เมื่อร้อยกว่าปีก่อน กรีนวูดเคยเป็นย่านอาศัยของคนผิวดำฐานะดีของเมืองใหญ่อย่างทัลซา กระทั่งในคืนหนึ่งมีกลุ่มคนผิวขาวก่อม็อบบุกเข้าไปใน ‘ย่านวอลล์สตรีตของคนผิวดำ’ จุดไฟเผาด้วยความโกรธแค้น และสังหารผู้คนไปถึง 300 คน

บัค คอลเบิร์ต แฟรงคลิน (Buck Colbert Franklin) ยืนเพ่งมองจากหน้าต่างห้องทำงานในทัลซา รัฐโอคลาโฮมา อย่างสลดและมึนงง ระหว่างที่ย่านที่พักของเขากำลังจมอยู่ในกองเพลิง เปลวไฟสีเหลืองแดงลุกโชน ควันสีเทาลอยเป็นกลุ่มก้อนหนาขึ้นท้องฟ้า

ในค่ำคืนล่วงเข้าวันที่ 1 มิถุนายน 1921 ม็อบคนผิวขาวท่าทีโกรธแค้นลงมือจุดไฟเผาบ้านเรือนในย่านกรีนวูด ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของคนผิวดำฐานะดี ให้มอดไหม้กลายเป็นธุลีดินในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง แฟรงคลินเล่าเหตุการณ์ที่เขาเห็นในเวลาต่อมาลงในบันทึก ต้นฉบับตัวจริงได้รับการเก็บรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หมวดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแอฟริกัน-อเมริกัน ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

ตอนเช้าของวันที่ 31 พฤษภาคม 1921 แฟรงคลิน-ทนายความยังเดินอยู่ภายในสำนักกฎหมาย ขณะที่ผู้คนในกรีนวูดเพิ่งตื่นจากหลับใหล ในชุมชนมีประชากรผิวดำอาศัยอยู่ราว 11,000 คน มีโรงเรียนสองโรง โรงพยาบาลหนึ่งโรง โรงละครหนึ่งโรง และห้องสมุดอีกหนึ่งแห่ง นอกจากนั้นยังมีโบสถ์ 13 แห่ง และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอีกสองฉบับ ต่อเมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องในตอนเช้าของอีกวัน กรีนวูดหลงเหลืออยู่เพียงซากปรักและธุลีจากเพลิงไหม้ มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 300 คน กว่า 10,000 คนไร้ที่ซุกหัวนอน

มันเป็นการบุกโจมตีคนผิวดำที่นองเลือดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ถึงกระนั้นเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในทัลซากลับไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันตราบจนถึงทุกวันนี้ ในหนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏข้อมูลวันที่เกิดเหตุ อีกทั้งอาจเป็นไปได้ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับจลาจลที่เกิดจากการเหยียดสีผิว น้อยกว่าการจงใจสังหารผู้คนในย่านคนผิวดำ

เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องในตอนเช้าของอีกวัน กรีนวูดหลงเหลืออยู่เพียงซากปรักและธุลีจากเพลิงไหม้

ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 พลเมืองแอฟริกัน-อเมริกันพากันเข้ามาตั้งรกรากในโอคลาโฮมา ภายหลังมีการค้นพบแหล่งน้ำมัน เมืองทัลซาเริ่มกลายเป็นเมืองเฟื่องฟู และ ‘ลิตเติล แอฟริกา’ ก็เป็นชื่อที่ชาวเมืองผิวขาวเรียกขานย่านอาศัยของคนผิวดำ

ปี 1906 โอ. ดับเบิลยู. เกอร์ลีย์ (O. W. Gurley) นักธุรกิจผิวดำผู้มีฐานะดี ตัดสินใจลงหลักปักฐานในเมืองทัลซา เขาซื้อที่ดิน 16 เฮกตาร์ (1.6 แสนตารางเมตร) เพื่อสร้างอพาร์ตเมนต์และบ้าน ธุรกิจและบ้านเรือนเริ่มผุดขึ้นบนสองฟากถนนฝุ่นดิน ที่มีชื่อเรียกตามชื่อเมืองในรัฐมิสซิสซิปปีว่า ‘กรีนวูด อเวนิว’ และต่อมาได้กลายเป็นชื่อย่าน

นักธุรกิจผิวดำในทูลซา อย่าง เจ. บี. สแตรดฟอร์ด (J. B. Stradford) เสนอความเห็นว่า ชุมชนคนผิวดำควรต้องเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และอุดหนุนกิจการของกันและกัน ไม่นานสแตรดฟอร์ดก็เสนอขายที่ดินของตนให้กับคนผิวดำ พื้นที่บริเวณนั้นค่อยๆ เจริญขึ้น มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี กระทั่งย่านกรีนวูดได้ชื่อว่า ‘วอลล์สตรีตของคนผิวดำ’ และเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

