หลังเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองโอซากาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2018 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก มีปรากฎการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ของญี่ปุ่นคือ ข้อความเฮทสปีชที่เตือนให้ชาวญี่ปุ่นระวัง ‘อาชญากรรม’ จากชาวต่างชาติ

หลังแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีการตีตราชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวเกาหลีและชาวจีน ว่าเป็นอาชญากรซึ่งจะหาประโยชน์จากความสับสนวุ่นวายหลังเหตุแผ่นดินไหว เช่น ปล้นธนาคาร และร้านสะดวกซื้อ หรือก่อเหตุอันตรายอื่นๆ

“เมื่อเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคคันไซ มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ชาวจีนและชาวเกาหลีจะก่ออาชญากรรม เป็นไปได้ที่พวกเขาจะไปที่ตู้เอทีเอ็มและร้านสะดวกซื้อ” ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งบอก

อีกคนหนึ่งทวีตว่า “คนเกาหลีที่ใส่ยาพิษลงในบ่อน้ำทุกครั้งที่มีแผ่นดินไหวพวกนั้นเป็นใครนะ”

หรือข้อความแบบนี้ “ชาวต่างชาติไม่คุ้นเคยกับแผ่นดินไหว ดังนั้นพวกเขาจะเริ่มปล้นร้านมินิมาร์ทหรือวิ่งเข้าไปในสนามบิน” “ระวังคนจีนที่อยู่ในญี่ปุ่นที่อาจจะวิ่งราว ทำร้ายและปล้น”

เรื่องนี้ทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องออกมาเตือนไม่ให้ประชาชนปล่อยข่าวที่ไม่มีมูลความจริงทางอินเทอร์เน็ต และขอความร่วมมือจากประชาชนไม่ให้แพร่กระจายเฮทสปีชและข้อมูลผิดๆ

ข่าวลือที่ให้ร้ายชาวเกาหลี จีน และชาวต่างชาติอื่นๆ ที่อยู่ในญี่ปุ่นหลังเหตุภัยพิบัติไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ตอนที่มีแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 และแผ่นดินไหวเมื่อปี 2016 ที่เมืองคุมาโมโต น้ำท่วมใหญ่และดินถล่มในฮิโรชิมาเมื่อปี 2014 ก็มีการใช้คำพูดเช่นนี้บนอินเทอร์เน็ตแบบเดียวกัน

“การแพร่กระจายของข้อมูลผิดๆ หลังภัยพิบัติหรือหลังอุบัติเหตุว่ามีอาชญากรรมที่ก่อเหตุโดยชาวต่างชาติที่มาอาศัยในญี่ปุ่น หรือการบรรยายว่าพวกเขาน่ากลัวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ” โคอิจิ ยาสุดะ (Koichi Yasuda) ผู้สื่อข่าวอิสระที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนของคนที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น (non-Japanese) มาตลอดกล่าว

ยาสุดะอ้างอิงถึงเหตุสังหารหมู่ที่ภูมิภาคคันโต (Kanto Massacre) เมื่อปี 1923 ซึ่งเกิดเหตุหลังแผ่นดินไหวใหญ่ที่คันโต ชาวเกาหลีถูกฆ่าโดยทหารและตำรวจ รวมทั้งศาลเตี้ยจากประชาชนด้วยกันเอง หลังมีข่าวลือที่แพร่สะพัดว่าชาวเกาหลีก่อจราจลและวางแผนก่อวินาศกรรม เช่น การวางยาพิษในบ่อน้ำ

เขากล่าวว่า ข้อมูลที่ไม่มีพื้นความจริง “หว่านเพาะความแบ่งแยกในสังคม” ทำให้คนบางกลุ่มต้องถูกสาธารณชนตีตราว่าเป็นศัตรูและถูกประจาน

อย่างไรก็ตาม ก็มีการประณามผู้ที่โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียใส่ร้ายชาวต่างชาติเหล่านี้ และชักชวนให้ผู้ใช้คนอื่นๆ รายงานว่า พวกเขาทำผิดกฎของแพลตฟอร์มอย่างการใช้ภาษาที่แสดงความเกลียดกลัวคนต่างชาติ (xenophobic language)

ญี่ปุ่นมีกฎหมายต่อต้านเฮทสปีชตั้งแต่มิถุนายน 2016 หลังจากมีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มชาตินิยมตามพื้นที่ต่างๆ ที่ชาวเกาหลีอาศัยอยู่ และตะโกนว่า “ฆ่าคนเกาหลี” กฎหมายต่อต้านเฮทสปีชห้ามไม่ให้พูดหรือกระทำใดๆ ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือขับไล่ชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน และบังคับใช้ยากในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อต้องโยงกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  นักวิเคราะห์และนักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์ว่า กฎหมายนี้ไม่ค่อยมีผลนัก เพราะไม่ได้กำหนดโทษหรือปรับผู้กระทำผิด

 

ที่มา: