กระโปรงยาวสีขาวสยายกว้าง พลิ้วตามแรงเหวี่ยง มือขวาผายขึ้นบน มือซ้ายผายลงล่าง ศีรษะเอนไปข้างหนึ่ง ดูเหมือนตุ๊กตาเริงระบำ ฉันคิด เพียงแต่ฐานของตุ๊กตานี้ไม่ได้หมุนด้วยการไขลาน แต่จากเท้าข้างหนึ่งที่หมุนเป็นวงรอบเท้าอีกข้าง ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์ Galata Mevlevihanesi กลางกรุงอิสตันบูล และนี่คือพิธีเซมา (sema) ของเหล่าเดอร์วิช (dervish)
สำหรับนักท่องเที่ยว พิธีกรรมร่ายรำของนักบวชคณะซูฟีนิกายเมฟเลวี (mevlevi) หรือ ‘เดอร์วิช’ ถูกนำเสนอเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการมาเยือนตุรกี เราจะเห็นภาพชายชุดขาวกระโปรงพลิ้วปรากฎอยู่ตามไกด์บุ๊กทุกเล่ม และโบรชัวร์การท่องเที่ยวแทบทุกแผ่น
ขณะที่นักท่องเที่ยวมองว่านี่คือการแสดง นักบวชเหล่านี้มองว่านี่คือพิธีกรรม พวกเขาใช้ดนตรีและการเคลื่อนไหวร่างกายตามดนตรีเพื่อละอัตตา โดยเชื่อว่าการหมุนร่างกายรอบแล้วรอบเล่าไปพร้อมกับดนตรีเช่นนี้จะทำให้ตนเข้าสู่สภาวะปิติทางจิตวิญญาณ (spiritual ecstasy) และเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า
เสียงกลองคูดุม (kudüm) ดังขึ้น ตามมาด้วยเสียงเศร้าๆ ของขลุ่ยที่ทำจากต้นอ้อหรือเนย์ (ney) ก่อนที่เครื่องดนตรีอย่างอุด (oud) และคานุน (qanun) จะเริ่มบรรเลง เหล่าเดอร์วิชเดินเรียงแถวเข้ามา แขนทั้งสองไขว้ที่หน้าอก หมวกสูงทรงกระบอกสีน้ำตาลที่สวมอยู่คือสัญลักษณ์ของศิลาหลุมฝังศพ พวกเขาห่มกายด้วยผ้าสีดำ ซึ่งสื่อถึงความดำมืดทางโลก ก่อนจะสละเสื้อคลุมชั้นนอกออก แลเห็นชุดข้างในสีขาวที่สื่อถึงความบริสุทธิ์ของอัลเลาะห์ พวกเขาเริ่มหมุนร่างกาย เท้าข้างหนึ่งหมุนรอบเท้าอีกข้าง เหมือนการเคลื่อนที่รอบโลกของดวงจันทร์ แขนวาดเป็นวงเหนือศีรษะ ก่อนจะค่อยๆ วาดลงด้านข้าง มือขวาหงายขึ้นฟ้า มือซ้ายผายลงดิน ลักษณะของฝ่ามือทั้งสองนี้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการที่อัลเลาะห์ประทานพรให้มวลมนุษย์ ดนตรีเริ่มต้นอย่างอ้อยอิ่ง ก่อนจะเร่งจังหวะขึ้นในตอนท้าย เร่งให้ร่างหมุนเร็วขึ้น พวกเขาหลับตา เดอร์วิชเหล่านี้กำลังอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ‘trance’ หรือสภาวะเข้าฌาน
ในเรื่องดนตรีกับศาสนา Terry E. Miller และ Andrew Shahriari ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ของอิสลามสายจารีตมองว่าการแสดงออกที่มีส่วนผสมของระดับเสียง (pitch) และจังหวะ (rhythm) หรือที่โลกตะวันตกเรียกว่า ‘ดนตรี’ นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือสิ่งที่ไม่ใช่ดนตรี (non-musiqa) และสิ่งที่เป็นดนตรี (musiqa) โดยเสียงเรียกละหมาด ซึ่งแม้จะเสียงสูงต่ำ มีเมโลดี้ บางทีฟังคล้ายเสียงร้องเพลงกลับไม่จัดว่าเป็นดนตรี จึงเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่ดนตรีซูฟีที่กำลังบรรเลงอยู่นี้ เป็นสิ่งต้องห้าม (นี่แสดงให้เห็นว่า นิยามของคำว่า ‘ดนตรี’ นั้นไม่ใช่สิ่งสากล และแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม)
แต่แม้อิสลามสายจารีตจะเชื่อว่าดนตรีกระตุ้นความรู้สึกในทางโลกและชี้นำให้วิญญาณห่างออกจากพระเจ้า นักบวชซูฟีกลับเชื่อในทางตรงกันข้าม พวกเขามองว่าดนตรีสามารถนำจิตวิญญาณให้สูงส่งขึ้น และเป็นสิ่งจำเป็นในพิธีกรรมทางศาสนา ดังที่จัลลา อัล-ดิน มูฮัมหมัด รูมี (Jalal al-Din Muhammad Rumi) ผู้ก่อตั้งนิกายเมฟเลวีเคยว่าไว้ “ผู้ใดรู้ซึ่งพลังแห่งการร่ายรำ ผู้นั้นจักอยู่ในพระเจ้า”
เนย์หรือขลุ่ยที่ทำมาจากต้นอ้อเป็นเครื่องดนตรีหลักในดนตรีของซูฟี (โดยเฉพาะในตุรกีและอิหร่าน) นักบวชซูฟีมองว่าเสียงคร่ำครวญโหยหวนของเนย์มีพลังนำในการนำพาเราไปอยู่ในมิติแห่งจิตวิญญาณ บทกวีชื่อดังบทหนึ่งของรูมียังเริ่มเรื่องด้วยการเล่าถึงเนย์ที่ครวญไห้ถึงการถูกพรากจากต้นอ้อ เสมือนการที่มนุษย์ถูกตัดขาดจากพระเจ้า
