยืนของทั้งสองฝ่ายยังห่างไกลกันลิบลับ

เหตุที่วอชิงตันกับปักกิ่งคุยกันไม่ลงตัว เพราะฝ่ายแรกเรียกร้องการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง เปรียบได้กับการผ่าตัดใหญ่ แต่ฝ่ายหลังพร้อมสนองแค่การเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิบัติ เปรียบได้กับการทายาแดง

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเบื้องลึกที่ทำให้คุยกันลำบาก แฝงอยู่ในแรงจูงใจทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการยึดยื้อถือครองตำแหน่งมหาอำนาจโลก ฝ่ายหนึ่งมุ่งประชันขันแข่งเพื่อช่วงชิงความเป็นแชมป์

ถ้าถึงเดดไลน์แล้ว สหรัฐฯ กับจีนไม่อาจตกลงกันได้ เราอาจได้เห็นผลลัพธ์สองอย่าง อย่างแรกเป็นฝันร้าย คือ สงครามการค้ายกระดับเข้มข้นขึ้น อีกอย่างเป็นเสียงถอนใจโล่งอก คือ วอชิงตันเลื่อนเส้นตายออกไปอีก

ในสัปดาห์นี้ ผู้เจรจาฝ่ายอเมริกันจะยกคณะไปคุยกับจีนที่ปักกิ่ง ประเดิมในวันจันทร์ด้วยการนำของผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เจฟฟรีย์ เจอร์ริช จากนั้นในวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์จะถึงคิวของผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ร่วมด้วยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ  

การเจรจาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ประเด็นที่เน้นคือเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่พิเคราะห์จุดยืนของแต่ละฝ่ายแล้ว ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะประนีประนอมกันได้ทันตามกำหนดเส้นตาย

ย้อนดูชนวนพิพาท

รัฐบาลทรัมป์เปิดศึกกับจีนด้วยความไม่พอใจสามเรื่องใหญ่ นั่นคือ อเมริกาขาดดุลการค้าจีนอย่างมโหฬาร จีนฉกฉวยทรัพย์สินทางปัญญาด้วยการบังคับให้เอกชนอเมริกันถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่บริษัทร่วมทุนของจีน รวมทั้งมีการขโมยความลับทางการค้า และปักกิ่งอุดหนุนรัฐวิสาหกิจจีน ทำให้สินค้าอเมริกันเสียเปรียบในการแข่งขัน

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ มองในทางยาวว่าแผนยุทธศาสตร์ ‘เมด อิน ไชน่า 2025’ ของสีจิ้นผิง ซึ่งตั้งเป้าจะพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนให้ก้าวหน้าใน 10 สาขา เช่น การบินอวกาศ หุ่นยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ พาหนะพลังงานทดแทน นั้น มุ่งหวังจะเบียดขับสหรัฐฯ ในสาขาที่อเมริกาเองกำลังพยายามจะครองความเป็นผู้นำ

สหรัฐฯ บอกว่า ไม่ได้ติดใจกับยุทธศาสตร์ของจีน แต่ติดใจที่จีนพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการฉกฉวยทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะที่จีนมองว่า สหรัฐฯ จุดชนวนสงครามการค้าด้วยเจตนาที่จะสกัดดาวรุ่ง ไม่อยากให้จีนผงาดทะยานขึ้นเป็นจ้าวยุทธจักรใหม่ในเศรษฐกิจการเมืองโลก

ชั้นเชิงของแต่ละฝ่าย

สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อกดดันให้จีนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและเลิกทำการค้าแบบเอาเปรียบ การขึ้นภาษีนี้ทำโดยเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้ามูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ในอัตรา 2 แบบ

สินค้ากลุ่มแรก มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำพวกเครื่องจักร เซมิคอนดักเตอร์ และผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีต่างๆ เก็บในอัตรา 25% สินค้าอีกกลุ่ม มูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำพวกเคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของใช้อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เก็บในอัตรา 10%

จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในทำนองเดียวกัน ขณะที่ทรัมป์ขู่ว่า ถ้าครบกำหนดเส้นตายยังตกลงกันไม่ได้ สหรัฐฯ จะขึ้นอัตราภาษีของสินค้ากลุ่มหลัง โดยเพิ่มจาก 10% เป็น 25% พร้อมกับเริ่มขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าผู้บริโภคในรายการที่ยังไม่ได้ขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า รองเท้า กลุ่มใหม่นี้มีมูลค่านำเข้า 267,000 ล้านดอลลาร์

ในการเจรจาที่ผ่านมา จีนสนองตอบสหรัฐฯ แค่ประเด็นการขาดดุลการค้า ซึ่งเป็นปัญหาในระดับปฏิบัติ โดยรับปากที่จะซื้อสินค้าอเมริกันให้มากขึ้น เช่น ถั่วเหลือง พลังงาน และเปิดตลาดจีนมากขึ้นโดยการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ และอนุญาตให้กิจการต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนข้างมากได้

เมื่อเดือนธันวาคม ทรัมป์กับสีตกลงหัวข้อการเจรจากันว่า ประเด็นจะครอบคลุมปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งหมายถึงการต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและแก้ไขกฎหมาย เช่น การบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กำแพงการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การเจาะเครือข่ายคอมพิวเตอร์ การขโมยทางไซเบอร์ การบริการ และการเกษตร

ผู้รู้ประเมินว่า ถ้าจีนไม่ตอบสนองสหรัฐฯ ด้วยการปฏิรูปในระดับโครงสร้าง รัฐบาลทรัมป์คงไม่ยอมรับ

ผ่าทางตันไม่ทันเส้นตาย

การเจรจาในสัปดาห์นี้นับว่าน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเดิมพันสูง แต่ยังไม่ส่อสัญญาณแฮปปี้เอนดิ้ง

ผู้คร่ำหวอดในวงการเจรจาระหว่างประเทศคาดเดากันว่า หลังการพูดคุยที่ปักกิ่ง ผู้แทนของทั้งสองฝ่ายคงมีถ้อยแถลงแสดงความคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่แตะประเด็นที่ยังตกลงกันไม่ได้ แล้วเก็บประเด็นเชิงโครงสร้างเอาไว้เจรจาในรอบต่อๆ ไป

หากถึงวันที่ 1 มีนาคม ผลเจรจายังไม่เป็นที่น่าพอใจ ฉากสถานการณ์อาจเป็นไปได้ 2 แบบ แบบแรก สหรัฐฯ ขึ้นภาษีตามคำขู่ แล้วเจรจาต่อไป แบบที่สอง ยืดเส้นตายออกไปอีก ซึ่งทรัมป์เคยทำมาแล้วกับการเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่สำหรับเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือเมื่อปีที่แล้ว

สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน จะลงเอยหรือไม่ อย่างไร นานาชาติกำลังรอลุ้น.

 

 

ที่มาภาพหน้าแรก: Jim WATSON / AFP

อ้างอิง:

Tags: , , , ,