งาน UBON AGENDA 2020 วาระ วาริน ที่กำลังจัดขึ้นที่โรงเรียนตั้งใจอนุกูลศึกษา ระหว่างวันที่ 21 – 30 พฤศจิกายนนี้ เป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ (Space of Artisic Practices) ที่จัดขึ้นครั้งแรกในจังหวัดอุบลราชธานี 

ก่อนหน้านี้สองปี ในพื้นที่ภาคอีสานก็เคยจัดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น ภายใต้ชื่อ Khon Kaen Manifesto เหลี่ยมมาบ มาบ  สร้างแรงสั่นสะเทือนวงการศิลปะ ทั้งรูปแบบการแสดงและผลกระทบต่อพื้นที่การรับรู้และเสพชมศิลปะมาแล้ว 

แต่ที่แตกต่างออกไปคือ ตัวพื้นที่จัดงาน เปลี่ยนจากขอนแก่น ซึ่งถ้าจะพูดแบบหลวมๆ แล้วก็คือเมืองศูนย์กลางอีสานยุคใหม่ สถาปนาขึ้นในปี 2504 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  

ส่วนอุบลราชธานีนั้นคือศูนย์กลางเก่า ซึ่งการปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงส่งข้าหลวงต่างพระองค์ชั้นพระบรมวงศานุวงศ์มาปกครอง และก่อนหน้ารัชสมัยของพระองค์ก็ได้มีการตั้งวัดธรรมยุติขึ้นแห่งแรกนอกเขตปริมณฑลขึ้นที่นี่ 

ต่อมาในสมัยของพระองค์ ก็ได้ใช้เป็นศูนย์กลางขยายการศึกษาในรูปแบบที่ราชสำนักกำหนด เพื่ออุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) ผ่านพระจากอุบลราชธานีซึ่งได้รับการศึกษาอย่างดีจากราชสำนักในกรุงเทพ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ชนชั้นนำในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งกลุ่มเจ้าเมืองและพระสงฆ์ ได้ถูก ‘ควบรวม’ เข้ากับราชสำนักส่วนกลางอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ และถึงขั้นเด็ดขาดเมื่อเกิดขบวนการผู้มีบุญที่ประชาชนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มอำนาจดั้งเดิมในพื้นที่ ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจการบริหารจัดการจากส่วนกลางราชสำนักกรุงเทพ ก่อนถูกปราบปรามฆ่าล้างกันอย่างหนัก และขยายผลการปราบปรามไปทั่วแผ่นดินอีสานเป็นเวลานานแรมปี ทางราชสำนักก็ได้เรียกขบวนการผู้มีบุญนี้ว่า ขบถผีบุญ/ผีบาปผีบุญ/ผีบ้าผีบุญ  และวาทกรรมนี้ของทางราชสำนักก็ติดปากผู้คนมาจนทุกวันนี้

กล่าวโดยสรุป จังหวัดอุบลราชธานี คือศูนย์กลางศิลปะวิทยาการมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ผูกโยงอยู่กับราชสำนักกรุงเทพฯ อย่างมั่นคง ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า เมืองดอกคูนเสียงแคน อันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดขอนแก่นนั้น ก็เกิดจากศิลปินอุบลฯ ที่ย้ายไปอยู่ขอนแก่นในสมัยพัฒนาปี 2504 เพื่อแสดงออกอากาศสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 สมัยนั้น ซึ่งได้บรรยายถึงบ้านตัวเอง (อุบลราชธานี) แต่ไปพูดที่ขอนแก่น จึงเกิดเป็นสัญลักษณ์ของที่นั่นไป

ทีนี้ลองย้อนมองจังหวะก้าวหรือการก่อการของขบวนการพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ (Space of Artistic Practices) เราจะเห็นถึงการย้อนเกล็ดศิลปะแนวอนุรักษ์นิยม-อำนาจนิยมในอีสานอย่างเจ็บแสบถึงราก และน่าตื่นเต้นว่า ในครั้งหน้า พื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ (Space of Artistic Practices) จะจัดรุกไปที่ไหนต่อ