พลเมืองแอฟริกัน-อเมริกันพากันเข้ามาตั้งรกรากในโอคลาโฮมา ภายหลังมีการค้นพบแหล่งน้ำมัน เมืองทัลซาเริ่มกลายเป็นเมืองเฟื่องฟู

แต่มันก็ไม่ใช่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขเสียทีเดียว ในยุค ‘จิม โครว์’ (ตัวละครของโธมัส ดี. ไรซ์ เป็นที่รู้จักในกลุ่มทาสผิวดำ ที่ต่อมากลายเป็นชื่อกฎหมายเหยียดสีผิวในช่วงปลายศตวรรษที่ 19) หรือช่วงเวลาที่คนผิวดำถูกมองว่าเป็นคนเกียจคร้าน โง่ ไร้การศึกษา และเป็นอาชญากร นอกจากนั้นยังมีการใช้กฎหมายแบ่งแยกเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ในปี 1915 กลุ่มคลู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan อักษรย่อ KKK) ก่อตั้งขึ้นใหม่ในจอร์เจีย ความรุ่งเรืองของกรีนวูดปลุกกระแสความไม่ไว้วางใจและการไม่ยอมรับในกลุ่มชาวเมืองผิวขาว ทุกน้ำเสียงหรือความเคลื่อนไหวแม้เพียงน้อยก็สามารถทวีความเกลียดชังต่อสีผิวชาติพันธุ์ได้ทุกเมื่อ

และน้ำเสียงที่ปลุกเร้าให้เกิดความโกรธแค้นมาจากข่าวลือในตอนค่ำของวันที่ 31 พฤษภาคม 1921 เนื้อหาข่าวของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทัลซา ทริบูน รายงานว่า ดิก โรว์แลนด์ (Dick Rowland) หนุ่มขัดรองเท้าผิวดำอายุ 19 ปี อยู่ภายในลิฟต์ของอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งกับหญิงผิวขาวอายุ 17 ปีระหว่างที่เธอกรีดเสียงร้อง แต่เขาพยายามจะทำร้ายเธอในสถานที่ดังกล่าว หรือเพียงสะดุดไปชน หรือเหยียบเท้าเธอ เนื้อหาข่าวไม่ได้ระบุความจริงที่ชัดเจน

ในรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ยังระบุอีกว่า โรว์แลนด์น่าจะตกอยู่ในอันตรายจากการรุมทำร้ายของผู้คน และแล้วความจริงก็เป็นเช่นนั้น ในตอนค่ำ กลุ่มคนผิวขาวสีหน้าท่าทางโกรธแค้นราว 400 คน ถืออาวุธปืนพร้อมมือ มายืนปิดล้อมอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารศาลที่เด็กหนุ่มผิวดำถูกคุมขังอยู่

ข่าวการข่มขู่รุมทำร้ายผู้ต้องสงสัยสร้างความกังวลใจให้กับชุมชนคนผิวดำไม่น้อย เวลาประมาณสามทุ่มเศษข่าวลือแพร่มาถึงย่านกรีนวูดว่า ม็อบคนขาวพากันไปปิดล้อมอาคารศาล หลังจากนั้นมีกลุ่มคนผิวดำถืออาวุธปืน รีบตรงไปเพื่อต้องการระงับเหตุการณ์บุกทำร้ายผู้ต้องขัง มีการถกเถียงกัน แต่สุดท้ายเรื่องกลับบานปลายเมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นนัดแรก และนัดต่อๆ มา เป็นเหตุให้คนผิวขาวสิบคนและคนผิวดำสองคนเสียชีวิต

ด้วยความโกรธแค้นที่โหมกระพือ ม็อบคนผิวขาวอาวุธครบมือพากันเคลื่อนตัวไปที่ย่านคนผิวดำ และกระหน่ำยิงใส่ผู้คนสองฟากถนนอย่างไม่ยั้งมือ

เสียงปืนนั้นปลุกทนายบัค คอลเบิร์ต แฟรงคลินให้ตื่น ไม่ช้าต่อมาเขาก็เห็นเครื่องบินบินวนอยู่เหนือย่านกรีนวูด และทิ้งระเบิดเพลิงลงมา ตอนที่ระเบิดหล่นลงบริเวณบ้านของเขา แฟรงคลินรีบวิ่งหนีไปที่สำนักงาน ผู้คนที่แตกตื่นและพยายามวิ่งหนีเปลวไฟออกจากบ้านหลายคนถูกยิงล้มกองลงกับพื้น

