เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าโลกจะเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 และสาเหตุสำคัญก็คือ มนุษย์ ช้างอาจจะหายไปจากโลก จำนวนสัตว์ปีกลดลงฮวบฮาบ ภูมิอากาศอุ่นขึ้น น้ำในมหาสมุทรกลายเป็นกรด ปะการังเสียหาย
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2020 คณะทำงานอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (UN Convention on Biological Diversity) ออกร่างข้อเสนอแผนการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้ และกำหนดให้สิ่งมีชีวิตอย่างน้อย 30% ของโลกต้องได้รับการปกป้องภายในปี 2030
แผนนี้เกิดขึ้น หลังจากที่หลายประเทศไม่สามารถดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงเมื่อปี 2010 คณะทำงานตั้งเป้าหมายคล้ายกับการประชุมที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2010 ซึ่งผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามแผนในปี 2020
คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ตอนนี้โลกกำลังเผชิญกับอัตราการสูญพันธุ์ที่ไม่เคยประสบมาก่อน ระบบนิเวศที่ถูกคุกคาม สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เพื่อต่อสู้กับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์บรรยายว่าโลกกำลังเข้าสู่การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 ร่างข้อเสนอนี้จึงกำหนดให้ปี 2030 เป็นเส้นตายของการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศและสัตว์ป่า
คาดว่าในการประชุมสหประชาชาติหรือยูเอ็นซัมมิต ที่เมืองคุนหมิง ประเทศจีน เดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะร่วมลงนาม
ในร่างแผนดำเนินการระบุว่า ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐานของความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และสุขภาพของโลก แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามมากมาย แต่ความหลากหลายทางชีวภาพก็เสื่อมถอยลงทั่วโลก อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะยังแย่ลงไปมากกว่าเดิม
อนุสัญญานี้กำหนดเป้าหมายว่า จะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพที่เปราะบาง มั่นคงมากขึ้นภายในปี 2030 และให้ระบบนิเวศฟื้นฟูภายในปี 2050 เพื่อนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ แต่เป้าหมายเหล่านี้ต้องมีการลงมือทำโดยด่วนทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น
ร่างข้อเสนอนี้ กำหนดเป้าหมาย 20 ข้อที่ต้องบรรลุให้ได้ภายในทศวรรษหน้าคล้ายกับข้อตกลงปารีส 2015 ตั้งแต่การลดการปล่อยคาร์บอน ลดมลพิษจากขยะพลาสติก ไปจนถึงความยั่งยืนทางอาหาร ในร่างข้อเสนอนี้ยังกำหนดให้ ภายในปี 2030 การค้าสิ่งมีชีวิตที่หายากต้องถูกกฎหมายและยั่งยืน ข้อนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแสดงความยินดีกับร่างข้อเสนอนี้ โดยบอกเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหา และยังมีงานอีกมากที่ต้องทำ
ที่มา:
https://edition.cnn.com/2020/01/14/world/un-biodiversity-draft-plan-intl-hnk-scli-scn/index.html
https://www.ecowatch.com/un-biodiversity-sixth-mass-extinction-2644807009.html