กล่าวเฉพาะ UBON AGENDA 2020 วาระ วาริน ที่ใช้โรงเรียนเอกชนที่เลิกกิจการไปนานจนร้างรกกลางเมืองเป็นสถานที่ (Space) จัดงาน และใช้กระสอบข้าว (กระสอบป่าน) ประดับเป็นฉากหลัก แค่สภาพตึกเรียนร้างเก่าคร่ำที่มีร่องรอยอุปกรณ์การเรียนการสอนระเกะระกะกระจัดกระจาย กลิ่นกระสอบข้าวที่ปะทะสายตาและจมูก ก็สั่นคลอนความรู้สึกนึกคิดได้มากแล้ว 

ที่สำคัญตัวสถานที่มันทำให้เกิดการสำรวจการรับรู้ที่ผ่านมาของเราว่า สถานที่จัดงานศิลปะต้องเป็นรูปแบบหอศิลป์เท่านั้น ซึ่งความรับรู้นี้เองมันเป็นสิ่งที่ ‘เราถูกกระทำ’ ให้รับรู้และเข้าใจแบบนั้น  เช่นเดียวกับตัวงานศิลปะทัศนศิลป์ที่แสดง ต้องเป็นภาพในกรอบแขวนหรืออย่างมากก็เป็นการจัดวาง 

เมื่อบวกรวมเรื่องของสถานที่และตัวงานศิลปะเข้าด้วยกันแล้ว มันยืนยันสิ่งหนึ่งคือ การทำลายความหลากหลายของการแสดงออกของศิลปะในพื้นที่อันจำกัดหรือถูกตีกรอบว่าต้องเป็นหอศิลป์ ศิลปะจึงดูไกลตัวผู้คนมาก และเข้าถึงยากมากๆ พลังต่อสังคมจึงแทบไม่มี สุดท้ายก็เป็นได้เพียงรสนิยมของคนบางกลุ่มบางชนชั้นซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ในขณะเดียวกันก็ผลักไสและทอดทิ้งคนส่วนใหญ่ออกจากศิลปะ 

องค์ประกอบของงาน UBON AGENDA 2020 วาระ วาริน จึงกลายเป็นพื้นที่ทางการแสดงออกของศิลปะที่ขบถต่อพื้นที่แสดงศิลปะ ทั้งในรูปแบบที่รับรู้กันในเชิงรูปธรรมและพื้นที่ภายในจินตภาพของเรา หมายความว่าพื้นที่ปฏิบัติการของศิลปะเหล่านี้ นอกจากได้ขยายพื้นที่หรือด้านหนึ่งเป็นการทำลายรูปแบบของสถานที่แสดงงานศิลปะแบบเดิมแล้ว มันยังขยายพื้นที่ในใจของเราด้วย  เช่นเดียวกับตัวงานศิลปะที่จัดแสดง มันปะทะกับเราตลอดเวลาระหว่างที่อยู่ภายในบริเวณ 

ยกตัวอย่างเช่น ผมอดรู้สึกและคิดไม่ได้ถึงหลักการศึกษาอันเป็น 1 ใน 6 หลักการหรือนโยบายของคณะราษฎร (2475) และการครอบงำของโครงสร้างการศึกษาของรัฐราชาชาตินิยมเมื่อได้เห็นสถานที่จัดงาน  กลิ่นของกระสอบข้าวที่ฉุนจนแสบจมูก ก็ทำให้รำลึกนึกถึงเกษตรกรชาวนาชาวไร่อันเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่สุด ซึ่งครั้งหนึ่งที่จังหวัดอุบลราชธานีนี้เองที่พวกเขาได้ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อสิทธิในการจัดการทรัพยากรและจารีตของตัวเองในนามขบวนการผู้มีบุญ ก่อนที่สุดท้ายจะถูกปราบปรามฆ่าล้างอย่างอำมหิตผิดมนุษย์มนา โดยมีทุ่งศรีเมืองเป็นทุ่งสังหาร ซึ่งก็อยู่ไม่ไกลจากสถานที่จัดงาน  นอกจากนี้ยังชวนให้รู้สึกสะท้อนใจถึงราคาข้าวตอนนี้ที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตชาวน

ระหว่างที่เดินเสพงันงานในจุดต่างๆ  รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทั้งภายนอกและภายใน สอดคล้องกับระบบชีวิตของเราที่พบเห็นเป็นอยู่ในทุกๆ วัน นำพาเราเดินทางไปสู่จุดร่วมในอดีตและทอดทางจินตนาการเราไปถึงอนาคต โดยภาพเหล่านั้นเกิดจากการประมวลผลในความคิดจิตใจของเราอย่างเสรีมากๆ จากการกระทบที่รุนแรงของศิลปะที่เสพงันเข้าไป

ข้อยืนยันตรงนี้ก็คือ ความรู้สึกที่คั่งค้างอยากกลับไปอีกทุกๆ วัน  มันทำให้หวนหาคิดถึงสถานที่ ตัวงาน ที่กระตุ้นกระทบความรู้สึกเราด้วยรูป เสียง กลิ่น รส ในนั้น ไม่เหมือนกับที่เคยเดินเข้าไปในหอศิลป์ต่างๆ ที่ถ้าเจองานดีก็อิ่มอยู่แค่ตรงนั้น  พอกลับออกมาก็แทบจะตัดขาดความรู้สึกจากกันไปเลย นี่ยังไม่ต้องกล่าวถึงงานศิลปะส่วนใหญ่ในประเทศนี้ที่ถูกสร้างขึ้นมาในกรอบของสังคมอนุรักษ์นิยม/ราชาชาตินิยม มันจึงแทบไม่มีจุดเชื่อมความรู้สึกให้หวนหาเลย

ลองนึกดูว่าเมื่อมีพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ (Space of Artisic Practices) แบบนี้มากขึ้นๆ ขยายออกไปทุกๆ ปีในพื้นที่นอกศูนย์กลางอำนาจกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งได้ครอบชฎาแห่งมายาคติในเรื่องสถานที่แสดงงานและตัวงานศิลปะไปทั่วประเทศให้สูญเสียพื้นที่มากขึ้นๆ อะไรจะเกิดขึ้น

แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว สถานที่แสดงงานจะไม่ยั่งยืนเหมือนหอศิลป์ทางการราคาหลายสิบหลายร้อยล้าน แต่งานนี้มันได้ทุบทำลายกรอบกำแพงพื้นที่การแสดงงานแบบนั้นออกไปจากความรู้สึกนึกคิดของคนที่เข้ามาชมงาน UBON AGENDA 2020 วาระ วาริน นี้ไปเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปทุกๆ ที่คือพื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ

และนัยที่แฝงเป็นจิตวิญญาณอยู่ในนั้น ก็คือพื้นที่แนวราบที่เท่าเทียม การแสดงออกที่เท่าเทียม การเสพงันที่เท่าเทียม และเข้าถึงประชาชนคนส่วนใหญ่

ไม่ต้องห่วงเรื่องที่คนในวงการศิลปะจะยิ้มหยันและเสียดสีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่อุบลครั้งนี้ ไม่ใช่ของใหม่ วงการศิลปะโลกเขามีมานานแล้ว  เพราะใจความสำคัญคือมันได้เกิดขึ้นที่นี่แล้ว 

เพื่อจะตอกกลับคำเหยียดหยันอันหาสาระไม่ได้นั้น ก็คือคำถามที่ว่า ทั้งที่ประเทศนี้มีศิลปินและกระทรวง ทบวง กรม สำนักนั่นนี่ที่ทำงานเรื่องศิลปะมากมาย แล้วที่ผ่านมาทำไมมันไม่เกิด? อะไรที่ขวางทางทำให้ไม่เกิดพื้นที่ศิลปะกับประชาชนแบบนี้? 

ว่าไปก็เหมือนประชาธิปไตยนั่นแหละ  มันเกิดมีมานานแล้วในโลกนี้ และอารยประเทศก็พิสูจน์แล้วถึงการพัฒนาประเทศและประชาชนจากระบอบนี้  แต่แล้วทำไมเมืองไทยมันไม่เกิดสักที เกิดแล้วก็ทำลายซ้ำซากอยู่อย่างนั้น

หมายเหตุ : 

ขอบคุณ ดร.ถนอม ชาภักดี และทีมงาน ศิลปินที่มาแสดงงาน และคนที่มาร่วมงานในแต่ละวันที่ทำให้เข้าใจคำว่า ‘พื้นที่ปฏิบัติการทางศิลปะ’ (Space of Artisic Practices) 

Tags: , , , , ,