บทเพลงคลาสสิกของอิหร่านและอัฟกานิสถานจำนวนมากนำบทกวีของรูมีหลายบทมาใช้ในเนื้อร้อง ในเรื่องมรดกตกทอดทางดนตรีนี้ นิกายเมฟเลวียังได้ให้กำเนิดกวีและนักดนตรีที่มีชื่อเสียงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน อาทิ Ismail Rusuhi Dede, Esrar Dede, Halet Efendi และ Sheikh Ghalib ส่วนในศตวรรษที่ 21 นักดนตรีแนวซูฟีร่วมสมัยซึ่งมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติคือนักดนตรีชาวตุรกีนาม Mercan Dede ผู้โด่งดังจากการนำเสียงของเนย์มาผสมกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์
Dede เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งว่า “ในคอนเสิร์ตครั้งแรกของผม ผมผสมผสานเสียงอันไพเราะของเนย์เข้ากับดนตรีเทคโนอันเดอร์กราวด์ มันทำให้บรรยากาศบนแดนซ์ฟลอร์เปลี่ยน ขณะนั้นผมจึงเข้าใจว่า ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์และดนตรีซูฟีเป็นสองสิ่งที่ต่างกัน ทว่ากำลังเล่าเรื่องเดียวกัน”
“เมื่อมองลงไปยังแดนซ์ฟลอร์ ผมเห็นคนผิวดำ ผิวขาว ยิว มุสลิม คนรักเพศเดียวกัน และคนที่รักคนต่างเพศ สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญเลย ในพื้นที่เดียวกันนี้ แก่นแท้แล้วเราทุกคนเหมือนกัน แนวคิดนี้คือแก่นของซูฟี”
หลังการปฏิวัติและทำประเทศตุรกีให้เป็นสาธารณรัฐและแยกศาสนาออกจากการปกครองของรัฐโดย Mustafa Kemal Atatürk รัฐบาลก็ได้แบนคณะซูฟี แม้ว่าปัจจุบัน ตุรกีจะอนุญาตให้นักบวชซูฟีประกอบพิธีเซมาได้ ซึ่งช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตุรกีได้ในอีกทางหนึ่ง แต่การปฏิบัติตามความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมหลายอย่างของคณะซูฟีก็ยังต้องแอบทำอย่างลับๆ
สำหรับใครที่จะแวะไปเยือนตุรกี มีหลายสถานที่สามารถชมพิธีนี้ได้ ในอิสตันบูลมีทั้งที่พิพิธภัณฑ์ Galata Mevlevihanesi (ทุกเย็นวันอาทิตย์) หรือที่ Hodjapasha Culture Centre (การแสดงมีหลายรอบต่อสัปดาห์ เช็คได้ที่เว็บไซต์ www.hodjapasha.com) ส่วนหากใครได้แวะเวียนไปเมืองคอนยา (Konya) ซึ่งเป็นที่พำนักสุดท้ายของรูมี สามารถไปชมพิธีนี้ได้ที่ Mevlana Culture Centre (ทุกคืนวันเสาร์) ที่คอนยายังมีพิพิธภัณฑ์ Mevlana Museum ซึ่งเป็นที่ฝังศพของรูมีและมีจัดแสดงเครื่องดนตรีและวัตถุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิกายเมฟเลวีอีกด้วย
หลังจบพิธีเซมาในคืนนั้น เราไปต่อกันที่ผับ Esklici Pera บนถนนเส้นเดียวกัน ท่ามกลางแสงไฟนีออนสีเขียวและเพลงเตอร์กิชป็อปที่กระหึ่มจากลำโพง แดนซ์ฟลอร์ก็ลุกเป็นไฟ “การเต้นทำให้ผู้เต้นออกจากโลกสามัญชั่วคราว ทำให้คนตกอยู่ในโลกที่ไวต่อการรับรู้ ซึ่งเป็นโลกที่ความเข้าใจเกี่ยวกับตน ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป” ฉันนึกถึงประโยคของ Ben Malbon ที่กล่าวถึงดนตรีและการเต้น คืนนั้น ฉันเห็นสาวน้อยนางหนึ่งยกมือขึ้นสูง หลับตา เอียงศีรษะไปด้านหนึ่ง ขณะที่ร่างก็เคลื่อนไหวไปพร้อมเสียงบีต เธอและเราหลายคนดูเหมือนกำลังตกอยู่ใน trance เช่นกัน บางที ใต้แสงนีออนนี้ หลายคนอาจได้พบพระเจ้าของเขาแล้ว
อ้างอิง:
- “Turkey: sounds of anatolia” โดย Martin Stokes และ Francesco Martinelli ในหนังสือ The Rough Guide to World Music: Africa & Middle East
- บท The Middle East: Islam and the Arab World, Iran, Egypt, Sufism, Judaism ในหนังสือ World Music: A Global Journey โดย Terry E. Miller และ Andrew Shahriari
- Clubbing: Dancing, Ecstasy and Vitality โดย Ben Malbon (อ้างถึงใน Why Music Matters ของ David Hesmondhalgh)
- บทความ “A To Z of World Music” โดย Simon Broughton