เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ณ กรุงเจนีวา ประธานคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาทั้งสิบฉบับแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกรับรองหลักสิทธิมนุษยชนในมาตรการของรัฐบาลที่ใช้รับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19

“ในการต่อสู้กับโควิด-19 จะต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมไปยังประชาชนทุกกลุ่ม” ฮิลารี เบเดมาห์ ประธานคณะกรรมการประจำสนธิสัญญาทั้งสิบฉบับและประธานคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบแห่งสหประชาชาติ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 10 คนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ติดตามการปฏิบัติตามสนธิสัญญา/อนุสัญญาสิทธิมนุษยชนทั้ง​ 10 ฉบับ เรียกร้องให้รัฐใช้มาตรการปกป้องสิทธิในชีวิตและสุขภาพและเพื่อให้สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพแก่ทุกคนโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้ง ผู้สูงอายุ คนพิการ คนชนกลุ่มน้อย ชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัย ผู้อพยพ และผู้คนที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ คนไร้บ้าน คนยากจน หรือแม้กระทั่งผู้หญิง เพราะในสังคมหลายแห่งพวกเธอต้องเป็นเสาหลักในการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่เจ็บป่วย

“ไม่มีใครควรถูกปฏิเสธจากการได้รับการดูแลทางสุขภาพ เพียงเพราะพวกเขาเป็นผู้ด้อยโอกาส รัฐจำเป็นต้องให้การสนับสนุนตามเป้าหมาย ทั้งในเรื่องการเงิน สังคม และภาษี แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีประกันสุขภาพหรือประกันสังคม”

การสนับสนุนควรขยายไปถึงสิทธิอื่นๆ ในหลายประเทศที่มีมาตรการจำกัดการเดินทาง รัฐบาลควรให้มีการเรียนทางไกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและวัยรุ่น ผู้พิการควรได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม รัฐควรสร้างความมั่นใจในการจัดหาสินค้าและบริการที่จำเป็นให้กับกลุ่มผู้มีความเปราะบางเพื่อไม่ให้มีใครถูกทอดทิ้ง

นอกจากนี้ ฮิลารี เบเดมาห์ ยังย้ำเตือนว่าความกลัวและความไม่แน่นอนจากการระบาดของไวรัสในครั้งนี้ อาจนำไปสู่การกล่าวร้ายและเลือกปฏิบัติที่อาจเกิดขึ้น “รัฐจะต้องดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการป้องกันการเหยียดเชื้อชาติ การเกลียดกลัวชาวต่างชาติ หรือการเติบโตของลัทธิคลั่งชาติ” เบเดมาห์ กล่าว

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีมาตรการการควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มข้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดด้านเสรีภาพในการเดินทาง การชุมนุมอย่างสันติและความเป็นส่วนตัว

“มาตรการการควบคุมเหล่านี้จะต้องดำเนินการในกรอบของกฎหมายอย่างถูกต้อง ในประเทศซึ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (เพื่อรับมือกับโควิด-19) การประกาศนั้นๆ จะต้องใช้เฉพาะกรณียกเว้นและชั่วคราว เฉพาะเท่าที่จำเป็น และมีเพื่อรับมือกับภัยที่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของชาติ สถานการณ์ฉุกเฉินหรือมาตรการด้านความมั่นคงอื่นใดนั้น จะต้องดำเนินการภายใต้หลักการสิทธิมนุษยชน และไม่ว่าจะอยู่ในเงื่อนไขใด จะต้องไม่เป็นข้ออ้างให้นำมาใช้จัดการผู้เห็นต่าง”

ที่มา:

https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25742 

Tags: , , ,