แฟรงคลินเล่าเหตุการณ์ในบันทึก เขาเห็นผู้หญิงคนหนึ่งตะเกียกตะกายพาลูกๆ ออกจากบ้าน และผู้ชายอีกสามคน คนหนึ่งแบกหีบออกมาด้วย ผู้ชายคนที่แบกหีบเป็นชายชรา ดูเหมือนว่าภายในหีบใบนั้นจะมีของมีค่าบรรจุอยู่ เมื่อเขาถูกยิงด้วยกระสุนปืนนับสิบนัด หีบใบนั้นร่วงหล่นจากบ่า ชายชราส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด ก่อนล้มฟุบลงบนพื้นถนน เลือดไหลออกจากบาดแผลนับสิบบนร่างกายนองกระจายพื้น…แฟรงคลินต้องเบือนหน้าหนี

คนที่แตกตื่นและพยายามวิ่งหนีเปลวไฟออกจากบ้านหลายคนถูกยิงล้มกองลงกับพื้น

คืนนั้น ประชากรผิวดำในย่านกรีนวูดราว 6,000 คนถูกควบคุมตัวไว้ ระหว่างที่ม็อบคนผิวขาวบุกทำลาย เผาบ้านเรือน ทนายแฟรงคลินก็ถูกจับตัวเป็นหนึ่งในนั้น คนผิวขาวในกลุ่มม็อบฉกฉวยเงินสดจากเขาไป หลังจากนั้นเขาก็ถูกกระชากลากตัวไปรวมกลุ่มกับคนผิวดำคนอื่นๆ บริเวณส่วนกลางของย่าน

ในตอนเช้า ย่านที่ก่อนเคยเต็มไปด้วยชีวิตชีวามีสภาพคล้ายเมืองร้าง เต็มไปด้วยซากปรักที่มอดไหม้ ต่อเมื่อการทำลายล้างและการสังหารเป็นที่ประจักษ์ พลเมืองผิวขาวในทูลซาพากันตื่นตระหนก กองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติเคลื่อนพลเข้าไปในทัลซา รัฐบาลประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกในตอนเที่ยงของวันที่ 1 มิถุนายน

แต่แล้วการสืบสวนหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งนี้กลับมีการซัดทอดความผิดไปที่คนผิวดำ เหมือนอย่าง ชาร์ลส์ แบร์เร็ตต์ (Charles Barrett) ผู้บังคับบัญชากองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ มีความเห็นว่า หากสามารถจับกุมชายผิวดำที่ติดอาวุธ หรือยิงพวกเขาเสียตั้งแต่ทีแรก ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายบานปลายขนาดนี้

ภายหลังเหตุการณ์ คนผิวดำในย่านกรีนวูดต้องพึ่งพาตนเอง หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า บริษัทประกันปฏิเสธที่จะจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหาย หลายบริษัทอ้างว่า นโยบายชดเชยค่าเสียหายของทรัพย์สินไม่ครอบคลุมถึงสาเหตุที่เกิดจากการก่อม็อบหรือจลาจล  

ไม่มีรายงานตรวจสอบมูลค่าความเสียหาย ไม่มีการจ่ายชดเชย คนผิวดำราว 3,000 คนพากันอพยพโยกย้ายออกจากเมืองภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ ส่วนคนที่ยังอยู่ ซึ่งรวมถึงทนายแฟรงคลิน ต้องสร้างบ้านสร้างเมืองใหม่ และใช้เวลานานร่วมห้าปีกว่าสภาพของย่านจะกลับมาเป็นคล้ายเดิม แต่ไม่สามารถหวนกลับไปสู่ความเฟื่องฟูเหมือนเก่าได้อีก

ปี 2003 ทนายความ-จอห์นนี ค็อชแรน (Johnnie Cochran) และศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย-ชาร์ลส์ โอเกิลทรี (Charles Ogletree) พยายามยื่นฟ้องเรียกค่าชดเชยให้กับผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากคดีขาดอายุความ ต่อมามีการส่งร่างแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้รอดชีวิตให้กับสภาคองเกรส

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 วุฒิสมาชิกสองคนได้ประกาศให้การสังหารหมู่ครั้งนั้นรวมอยู่ในหลักสูตรของรัฐ และในปี 2021 จะครบรอบ 100 ปีของเหตุการณ์สยองขวัญในคืนนั้น

 

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , ,