10 มิถุนายนที่ผ่านมา คือวันครบรอบ 100 ปี ของการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการใช้สิทธิใช้เสียงทางการ เมืองของผู้หญิงในประเทศอังกฤษ เพื่อการเฉลิมฉลอง ผู้หญิงในสหราชอาณาจักรกว่าพันคนจึงออกมาเดินพาเหรดไปตามท้องถนน ถือป้ายรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิสตรี พร้อมให้ทั่วโลกได้มีส่วนร่วมภายใต้ #PROCESSION2018

ผู้หญิงและนักต่อสู้เริ่มแปรขบวนจาก 4 หัวเมืองใหญ่ ได้แก่ ลอนดอน (London) เอเดนเบิร์ก  (Edinburgh) คาร์ดิฟ (Cardiff) และเบลฟาสต์ (Belfast) ใช้ผ้าพันคอสีเขียว สีขาวและสีม่วง เป็นสัญลักษณ์ตามที่ผู้หญิงในยุคนั้นใช้เดินขบวน เพื่อจำลองภาพเหตุกาณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งเมื่อ 100 ปีที่แล้วขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ผู้หญิงมีสถานะทางการเมืองด้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด พื้นที่ของผู้หญิงคือในครัวเรือน ขณะที่เรื่องนอกบ้านและการเมืองคือเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งหรือกระทั่งมีส่วนร่วมใดๆ ก็ตามที่จะกำหนดทิศทางทางการเมืองในประเทศของตน

การต่อสู้ของเพื่อนหญิง พลังหญิงจึงเริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1903 ภายใต้การนำของเอมมาลีน แพรงค์เคิร์ต (Emmaline Pankhurst) และลูกสาวของเธอ ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงชนชั้นกลาง และกลุ่มแม่บ้าน ร่วมกันปลุกระดมการเดินขบวนปราศรัยและประท้วงที่สภานิติบัญญัติ ภายใต้แคมเปญ “Vote for Women” ทำลายทรัพย์สินของรัฐและก่อจราจล จงใจสื่อสารทั้งเชิงสัญลักษณ์และเสียดสี โดยปราศจากความเกรงกลัว นำมาสู่การร่วมมือกันของผู้หญิงทุกชนชั้น จนประสบความสำเร็จในที่สุด ผู้หญิงในอังกฤษสามารถมีสิทธิเลือกตั้งได้เท่าเทียมเพศชาย เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นคลื่นลูกแรกในการเรียกร้องสิทธิสตรี (first-wave feminism)

“มันเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะจดจำ กับสิ่งที่ผู้หญิงสมัยนั้นได้ต่อสู้และมอบสิทธิในการแสดงความคิดเห็นให้แก่พวกเรา แลกมันมาด้วยชีวิตของพวกเธอ” ลอร์วเลน บราวน์  (Lauren Brown) วัย 24 ปี กล่าวถึงความสำคัญของการเดินขบวนในครั้งนี้

จากคลื่นเฟมินิสม์ลูกแรก ผ่านพ้นมาถึงคลื่นลูกที่สอง ลูกที่สาม ลูกที่สี่ หรือใครหลายคนอาจพูดถึงยุคหลังเฟมินิสม์ (post-feminism) กันเป็นที่เรียบร้อย สิทธิสตรีก้าวหน้าขึ้นมากว่าเมื่อ 100 ปีก่อน แต่หากพูดถึงความเท่าเทียมโดยสมบูรณ์แบบ หนทางที่ต้องเดินคงยังอีกไกลนัก และพลังของผู้หญิงที่แสดงออกมาในการเดินพาเหรดครั้งใหญ่นี้ และ #PROCESSION2018 ก็นับว่าเราพอจะเห็นทิศทางที่น่าชื่นใจทีเดียว

ที่มา

https://www.bbc.com/news/uk-44427627

https://gmlive.com/preview-8227.html

เครดิตภาพ

RUSSELL CHEYNE via Reuters Connect